Wednesday, July 20, 2016

การชำหน่อแคคตัส และอีกหลากหลายเรื่องราวในการปลูกแคคตัส


                สวัสดีครับ วันนี้ก็มาพบกับเรื่องราวของการปลูกแคคตัสของผมกันอีกเช่นเคย ซึ่งแรกเริ่มนั้น ครั้งนี้ผมคิดจะเขียนเกี่ยวกับวิธีการขยายพันธุ์แคคตัสด้วยการปักชำหน่อแค่เรื่องเดียว แต่วิธีการชำหน่อแคคตัสที่ผมทำนั้น มันไม่ค่อยมีเนื้อหาสักเท่าไร เพราะผมใช้วิธีการแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน  ตอนที่เขียนก็เลยพบว่าเนื้อหาของบทความมันน้อยมากๆ ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่างั้นลองเพิ่มเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกแคคตัสที่ผมคิดว่าน่าสนใจเข้าไปด้วยเลยก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จึงเป็นบทความที่มีเนื้อหาหลายเรื่องผสมกัน ทั้งเรื่องหลักของบทความ นั่นก็คือเรื่องของการชำหน่อแคคตัส และเรื่องที่เสริมเพิ่มเข้ามาอย่างเช่นเรื่องของการผสมดินปลูก ( สูตรดินปลูกที่ผมใช้ ) การเปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก และอื่นๆ เอาเป็นว่าเราไปเริ่มเรื่องราวกันเลยดีกว่าครั


เริ่มจากการขยายพันธุ์แคคตัสด้วยวิธีการปักชำหน่อก่อนเลยก็แล้วกัน

                 สำหรับหน่อแคคตัสที่จะใช้ในการชำคราวนี้ ผมเลือกเป็นหน่อของแคคตัสยอดนิยมที่ทุกท่านน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือเจ้ายิมโนด่าง ( gymnocalycium variegata ) ตามรูปด้านบนนี้เลยครับ โดยหน่อที่เหมาะสมที่จะเอามาปักชำนั้น ในความรู้สึกของผม ควรที่จะต้องเป็นหน่อที่มีขนาด ตั้งแต่ 1-2 ซม. ขึ้นไป และหน่อที่ใช้ ถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องมีความสมบรูณ์ ตึงๆ หน่อย ไม่เหี่ยวก็น่าจะดี


สำหรับเจ้าสามหน่อที่ผมเด็ดมานี้มีขนาดประมาณ 1 ซม. นิดๆ ครับ

 ******จริงๆ มันมีประเด็นที่เกี่ยวกับการชำแคคตัสยิมโนด่างอยู่เรื่องนึง ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปหลายครั้งแล้วเหมือนกัน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเขียนอีกสักครั้งเพราะบางท่านก็อาจที่จะยังไม่เคยทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนก็เป็นไปได้ นั่นก็คือเรื่องของยิมโนที่ด่างหมดทั้งหัวหรือที่เรียกกันว่ายิมโนหัวสี ตัวอย่างตามภาพด้านล่าง

ยิมโนหัวสี ด่างทั้งหัวแบบนี้ต้องอยู่บนตอเท่านั้น ชำไม่ขึ้น

                 เจ้ายิมโนหัวสีแบบที่เป็นสีแดง หรือเหลืองทั้งหัวนั้น เค้าไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นในการขยายพันธุ์แคคตัสที่มีลักษณะหัวสีทั้งหัวแบบนี้ จะไม่สามารถที่จะใช้วิธีการชำหน่อได้นะครับ ชำแล้วจะไม่ออกราก และจะค่อยๆ ตายลงไปในที่สุด เพราะฉะนั้นท่านที่อยากจะลองปักชำหน่อหรือตัดลงตอพวกยิมโนหัวสีที่เป็นสีแดง เหลือง หรือส้มหมดทั้งหัว ไม่มีสีเขียวหรือสีโทนดำปนอยู่เลยล่ะก็ ชำหน่อไม่ขึ้นนะครับ ต้องใช้วิธีการกราฟต่อบนตอเท่านั้นในการขยายพันธุ์ รวมไปถึงแคคตัสพันธุ์อื่นๆ ที่ด่างหัวสีหมดทั้งหัวด้วยเช่นเดียวกัน ปักชำไม่ขึ้นนะครับ
  
