Tuesday, April 11, 2017

การขยายพันธุ์ฮาโวเทีย ( Haworthia ) ด้วยการแยกหน่อ ชำหน่อ


                     สวัสดีครับ บทความในคราวนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ฮาโวเทีย ( Haworthia ) ด้วยการแยกหน่อ ชำหน่อ ซึ่งวิธีการที่ผมใช้นั้นก็ง่ายๆ เอาเป็นว่าไม่ขอเกริ่นอะไรมากมาย เราเริ่มกันเลยก็แล้วกัน


                      สำหรับต้นฮาโวเทียที่เราจะจับมาแยกหน่อกันในวันนี้นั้น เพื่อความหลากหลาย ผมก็เลยจะใช้ต้นตัวอย่างในการชำหน่อทั้งหมด 3 ต้น 3 สายพันธุ์ที่ต่างกันไป ก็ตามภาพนี้เลยครับ เจ้าพวกนี้คือต้นที่เราจะแยกหน่อมาชำกันในคราวนี้

เรามาลงมือแยกหน่อกันเลยดีกว่าครับ


                       เริ่มจากต้นแรกของเรา เจ้าต้นนี้ผมไม่น่ใจชื่อนะครับ ว่าเป็นฮาโวเทียชนิดไหน คือเรื่องชื่อต้นไม้ต้องเรียนตามตรงเลยว่าพวกไม้ในสายฮาโวเทียนั้น ผมจะจำชื่อได้แค่ไม่กี่ชนิด เพราะงั้นต้นนี้ ผมไม่ทราบชื่อที่แน่ชัดนะครับ แต่คือต้นนี้เนี่ย ผมเลี้ยงมาเป็นปีแล้วล่ะ ตอนที่ซื้อมาเค้ายังต้นเล็กๆ มีต้นเดียวโดดๆ ยังไม่มีหน่อเลยครับ ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ จนเค้าเจริญเติบโตออกหน่อขยายกอมาจนเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ
 
                      สำหรับหน่อที่ผมจะแยกออกมาชำนั้น ผมจะเลือกหน่อที่มีขนาดใหญ่สักหน่อยนะครับ เอาหน่อที่มันมีความสมบรูณ์ แข็งแรง โตสักประมาณนึงก็น่าจะดี ซึ่งหน่อที่ผมเลือกก็ตามรูปที่ลงไปด้านบนนั่นล่ะครับ ผมว่าหน่อนี้โตพอที่จะเอาไปชำได้แล้ว

                      จริงๆ ไม้กอนี้มีหน่อใหญ่ๆ ขนาดพร้อมให้ตัดมาชำได้หลายหน่อเลยนะ แต่ผมไม่อยากทำให้มันเสียทรงที่เป็นกอ ชอบแบบให้เค้าอยู่ด้วยกันเป็นกอใหญ่ๆ มากกว่า เพราะงั้นก็เลยตัดมาแค่หน่อเดียวพอ เอาแค่พอใช้เป็นตัวอย่างเท่านั้น

สำหรับอุปกรณ์ในการแยกหน่อนั้น ก็จะมีเพียงแค่มีดเล็กๆ หนึ่งเล่มสำหรับช่วยในการแงะหน่อครับ


                      โดยในการตัดหน่อนั้น ตอนที่เราลงมีดก็กะดีๆ นะครับ ถ้ามองไม่เห็นส่วนของโคนหน่อเพราะใบมันบังก็ค่อยๆ แหวกใบออกให้เห็นมุมที่เราจะตัดชัดๆ ก่อน แล้วก็ค่อยๆ ทิ่มมีดลงไปตรงโคนของหน่อ แล้วแซะให้หน่อนั้นขาดหลุดจากต้นแม่


                         ได้หน่อมาเรียบร้อย สภาพของหน่อดูสมบรูณ์แข็งแรงดี แถมยังมีรากติดมาด้วย แบบนี้ก็น่าจะไปต่อได้ไม่ยาก เอาไปชำต่อสักระยะ รากก็น่าจะเดินส่งการเจริญเติบโตให้กับต้นได้ต่อไป


