Sunday, June 3, 2018

เมื่อซื้อแคคตัสมาแบบล้างราก ขั้นตอนการปลูกไม้ล้างราก และการดูแลเบื้องต้น


                         ในการซื้อขายกระบองเพชรออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทางเว็บไซท์ เฟสบุ๊ก ไอจี พ่อค้า แม่ค้าในหลายๆ ร้านจะเลือกใช้วิธีการจัดส่งสินค้ามาแบบล้างราก หรือไม่ก็สะบัดดินออกจนหมดแล้วส่งมาแต่ต้นเปล่าๆ ห่อใส่กล่องพัสดุมา ซึ่งบางท่านที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการได้รับต้นไม้ที่ส่งมาแบบล้างราก เมื่อได้สินค้ามาเป็นต้นเปลือยๆ ก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะต้องทำยังไงกับไม้ล้างรากที่ได้มานั้น จะปลูกและดูแลอย่างไร บางท่านกังวลใจกลัวว่าจะปลูกไม่รอด แต่จริงๆ แล้วการปลูกไม้ล้างรากนั้นมันไม่ยากอย่างที่คิดเลยครับ

                        ซึ่งบทความในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับไม้ล้างราก ทั้งการจัดการเมื่อไม้มาถึงมือเราแล้วจะต้องทำยังไง ในการปลูกและการดูแลนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมไปถึงคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ที่ถามกันเข้ามาเยอะๆ เราก็จะหยิบยกมาพูดคุยกันด้วย 

ผมว่าแล้วก็เริ่มกันเลยดีกว่าครับ


                           จากที่ผมเคยซื้อแคคตัสออนไลน์มาบ้าง รูปแบบในการจัดการต้นไม้ของพ่อค้าแม่ค้าก่อนที่จะส่งต้นไม้มาถึงมือเรานั้นก็จะมีอย่างเช่น

                           บางร้านจัดส่งมาแบบส่งทั้งกระถางทั้งดิน ( บทความนี้เราไม่พูดถึงนะครับ ) เพราะว่าเคยเขียนไปแล้วในอีกบทความนึง ลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ ตามลิ้งก์นี้เลยครับ รับไม้ใหม่เข้าบ้าน การดูแลต้นแคคตัสที่เราพึ่งซื้อมาใหม่

                          บางร้านจัดส่งมาแบบแค่สะบัดดินออก ความหมายก็คือเทกระถางออกมา แล้วสะบัดหรือรูดเอาดินออกไป ให้เหลือแต่ต้นเปล่าๆ แล้วก็ส่งมาแบบนั้นโดยที่ไม่ได้ล้างต้นล้างราก

                          บางร้าน เวลาจัดส่งจะทำการล้างรากล้างต้นจนสะอาดแล้ววางผึ่งจนแห้งสนิทดี จากนั้นก็ถึงค่อยจัดส่ง ซึ่งตัวผมเองเวลาที่ขายต้นไม้ก็มักจะจัดส่งมาแบบนี้

                          บางร้านก็จะพิเศษกว่านั้นคือ ล้างรากล้างต้นจนสะอาด จากนั้นก็จะทำการตัดแต่งรากมาให้ด้วย ซึ่งในการตัดแต่งรากนั้น บางร้านก็อาจจะตัดแค่เพียงรากฝอย หรือรากเสีย รากแห้ง แต่รากแก้ว รากหลักไม่ได้ตัดออก แต่บางร้านก็อาจจะตัดรากหลักออกไปบางส่วนให้เหลือแค่รากสั้นๆ ซึ่งไม่มีผิดหรือถูกนะครับ สามารถตัดแต่งรากได้ทั้งสองแบบ ลงปลูกและเจริญเติบโตได้อย่างไม่เป็นปัญหาทั้งสองแบบครับ

แคคตัดที่ตัดแต่งรากแล้ว

                          บางร้านก็จะพิเศษขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือ นอกจากจะล้างและตัดแต่งรากให้แล้ว ก็ยังจะมีการทายาเร่งรากหรือทาผงเร่งรากมาให้อีกด้วย

อันนี้คือที่ผมเคยเจอมา ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาไล่เรียงกัน ว่าถ้าเราเจอการจัดส่งในแบบไหน เราจะทำอย่างไรกันบ้าง