แอสโตรด่างล้วนเหลืองทั้งหัว แบบนี้ก็เด็ดหน่อมาชำไม่ได้นะ ต้องกราฟ

                  แต่ถ้าเป็นแคคตัสที่ด่างครึ่งนึง เขียวครึ่งนึง หรือด่างกระจาย หรือพอจะมีส่วนของผิวที่เป็นสีเขียวอยู่บ้างล่ะก็ ลักษณะนี้สามารถเอามาชำได้ครับ แต่ถ้าเป็นหน่อที่ด่างมากๆ จะออกรากยากและโตค่อนข้างช้า ด่างน้อยจะออกรากได้ดีกว่าและโตเร็วกว่า แต่ถ้าเป็นไม้ธรรมดาสีเขียวทั่วๆ ไปเลยล่ะก็สบายๆ ไม่มีปัญหา

                 อย่างเจ้ายิมโนด่างสามหน่อที่เราจะเอามาลองกราฟในวันนี้ เป็นลักษณะด่างกลางๆ และพอจะมีสีเขียวแซมๆ อยู่ด้วย เพราะงั้นชำได้และผมก็คิดว่าน่าจะออกรากได้และเจริญเติบโตได้แน่นอนครับ

                ******** มีเพื่อนๆ เคยถามผมเกี่ยวกับยิมโนผิวสีม่วงที่เป็นไม้กราฟต่อบนตอมาว่า ยิมโนสีม่วงนั้นตัดลงได้มั้ย หรือเด็ดหน่อมาชำแล้วขึ้นดีหรือไม่ ซึ่งผมก็ต้องขอบอกเลยนะครับว่า ยิมโนผิวสีม่วงนั้นผมไม่เคยเลี้ยงมาก่อน เพราะงั้นผมไม่ทราบนะครับ ว่ามันออกรากดีไม่ดีขนาดไหน ต้องขอโทษเพื่อนๆ ที่ถามเกี่ยวกับยิมโนม่วงมาด้วยนะครับ

ผ่านจากเรื่องแบบไหนชำได้แบบไหนชำไม่ได้ เรามาว่ากันด้วยเรื่องของดินที่จะใช้ในการชำหน่อกันบ้าง

               เรื่องดินที่ใช้ในการชำหน่อแคคตัส  รวมไปถึงดินที่ใช้ในการปลูกแคคตัสด้วยนั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ไม่มีสูตรผิดถูกที่แน่ชัด เพราะสูตรดินนั้นมีหลากหลาย และแต่ละบ้านแต่ละที่นั้นก็มีสภาพแวดล้อมในการปลูกที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นผมคงไม่สามารถฟันธงได้ชัดว่าสูตรดินนั้นควรจะต้องมีส่วนผสมอะไรบ้างถึงจะดีกับแคคตัสของท่าน เพราะบ้านท่านกับบ้านผมนั้นอาจจะมีลักษณะพื้นที่ๆ ไม่เหมือนกัน บางท่านมีโรงเรือน บางท่านปลูกไม้บนระเบียง บางท่านปลูกกลางแจ้ง อย่างของบ้านผมนั้นทำโรงปลูกต้นไม้เล็กๆ อยู่บนดาดฟ้า โดนแดดตลอดทั้งวัน เพราะฉะนั้นแต่ละบ้านก็จะมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป ปริมาณแสงแดด ลม ก็อาจจะได้รับไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเรื่องสูตรดินผมขอให้ฟังหูไว้หู ดูเป็นตัวอย่างและหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาจะดีกว่านะครับ

