Tuesday, June 14, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด


                บทความนี้เป็นเรื่องราวที่คาบเกี่ยวมาจากบทความที่แล้วซึ่งก็คือเรื่องของการกราฟแคคตัสบนตอตัดสดนั่นเองครับ ซึ่งในบทความนี้เราก็จะมาลองกราฟแคคตัส astrophytum บนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสดกันบ้าง
               และด้วยความที่บทความนี้เป็นบทความภาคต่อที่ต่อเนื่องมาจากอีกบทความนึง เพราะฉะนั้นเนื้อหาของบทความจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากสักเท่าไรนะครับ ถ้าอยากอ่านวิธีการกราฟแคคตัสบนตอตัดสด การดูแลไม้กราฟ หรือเรื่องราวอื่นๆ ปลีกย่อยล่ะก็ ตามลิงก์ที่ลงไว้ด้านล่างนี้เลยนะครับ  เป็นบทความเกี่ยวกับการกราฟบทความหลักๆ ของเรา

 บทความแรก  การกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรตัดสด 

ส่วนอันนี้เป็นบทความเก่าอีกบทความที่น่าสนใจ การกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกร แบบตอชำ

เริ่มเรื่องราวคราวนี้กันเลยดีกว่าครับ


                      ตอสามเหลี่ยมหนามนั้นเป็นตอที่ช่วงหลังๆ มานี้ผมมักจะเลือกมาใช้ในการกราฟค่อนข้างจะบ่อย ด้วยความที่เค้าเป็นตอที่ต่อติดง่าย ส่งดี หลังจากต่อติดไปแล้วเจ้าแคคตัสที่่ต่อไปมีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่น่าพอใจ และที่สำคัญเลยคือตอชนิดนี้นั้นค่อนข้างจะทนทานและเลี้ยงง่าย เวลาที่ผมจะต้องกราฟแคคตัสที่มีขนาดเล็กๆ ขนาดหัวประมาณสัก 1-1.5 ซม. ผมก็มักจะเลือกใช้ตอสามเหลี่ยมหนามนี่แหละครับในการกราฟ

                     โดยหลักในการเลือกตอมาใช้สำหรับกราฟนั้น พยายามเลือกตอส่วนยอดที่มีความสมบรูณ์ไม่อ่อนหรือว่าแก่จนเกินไป เลือกยอดที่มันอวบๆ ตึงๆ หน่อยนะครับน่าจะดี และในความรู้สึกของผมนั้น ไม่ควรเลือกตอที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของแคคตัสที่จะเอามากราฟ ควรเลือกตอที่มีขนาดสูสีกันหรือถ้าเป็นไปได้ให้ตอมีขนาดใหญ่กว่าแคคตัสที่เราจะกราฟเลยก็น่าจะดีกว่า เพราะฉะนั้นเลือกตอส่วนยอดที่มีขนาดใหญ่ๆ มีความสมบรูณ์แข็งแรงนะครับ จะได้ต่อติดแล้วใช้กันไปยาวๆ


                    สำหรับเจ้าตอสามเหลี่ยมหนามที่เอามาใช้วันนี้ ด้วยความที่ตออันนี้นั้นมันหนามเยอะและหนามยาวไปสักหน่อย ซึ่งก็ต้องบอกว่าเวลาที่ต้องกราฟแคคตัสนั้น ผมไม่ชอบหนามเยอะๆ แบบนี้เลยครับ เพราะผมเป็นคนมือไม่นิ่ง ชอบพลาดโดนหนามตำ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำการกราฟผมขอเอากรรไกรตัดหนามออกให้กุดก็แล้วกันนะครับ จะได้ทำงานง่ายๆ


                     จริงๆ ไม่ต้องตัดหนามทิ้งแบบผมก็ได้นะครับ เพราะบางท่านก็ชอบที่จะให้เค้ามีหนามยาวๆ สมบรูณ์ มันดูสวยกว่าหนามกุดๆ แหว่งๆ ึ่งก็แล้วแต่ชอบเลยครับ ตัดหนามหรือไม่ตัดหนามผมว่ามันไม่ได้ส่งผลอะไรกับโอกาสในการที่จะต่อติดหรือไม่ติด เพราะงั้นตามสบายครับ


หลังจากที่ตัดหนามจนด้วนหมดแล้วก็มาเริ่มกราฟกันเลยดีกว่า เริ่มจากปาดตรงส่วนยอด


จากนั้นก็ตัดแต่งขอบ ตามภาพ



                    จากนั้นเราก็จะมาปาดในส่วนของหน่อแคคตัสที่จะเอามาใช้กราฟกันบ้าง ซึ่งหน่อที่เลือกมาใช้นั่นก็คือหน่อของแคคตัสแอสโตรไฟตัม ( astrophytum ) นั่นเองครับ โดยหลักในการเลือกว่าหน่อขนาดไหนถึงจะพร้อมที่จะเด็ดเอามากราฟได้นั้น ผมจะเลือกหน่อที่มีความสมบรูณ์แข็งแรงและขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. ขึ้นไปครับ อย่างเจ้าแอสโตรหน่อนี้จากที่มอง ผมว่าน่าจะมีขนาด 1 - 1.5 ซม. น่าจะได้