การตัดแต่งรากในแบบต่างๆ

                           แต่ก่อนอื่นเลย ก่อนที่จะเอาต้นไม้ไปปลูก สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำทันทีที่ได้รับต้นไม้มานั่นก็คือคุณจะต้องเช็คสภาพไม้อย่างละเอียดก่อนนะครับว่าไม้ที่คุณได้รับมานั้น มีสิ่งใดที่ผิดปรกติหรือไม่ ถ้ามีสิ่งใดที่ผิดปรกติ หรือไม้ที่คุณได้รับนั้นมีสภาพที่ไม่โอเค คุณเห็นแล้วคิดว่ามันน่าจะมีปัญหา ก็ให้แจ้งต่อคนขายเลยทันทีนะครับ

****** ย้ำนะครับว่าทันทีที่ต้นไม้ถูกส่งมาถึงมือคุณ ต้องแกะดูสภาพต้นไม้ก่อนเลยนะครับ ถ้าเห็นว่าไม้ผิดปรกติ แจ้งคนขายเลยทันที อย่าพึ่งเอาลงปลูก คุยกับคนขายให้แน่ใจเสียก่อน หรือถ้าจะขอเครมก็แจ้งเลย อย่าปล่อยนานนะครับ


                        มีคำถามซึ่งหลายท่านเวลาซื้อแคคตัสมาแล้วเกิดข้อสงสัยก็เลยถามกันเข้ามา ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่มีคนถามกันเข้ามาบ่อยก็เลยขอเอามาเขียนด้วยเลยก็แล้วกัน เผื่อบางท่านกำลังสงสัยอยู่เช่นเดียวกัน ( สำหรับท่านที่ไม่ได้เน้นในเรื่องนี้ อยากจะไปดูเกี่ยวกับการลงปลูกและการดูแลเลยล่ะก็ ข้ามตรงส่วนนี้ไปเลยก็ได้ครับ )

เริ่มจากคำถามแรก ซื้อแคคตัสมาแล้วพบว่า ตรงบริเวณโคนต้นนั้นเป็นสีน้ำตาล ดูจากในภาพด้านล่างนะครับ

ตัวอย่างรอยสีนํ้าตาลใต้โคนต้น

                         หลายๆ ท่านสงสัยว่าสีน้ำตาลบริเวณโคนต้นนั้นคืออะไร เป็นโรคหรือเป็นอาการเน่าหรือไม่ และรักษายังไง หลายคนเห็นแล้วกังวลใจคิดไปว่ามันเป็นอะไรรายแรง กลัวคราบน้ำตาลเหล่านี้จะเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย

                        ต้องบอกว่าผมก็อธิบายในทางหลักทฤษฏีไม่ได้หรอกนะครับ แต่จากที่เห็นไม้ที่โคนต้นเป็นแบบนี้มาพอสมควร ผมคิดว่ามันเป็นคราบที่เกิดจากตรงบริเวณโคนต้นส่วนนั้นถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นระยะเวลานาน ถูกความชื้นที่สะสมในดินนานๆ ผิวของไม้ตรงส่วนนั้นก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างจนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่โรคที่อันตรายต่อต้นไม้แต่อย่างใด เพียงแค่ผิวไม้ตรงส่วนนั้นมันจะไม่สวยเท่านั้นเอง ต้นแคคตัสที่อายุเยอะ ปลูกมาแล้วเป็นระยะเวลาหลายปี ตรงส่วนโคนต้นที่โดนดินฝังหรือใกล้กับผิวดินก็จะเป็นสีแบบนี้ได้ครับ บางคนคิดไปว่ามันเน่า มันไม่เน่านะครับ แค่ผิวตรงนั้นมันไม่สวยเท่านั้นเองครับ


                         พูดถึงเรื่องเน่า บางคนพอเห็นผิวไม้เป็นสีน้ำตาลก็คิดว่าเน่า ไม่ใช่เสมอไปนะครับ ถ้าคุณสงสัยว่าไม้ของคุณเน่ากดลงไปตรงส่วนที่คุณสงสัยนั้น ถ้ากดลงไปแล้วมันนิ่มจนเละเป็นน้ำ และถ้าลองดมดูแล้วมีกลิ่นเหม็น นั่นแสดงว่าเน่า แต่ถ้ากดลงไปแล้วแข็ง แสดงว่าไม่เน่านะครับ หรือถ้ากดลงไปแล้วมันนิ่มแต่ไม่ได้นิ่มจนเหลวเละเป็นน้ำ ก็อาจจะไม่ได้เน่านะครับ ต้นไม้อาจจะแค่มีอาการขาดน้ำต้นก็เลยนิ่มก็ได้


