Wednesday, July 17, 2019

ลองเพาะเมล็ดยิมโน LB ( Gymnocalycium mihanovichii LB2178 )


                           เรื่องราวการปลูกแคคตัสของเราในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเพาะเมล็ด ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว ผมเริ่มให้ความสนใจในแคคตัสสายพันธุ์ Gymnocalycium mihanovichii LB2178 หรือที่เรียกกันว่ายิมโน แอลบี ผมอยากลองปลูกและเรียนรู้เกี่ยวกับแคคตัสสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้น ก็เลยวานให้น้องของผมซื้อเมล็ดยิมโน LB ตัวแท้มาให้ ซึ่งก็ได้เมล็ดมาประมาณ 60 เม็ด

                            ตอนที่ได้เมล็ดมานั้น ผมก็ไม่ค่อยทราบเหมือนกันว่าในการเพาะเมล็ดแคคตัสสายพันธุ์นี้นั้น ต้องมีหลักอย่างไร เมล็ดงอกยากหรือง่าย ชอบความชื้นขนาดไหน ชอบอากาศแบบไหน ผมไม่ทราบเลย แต่ว่าด้วยความที่เคยเพาะเมล็ดแคคตัสสายพันธ์อื่นมาพอสมควร เพราะฉะนั้นผมก็เลยจะใช้วิธีการเพาะแบบเดียวกับที่เคยทำเป็นหลักไปก่อน แล้วถ้ามีอะไรไม่ลงตัวก็ค่อยปรับแก้ไปตามสถานการณ์ ซึ่งวิธีการในการเพาะเมล็ดนั้น ผมขอเขียนแบบย่อๆ แล้วกันนะครับ


                            เริ่มที่วัสดุเพาะ ผมเลือกใช้เป็นพีทมอสล้วนๆ ซึ่งขั้นตอนในการเพาะนั้นก็เริ่มจาก ใส่พีทมอสลงในกระถาง ครึ่งกระถาง จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) สูตรเสมอลงไป 10 เม็ด พอใส่ปุ๋ยเสร็จก็เติมพีทมอสลงไปให้เต็มกระถาง จากนั้นก็นำไปแช่ในน้ำที่ผมยาป้องกันเชื้อรา ขั้นตอนทั้งหมดก็ตามภาพตัวอย่างด้านบนเลยครับ

อันนี้เป็นภาพเก่านะครับ ยกมาเป็นตัวอย่าง ส่วนการเพาะเมล็ดของเราภาพจริงนั้นคือภาพต่อไปครับ 


                           อันนี้คือภาพจริงแล้ว เป็นกระถางเพาะที่แช่น้ำผมยากันราเรียบร้อย รอจนพีทมอสดูดน้ำเข้าไปจนชุ่มเราก็เอาเมล็ดที่จะเพาะมาโรยลงไปได้เลยครับ


                            โรยเมล็ดเรียบร้อยแล้วครับ อย่างที่บอกไปว่าผมได้เมล็ดยิมโน LB มา ประมาณ 60 เม็ด ผมก็เลยจะแบ่งเพาะเป็น 2 กระถาง กระถางละประมาน 30 เม็ดครับ

                            พอโรยเมล็ดเรียบร้อยก็พ่นยากันราที่หน้าดินอีกสักรอบ จากนั้นก็เอากระถางเพาะไปใส่ในถุงพลาสติกใสแล้วเอาหนังยางมัดปากถุง การเก็บกระถางเพาะในถุงนั้นเป็นการช่วยเก็บรักษาความชื้น ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดแล้วเก็บใส่ถุงแบบนี้เราเรียกกันว่าการเพาะเมล็ดแบบปิดครับ

ภาพตัวอย่างนะครับ

                             เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้แล้วก็เรียกได้ว่าการเพาะเมล็ดนั้นเป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วล่ะครับ ต่อไปก็เป็นเรื่องของการดูแล ซึ่งผมจะเอากระถางเพาะเมล็ดนั้นไปเก็บไว้ในที่ร่มมีแสงแดดส่องอ่อนๆ รำไร ไม่ได้โดนแดดเต็มๆ คืออย่าให้โดนแดดจัดเกินไปนะครับ เพราะต้นอ่อนแคคตัสนั้นทนแดดแรงๆ ไม่ไหวจะสุกตายเอาได้ ให้เค้าได้รับแสงอ่อนๆ จะดีกว่า 