หน่อสีเขียวอันที่ไม่มีหนามที่เจ้าเหมียวนอนมองอยู่นั่นล่ะครับ


ปาดที่หน่อของเจ้าแอสโตรกันต่อเลยดีกว่า


                   หั่นไปฉับแรกปรากฏว่าผมเกิดความรู้สึกไม่ค่อยพอใจเท่าไร ผมว่ามันตื้นไปหน่อย ยังมองเห็นท่อน้ำเลี้ยงตรงกลางไม่ชัดเท่าไร เพราะงั้นผมจะลงมีดอีกครั้งนึงก็แล้วกัน


                      รอบสองคราวนี้มองแล้วว่าน่าจะพอได้แล้ว ปาดลงไปจนเจอท่อน้ำเลี้ยงตรงกลางชัดเจนแบบนี้ และจากที่ดูรอยตัดของแผลก็เรียบเสมอกันดี และไม่มีอาการเนื้อยุบหรือหดเพราะงั้นผมก็รู้สึกว่ามันใช้ได้แล้ว ผมพอใจแล้ว งั้นก็เอาไปต่อประกบบนตอเลยดีกว่า


ติดสก็อตเทป


เสร็จและครับการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด

                  จากนั้นผมก็จะเอาเจ้าแคคตัสที่ได้ต่อเอาไว้นี้ เอาไปผึ่งเอาไว้ก่อน  1 อาทิตย์เพื่อรอให้แคคตัสกับตอที่เรากราฟไปนั้นต่อติดกันก่อนแล้วค่อยเอาไปชำทีหลัง

กราฟเสร็จใหม่ๆ ใส่กระบอกผึ้งเอาไว้ก่อน 7 วัน

                     ผึ่งเอาไว้ในที่ๆ มีแสงส่องรำไรอากาศถ่ายเทดี อย่าให้โดนแดดจัด อย่าโดนฝนสาดใส่ วางไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจอะไรมากก็ได้ ยังไงเค้าก็ไม่ตายหรอกครับ ตอพวกนี้ทนนานสุดๆ อยู่แบบแห้งๆ แบบนี้ได้ 1 อาทิตย์อย่างแน่นอนครับ 2 อาทิตย์เลยก็ยังได้นะ แต่เราเอาแค่อาทิตย์เดียวพอแล้ว เพราะอาทิตย์เดียวรอยต่อก็เริ่มสมานเป็นเนื้อเดียวกันแล้วล่ะครับ สำหรับการกราฟบนตอสามเหลี่ยมหนาม

1 อาทิตย์ผ่านไป เราก็จะมาแกะสก็อตเทปดูกันว่าจะเป็นยังไง


สรุปเลยแล้วกันว่าต่อติด จากนี้เราก็จะเอาเค้าไปปักชำในดินกันต่อเลยครับ

สำหรับดินที่ใช้ปักชำตอนั้นก็เหมือนเดิมเลยครับ ผมใช้เป็นดินใบก้ามปูครับ

ลงปลูกวันแรก ตอยังไม่มีราก ต้นยังซูบอยู่

                    ช่วงแรกๆ ของการปลูกนั้น อย่าให้ตรงแผลที่เรากราฟไว้โดนน้ำ โดนฝนสาด เดี๋ยวจะเกิดปัญหาติดเชื้อที่รอยต่อทำให้เน่าตาย ที่กราฟไปจะเสียเปล่าเอาได้ เพราะฉะนั้นสถานที่ปลูกต้องมีที่กันฝนสักหน่อยนะครับ ช่วงนี้หน้าฝนแล้ว ฝนมาทุกวันต้องระวังอย่าให้แคคตัสตากฝนด้วยนะครับ ส่วนการรดนํ้าไม่กราฟนั้นก็ไม่มีอะไรมาก ผมจะรดนํ้าเมื่อเห็นว่าดินเริ่มแห้ง

                  ส่วนเรื่องแสงแดด ช่วงแรกๆ ก็อย่าพึ่งให้เค้าโดนแดดแรงๆ นะครับ ให้เค้าโดนแดดอ่อนๆ ไปก่อน รอจนกว่ารากของเค้าจะงอก ต้นเริ่มมีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่สมบรูณ์มากขึ้น เราค่อยเพิ่มแสงให้เค้าได้รับมากขึ้น ให้เค้าค่อยๆ เทรนแดดไปทีละระดับ แบบนี้จะดีกว่าครับ

2 อาทิตย์หลังลงปลูก เมื่อตอออกรากต้นก็เริ่มจะฟื้น เริ่มตึงและครับ

                  พัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าต้นนี้ผมว่าโอเคเลยครับ หลังจากที่เลี้ยงไปสักระยะจนรากของตอเริ่มมา ตอเริ่มจะตึงสมบรูณ์มากขึ้น การเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสก็เริ่มจะดีขึ้นเรื่อยๆ ยอดเริ่มขยาย  น่าพอใจเลยล่ะครับสำหรับการกราฟในครั้งนี้


                   อันนี้เป็นภาพที่ถ่ายเอาไว้เมื่อวันก่อน กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าอีกไม่กี่เดือนก็น่าจะมีโอกาสที่จะได้เห็นเค้าออกดอกอย่างแน่นอน


                     ประมาณนี้ครับกับเรื่องราวการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด แล้วพบกันใหม่กับบทความเรื่องต่อไป ยังไม่ได้คิดเลยครับว่าจะเขียนเรื่องอะไร และคงจะขอพักอีกสักระยะเพราะช่วงนี้ผมค่อนข้างยุ่งนิดหน่อย แล้วเจอกันเมื่อพร้อมก็แล้วกันนะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

1 comment:

Note: Only a member of this blog may post a comment.