                           พูดถึงแคคตัสต้นต้นนิ่มและแคคตัสต้นเหี่ยว อันนี้คือคำถามยอดฮิตเลยล่ะครับ แคคตัสต้นนิ่มจะเป็นอะไรมั้ย แคคตัสต้นเหี่ยว สาเหตุเกิดจากอะไร หลายท่านซื้อแคคตัสมาแล้วพอปลูกไปได้สักพักต้นมีอาการเหี่ยว จนเป็นรอยยับ พอจับที่ต้นปรากฏว่าต้นนิ่มก็กลัวว่ามันจะตาย ซึ่งเรื่องนี้นั้น ก็ต้องบอกก่อนนะครับว่าเรื่องมันกว้าง สาเหตุมันเกิดได้หลากหลาย ผมคงไปชี้ชัดอะไรไม่ได้หรอกนะครับว่าที่คุณสงสัยมันเป็นอย่างที่ผมพูดหรือไม่


                           อาการต้นนิ่ม ต้นเหี่ยว ที่ผมเคยเจอมานั้น มักจะเกิดจากการขาดน้ำ ยกตัวอย่างในบทความนี้เลย ก็คือการซื้อแคคตัสแบบล้างราก ต้นไม้จะต้องถูกขุดขึ้นมาล้างดินออกจนเหลือแต่ต้นเปล่าๆ นั่นหมายความว่าต้นไม้จะไม่สามารถดูดน้ำมาใช้ได้ เมื่อไม่ได้รับน้ำ ต้นไม้ก็จะเริ่มมีอาการขาดน้ำ จนทำให้ต้นเหี่ยวและเริ่มนิ่ม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราซื้อแคคตัสที่ส่งมาแบบล้างราก บางทีพอต้นไม้มาถึงต้นก็อาจจะมีอาการนิ่มหรือมีอาการต้นเหี่ยวยุบตัวลงได้เพราะขาดน้ำ แต่แคคตัสเป็นไม้ที่ทนทาน ต่อให้เค้าจะนิ่มหรือเหี่ยวเพราะขาดน้ำ แต่ไม่ตายเพราะสาเหตุนี้ง่ายๆ หรอกนะครับ เค้าสามารถอยู่ได้เป็นเดือนๆ โดยไม่ได้รับน้ำเลยก็อยู่ได้ครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล ถ้าคุณซื้อแคคตัสมาแล้วต้นนิ่ม เดี๋ยวพอเราลงปลูกไปได้สักระยะ เมื่อเค้าเริ่มออกรากใหม่และตั้งตัวได้เมื่อไร เค้าจะเริ่มกลับมาดูดน้ำอีกครั้งและต้นจะค่อยๆ ตึงขึ้นมาเองครับ

                           เช่นเดียวกัน ไม้ที่พึ่งเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง หรือไม้ที่เปลี่ยนสถานที่ปลูก ก็อาจจะมีอาการต้นนิ่มขาดน้ำได้เช่นเดียวกันครับ เพราะบางทีตอนย้ายกระถางตอนลงปลูก หรือย้ายสถานที่ปลูก อาจจะมีการกระทบกระเทือน ก็เลยทำให้รากชะงักการเจริญเติบโตไม่ยอมดูดน้ำและอาหาร ก็เลยทำให้ต้นมีอาการขาดน้ำขึ้นมาได้ แต่พอเลี้ยงไปสักพัก สัก 2-3 สัปดาห์ผ่านไป เมื่อเค้าเริ่มออกรากใหม่และตั้งตัวได้เมื่อไรก็จะเริ่มกลับมาดูดน้ำและอาหารอีกครั้ง ต้นก็จะเริ่มตึงขึ้นครับ

                          แต่นอกเหนือจากที่กล่าวไป อาการต้นนิ่ม ต้นเหี่ยว อาจจะมีสาเหตุนอกเหนือจากนี้ก็ได้นะครับ อย่างเช่นไม่ได้เปลี่ยนดินมานานเกินไป รากเลยชะงัก หรืออาจโดนเพลี้ยแป้งเกาะดูดนํ้าเลี้ยงที่ราก หรืออาจจะเป็นปัญหาอื่นๆ นอกจากที่กล่าวไป อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้มันกว้าง ซึ่งผมคงไม่สามารถหยิบมาเขียนได้หมดเพราะผมก็ไม่ได้รู้เยอะขนาดนั้น เอาเป็นว่า ตอนนี้เราอยู่ในบทความที่เกี่ยวกับการซื้อแคคตัสแบบล้างราก เพราะฉะนั้นเราจบเรื่องต้นนิ่มแค่ที่เกี่ยวกับไม้ล้างรากเท่านั้นพอนะครับ