เมื่อผมหาที่วางได้เรียบร้อยแล้วจากนั้นก็เหลือแค่รอคอยว่าเมล็ดนั้นจะงอกเมื่อไร

                             ซึ่งในการงอกของเมล็ดนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่แน่ไม่นอนเท่าไร อาจจะงอกเร็ว หรืองอกช้า งอกมาก งอกน้อย หรือไม่งอกเลยก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะมันอาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ เมล็ดอาจจะเก่าเกินไปเลยไม่งอกก็ได้ หรือวัสดุเพาะอาจจะปนเปื้อนติดเชื้อหรือมีเชื้อโรคแอบแฝงอยู่ก็ได้ หรือความชื้นมากเกินไปจนต้นอ่อนเน่า หรืออากาศร้อนเกินไปจนต้นอ่อนสุกตาย หรืออาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็ได้นะครับ

ผมว่าเรากลับเข้าเรื่องไปดูพัฒนาการการงอกของเมล็ด LB กันดีกว่าครับ


                            ภาพนี้คือ 2 อาทิตย์ต่อมาหลังจากวันที่เริ่มเพาะ เจ้าเมล็ด LB เริ่มทยอยงอกขึ้นมาบ้าง แต่เปอร์เซ็นต์การงอกถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะผ่านมา 2 อาทิตย์แล้วแต่ยังงอกไม่ถึงครึ่งนึงของที่เพาะไป ในใจตอนนั้นผมคิดว่า เค้างอกช้า และงอกน้อยไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้ตึงเครียดอะไร คิดว่าอยากจะรอเค้าต่อไปอีกสักหน่อย ให้เวลาเค้าไปอีกสักระยะเค้าอาจจะเริ่มงอกตามมาทีหลังก็เป็นได้ ผมก็เลยไม่ได้ทำอะไร ปล่อยไว้แบบนั้น รอให้ครบเวลา 1 เดือนหลังจากวันที่เริ่มเพาะก่อนแล้วกัน ค่อยมาดูอีกที

ตัดกลับมาอีกครั้ง นี่คือภาพตอนที่เค้ามีอายุครบ 1 เดือน


                            ทั้ง 2 กระถางมีการงอกเพิ่มขึ้น ก็เรียกได้ว่าถึงจะงอกช้าไปหน่อย แต่สุดท้ายก็งอกจนได้ ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าปรกติเมล็ดแคคตัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่งอกช้าอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะการเพาะของผมที่ทำเค้างอกช้าขนาดนี้ แต่บทสรุปมันก็คือเมล็ดงอกอยู่ดี ผมก็เลยไม่หาคำตอบดีกว่า แค่เห็นว่าเค้างอกก็พอใจแล้ว

                            หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการรอคอยในระยะยาวแล้วล่ะครับ เราจะเก็บต้นอ่อนแคคตัสไว้ในถุงแบบนี้ไปอีกหลายเดือน ไม่ระบุแน่ชัดนะครับว่าอีกกี่เดือนถึงจะเอาออกจากถุง ผมจะรอจนกว่าต้นอ่อนจะเติบโตจนต้นเบียดกันแน่นกระถางเสียก่อนถึงค่อยเอาออก หรือไม่ก็จนกว่าจะเห็นว่าวัสดุเพาะนั้นแห้งสนิทก็ถึงค่อยเปิดถุงมารดน้ำ หรือจนกว่าจะเห็นว่ามีปัญหาฉุกเฉินเกิดขึ้น อย่างราขึ้นก็ค่อยแกะถุงมารักษาต่อไปครับ


                           4 เดือน ผ่านไป เจ้าต้นอ่อน LB ที่ผมเพาะเมล็ดไว้ก็ยังเติบโตขึ้นพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าต้นเล็กและโตช้าไปนิด ตอนนี้เค้าอายุรวม 5 เดือนแล้วถ้านับจากวันที่เริ่มลงมือเพาะ ตอนนี้วัสดุเพาะของเค้านั้นเริ่มแห้ง ผมก็เลยแกะถุงเพาะออกมาแล้วให้น้ำผสมยากันรา 


                             ผมลองนับจำนวนต้นยิมโน LB ผลปรากฏว่าได้ 59 ต้น จาก 60 เมล็ดที่เพาะได้ ได้มา 59 ต้น ถือว่าเปอร์เซ็นต์การงอกดีมากๆ เลยครับ งอกเกือบหมดเลยแบบนี้ถือว่าคุณภาพของเมล็ดนั้นเยี่ยมเลยครับ เพราะฉะนั้นที่เค้าโตช้าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เมล็ดแล้วล่ะ แต่อยู่ที่ตัวผมนี่แหละครับที่ต้องปรับ

                             หลังจากรดยากันราเรียบร้อยผมก็โรยหินหน้ากระถาง เพื่อประคองต้น และเพื่อความสวยงามจากนั้นก็เอาเก็บใส่ถุงต่อไป


