Sunday, November 29, 2015

การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด ตามติดพัฒนาการตั้งแต่ก่อนและหลังการเพาะเมล็ด


                         การเพาะเมล็ดแคคตัสเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก กว่าที่แคคตัสต้นนึงจะงอกและเจริญเติบโตจนมีดอกสวยๆ ให้ได้ชมกันนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการเลี้ยงดูประคบประหงม ซึ่งนักปลูกบางท่านก็คงจะคิดว่ามันนานเกินไปรอไม่ไหวก็เลยไม่สนใจในเรื่องราวของการเพาะเมล็ด  แต่ข้อดีในเรื่องของการเพาะเมล็ดนั้นก็มีอยู่หลายข้อ เช่นไม้เพาะเมล็ดนั้นจะมีระบบรากที่แข็งแรงมีรากแก้ว และในการเพาะเมล็ดยังมีโอกาสที่จะได้ลูกไม้ที่มีหน้าตาที่สวยงามเหมือนกับต้นพ่อแม่หรือสวยงามโดดเด่นมากกว่าต้นพ่อแม่ก็เป็นไปได้ หรืออาจที่จะได้ไม้ด่างหรือไม้ที่มีลักษณะเด่นที่แปลกแตกต่างออกไป เช่นได้ดอกสีใหม่ที่ไม่เหมือนกับต้นพ่อแม่  เพราะฉะนั้นไม่ว่ายังไงการเพาะเมล็ดก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและถ้าท่านสามารถอดทนรอคอยตั้งใจเลี้ยงดูแคคตัสน้อยๆ ให้เจริญเติบโตขึ้นมาได้ ผลตอบแทนที่ได้กลับมาผมคิดว่ามันจะต้องคุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอนครับ

                             
                         ตัวผมนั้นก็เป็นหนึ่งคนที่ชื่นชอบในเรื่องราวของการเพาะเมล็ด โดยเฉพาะเจ้า Cactus Astrophytum นั้นเป็นไม้ที่ลักษณะของต้นมีความหลากหลายในด้านของลวดลายและรูปทรง รวมทั้งสีสันของดอกที่มีหลายแบบ ซึ่งนั่นทำให้ผมเกิดความคิดที่อยากจะลองผสมไม้ขึ้นมาด้วยมือตัวเองบ้าง ผมคิดว่ามันคงจะดีถ้าเรามีแคคตัสที่เกิดจากการผสมเกสร เพาะเมล็ด และเลี้ยงดูขึ้นมาจนเติบใหญ่ด้วยมือของเรา และจะดีเป็นที่สุดถ้าแคคตัสที่เกิดมาจากฝีมือของเรานั้นเป็นแคคตัสที่มีความโดดเด่นสวยงามไม่เหมือนใคร นี่จึงเป็นจุดเริ่มในการเพาะเมล็ดแคคตัส Astrophytum ของผม ซึ่งผมจะขอนำวิธีการการเพาะเมล็ดที่ผมทำเป็นประจำมาเรียบเรียงให้ทุกท่านได้อ่านกัน บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อยเพราะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในหลายเรื่อง แต่อยากให้ลองอ่านกันจริงๆ ครับ


                          เริ่มต้นก่อนที่เราจะไปเพาะเมล็ดแคคตัสนั้น เราก็ต้องมาคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อนำมาผสมเกสรกันก่อนนะครับ ซึ่งเรื่องราววิธีการผสมเกสรแคคตัสนั้น ผมได้เขียนเอาไว้ก่อนนหน้านี้แล้วในอีกบทความนึง สามารถเข้าไปอ่านกันได้ตามลิงก์นี้เลยครับ การผสมเกสรแคคตัส Astrophytum

สำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ผมเลือกมาใช้เป็นคู่ผสมในโปรเจคการเพาะเมล็ดในครั้งนี้นั่นก็คือเจ้าคู่นี้ครับ ตามรูปด้านล่าง
                         