ดินแคคตัส แต่ละร้านก็อาจจะมีส่วนผสมที่ต่างกันไป

                  สำหรับดินที่ใช้ในการชำหน่อนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นดินที่มีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดี เนื้อดินละเอียดไม่จับตัวเป็นปึก จริงๆ จะใช้เป็นดินแคคตัสที่เค้าขายกันตามร้านขายกระบองเพชรเลยก็ได้นะครับ เพราะว่าบางร้านที่เค้าผสมดินขายเค้าก็ใช้ส่วนผสมของวัสดุปลูกที่มันลงตัวพร้อมใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณซื้อดินแคคตัสมาแล้วไม่แน่ใจว่าสูตรผสมของเค้านั้นมันดีหรือไม่ ก็ลองดูนะครับว่าส่วนผสมของดินนั้นมันโปร่งหรือไม่ มีความร่วนมีความละเอียดของเนื้อดินหรือไม่ หรือไม่ก็ลองเอาดินใส่กระถาง จากนั้นก็รดน้ำลงไปทันที ดินที่โปร่งระบายน้ำได้ดี เวลาที่เรารดน้ำลงไปน้ำจะไหลผ่านออกทางก้นกระถางทันทีไม่ขังนาน ก็น่าจะพอใช้ได้

                แต่ถ้ายังไม่มั่นใจอีกว่าดินแคคตัสที่เราซื้อมานั้นจะโปร่งพอหรือไม่ หรืออยากจะให้ดินนั้นโปร่ง ระบายน้ำได้ดีมากขึ้นไปอีกผมขอแนะนำให้เอาดินแคคตัสที่เราซื้อมานั้นมาผสมกับหินภูเขาไฟขนาดก้อนเล็กสุด อัตราส่วนผสมนั้นก็แล้วแต่เลยครับ 1:1 หินภูเขาไฟกับดินแคคตัสในอัตรส่วนที่พอๆ กันเลยก็ได้ หรือจะเป็นอัตราส่วนแบบไหน ก็แล้วแต่ชอบเลยครับ การผสมหินภูเขาไฟก้อนเล็กลงไปในดินจะช่วยเพิ่มความโปร่งได้มากขึ้น ทำให้การระบายน้ำดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยล่ะครับ

เพิ่มเติม  ***  สำหรับดินที่ผมใช้ในการชำหน่อในคราวนี้นั้นก็แน่นอนครับ เป็นดินที่มีส่วนผสมที่โปร่งระบายน้ำได้ดี แต่ผมไม่ได้ซื้อดินแคคตัสที่เค้าขายกัน เอามาใช้หรอกนะครับ เพราะด้วยความที่ผมปลูกต้นไม้ในปริมาณที่เยอะผมก็เลยผสมดินใช้เองครับ

                     โดยส่วนผสมของดินปลูกของผมนั้น หลักๆ เลยก็จะเป็น ดินใบก้ามปูที่ร่อนเอาแต่เนื้อดินทีละเอียดๆ พวกดินที่เป็นก้อนใหญ่ๆ หรือเศษที่มันใหญ่ๆ ผมจะคัดออกไปไม่เอามาใช้ จากนั้นก็เอาดินละเอียดที่เราร่อนได้มาผสมกับ หินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลท์ ( เวอร์มิคูไลท์ จริงๆ ไม่ต้องใส่ก็ได้นะครับ ไม่ใส่ก็ไม่เป็นไร ) ในอัตราส่วนผสมที่เท่าๆ กัน แค่นี้ครับสูตรดินชำหน่อของผม

****** เพิ่มเติมสำหรับเรื่องสูตรดินไปอีกสักนิดก็แล้วกัน

                  สำหรับสูตรดินที่ผมใช้ในการปลูกแคคตัสทั่วๆ ไปของผมนั้น ก็จะคล้ายๆ กับสูตรดินชำหน่อด้านบนนี่แหละครับ แต่เวลาที่ผมผสมดินปลูกแคคตัสก็จะไม่ได้ผสมเวอร์มิคูไลท์ลงไปด้วยหรอกนะครับ จะใช้แค่ ดินใบก้ามปูร่อน หินภูเขาไฟก้อนเล็ก และเพอร์ไลท์ แค่ 3 อย่างนี้เท่านั้น อัตราส่วน 1:1:1 คือส่วนผสมเท่าๆ กันนั่นแหละครับ สูตรนี้ผมใช้ปลูกแคคตัสส่วนใหญ่ของผมเลยก็ว่าได้ แอสโตรไฟตั้ม ยิมโน โลบิเวีย เมโล รวมไปถึงแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผมปลูกก็ใช้สูตรดินแบบนี้หมดเลยครับ
  