ไปแยกหน่อต้นต่อไปกันเลยนะครับ


                      ต้นนี้เรียกกันในชื่อว่า ม้าลาย ชื่อสายพันธุ์ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็น่าจะเป็น ( Haworthia Fasciata ) ต้นนี้ผมก็เลี้ยงมานานแล้วเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เลี้ยงแบบค่อนข้างปล่อยๆ ไม่ค่อยได้ดูแลดีสักเท่าไร ต้นก็เลยดูมีตำหนิเยอะหน่อย แต่ก็แข็งแรงดีอยู่นะครับ แค่ใบมันไม่สวย ปลายใบมีแผลบ้างเท่านั้นเอง


มีอยู่หน่อเดียว เพราะงั้นก็ไม่ต้องเลือกอะไรมาก ลงมือแซะหน่อเลยดีกว่า


ได้มาแล้วครับ


มาที่ต้นที่ 3 กันบ้าง


                       เจ้าฮาโวเทียต้นนี้ผมก็ไม่แน่ใจชื่อเท่าไร ว่าเป็นตัวไหน อย่างที่บอกว่าผมจำชื่อสายพันธุ์ฮาโวเทียได้แค่ไม่กี่ชนิด เพราะงั้นขอไม่ระบุชื่อสายพันธุ์ก็แล้วกันนะครับ เพราะเขียนชื่อไปก็คงจะเขียนผิดแน่ๆ


แซะหน่อออกมาแล้วครับ หน่อนี้ก็ดูใช้ได้เลยทีเดียว


เรียบร้อยแล้วนะครับกับการแยกหน่อออกมาากต้นแม่


                       แต่ว่าพอเราได้มาหน่อมาแบบนี้แล้ว ผมจะยังไม่เอาไปปักชำเลยในทันทีนะครับ ผมจะเอาไปผึ่งไว้สักระยะให้แผลของหน่อที่เราแยกออกมานั้นแห้งเสียก่อน เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเอาไปปักชำเลยทันทีในขณะที่ยังมีแผลที่พึ่งโดนตัดมาสดๆ อาจจะมีโอกาสเกิดปัญหาแผลติดเชื้อขึ้นมาได้ เพราะงั้นเพื่อความสบายใจผมจะวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลแห้งสนิทก่อนดีกว่า แล้วค่อยเอาลงปลูกทีหลัง

                      ซึ่งในการวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลแห้งนั้น ผมจากเอาไว้ผึ่งไว้ในที่ร่มรำไร เป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน แผลก็น่าจะแห้งสนิทดีพร้อมให้เอาไปชำได้แล้วล่ะครับ

                     ที่คิดเอาไว้ก็คือจะวางเอาไว้ประมาณ 3-4 วันนั่นแหละ แต่เอาเข้าจริง ช่วงที่ผมวางเจ้าพวกนี้ผึ่งเอาไว้นั้น เป็นช่วงที่ผมไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไร สุดท้ายก็เลยวางผึ่งเอาไว้ลากยาวไป 6 วันครับ


                        แต่หน่อพวกนี้ก็ยังอยู่ดีไม่มีปัญหาอะไรนะครับ 6 วันสบายๆ หายห่วง อย่างที่เห็นในภาพเลยครับ อันนี้คือวางทิ้งไว้ 6 วันรวด ใบอาจจะฟีบลงไปบ้างแต่ก็ไม่ได้ดูแย่อะไรครับ หน่อก็ยังดูแข็งแรงดี

พร้อมปลูกแล้วครับ

                       สำหรับดินปลูกที่ผมใช้ในการชำหน่อ รวมไปถึงในการปลูกเลี้ยงฮาโวเทียทั้งหลายของผมนั้น ผมจะเลือกใช้ดินที่มีส่วนผสมที่โปร่งๆ ระบายน้ำได้ดี ซึ่งดินที่ผมใช้นั้น ผมผสมเองครับ


                         สำหรับสูตรของส่วนผสมดินก็จะมี ดินใบก้ามปู ร่อนเอาแต่เนื้อดินและส่วนของใบละเอียดๆ พวกดินก้อนใหญ่ๆ หรือใบใหญ่ๆ ที่ยังไม่ผุพังจนเป็นเนื้อละเอียดจะไม่เอามาใช้ คัดออกไป ( ถ้าไม่มีก็ใช้เป็นดินแคคตัสก็ได้ครับ ) ผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด ( เบอร์ 00 ) ผสมกับเพอร์ไลท์ สามอย่างนี้ผสมกันในอัตราส่วนที่พอๆ กัน ครับ อันนี้คือสูตรที่ผมใช้บ่อย