                           โดยผมจะเพิ่มแสงแดดที่เค้าได้รับมากขึ้นกว่าเดิม ที่ให้เค้าได้รับแค่แสงแดดอ่อนๆ รำไร ไม่ได้โดนแดดตรงๆ แต่คราวนี้จะให้เค้าได้รับแสงแดดตรงๆ ช่วงเช้าตั้งแต่ 7 – 10.30 โมง โดยประมาณ เพื่อดูว่าต้นจะเติบโตเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมั้ย


                          ซึ่งก็ดีขึ้นครับ 1 เดือนผ่านไป เจ้าต้นอ่อนที่ได้รับแสงแดดมากขึ้น ต้นมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เค้ามีอายุ 6 เดือนแล้วครับ ต้นเริ่มโตแล้วผมก็เลยตัดสินใจที่จะแยกพอตเค้าแล้วล่ะครับ


สำหรับวิธีการในการแยกพอตนั้นก็ง่ายๆ ผมจะแยกเป็นชุดๆ

เริ่มจากเทกระถางออกมา 


                            จากนั้นก็บิแบ่งต้นยิมโน LB ออกเป็นกลุ่มหรืเป็นชุด ชุดละ 6-10 ต้น แล้วแต่ขนาด ถ้าต้นใหญ่ก็จำนวนน้อย ถ้าต้นเล็กก็เยอะ


เมื่อแบ่งเป็นชุดเรียบร้อยแล้วก็เอาแต่ละชุดไปลงปลูกได้เลย โดยดินที่ใช้ในการปลูกนั้นก็คือดินแคคตัสทั่วไปนั่นล่ะครับ


หลังจากลงปลูกเสร็จเราก็จะรดน้ำแค่พอชื้นๆ เป็นอันจบ

                            ตอนที่ผมกำลังนั่งแยกพอตอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นเจ้า LB ต้นน้อยๆ ต้นนึง มีความแตกต่างจากเพื่อน คือลักษณะสีของเค้าคล้ายว่าจะเป็นลักษณะด่าง ผมก็เลยแยกเอาไปกราฟต่อบนตอสามเหลี่ยมหนามเพื่อเร่งการเจริญเติบโต เพราะการกราฟต่อบนตอ เมื่อมีตอช่วยเลี้ยงช่วยส่งอาหารเจ้าต้นแคคตัสจะโตเร็วกว่าเลี้ยงตามปรกติหลายเท่า ผมก็เลยกราฟเพื่อลุ้นพัฒนาการของเค้าดูอยากรู้เร็วๆ ว่าเค้าต่างจริงหรือไม่


                            นี่คือภาพต้นอ่อนต้นนั้นที่ผมแยกมากราฟ ได้ลุ้นเลยครับ เดี๋ยวเอาไว้ตอนท้ายๆ บทความเดี๋ยวภาพตอนโตมาให้ชมกันครับ

                           ส่วนวิธีการในการกราฟแคคตัสต่อบนตอนั้น ผมแนะนำให้ลองเข้าไปอ่านในบทความตามลิงก์นี้เลยครับ เป็นบทความวิธีการกราฟอย่างละเอียดที่ผมเคยเขียนเอาไว้ การกราฟแคคตัส ( graft cactus )

                            ย้อนกลับไปในการดูแลไม้ที่พึ่งแยกพอตลงปลูกใหม่นั้นช่วงแรกๆ หลังลงปลูกผมจะให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปก่อนจนกว่าต้นจะเริ่มมีการเจริญเติบโตตั้งตัวได้ก็ค่อยเพิ่มแสงแดดที่เค้าได้รับให้มากขึ้นต่อไป


                           สำหรับการดูแลต้นอ่อนแคคตัสที่ตั้งตัวได้แล้วนั้น ผมจะให้เค้าได้รับแสงแดดตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเกือบเที่ยง โดยจะมีการขึงสแลนกรองแสงไว้ด้วยเพราะต้นอ่อนแคคตัสนั้นจะไม่ค่อยทนกับแดดแรงๆ สักเท่าไร ไหม้แดดได้ง่าย การขึงสแลนกรองแสงจะสามารถลดความเสี่ยงให้การเกิดปัญหาแคคตัสไหม้แดดขึ้นเยอะเลยล่ะครับ

ส่วนการให้น้ำก็ไม่มีอะไรมาก รดเมื่อเห็นว่าหินแห้งสนิท ถ้าดินยังชื้นก็ยังไม่ต้องรด แค่นี้ครับ


                           สำหรับพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้ายิมโน LB หลังจากที่แยกพอตเค้าก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โตเร็วกว่าตอนที่ยังไม่ได้แยกพอตอีกครับ

                           หน้าตาของเจ้ายิมโน LB ตอนยังเล็กๆ นั้น เค้ามีหน้าตาที่คล้ายกันกับยิมโน มิฮาโนทั่วไปมากๆ ( Gymnocalycium mihanovichii ) ซึ่งต้องรอจนกว่าเค้าจะเติบโต ต้นใหญ่กว่า 1.5-2 ซม. ขึ้นไป ถึงจะเริ่มเห็นถึงความแตกต่าง

.