                          ต้นทางซ้ายเป็นแม่ ต้นทางขวาเป็นพ่อ และพอเราผสมเกสรเสร็จปุ๊บ ถ้าเป็นไปได้ผมขอแนะนำว่าให้เขียนแท็กเอาไว้ด้วยนะครับว่าคู่ผสมที่เราใช้ในการผสมนั้นเป็นต้นไหนกับต้นไหน ใครเป็นพ่อ เป็นแม่ ซึ่งการที่เราเขียนแท็กเอาไว้นั้นจะมีข้อดีตรงที่ว่าถ้าสมมุติว่าวันนึงพอเราเพาะเมล็ดไปแล้วลูกที่เกิดขึ้นมา ถ้าเค้าโตขึ้นมาแล้วสวยหรือมีลักษณะเด่นที่น่าสนใจขึ้นมาล่ะก็เราจะได้รู้ข้อมูลว่าพ่อแม่เค้าเป็น ใคร จะได้เป็นตัวเลือกที่ง่ายขึ้นเวลาที่เราจะเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาผสมใน ครั้งต่อๆ ไป เราก็สามารถที่จะเลือกต้นที่ให้ลูกสวยๆ เอามาผสมและพัฒนาต่อได้ ส่วนต้นไหนที่ให้ลูกที่มีลักษณะไม่ค่อยดีก็จะได้ผ่านไป แบบนี้น่าจะดีกว่าการที่เราผสมแล้วไม่ได้จดแท็กไว้ว่าพ่อแม่เป็นใคร ถ้าเกิดว่าเพาะเมล็ดมาแล้วลูกเกิดเป็นไม้ด่างหรือไม้สวยแต่เราดันไม่รู้ว่าเป็นลูกของต้นไหนคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากเลยครับ

                      เมื่อผสมเกสรเรียบร้อยแล้วปั๊บ ถ้าการผสมนั้นสำเร็จ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผสมเกสรไปจนกระทั่งฝักแก่จัดพร้อมให้เก็บเมล็ดมาเพาะได้นั้นจะกินเวลาประมาณสองอาทิตย์ครับ
                        

ซึ่งพอฝักแก่ปุ๊บก็จะมีหน้าตาแบบนี้ เราก็ทำการเก็บเมล็ดเค้าเอามาเพาะได้เลยครับ

                        แต่ถ้าเรายังไม่อยากเพาะทันทีอยากที่จะเก็บเมล็ดเอาไว้ก่อนแล้วค่อยเอาออกมาเพาะทีหลังก็สามารถทำได้ อย่างของผมเนี่ยในวันที่ฝักแก่นั้นผมไม่สะดวกเท่าไร ผมก็จะทำการเก็บเมล็ดเอามาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้งจากนั้นก็เก็บใส่ถุงซิปลอคเอาไว้พร้อมวันไหนก็ค่อยเอาออกมาเพาะได้ตามสะดวก


หลังจากที่เกริ่นเรื่องราวมายาวมาก ในที่สุดการเพาะเมล็ดแคคตัสก็จะเริ่มจริงๆ แล้วล่ะครับ

เรามาดูกันที่วัสดุที่ใช้ในการเพาะเมล็ดกันเลยก็แล้วกัน

                          สำหรับวัสดุเพาะนั้นจริงๆ แล้วสามารถที่จะใช้ได้หลายแบบ บางท่านใช้เป็นดินปลูกแคคตัสธรรมดา หรือจะเป็นดินผสมสูตรอื่นๆ อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบเลยแล้วกัน สำหรับผมนั้นเลือกที่จะใช้เป็นพีทมอส (Peat  Moss) ล้วนๆ ไม่ผสมอะไรทั้งนั้น


                       ที่ผมเลือกใช้เป็นพีทมอสล้วนๆ นั้น เพราะผมคิดว่าพีทมอสเป็นวัสดุปลูกที่ค่อนข้างสะอาดและเก็บความชื้นได้ดีมาก พร้อมทั้งยังมีแร่ธาตสะสมค่อนข้างสูง เคยลองใช้มาหลายครั้งแล้วรู้สึกว่ามันน่าพอใจก็เลยลงตัวที่พีทมอสที่แหละ