                  ที่ผมใช้สูตรดินแบบนี้ เพราะในความรู้สึกของผมนั้น เลี้ยงแบบแห้งไม่เป็นไร เพราะแคคตัสเป็นไม้ที่ค่อนข้างจะอดทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่รดน้ำเลยเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็อยู่ได้ แต่ถ้าชื้นเกินไปมันเสี่ยงที่จะเน่าตายได้อย่างฉับพลันเลยล่ะครับ เพราะฉะนั้นเวลาผมผสมดินผมจึงชอบเลือกใช้สูตรนี้ เพราะหินภูเขาไฟกับเพอร์ไลท์นั้นเป็นวัสดุปลูกที่เป็นก้อน เวลาที่เราเอามาผสมกับดินจะช่วยเพิ่มในเรื่องของความโปร่งทำให้การระบายนํ้านั้นดีขึ้นมากๆ และเพอร์ไลท์นั้นเป็นวัสดุปลูกที่ไม่อมนํ้า เวลาที่รดนํ้าลงไปแล้วดินจะแห้งเร็ว ไม่เก็บความชื้นเอาไว้นานซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดีทีเดียวครับ

ผ่านจากเรื่องดิน เราไปเริ่มลงมือชำหน่อกันดีกว่าครับ

                 ก่อนจะใส่ดินปลูกลงในกระถาง ถ้าเป็นไปได้ก็รองก้นกระถางด้วยพวกวัสดุที่เป็นก้อนอย่างหินภูเขาไฟ หรือถ่านทุบ หรือวัสดุรองก้นอื่นๆ แล้วแต่ที่เรามี ก็น่าจะดี

                 การรองก้นกระถางนั้นจะช่วยทำให้การระบายน้ำนั้นดีขึ้นเพราะถ้าใส่ดินลงไปเพียวๆ โดยที่ไม่รองก้นพวกวัสดุปลูกเล็กๆ หรือพวกที่เป็นเนื้อดินอาจจะไปจับตัวกันตรงก้นกระถางทำให้การระบายน้ำนั้นไม่ดี อุดตันก็เป็นได้ และวัสดุที่รองก้นกระถางยังช่วยกั้นไม่ให้พวกดินหรือวัสดุปลูกเล็กๆ นั้นไหลออกก้นกระถางเวลาที่เรารดน้ำอีกด้วยครับ

                 หลังจากรองก้นกระถางเรียบร้อยเราก็ใส่ดินที่เตรียมเอาไว้ลงไปในกระถางเลยครับ ซึ่งขั้นตอนนี้ถ้าเกิดว่าท่านมีปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ทอยู่ด้วยล่ะก็ เติมปุ๋ยลงไปด้วยเลยก็ดีครับ สัก 1 ช้อนชา หรือ 10 เม็ดต่อกระถางก็ได้ครับ
  

หลังจากใส่ดินปลูกลงไปเรียบร้อยจากนั้นเราก็นำหน่อที่เตรียมไว้ ปักชำลงไปลงไปเลยครับ 


                 ซึ่งในการปักชำลงไปนั้น จริงๆ แล้วผมจะปักชำไม่ลึกจนเกินไปนะครับ ให้ลงไปในกินแค่นิดหน่อยเท่านั้น แต่ด้วยความที่วัสดุปลูกของผมมันมีส่วนผสมที่เป็นก้อนๆ เยอะ และหัวแคคตัสก็เล็กมากๆ และหัวค่อนข้างแบน พอปักชำลงไปแล้วมันก็เลยดูแล้วหัวแคคตัสจมลงไปในดินปลูกค่อนข้างเยอะ แต่จริงๆ ผมกดลงไปแค่นิดเดียวเท่านั้นครับ

หลังจากชำลงไปเรียบร้อยแล้วจากนั้นก็รดน้ำ แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วครับ