                           เมื่อเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ พอเค้าเติบโตขึ้นจนต้นเริ่มเบียดกัน ผมก็จะทำการแยกพอต ต้นไหนใหญ่กว่าเพื่อนก็ย้ายออกไปใส่กระถางใหม่ ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ


                          นี่คือภาพต้นยิมโน LB ตอนอายุประมาณ 1 ปี มีบางต้นเริ่มออกหนามเดียวซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแคคตัสสายพันธุ์นี้แล้วล่ะครับ 


                          ลักษณะเด่นอีกอย่างนึงของแคคตัสสายพันธุ์นี้คือเค้าจะมีจำนวนพู ตั้งแต่ 10 -13 พู ซึ่งต้นที่ผมเพาะได้ก็มีหลากหลาย ปนๆ กันไป แต่ส่วนใหญ่จะได้ต้นที่มีจำนวนพู 10-11 เยอะหน่อย ส่วน 12 -13 พูนั้นได้มาไม่กี่ต้นครับ


                           วันเวลาผ่านไปเจ้ายิมโน LB ต่างก็เติบโตสดใส อาจจะมีบางต้นที่ตายไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเจ้าต้นที่ผมเอาไปกราฟต่อตอนั้น เค้าโตเร็วมากๆ ตอนนี้เริ่มออกดอกแล้วล่ะครับ

 

นี่คือภาพพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าต้นที่ต่อตอ เป็นไปตามที่ผมคิดเลยล่ะครับ เค้าเป็น LB ด่างจริงๆ ด้วย


                        อาจจะด่างไม่เยอะแต่แค่นี้ก็พอแล้ว เมล็ดที่ผมได้มาโดยไม่ได้คาดหวังเลยสักนิดว่าจะได้ต้นด่าง กลับได้ด่างมา 1 ต้น แค่นี้ก็กำไรมากแล้วล่ะครับ


                          นี่คือภาพเปรียบเทียบระหว่างเจ้าต้นที่ผมเอาไปกราฟกับต้นที่เลี้ยงตามปรกติ จะเห็นชัดเลยนะครับว่า เค้าเจริญเติบโตแตกต่างกันหลากเท่า ต้นที่เลี้ยงตามปรกติยังต้นไม่โตเท่าไร แต่ต้นที่ต่อตอเติบโตจนมีดอกแล้ว 


และในที่สุดดอกของเค้าก็บานสวยงาม รอให้ผมได้ขยายพันธุ์ต่อไป

                           ส่วนต้นอื่นๆ ผมก็คงเลี้ยงไปเรื่อยๆ ถึงจะโตไม่ทันเท่าต้นที่กราฟ แต่เดี๋ยวเลี้ยงไปเรื่อยๆ สักวันนึงเค้าก็คงเติบโตและออกดอกสืบไป ผมรอได้สบายครับ


                         และนี่คือภาพปัจจุบันของเจ้ายิมโน LB ที่เราได้เพาะเมล็ดเอาไว้ ตอนนี้เค้ามีอายุ 1 ปีกว่าๆ เริ่มมีต้นที่ออกฟอร์มสวยๆ ให้ได้เห็นกันหลายต้นแล้วล่ะครับ


                         สำหรับเรื่องราวการเพาะเมล็ดยิมโน LB ผมคงเขียนถึงแค่เท่านี้ แต่เส้นทางของเจ้าพวกนี้ยังเดินทางต่อไป ผมลองมานับดูตอนนี้ จาก 60 เมล็ดที่เพาะไป ผ่านมาปีนิดๆ เค้าตายจากไปบ้างบางส่วน แบ่งให้พี่ๆ ไปบางส่วน ที่เหลืออยู่ก็ประมาณ 40 กว่าต้น ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเติบโตไปจนกระทั่งออกดอกได้สักกี่ต้น เพราะอนาคตนั้นไม่แน่นอน แต่ก็สู้เต็มที่ครับ


แล้วพบกันใหม่ครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus 

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.