                      สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดนั้นก็ง่ายๆ ใส่พีทมอสลงไปในกระถางแล้วเกลี่ยให้ผิวดินเรียบสักหน่อย จากนั้นก็หยอดเมล็ดแคคตัสของเราลงไปเลยครับ หรือบางท่านอาจจะรดน้ำลงไปในพีทมอสให้ชุ่มก่อนแล้วค่อยโรยเมล็ดแคคตัสลงไปก็ได้นะครับ แล้วแต่จะทำเลยครับไม่มีปัญหาไม่ว่าจะรดน้ำก่อนหรือหลัง

                   เนื่องจากเมล็ดฝักนี้นั้นมีจำนวนค่อนข้างเยอะผมก็เลยแบ่งใส่เป็นสองกระถาง เพราะถ้าเพาะเมล็ดจำนวนมากๆ ในกระถางเดียวกันผมรู้สึกว่าเวลามันงอกขึ้นมาเมื่อไรมันอาจจะแออัดจนเกินไป เลยแบ่งเป็นสองกระถางน่าจะดีกว่า


                            เมื่อหยอดเมล็ดลงไปเรียบร้อยแล้วจากนั้นก็เอากระถางเพาะของเราเอาไปแช่ในน้ำที่มียากันราผสมเอาไว้อยู่ บางท่านอาจจะมีการผสมยาเร่งราก B1 หรือวิตามินอะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับผมนั้นไม่ใช้ครับ ผมใช้แค่น้ำผสมกับยากันราจางๆ แค่นั้นพอแล้วครับ

                         หลังจากที่แช่กระถางเพาะไปได้สักพักให้วัสดุเพาะดูดน้ำเข้าไปจนเต็มที่จนเห็นแล้วว่าพีทมอสนั้นผมน้ำไว้จนชุ่มแล้ว ผมก็จะยกออกมาแล้วพ่นยากันราซ้ำบริเวณผิวหน้าที่เราโรยเมล็ดเอาไว้ ก็คือพ่นยากันราใส่เมล็ดเพื่อป้องกันเมล็ดขึ้นราหรือเน่าครับ จากนั้นก็จะทำการเอาใส่ถุงพลาสติก ถุงใส่แกงนี่แหละครับ แล้วมัดปากถุงเอาไว้


                        การที่เราเอากระถางเพาะใส่ในถุงพลาสติกแล้วมัดปากแบบนี้นั้นก็เพื่อเป็นการรักษาความชื้นให้วัสดุเพาะนั้นแห้งช้านั่นเองครับ ซึ่งการเพาะแบบนี้นั้นเราเรียกว่าการเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด

                      ส่วนแท็กที่เราเขียนเอาไว้ตอนผสมว่าพ่อแม่เป็นใครก็เอามาติดไว้ตามสะดวก บางท่านก็ปักในกระถางเพาะนั่นล่ะครับ แต่ของผมตอนเขียนดันเขียนใส่ป้ายอันใหญ่ ตอนจะปักก็เลยรู้สึกว่าเกะกะไปหน่อยเลยเอามาผูกไว้กับปากถุงมันซะแบบนี้เลยแล้วกัน


                            หลังจากที่เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ใส่ถุงแบบนี้แล้วจากนั้นเราก็เอาเจ้าถุงใส่กระถางเพาะของเราเนี่ยเอาไปเก็บไว้ในจุดที่มีแสงส่องรำไร แต่อย่าให้โดนแดดจัดๆ เป็นอันขาดนะครับ ต้นอ่อนจะสุกตายเอาได้ง่ายๆ 

                           อย่างสถานที่วางถุงเพาะเมล็ดของผมนั้น ก็จะเป็นใต้โต๊ะที่ใช้วางกระถางแคคตัสนั่นล่ะครับ สว่างมีแสงแดดอ่อนๆส่องถึงบ้างในช่วงเช้าถึงสาย แค่นั้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะพอเพียงแล้วล่ะ