                        หลังจากที่เราปักชำเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ผมก็จะนำเจ้ายิมโนกระถางนี้เอาไปเก็บไว้ในสถานที่ปลูกซึ่งมีแสงแดดส่องอ่อนๆ ไม่แรงมาก ( ผมเลี้ยงใต้สแลนกรองแสง ) อย่าให้โดนแดดจัดนะครับ ถ้าโดนแดดจัดหน่อจะเหี่ยวครับ ให้โดนแดดอ่อนๆ ไปก่อนในช่วงแรกที่เค้ายังไม่ออกราก รอให้เค้าออกรากและเริ่มเจริญเติบโตตั้งตัวได้เมื่อไร ค่อยเพิ่มแสงที่ได้รับให้มากขึ้นจนเป็นระดับเดียวกับการปลูกเลี้ยงแคคตัสตามปรกติ แบบนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด และก็ระวังอย่าให้แคคตัสที่เราชำหน่อเอาไว้นั้น ตากฝนหรือโดนฝนสาดใส่ด้วยนะครับ เดี๋ยวจะเน่าตายเอาได้

                       ส่วนการรดน้ำนั้น ผมจะไม่รดนํ้าบ่อยนะครับ ผมจะมองที่ดินเป็นหลัก ถ้าดินยังชื้นผมจะไม่รดน้ำ จะรดต่อเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น สำหรับการรดน้ำนั้นบางท่านอาจจะสงสัยว่ารดมากหรือน้อยขนาดไหน ผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันนะครับ เอาเป็นว่าผมรดจนเห็นว่าน้ำไหลออกก้นกระถางน่ะครับ แต่อย่าฉีดน้ำแรงนะครับ เพราะช่วงแรกๆ หน่อแคคตัสยังไม่มีราก ถ้าเทน้ำพรวดลงไปหนักๆ หรือเอาสายยางฉีดน้ำแรงๆ ลงไปเลยล่ะก็ มันจะกระเด็นหลุดออกมาหมดเลยครับ เพราะงั้นค่อยๆ รดนะครับ


                    หลังจากปักชำลงไปแล้ว คำถามนึงที่หลายคนสงสัยนั่นก็คือ เมื่อไรจะออกราก กี่วันถึงจะโต แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเจ้าแคคตัสนั้นออกรากแล้ว

                    การออกรากของเจ้าหน่อแคคตัสที่เราชำไว้นั้น ในความรู้สึกของผมเรื่องนี้มันไม่แน่นอนและไม่อาจที่จะตอบได้ชัดเจนตายตัว ว่ากี่วันเค้าถึงจะเริ่มมีราก บางทีก็สองอาทิตย์รากก็มา แต่บางหน่อก็เป็นเดือนเลยก็มี เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งเรื่องของชนิดของแคคตัสที่เราชำ แคคตัสแต่ละสายพันธุ์ก็อาจจะขึ้นยากง่ายไม่เหมือนกันซึ่งผมก็ไม่ทราบหรอกครับ ว่าสายพันธุ์ไหนมันออกรากยากหรือง่ายกว่ากันเพราะไม่เคยจับมาเทียบกันเลยครับ

                    รวมไปถึงเรื่องของแคคตัสด่างกับไม่ด่างมันก็ต่างกัน ถ้าเป็นหน่อแคคตัสธรรมดาทั่วไปไม่ใช่ไม้ด่างก็อาจจะออกรากไม่ยาก และถ้าเป็นแคคตัสด่างการออกรากก็อาจจะต้องขึ้นอยู่กับว่าด่างมากหรือด่างน้อย ถ้าด่างมากก็อาจจะออกรากได้ยากสักหน่อย และถ้าด่างเกือบทั้งหัวก็จะออกรากยากมากหรืออาจจะไม่ออกเลยก็ได้ แต่ถ้าด่างน้อยก็โอเคหน่อย ออกรากไม่ยากเท่าไร