-------------------------------------------------------------------

                          จบเรื่องราวเกี่ยวกับคำถามกันไปแล้ว เรากลับไปที่ พอได้ต้นไม้มาแล้วเราจะจัดการอย่างไรดี โดยผมจะเริ่มจาก กรณีที่ถ้าคนขาย ได้ทำการตัดแต่งรากแลวางผึ่งจนแผลตัดแต่งรากแห้งสนิทดีแล้ว ก่อนที่จะส่งมาให้กับเรา แบบนี้ก็ง่ายๆ เลยครับ เพราะต้นไม้นั้นพร้อมลงปลูกแล้ว เราสามารถเอาไปปลูกได้เลยทันทีครับ


                          ถ้าท่านไม่ทราบว่าไม้ที่ท่านซื้อมานั้นพร้อมลงปลูกได้เลยมั้ย แนะนำให้ถามคนขายเลยครับ ว่าต้นไม้นั้นเอาปลูกลงดินได้เลยหรือไม่ ชัดเจนสุดครับแบบนี้ เพราะคนขายย่อมต้องทราบอยู่แล้วครับว่าไม้พร้อมปลูกได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่สามารถถามคนขายได้ หรือไม่กล้าถาม ก็ไม่เป็นไรครับ ไปดูวิธีการที่ผมเขียนไว้ก็ปรับใช้ได้อยู่ครับ


ขั้นตอนการปลูกก็ไม่มีอะไรมาก


                           ใส่ดินลงในกระถางสักครึ่งกระถาง บางท่านอาจจะรองก้นกระถางก่อนก็ได้ครับ อาจจะรองก้นด้วยถ่านทุบ หินภูเขาไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมไม่ได้รองก้นครับ ผมใส่ดินเลย เพราะผมขี้เกียจครับ

                           สำหรับดินปลูกแคคตัสนั้น ท่านสามารถซื้อดินแคคตัสที่ขายตามร้านขายแคคตัสเอามาใช้ปลูกเลยก็ได้ หรือถ้าอยากเพิ่มความโปร่งให้กับดินก็ซื้อหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุดหรือเพอร์ไลท์ มาผสมกับดินแคคตัสเพื่อเพิ่มความโปร่งและการระบายน้ำก็ดีครับ เพิ่มการะบายให้ดินโปร่งขึ้น ซึ่งผมเองก็ซื้อดินแคคตัสที่เค้าขายกันมาใช้อยู่บ้างในบางครั้งครับ

                         หรือถ้าจะผสมดินปลูกเองก็ดี สูตรดินปลูกที่ผมใช้อยู่บ่อยๆ ก็จะมีส่วนผสมคือ ดินใบก้ามปูหมัก ร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ จากนั้นก็ผสมกับหินภูเขาไฟ และเพอร์ไลท์ ในอัตราส่วนผสมพอๆ กัน ก็จะได้เป็นดินปลูกแคคตัสแล้วล่ะครับ สูตรนี้โอเคอยู่ครับ


                         หลังจากใส่ดินลงไปครึ่งกระถาง ต่อไปเราก็จะใส่เป็นปุ๋ยละลายช้า ออสโมโค้ท ( เม็ดสีเหลือง ) สัก 10 เม็ดก็ได้ครับ พอดีผมเทแรงไปหน่อยเลยหกลงไปเยอะ สำหรับปุ๋ยละลายช้านั้นใส่ครั้งนึง อยู่ได้ 3 เดือนครับ


                        และถ้าท่านต้องการที่จะป้องกันแมลง เพลี้ยแป้งในดิน มด ก็ลองหายาตัวในรูปนี้มาใส่ดูนะครับ ชื่อว่าสตาร์เกิลจี ตัวยาเป็นเม็ดเล็กๆ สีม่วง ใส่ครั้งนึงป้องกันได้ประมาณ 1 เดือน ผมว่าโอเคอยู่นะ ใช้ป้องกันเพลี้ยแป้ง แมลง มด แต่ถ้าท่านไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้ก็ได้ครับ คือใช้ก็ดีไม่ใช้ก็ไม่เป็นไรครับ