                          เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วล่ะครับ เราก็ปล่อยเค้าไว้แบบนั้นแล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่นานเมล็ดจะเริ่มงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนอย่างที่เห็น 


อันนี้เป็นภาพหลังจากที่เพาะได้อาทิตย์นึงครับ อัตราการงอกของเมล็ดค่อนข้างดีเลยทีเดียวครับ เห็นแบบนี้แล้วก็โล่งใจ


                          มีคำแนะนำจากพี่ๆ หลายท่านเอาไว้ว่าเราควรเก็บเอาไว้ในถุงแบบนี้ยาวๆ ไม่ต้องไปยุ่งสัก 4-6 เดือนไปเลยก็ได้ แล้วค่อยเปิดถุงทีเดียวตอนนั้น ตอนที่เค้าโตและแข็งแรงเต็มที่ ซึ่งจริงๆ ผมก็คิดว่าจะทำตามนั้นนั่นล่ะครับกะว่าจะวางทิ้งไว้สัก 6 เดือนโดยที่จะไม่ไปยุ่งเลยสักนิด แต่พอดีว่าในการเพาะของผมนั้นเกิดปัญหาขึ้นมาตอนอาทิตย์ที่ 2 หลังจากที่เพาะ นั่นก็คือต้นอ่อนของแคคตัสที่งอกขึ้นมานั้นเกิดล้มเอนหลายต้น บางต้นก็หัวทิมหัวตำ สุดท้ายผมก็เลยต้องแกะถุงออกมาจนได้

                      ที่แกะถุงออกมานั้นก็เพื่อที่จะทำการโรยหินประคองต้นนั้นเองครับ ซึ่งผมใช้เป็นหินก้อนเล็กๆ โรยบางๆ ต้นไหนล้มก็ทำการจัดลำต้นซะหน่อยแล้วเอาหินโรยค้ำเอาไว้ซะ


โรยหินจนทั่วแบบนี้ก็ดูสวยดีไปอีกแบบนะครับ เป็นระเบียบดี


                            หลังจากที่เราโรยหินประคองต้นเรียบร้อย ก็เอาใส่กลับเข้าถุงเหมือนเดิมได้เลยครับ หรือจะพ่นยากันราเพิ่มเติมสักหน่อยก็ได้ อย่างของผมนั้นก็มีพ่นยากันราบางๆ สักนิดนึงป้องกันเอาไว้เพื่อความอุ่นใจ จากนั้นผมก็เก็บใส่ถุงแล้ววางไว้แบบนั้นยาวๆ โดยที่ไม่เคยไปดูอีกเลยเป็นระยะเวลาครึ่งปีเลยครับ

                         เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก หลังวันที่เพาะก็ล่วงเลยมาอีก 6 เดือนเต็ม ในที่สุดก็ถึงเวลาของการเอาลูกๆ Cactus Astrophytum ของเราออกมาดูโลกแล้วล่ะครับ

                        โดยก่อนที่เราจะเอากระถางเพาะออกจากถุงนั้น เราควรจะปรับสภาพอากาศด้วยการเปิดปากถุงเอาไว้นิดหน่อยโดยที่ยังไม่ต้องเอาแคคตัสออกจากถุงนะครับ เปิดปากถุงเอาไว้แบบนั้นสัก 4-5 วัน แล้วค่อยเอาเค้าออกมาจากถุงก็ได้ หรือจะเอาออกมาจากถุงเลยโดยไม่ต้องทำอย่างที่ผมบอกก็ได้นะครับ การปลูกต้นไม้ไม่มีอะไรที่ตายตัว ทำตามที่ใจเราคิดดีกว่าครับ


                          หลังจากที่เราเอาเด็กๆ ออกมาจากถุงเพาะเรียบร้อยแล้ว ช่วงแรกๆ เราไม่ควรให้เค้าโดนแดดจัดนะครับ ควรจะเลี้ยงในสภาพแดดอ่อนๆ ไปก่อนสักระยะ ให้เค้าปรับสภาพให้ชินกับแสงแดดไปเรื่อยๆ ก่อนแล้วค่อยขยับก็ได้ครับ