                        เรื่องดินเป็นเรื่องไม่ตายตัว สูตรดินนั้นมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความชอบและแนวทางในการปลูก รวมไปถึงสภาพอากาศของสถานที่ปลูกของแต่ละคน เพราะงั้นยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ครับ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะดีที่สุดครับ 

เมื่อเราได้ดินมาเรียบร้อย ทีนี้ก็จะมาเริ่มลงมือชำหน่อกันเลยดีกว่า


                     เริ่มจากใส่ดินลงในกระถาง สักครึ่งกระถาง ( ก่อนใส่ดินลงไป เรารองก้นกระถางก่อนก็ดีนะครับ การรองก้นกระถางจะช่วยให้การระบายน้ำนั้นดียิ้งขึ้นครับ วัสดุสำหรับรองก้นกระถางก็ใช้เป็นหินภูเขาไฟก็ได้ครับ หรือจะเป็นวัสดุลูกอื่นๆ ก็แล้วแต่เรามีเลยครับ )

พอเราใส่ดินลงไปครึ่งกระถางแล้ว ต่อมาก็ใส่เป็นปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) ถ้าคุณกะไม่ถูกว่าจะใส่กี่เม็ดดี ก็สัก 10 เม็ดก็ได้ครับ


ปุ๋ยละลายช้า ออสโมโค้ท เป็นปุ๋ยที่ใส่ 3 เดือนครั้ง เพราะงั้นเราใส่ไปในตอนแรกนี้แล้วก็จะอยู่ไปได้อีกยาวเลยครับ

                        หลังจากที่เราใส่ปุ๋ยออสโมโค้ทลงไปเรียบร้อย เราก็เติมดินลงไปให้เกือบเต็มกระถาง และจากนั้นก็นำเจ้าหน่อฮาโวเทียมาปักชำลงไปในดินได้เลยครับ
 

                        แล้วเวลาชำหน่อ ควรจะต้องปักหน่อลงไปในดินลึกแค่ไหนดี ไม่รู้ว่าจะมีคนสงสัยในเรื่องนี้มั้ย แต่ถ้ามี ผมก็ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกันว่าต้องปักลงไปลึกแค่ไหน หรือตื้นเท่าไรถึงจะดีที่สุด ลงไปกี่ ซม. ถึงจะดี ผมก็ไม่เคยไปวัดเหมือนกัน เวลาผมปัก ผมก็ปักลงไปเอาให้มันทิ่มลงไปในดินสักประมาณนึง ไม่ลึกไป ไม่ตื้นไป ก็ตามที่เห็นในรูปเลยครับ เท่านี้แหละ 


                        และถ้าเกิดว่าเวลาที่เราปักชำหน่อ ถ้าเกิดว่าเราปักลงไปแล้วต้นมันเอนล้ม ไม่สามารถประคองตัวให้ตั้งอยู่ในกระถางได้ล่ะก็ ให้หาหินมาโรยหน้ากระถางก็จะช่วยประคองไม่ให้ต้นนั้นล้มได้นะครับ แต่คือตอนที่ผมปลูกเจ้าพวกนี้นั้น หินโรยหน้าของผมดันหมดพอดี ก็เลยไม่ได้โรย แต่คือคิดไว้แหละว่าเดี๋ยวจะไปซื้อหินมาโรยทีหลัง


                        หลังจากที่ลงปลูกไปเรียบร้อย เราก็จะทำการรดน้ำ ซึ่งในการรดน้ำนั้นผมก็จะรดจนเห็นว่าน้ำนั้นไหลออกก้นกระถางก็จะพอ จากนั้นก็เอาไปเก็บในสถานที่ปลูกที่เตรียมไว้ต่อไป

                        ซึ่งในช่วงแรกๆ หลังจากที่เราพึ่งชำหน่อไปนั้น ไม่ควรให้เค้าได้รับแสงแดดที่จัดจนเกินไปนะครับ จะทำให้หน่อชำของเรานั้นเหี่ยวเอาได้ ควรให้เค้าอยู่ในจุดที่ได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปก่อนสักระยะ จนกว่าไม้จะเริ่มฟื้นตัว ออกราก แตกใบก่อนใบใหม่ขึ้นเมื่อไรก็ค่อยย้ายเค้าไว้ในจุดที่ได้รับแสงแดดมากขึ้น