หลังจากใส่ปุ๋ยละลายช้าลงไปเรียบร้อย ก็เติมดินลงไปจนเกือบเต็มกระถาง


จากนั้นก็เอาต้นกระบองเพชรของเราลงไปปลูกได้เลยครับ


ปลูกเรียบร้อย

                          พวกหินโรยหน้ากระถางถ้ามีก็โรยได้นะครับ ประโยชน์ของหินโรยหน้าคือช่วยประคองไม่ให้ต้นเอนล้ม และเวลาที่เรารดน้ำดินก็จะไม่กระเด็นเลอะเทอะอีกด้วยครับ แต่ถ้าท่านไม่มีหินโรยหน้าก็ไม่เป็นไร ไม่โดยก็ไม่มีปัญหาครับ


                         เสร็จสมบรูณ์ก็เอาไปเก็บในที่ร่มรำไร ได้รับแค่แสงแดดอ่อนๆ อย่าให้โดนแดดจัด ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าที่เค้าตัดแต่งรากมาให้เรานั้นแผลตัดแต่งรากมันแห้งสนิทดีแล้วหรือยัง แนะนำให้ยังไม่ต้องรดน้ำ เก็บเอาไว้ก่อน รออีกสัก 5-7 วันค่อยรดน้ำ แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าที่เค้าตัดแต่งรากมานั้นแผลมันแห้งดีแล้วก็รดน้ำได้ครับ รดแค่พอชื้นๆ เป็นอันจบการปลูก


ในส่วนของการดูแล เป็นตอนท้ายบทความแล้วกันนะครับ เราไปต่อกันที่ไม้ล้างรากต้นต่อมากันก่อนดีกว่า 


                           สำหรับไม้ล้างรากต้นต่อมาที่จะเอามารีวิวกันนั้นเป็น ไม้ล้างรากที่คนขายส่งมาแบบล้างราก แต่ไม่ได้ตัดแต่งราก ก็คือ คนขายจะเทกระถาง ล้างต้นล้างรากจนสะอาด จากนั้นก็ผึ่งจนแห้งสนิทดีแล้วก็จัดส่งมาให้กับลูกค้าครับ

                           การที่คนขายส่งต้นไม้มาแบบนี้มันก็มีข้อดีตรงที่ว่า เราจะได้มาจัดการด้วยตัวเราเองว่าจะตัดแต่งรากหรือไม่ ถ้าจะตัดแต่งจะตัดให้เหลือรากมากน้อยขนาดไหนเราก็สามารถเลือกตัดแต่งได้เองตามความพอใจของเรา ซึ่งมันดีตรงที่บางคนไม่อยากตัดรากออก อยากปลูกเลยทั้งแบบนั้นก็ได้ บางคนอยากตัดแต่รากฝอยไม่อยากตัดรากเส้นใหญ่ ก็สามารถจัดการได้ตามชอบของเรา ซึ่งผมว่าดี ผมเองก็ชอบการจัดส่งแบบนี้นี่แหละครับ เพราะผมชอบตัดแต่งรากเองครับ

เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้ไม้ในลักษณะแบบนี้มาแล้ว ก็จะมีตัวเลือกในการจัดการดังต่อไปนี้

                          อย่างแรกคือเอาลงปลูกเลยโดยไม่ต้องตัดแต่งราก คือบางท่านก็อาจจะไม่อยากตัดรากออกอยากลงปลูกทั้งแบบนี้เลยจะได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าได้ครับ อยากปลูกทั้งแบบนี้เลยก็ได้ครับ


สำหรับวิธีการปลูกนั้นก็เหมือนกับที่ลงไว้ด้านบนก่อนหน้านี้เลยครับ วิธีการเดียวกันได้เลย

แต่ถ้าเป็นผม เวลาผมซื้อไม้ล้างรากมา ถ้าไม้ที่ได้มาในลักษณะแบบนี้ล่ะก็ ผมจะทำการตัดแต่งรากก่อนเลยครับ


                            เพราะในความรู้สึกของผม พวกรากใหม่ๆ สดๆ น่าจะมีประสิทธิภาพในการหาอาหารที่ดีกว่ารากเก่ารากแก่ หรือรากที่แห้งฟีบแบน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผม ผมจะตัดพวกรากเก่ารากฟีบนั้นออกไป เพื่อให้เค้าสร้างรากใหม่ๆ ไปเลยก็น่าจะดี เป็นการเริ่มต้นสร้างระบบรากใหม่ทั้งระบบกันไปเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมได้ต้นไม้มาใหม่ ผมมักจะตัดแต่งรากก่อนเสมอ