                          จากที่เห็น ผมว่าลูกไม้ชุดนี้หน้าตาโอเคเลยนะครับ ถือว่าพ่อแม่คู่นี้ใช้ได้ ให้ลูกที่สวยๆ หลายต้นเลยทีเดียวครับ คาดไม่ถึงเหมือนกันว่าพ่อแม่หน้าตาก็ไม่ได้เด่นอะไร รูปทรงก็ไม่ได้สวยอะไรมากแต่ให้ลูกค่อนข้างดีแบบนี้


                           และนี่คือข้อดีของการที่เราจดแท็กเอาไว้นั่นเองครับ เพราะเมื่อลูกออกมาหน้าตาใช้ได้แบบนี้ ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้มีการทำแท็กเอาไว้ว่าพ่อแม่คือต้นไหน ระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านไปอาจจะทำให้เราลืมก็เป็นได้ว่าเราเก็บเมล็ดมาจากต้นไหน แต่ถ้ามีการจดข้อมูลเอาไว้อย่างชัดเจนว่าพ่อแม่เป็นใคร ทีนี้ก็สบายแล้วล่ะครับ เรามีข้อมูลแล้วว่าพ่อแม่คู่นี้ผสมกันแล้วให้ลูกสวย ต่อไปเราก็สามารถเลือกต้นที่ให้ลูกสวยๆ เอามาผสมได้อีกเรื่อยๆ อย่างมีทิศทาง ในการคาดหวัง


                              ในการดูแลแคคตัสต้นน้อยๆ เหล่านี้นั้นผมให้พวกเค้าได้รับแสงแดดที่ไม่แรงจนเกินไปนัก แต่ถ้าสถานที่ปลูกของท่านมีข้อจำกัดในเรื่องแสงแดดแล้วล่ะก็ ถ้าเลียงไม่ได้ที่จะต้องให้เค้าเจอกับแดดแรงๆ ช่วงเที่ยงวันผมแนะนำว่าควรที่จะมีการใช้สแลนช่วงพลางแสงให้เบาลงด้วยนะครับ เพราะแคคตัสเล็กๆ เหล่านี้นั้นยังไม่แข็งแรงมาก ไม่สามารถที่จะทนกับแสงแดดจัดๆ ได้สักเท่าไร ถ้าโดนแดดแรงๆ เข้าไปล่ะก็ มีโอกาสที่จะไหม้แดดจนตายเป็นอย่างมากครับ เพราะฉะนั้นต้องระวังด้วยนะครับ

                           ส่วนการรดน้ำนั้น ผมไม่ได้มีหลักอะไรมากมาย แค่สังเกตุที่วัสดุปลูก ถ้าเห็นว่าเริ่มจะแห้งเมื่อไรก็ถึงจะรดน้ำ ซึ่งมันไม่ตายตัว บางทีอากาศแห้งๆ ลมแรงๆ วัสดุปลูกก็แห้งเร็ว แต่ถ้าช่วงไหนแดดน้อย ฝนตก อากาศชื้น วัสดุปลูกแห้งช้าก็ไม่ค่อยได้รดน้ำครับ สังเกตุที่วัสดุปลูกเป็นหลักเอาไว้ก่อน ถ้าชื้นก็ผ่านไปแห้งตอนไหนก็ค่อยรดนํ้า


                          และแล้วเวลาก็ผ่านไปอีก 1 เดือน ลูกๆ แคคตัสที่เลี้ยงในสภาพอากาศภายนอกก็ค่อยๆ โขึ้นไปอีกระดับ ตอนนี้จะเห็นได้ว่าเริ่มจะเบียดกันแล้วนะครับ คงใกล้เวลาที่จะได้ขยับขยายแยกกระถางแยกกันโตแล้วล่ะครับ