                   และนอกจากเรื่องสายพันธุ์ เรื่องของการปลูกเลี้ยงการดูแลก็อาจเป็นตัวพลิกผันว่าแคคตัสที่เราชำหน่อไว้นั้นจะออกรากได้ดีหรือไม่ อยากที่บอกไปว่าสถานที่ปลูกและการดูแลของแต่ละท่านนั้นต่างกัน แดดมาก แดดน้อย บางท่านเลี้ยงแคคตัสแต่ไม่มีแดดส่องเลยเพราะเลี้ยงในหอพักหรือเลี้ยงหน้าคอม บางท่านเลี้ยงไม้แบบไม่มีที่กันฝน ฝนตกทีไรก็เปียกปอนกันไปเสียทุกครั้ง ถ้าแบบนี้ก็มีโอกาสเน่าได้ง่ายเพราะแดดน้อยการสะสมความชื้นก็เลยสูง ยิ่งถ้าต้องตากฝนตลอดเลยล่ะก็ อาจจะเกิดโรคราขึ้นได้อีกด้วย หรือบางท่านก็อาจจะมีปัญหาอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามาอีก เรื่องราวหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบ้านทำให้ไม่สามารถฟันธงได้เลยครับว่ากี่วันถึงจะออกราก เหมือนกับคำถามที่ว่าอีกนานแค่ไหนจะออกดอก อีกนานแค่ไหนถึงจะโต ไม่อาจตอบได้ชัดจริงๆ ครั

                    แต่เอาเป็นว่าถ้าเค้าเริ่มที่จะออกรากเมื่อไร สิ่งที่เราจะสังเกตได้นั่นก็คือยอดของแคคตัสนั้นจะเริ่มเดิน เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบริเวณยอดของแคคตัส ยอดจะเริ่มขยาย อาจจะมีหนามใหม่อ่อนๆ เกิดบริเวณยอด ต้นจะเริ่มตึง ขนาดของต้นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นทีละนิด เหล่านี้คือสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกได้ว่ารากเริ่มมาแล้ว เค้าเริ่มจะมีการเจริญเติบโตแล้วล่ะครับ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็สบายใจได้แล้วล่ะครับ เมื่อยอดเริ่มเดินต้นเริ่มมีการเจริญเติบโตเมื่อไรต่อไปเราก็สามารถค่อยๆ ปรับการดูแลค่อยๆ เพิ่มแสงทีละนิดไปจนสามารถเลี้ยงได้ตามปรกติเหมือนกับปลูกแคคตัสทั่วๆ ไปได้แล้วล่ะครับ

                    แต่ระหว่างที่เราชำหน่อใหม่ๆ ผมว่าอย่าไปถอนออกมาดูบ่อยๆ เลยนะครับ ว่าเค้าออกรากแล้วหรือยัง ปล่อยๆ เค้าไปเถอะครับ แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงภายนอกเอาดีกว่า หลายท่านกังวลใจว่าเค้าจะออกรากแล้วหรือยัง จะตายหรือไม่ บางท่านชำไปได้ 5-6 วันเห็นเจ้าแคคตัสยังนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็กังวลใจจนอดใจไม่ไหวถอนขึ้นมาดู แล้วก็ปักลงไปใหม่ เดี๋ยวถอนเดี๋ยวปักอยู่บ่อยๆ ผมว่าใจเย็นๆ นะครับ ให้เวลากับเค้าหน่อย เค้าอาจจะไม่ได้งอกในเวลาแค่ไม่กี่วันหรอกนะครับ ถ้าสักเดือนนึงแล้วเค้ายังไม่มีพัฒนาการค่อยเขี่ยดูก็ได้ครับ ปลูกต้นไม้อย่าใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่านะครับ


                   สำหรับการปักชำเจ้ายิมโนสามหน่อนี้นั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ พวกเค้าค่อยๆ ออกรากและเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งผมไม่มีภาพตอนที่เค้าออกรากและเริ่มยอดเดินหรอกนะครับ เพราะผมไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะเขียนเรื่องของเจ้าสามต้นนี้ มีภาพอีกทีนึงก็คือตอนที่ผ่านไปหลายเดือนหลังจากนั้นตอนที่พวกเค้าโตกันหมดแล้ว เพราะงั้นผมขอข้ามช่วงเวลามาเลยก็แล้วกัน ซึ่งปัจจุบันทั้งสามต้นนี้ก็ยังอยู่และเจริญเติบโตสมบรูณ์ดีไม่ได้มีปัญหาอะไร และตอนนี้ผมก็เลี้ยงในรูปแบบปรกติเหมือนกับเลี้ยงแคคตัสทั่วๆ ไป นั่นล่ะครับ
  