                           แต่ท่านไม่ต้องเชื่อคำพูดผมก็ได้นะครับ อันนี้คือความรู้สึกส่วนตัว ไม่ได้จะชี้นำแต่อย่างใด แล้วแต่ท่านจะตัดสินใจเลยครับ
                           สำหรับวิธีการตัดแต่งราก ควรจะตัดมาหรือน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่มุมมองอีกเช่นกัน บางท่านอาจจะตัดแค่รากฝอย หรือรากที่มันฟีบๆ เส้นเล็กๆ ออกเท่านั้น ส่วนรากแก้วหรือรากหลักเส้นใหญ่ๆ ก็เก็บเอาไว้ไม้ตัดออก ตามรูปด้านล่าง


ซึ่งแบบนี้ได้ครับ หลายๆ ท่านเวลาตัดแต่งราก ก็จะตัดแต่งประมาณนี้

                            แต่หลายท่านก็ตัดออกหมด พวกรากแก้วรากหลัก ก็ตัดออกหมดเลย ตัดรากจนกุดเหลือความยาวรากแค่ 2-3 ซม. เลยทำกันเยอะครับ ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตัดได้ครับ


อย่างตัวผมเองเวลาที่ตัดแต่งรากแคคตัสผมก็จะตัดเหลือแค่นี้แหละครับ เหลือไว้แค่สัก 2-3 ซม. ผมว่ากำลังดี

                          หลังจากที่ตัดแต่งรากเรียบร้อยแล้ว ถ้าเรามียาเร่งรากล่ะก็ ทาได้เลยครับ แต่ถ้าไม่มียาเร่งรากก็ไม่ต้องทาก็ได้ อย่างผมถ้ามีก็ทาถ้าไม่มีก็ไม่ทาครับ เลยตามเลย

เมื่อทายาเร่งรากเสร็จแล้ว หรือจะไม่ทายาก็แล้วแต่ จากนั้นก็จะมี 2 ทางเลือก

                          ทางเลือกแรก ลงปลูกเลยทันที แต่ยังไม่ต้องรดน้ำ เก็บไม้ไว้ในที่ร่มรำไรอย่าให้โดนแดดจัด และอย่าให้ตากฝนด้วยนะครับ อีก 7 วันค่อยรดน้ำครับ


                            ที่เรายังไม่รดน้ำทันทีแต่เก็บไว้ก่อน 7 วัน เพราะถ้ารดน้ำเลยทันทีโดยที่รากของเค้าพึ่งตัดแต่งมาใหม่ๆ แผลยังสด แผลยังไม่แห้งปิดสนิท มันมีความเสี่ยงที่จะทำให้ไม้เกิดอาการติดเชื้อและเน่าตายเอาได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะงดการรดน้ำไปก่อน 7 วันหลังปลูก เมื่อผ่าน 7 วันไปแล้ว แผลน่าจะแห้งแล้ว เราจึงค่อยรดน้ำ แบบนั้นโอกาสที่ไม้จะเน่าตายก็จะน้อย อะไรประมาณนั้น

                           ทางเลือกที่ 2 คือยังไม่ต้องลงปลูก วางไม้ที่เราตัดแต่งรากผึ่งเอาไว้ในที่ร่มรำไร 7 วัน เมื่อรอให้แผลที่ตัดแต่งรากนั้นแห้งแล้วค่อยลงปลูก อย่างถ้าเป็นผม เวลาผมตัดแต่งรากเสร็จ ผมก็จะใส่ตระกล้าวางผึ่งเอาไว้ ถ้าเป็นไม้ขนาดใหญ่ ต้นใหญ่ 4-5 ซม. ขึ้นไปก็วางผึ่งไว้สัก 2 อาทิตย์ หรือมากกว่านั้น ถ้าเป็นไม้ขนาด 2-3 ซม. ก็ 1 อาทิตย์ ก็คือยืนพื้นที่ 7 วันนั่นล่ะครับสำหรับการวางไม้ผึ่งเอาไว้

                          หลังจากที่เราวางผึ่งเอาไว้เรียบร้อย ผ่านไป 7 วัน เราก็สามารถเอาไม้กลับไปลงปลูก และหลังจากลงปลูกเรียบร้อยก็รดน้ำได้เลยทันทีครับ