                         มาถึงขั้นนี้แล้วก็คิดว่าน่าจะหายห่วงสำเร็จเรียบไปด้วยดีแล้วล่ะครับสำหรับการเพาะเมล็ดในครั้งนี้ ที่เหลือก็คงเปนเรื่องของการเลี้ยงดูกันไปเรื่อยๆ ในแบบของการเลี้ยงแคคตัสทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นเรื่องราวในส่วนของการเพาะเมล็ดครั้งนี้ก็คงจะต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้แล้วล่ะครับ


                           แต่เรื่องราวชีวิตของเจ้าลูกๆ แคคตัส Astrophytum ชุดนี้ก็ยังจะดำเนินต่อไปตามเส้นทางของแต่ละต้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าบทความเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดครั้งนี้จะจบลงไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านี่จะเป็นจุดที่สิ้นสุดนะครับ ในอนาคตจะมีการเขียนภาคต่อไปของเจ้าแคคตัสน้อยๆ เหล่านี้อย่างแน่นอนครับ แต่เรื่องราวภาสองของเด็กๆ ชุดนี้ จะเป็นเช่นไร อันนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าเจ้าแคคตัสชุดนี้หน้าตาของเค้าตอนโตจะเป็นยังไง จะสวยงามขนาดไหน หรือจะตายจากกันไปจนไม่เหลือ อันนี้ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันนะครับ


ฝากบทความภาคต่อของบทความนี้ ด้วยนะครับ เรื่องราวการแยกพอต ย้ายต้นอ่อนแคคตัส ตามลิงก์นี้เลยครับ การแยกพอต ย้ายกระถางต้นอ่อนแคคตัส และการดูแลแคคตัสที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ

แล้วพบกันใหม่นะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

17 comments:

  1. ดีมากๆเลย ผมกำลังหัดปลูกครับ ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำดีๆ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณครับ สำหรับคำแนะนำดีๆ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณมากๆค่ะ😊😊

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณที่บอกอย่างละเอียดครับ กำลังจะหัดปลูกพอดี ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำ ทำให้รู้ทางว่าควรจะทำอย่างไร ให้กำลังใจในความตั้งใจแบ่งปันความรู้นะครับ

    ReplyDelete
  5. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  6. ทำไมต้นมันยืดๆจังคับ ปกติของผมเพาะจะออกกลมๆ แบบนี้พอโตมันจะกลับมากลมได้รึเปล่าคับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เลี้ยงแบบให้ได้รับแสงแดดน้อยไป ต้นก็เลยยืดครับ พอปรับการเลี้ยงให้ได้รับแสงแดดมากขึ้น โตขึ้นก็กลมอยู่ครับ

      Delete
    2. อ่อ ขอบคุณมากคับ ของผมสงสัยแดดแรงเกิน กลม แต่ เหมือนต้นไหม้ ไม่รู้โตแล้วจะหายไหม รอบหน้าคงต้อง วางแสงน้อยกว่านี้หน่อย รอแกะจากถุงค่อยวางแสงปกติ

      Delete
  7. อยากทราบอัตราส่วนน้ำกับน้ำยากันราครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. อัตราส่วนตามที่ระบุไว้ในฉลากยาเลยครับ

      Delete
  8. ชอบมากค่ะ ได้ความรู้เพิ่ม ขออนุญาติสอบถามปัญหาเกี่ยวกับเพาะแอสโตรนะค่ะ(มือใหม่หัดเพาะค่ะ)เพาะตั้งแต่กลางเดือน3แต่น้องเหมือนโตช้า(ขนาด5มิลโดยประมาณ)สาเหตุเกิดจากที่เราเปิดถุงบ่อยรึเปล่าค่ะลูกสาว7ขวบชอบแอบเปิดดูค่ะ (แต่ได้รับแดดเช้า2ชม.แดดรำไรหลังบ่ายทุกวันค่ะ) ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

    ReplyDelete
  9. อ่านเข้าใจง่าย ขอบคุณครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.