จากหน่อเล็กๆ ในตอนต้น พอมาดูตอนนี้สันสวยงามมากๆ เลยล่ะครับ


                       จริงๆ ผมจะจบบทความลงแค่นี้แหละ แต่บังเอิญไปเจอภาพตอนชำหน่อของยิมโนด่างอีกต้นนึงก็เลยเอามาลงเพิ่มเติมด้วยเลยดีกว่า

เป็นหน่อของยิมโนด่างต้นตามรูปนี้เลยครับ


                     สังเกตดูที่หน่อเล็กๆ ด้านขวานะครับ มองดีๆ จะเห็นว่าหน่อของเค้านั้นมีรากงอกออกมาด้วย ทั้งๆ ที่หน่อยังติดอยู่กับต้นแม่แต่ก็มีรากงอกออกมาซะแล้ว
  

                     การที่เค้าออกรากมาพร้อมอยู่แล้วแบบนี้ การปักชำหน่อจึงเป็นเรื่องที่สบายเลยล่ะครับ น่าจะชำขึ้นง่ายแน่นอนเพราะเค้ามีรากมาพร้อมที่จะเจริญเติบโตแบบไม่ต้องลุ้นแล้วล่ะครับ เพราะงั้นก็ชำเลยดีกว่า
  

                     ปักชำเรียบร้อย หน่อล่างตามลูกศรชี้เลยครับ ส่วนอีกสองหน่อผมเด็ดมาเพิ่มจากต้นอื่นๆ ไหนๆ จะชำแล้วก็รวมๆ กันไปเลย เลยไปเด็ดมาเพิ่ม

เจ้าหน่อนี้มีพัฒนาการที่ดีมากๆ เลยล่ะครับ


อีกสักภาพ


                      1 ปีผ่านไป นี่คือภาพปัจจุบันของเจ้าต้นนี้ จากต้นเล็กๆ ในตอนนั้น ตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะเลยล่ะครับ มาดูตอนนี้เค้าสวยงามและแข็งแรงโตจนแน่นพอตเลยทีเดียวครับ
  

เจริญเติบโตได้ดีขนาดที่ว่ารากทะลุออกก้นกระถางอย่างที่เห็นเลยครับ


 พลิกก้นกระถางดูเลยดีกว่า


                      อาจเป็นเพราะว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้นผมไม่เคยเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางเลยสักครั้ง เลี้ยงมาเรื่อยๆ หันมาเห็นอีกทีก็รากแน่นแบบนี้เสียแล้ว ก็คงจะได้เวลาเปลี่ยนดิน ตัดแต่งรากกันแล้วล่ะครับ

                     ก็ถือเป็นโอกาสดีเลยนะครับ เปลี่ยนดินปีละครั้ง ตรวจสภาพไม้ว่ามีโรคมีแผลหรือมีตัวอะไรแอบแฝงอยู่ในดินหรือไม่จากนั้นก็ตัดแต่งรากเก่าๆ แก่ๆ ออกไปให้เค้าทำรากใหม่ที่สดๆ พร้อมหาอาหารอีกครั้ง

เทกระถางออกมาแล้วล่ะครับ เรามาดูระบบรากกันดีกว่าว่าเยอะขนาดไหน
  

อาจจะยังไม่ชัด เดี่ยวผมเอาไปล้างรากล้างดินออกให้หมดก่อนดีกว่า


ล้างรากมาเรียบร้อยแล้วล่ะครับ รากยาวมากๆ และสภาพของไม้ก็แข็งแรงสมบรูณ์น่าพอใจเลยทีเดียวครับ


                        จริงๆ มีอีกเรื่องนึงซึ่งได้มีคนถามผมมา ก็เลยหยิบมาเขียนถึงด้วยเลยก็แล้วกัน  นั่นก็คือเรื่องของคราบสีนํ้าตาลที่ริเวณโคนต้น ท่านลองดูจากในภาพก็ได้ครับ จะเห็นว่าบริเวณโคนต้นของเจ้าแคคตัสยิมโนเหล่านี้จะเป็นสีนํ้าตาล ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน บางคนซื้อต้นไม้มาแต่ไม่เคยถอนออกมาดูเลยสักครั้ง พอวันนึงได้ทำการเทกระถางเพื่อเปลี่ยนดิน แล้วเห็นว่าตรงบริเวณโคนต้นนั้นเป็นสีนํ้าตาลก็เกิดอาการตกใจว่ามันเป็นโรคอะไรรึเปล่า ทำไมสีผิวถึงเป็นสีแบบนี้