                           อีกกรณีนึง ถ้าไม้ที่เราซื้อมานั้น คนขายส่งมาแบบแค่สะบัดดินออกไป แต่ไม่ได้ล้างรากมาให้ด้วย ต้นยังมาแบบเปื้อนๆ ดินมาเลยล่ะก็ คือกรณีแบบนี้นั้น ถ้าผมเจอ ผมคงจะจับมาล้างต้นให้สะอาดก่อน แล้วจากนั้นก็ทำการตัดแต่งราก แล้ววางผึ่งเอาไว้สัก 7 วันแล้วค่อยลงปลูกครับ แต่ถ้าคุณจะปลูกเลยก็ได้ แล้วแต่จะเลือกเลยครับ

มาในส่วนของการดูแลแคคตัสที่พึ่งลงปลูกใหม่กันดีกว่า


                         ในช่วงแรกๆ หลังจากที่เราลงปลูกไปนั้น อย่าพึ่งให้โดนแดดจัดนะครับ ต้นจะเกิดอาการเหี่ยวจากการขาดน้ำเอาได้ หรืออย่างแย่เลยก็คือโดนแดดแรงเกินไปจนเกิดอาการไหม้แดดหรือหนักสุดเลยก็คือต้นสุกแดดจนตายได้เลยนะครับ เพราะงั้นอย่าพึ่งเอาไปวางโดนแดดแรงๆ แนะนำว่าสถานที่ปลูกควรมีการขึงสแลนกรองแสง ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาไหม้แดดได้เป็นอย่างมากเลยล่ะครับ หรือไม่ถ้าสถานที่ปลูกของคุณนั้นมันไม่สะดวกที่จะขึงสแลนได้จริงๆ ผมแนะนำให้หลีกเลี่ยงแดดช่วง 10 โมงครึ่ง ถึงบ่าย 2 ครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรง ให้เค้าได้รับแสงแดดช่วงเช้า 7-10 โมง จะดีกว่าครับ แดดไม่จัดจนเกินไป รอให้เค้าเริ่มเจริญเติบโต และตั้งตัวได้เมื่อไร ค่อยย้ายเค้าให้เค้าได้รับแสงแดดที่มากขึ้น แรงขึ้นทีละนิด เทรนแดดไปทีละระดับจะปลอดภัยกว่าครับ

                        ส่วนการรดน้ำ ควรจะรดน้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ถ้าดินยังชื้นก็ยังไม่รด หรือถ้าช่วงนั้นเป็นช่วงฝนตก ฟ้าครึ้มไม่ค่อยมีแดด ก็เว้นไป ยังไม่ต้องรดก็ได้ ค่อยไปรดในวันที่อากาศสดใส อย่างตัวผมนั้น ผมจัดเวลาในการรดน้ำเอาไว้ ประมาณ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือทุกวันจันทร์ ( เพราะผมว่างวันนั้น วันอื่นผมไม่ค่อยว่าง ) ถ้าสมมุติว่าถึงกำหนดวันที่ผมต้องรดน้ำแล้ว แต่ว่าดินปลูกยังชื้น ยังไม่แห้ง อาทิตย์นั้นผมจะเว้นไปไม่รดน้ำ หรือในวันทีต้องรดน้ำนั้นเป็นช่วงฝนตก ฟ้าครึ้มไม่มีแดด ดูพยากรอากาศแล้วมันน่าจะตกติดต่อกันอีกหลายวัน ถึงแม้ว่าแคคตัสของผมจะไม่เปียกฝนเลยก็เถอะผมก็จะเว้นเหมือนกัน จะไปรดอีกทีในอาทิตย์ถัดไปเลยครับ อันนี้คือระบบการรดน้ำของผม


                           เพื่อนๆ หลายท่าน อาจจะสงสัยว่า หลังจากที่เราเอาแคคตัสลงปลูกไปแล้ว อีกกี่วันเค้าถึงจะออกราก อันนี้ต้องตอบว่ากำหนดเป็นระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้นะครับ อาจจะ 1 อาทิตย์ หรือ 3-4 อาทิตย์ก็ได้ มันแล้วแต่ไม้ต้นนั้นๆ บางต้นออกรากง่าย บางต้นก็ออกรากยาก และก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศช่วงนั้น รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ และปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวก็อาจส่งผลต่อการออกรากได้เช่นกัน เพราะงั้นฟันธงชัดๆ ไม่ได้หรอกครับ ว่ากี่วันรากมันถึงจะมา