แต่มากขึ้นก็ไม่ถึงกับแดดจัดมากอยู่ดีนะครับ


                        สำหรับในการปลูกเลี้ยงฮาโวเทียของผมนั้น ในกรณีของไม้ปรกติทั่วๆ ไปที่ต้นที่สมบรูณ์แข็งแรงดี ผมจะเลี้ยงแบบให้โดนแดดช่วงเช้า ไปจนสายแก่ๆ ประมาณ 7-11 โมง ประมาณนี้ครับ

                       แต่ถ้าเป็นพวกไม้ที่พึ่งได้มาใหม่ พึ่งลงปลูกใหม่ หรือพึ่งชำ รากยังเดินไม่ดีอย่างไม้อย่างพวกไม้ชำหน่อในบทความนี้ ผมก็จะมีการลดความแรงของแสงแดดที่เค้าจะได้รับให้น้อยลง ก็อาจจะต้องมีการพลางแสงด้วยการขึงสแลนกรองแสงให้เค้าได้รับแดดที่ไม่จัดเกินไป จนกว่าเค้าจะเริ่มฟื้นตัวถึงค่อยเลี้ยงแบบให้โดนแดดตามปรกติ

                       ส่วนการรดน้ำนั้น ผมจะรดน้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้ง ก็เหมือนเดิมครับ เวลารดน้ำผมจะรดจนเห็นว่าน้ำไหลออกก้นกระถางก็จะพอ ส่วนเรื่องของเวลาในการรดน้ำนั้น ผมก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่ารดเวลาไหน เช้า บ่าย เย็น ค่ำ ตอนไหนถึงจะดี ปรกติ ผมจะรดตอนเช้าครับ เพราะผมจะว่างช่วงนั้นครับ  เวลาอื่นบางทีผมจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไร เลยจัดตารางการรดน้ำเอาไว้ตอนช่วงเช้าๆ ครับ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากกว่านี้ครับ

                       ก็ประมาณนี้ครับ สำหรับการดูแลฮาโวเทียเบื้องต้นของผม ที่เหลือก็เป็นเรื่องของเวลา เพราะการเจริญเติบโตของไม้ประเภทนี้นั้นมันต้องให้เวลาเค้าออกรากใหม่ กว่าจะเริ่มตั้งตัวได้ก็คงจะอีกพักใหญ่ๆ หลายสัปดาห์ เพราะงั้นก็ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ดูแลกันไป เดี๋ยวเค้าฟื้นเมื่อไรก็จะเริ่มเจริญเติบโตสวยงามขึ้นเรื่อยๆ ครับ


                        ตัดภาพมาอีกครั้ง 2 เดือนผ่านไป ภาพนี้เป็นภาพที่ผมถ่ายเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนหลังจากวันที่เราได้ชำหน่อไปครับ


                        ทั้งสามต้นรากเดินหมดแล้วนะครับ ฟื้นแล้ว แต่การเจริญเติบโตของแต่ละต้นก็จะมีความแตกต่างกันไป มีต้นที่เติบโตตั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว และต้นที่ออกรากแล้วแต่ต้นยังไม่ได้ความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก

 
อย่างเจ้าต้นนี้ตั้งตัวได้แล้ว ยอดเดินดี แตดใบใหม่กำลังสดใสเลยครับ
  

                     ส่วนต้นนี้ ดูสาพต้นจะดูทรมๆ ไปสักหน่อย แต่ผมลองเช็คดูแล้ว รากเดินแล้ว รากใหม่มาแล้ว เพียงแต่ต้นยังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงให้ได้เห็นว่าเค้าเติบโตสดใส เหมือนต้นก่อนหน้า แต่ผมก็ไมไ่ด้ห่วงอะไรนะ เพราะรากเค้าเดินแล้ว ผมคิดว่าให้เวลาเค้าไปอีกสักระยะก็น่าจะได้เห็นเค้ามีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นกว่านี้แน่นอน ผมไม่รีบร้อน เลี้ยงไปเรื่อยๆ นั่นล่ะครับ


                      ก็ประมาณนี้ครับ สำหรับเรื่องราวการขยายพันธุ์ฮาโวเทีย ด้วยการแยกหน่อ ชำหน่อ แล้วพบกันใหม่กับบความต่อไป ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ต้องมาดูกันครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus 

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.