                        ที่สีเค้าเป็นแบบนี้เพราะด้วยความที่เจ้าแคคตัสนั้นเวลาที่เราปลูกลงไปในดินจะมีบางส่วนบริเวณโคนต้นที่อาจจะถูกดินกลบซึ่งส่วนของผิวแคคตัสที่ถูกดินกลบนั้นเมื่อผ่านไปนานๆ โดนดินโดนวัสดุปลูกกลบมาตลอด ด้วยความชื้นที่สะสม หรือด้วยตัวของวัสดุปลูกที่ทำปฏิกิริยาก็ตามแต่ ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นคราบความชื้นหรือสีเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลขึ้นมาได้ อย่างที่เห็นในภาพ เจ้ายิมโนสองต้นเล็กจะเห็นชัดเลยว่าตรงโคนต้นเป็นสีนํ้าตาล นั่นเพราะสองต้นนี้ตอนที่ปลูกนั้นตรงโคนต้นเค้าโดนดินกลบค่อนข้างลึก ก็เลยเกิดเป็นรอยสีนํ้าตาลที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นอันตรายอะไรนะครับ ยังแข็งแรงเป็นปรกติ แค่สีตรงโคนต้นมันดูแล้วไม่ค่อยสวยเท่านั้นเอง  ส่วนเจ้ายิมโนด่างต้นใหญ่นั้นเป็นน้อย ไม่ค่อยมีรอยเพราะโดนดินกลบที่โคนไม่ลึกเท่าไรก็เลยไม่ค่อยเป็นเหมือนอีกสองต้น เพราะงั้นท่านที่กังวลใจในเรื่องนี้ก็อย่าพึ่งวิตกไปนะครับ


                     มาถึงตรงนี้สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือการตัดแต่งรากให้สั้น ซึ่งในการตัดแต่งรากของผมนั้น ผมจะตัดให้เหลือความยาวของรากประมาณ 2 ซม. ตามในรูปที่เห็นเลยครับ จากนั้นก็วางผึ่งเอาไว้ในที่ร่มรำไร สัก 7 วัน รอให้แผลที่เราตัดแต่งรากเอาไว้นั้นแห้งสนิทดี แล้วค่อยเอาลงปลูกใหม่อีกครั้ง แค่นี้เป็นอันจบแล้วครับการเปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก

                     ความสมบรูณ์ของแคคตัส ขึ้นอยู่กับการปลูกเลี้ยงการดูแลและเอาใจใส่ ไม่ง่าย ไม่ยาก แต่ต้องใจเย็นๆ นะครับ ช่วงแรกๆ ในการเลี้ยงแคคตัสสำหรับมือใหม่อาจที่จะต้องเหนื่อยสักหน่อยเพราะมีเรื่องมากมายที่เรายังไม่รู้ มีปัญหาหลากหลากที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน มีความสับสนความไม่แน่ใจว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี สิ่งไหนควรทำหรือไม่ เรื่องบางเรื่องเห็นคนอื่นเค้าทำมันดูง่าย แต่พอเราลงมือทำเองทำไมมันยากจัง นั่นเพราะว่าเรายังไม่มีประสบการณ์ยังไงล่ะครับ เราเลยรู้สึกว่ามันยาก แต่ถ้าเราได้ทำ ได้เรียนรู้ค่อยๆ เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างไม่ยอมแพ้ สิ่งไหนพลาดให้เป็นบทเรียนต่อไปในวันข้างหน้าไม่เดินเหยียบซ้ำ อย่าใจร้อน หาข้อมูลหลายๆ ด้าน สักวันนึงเมื่อเราเข้าใจมากขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้นและจะง่ายขึ้นแน่นอนครับ

เพจของเรา  https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.