                           แต่ถ้าคุณสงสัย อยากรู้ให้แน่ใจว่าแคคตัสของคุณนั้น ออกรากเยอะแล้วหรือยัง ให้ลองเอานิ้วดันที่ต้นของเค้าดูนะครับ ถ้ากลัวโดนหนามตำเอาอะไรมาดันแทนก็ได้

                           ถ้าเราดันไปแล้วต้นมันโยกคลอน ไม่ยึดแน่นกับดิน แสดงว่ารากยังไม่มาหรือมาแล้วแต่ยังน้อย แต่ถ้าคุณดันไปแล้วต้นไม่โยกคลอน ไม่โอนเอน ต้นแน่นมั่นคง แสดงว่ารากของเค้านั้นมาเยอะ สมบรูณ์แล้วล่ะครับ

                           อีกเรื่องคือแคคตัสต้นเหี่ยว ช่วงแรกๆ หลังจากที่เราลงปลูกไปนั้น ด้วยความที่เค้ายังไม่ออกรากใหม่ อาจทำให้เค้าไม่สามารถดูดน้ำและสารอาหารเอามาใช้ได้สะดวกนัก ก็เลยทำให้ต้นของเค้านั้นเกิดอาการต้นเหี่ยวจากการขาดน้ำขึ้นมาได้นะครับ ยิ่งถ้าคุณเอาเค้าไปตากแดดแรงๆ ด้วยแล้วล่ะก็ ต้นก็จะยิ่งเหี่ยวหนัก เพราะฉะนั้นหลังจากลงปลูกช่วงอาทิตย์แรกๆ อย่าให้โดนแดดจัด และถ้าเห็นว่าต้นเค้าเหี่ยว ต้นนิ่ม หรือต้นยุบเป็นรอยยับ ก็อย่าพึ่งกังวลใจ เอาไว้ในที่ร่มรำไร เมื่อเค้าเริ่มออกรากใหม่เมื่อไร การดูดน้ำและอาหารจะดีขึ้น ต้นจะเริ่มกลับมาเต่งตึงแข็งแรงอีกครั้งนึงครับ

สำหรับการใส่ปุ๋ยแคคตัส ผมใส่เป็นปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) สูตรเสมอ 13-13-13 ใส่ 3 เดือนครั้งนึง ตัวเดียวจบเลยครับ


                         ก็ประมาณนี้นะครับสำหรับเรื่องราวการปลูกไม้ล้างราก บทความนี้ค่อนข้างจะยาว บางท่านอ่านแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมการซื้อไม้ล้างรากมาปลูกขั้นตอนมันเยอะจัง คือจริงๆ ขั้นตอนมันไม่เยอะหรอกครับ แต่บทความนี้มันเยอะ เพราะมีหลายเรื่องที่แยกย่อยออกไป รวมไปถึงปัญหาในการปลูก และอาการผิดปรกติของต้นไม้ และคำถามหลายๆ เรื่องซึ่ง ถ้าไม่เขียน ก็คงต้องมีคนส่งมาถามผมเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นผมก็เลยใส่ลงไปให้หมดรวดเดียวเลยก็แล้วกัน ยังไงก็เลือกอ่านก็ได้นะครับ ถ้าสนใจแต่เฉพาะการลงปลูก ก็เลื่อนมาดูรูปตรงส่วนที่ลงปลูกเลยก็ได้ ก็หวังว่าสิ่งที่เขียนไปนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

8 comments:

  1. ตัวยาสตาร์เกิลจีที่ว่ามีฤทธิ์ 1 เดือนน่ะค่ะ ต้องใส่ซ้ำทุกเดือนหรือคะ แล้วถ้ายังไม่เปลี่ยนดิน โรยด้านบนจะได้ผลเหมือนกันไหมคะ (หรือต้องโรยไว้ใต้ดินจะดีกว่า)
    ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ผมใส่ประมาณ 1-2 เดือนครั้ง โรยบนหน้าดินเลยครับ

      Delete
    2. ขอบคุณค่ะ

      Delete
  2. เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆครับขอบคุณมากครับ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณมากครับ สำหรับความรู้และเทคนิคต่างๆ ....ชัดเจน ตรงไปตรงมาดีครับ

    ReplyDelete
  4. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  5. ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้ กำลังมีปัญหาต้นนิ่มเหี่ยวหลังตัดรากไปเลยค่ะ

    ReplyDelete
  6. ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดี ๆ สำหรับมือใหม่ค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.