Thursday, December 28, 2017

รับไม้ใหม่เข้าบ้าน การดูแลต้นแคคตัสที่เราพึ่งซื้อมาใหม่


                      เวลาที่ซื้อต้นกระบองเพชรมาใหม่ๆ แต่ละท่านก็จะมีวิธีการจัดการและการดูแลไม้ที่พึ่งได้มานั้น อาจจะต่างกันไป บางท่านอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย ได้มาแล้วก็เอามาเลี้ยงกันไปตามปรกติ บางท่านก็อาจจะมีการทำนั่นทำนี่บ้าง อย่างเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง หรืออะไรก็ว่ากันไป แล้วแต่รูปแบบการปลูกของแต่ละท่าน อย่างตัวผมเองนั้น ก็จะมีวิธีการในจัดการบางอย่างต่อไม้ที่พึ่งได้มาใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งก็คือเรื่องราวที่จะมาเขียนถึงในวันนี้นี่ล่ะครับ

                     แต่ก่อนอื่นเลยก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับ ว่าสิ่งที่ผมเขียนนั้นจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดหรือไม่ ผมก็พูดไม่ได้นะครับ เพราะเรื่องการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว แต่ละคนก็อาจจะมีรูปแบบการปลูกที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อย่างตัวผม ผมมองว่ารูปแบบที่ผมใช้มันเหมาะกับตัวผม แต่คนอื่นก็อาจจะคิดไม่เหมือนกับผมก็ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้คุณพิจารณาบทความนี้ว่ามันเป็นแค่เพียงแนวทางนึง และอยากให้ลองพิจารณาแนวทางของท่านอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยก็จะดีกว่าครับ

เริ่มเรื่องการกันเลยนะครับ


                      สำหรับต้นแคคตัสที่จะเอามาใช้เป็นตัวอย่างในบทความนี้ก็จะเป็นเป็น Lobivia cactus ผมซื้อมาจากงานๆ นึงพอดี ก็เดี๋ยวจะเอาต้นนี้แหละมารีวิวให้ดูกันว่าพอซื้อมาปุ๊บ ผมทำยังไงกับไม้ต้นนี้บ้าง

                      ซึ่งขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมาก พูดเลยก็แล้วกันว่า เกือบทุกครั้งที่ผมซื้อแคคตัสต้นใหม่ สิ่งที่ผมจะทำก็คือการเทกระถางเอาดินออก แล้วล้างต้น ล้างราก ตรวจเช็คสภาพไม้อย่างละเอียดครับ


ทำไมผมถึงต้องทำแบบนั้น

                      ท่านอาจจะสงสัยว่า ซื้อต้นไม้มาใหม่ๆ แล้วต้องมาเทออกจากกระถางล้างรากมันจะไม่ส่งผลเสียต่อต้นไม้หรือ

ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าควรที่จะต้องจับไม้ที่พึ่งซื้อมาใหม่ๆ มาเทกระถางล้างดินล้างรากนั้น ก็มีเหตุผลดังนี้

                     เหตุผลแรกก็คือ ถึงแม้ว่าภายนอกของแคคตัสที่เราซื้อมานั้น เรามองดูรอบๆ ต้นอย่างถี่ถ้วนแล้วอาจจะไม่เห็นความผิดปรกติอะไร ต้นอาจจะดูสวยงามดี แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีปัญหานะครับ ส่วนใต้ต้นที่อยู่ในดิน ส่วนรากที่อยู่ใต้ดิน มันคือส่วนที่เรามองไม่เห็น บางทีใต้ดินอาจจะมีเพลี้ยแป้ง มีมด มีแมลงแอบแฝงอยู่ก็ได้ หรือรากอาจจะกำลังมีปัญหา ซึ่งเราจะไม่เห็นถ้าไม่เทดินออกมาล้างรากดู เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้ได้รู้ว่าไม้ที่ได้ซื้อมานั้นมันไม่มีปัญหาแอบแฝงอยู่ ผมก็เลยคิดว่าต้องจับมาล้างรากจะได้เช็คให้ละเอียดกันไปเลยดีกว่า เพื่อความสบายใจ

                     ที่ทำแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่ไว้ใจร้านหรือฟาร์มที่ผลิตไม้นะครับ ผมเชื่อในคุณภาพของฟาร์ม ไม่งั้นก็คงไม่เสียเงินซื้อแน่นอนอยู่แล้ว แต่ในสวนแต่ละแห่ง ต่างก็มีไม้ตั้งมากมาย บางสวน ผลิตแคคตัสปีละเป็นพันเป็นหมื่นกระถางหรือมากกว่านั้น ไม้เยอะๆ เป็นหลายหมื่นต้น ต่อให้ดูแลดีแค่ไหน ก็อาจจะมีปัญหาที่อาจจะหลุดรอดผ่านตาคนดูแลมาก็ได้ อย่างตัวผมเองปลูกไม้ไม่เยอะ คิดว่าคุมได้หมด บางทียังหลุดมาเกิดปัญหาได้เลย เพราะนั้นเรื่องของปัญหามันมีโอกาสเกิดมาได้ และอาจจะตกมาที่ต้นไม้ที่เราซื้อมาก็ได้ เพื่อให้แน่ใจผมก็เลยตัดสินใจว่าต้องเช็คให้ละเอียดครับ

                    เคยมีคนซื้อต้นไม้มาแล้วเอามาปลูกรวมกับต้นอื่นๆ ในบ้านเลยทันที โดยไม่ได้ดูไม้อย่างละเอียด ปรากฏว่าต้นไม้ที่ซื้อมานั้นเป็นโรค ที่สำคัญเลยคือโรคนั้นมันลามไปติดต้นอื่นๆ ในบ้านจนสุดท้ายเสียหายอย่างหนัก เคยมีมาแล้วครับ ไม่ใช่เฉพาะแคคตัสนะครับ ต้นไม้ชนิดอื่นก็มีเรื่องแบบนี้เกิดเยอะ ด้วยความที่ผมไม่ได้ปลูกแค่เฉพาะแคคตัส ต้นไม้ชนิดอื่นผมก็ปลูกและมีโอกาสได้เขียนบทความอยู่เรื่อยๆ ด้วยน่ะครับ ก็เลยเห็นๆ ปัญหาแนวนี้อยู่เรื่อยๆ ผมก็เลยมองว่าการเช็คสภาพไม้ที่เราพึ่งซื้อมาใหม่ๆ ทันทีที่กลับมาถึงบ้าน มันเป็นเรื่องที่สำคัญ

นั่นคือเหตุผลแรกที่ต้องล้างรากแคคตัสที่ซื้อมาใหม่

เจ้าต้นนี้ เทกระถางออกมาดูแล้ว รากแข็งแรงดี ไม่มีปัญหา
เหตุผลที่สองคือเรื่องของดิน

                      คุณมีสูตรดินที่ใช้ประจำมั้ยครับ ถ้าคุณไม่มี หรือคุณไม่ได้ซีเรียสในเรื่องของสูตรดินปลูกแคคตัส ว่าต้องใช้สูตรไหน ต้องผสมอะไรบ้าง ก็ผ่านเลยครับ แต่สำครับตัวผมนั้น ในการปลูกแคคตัสผมจะมีสูตรดินที่ใช้อยู่ประจำ เรียกได้ว่าแคคตัสทั้งหลายของผมนั้น จะใช้ดินปลูกสูตรเดียวกัน ซึ่งการที่ผมให้แคคตัสทุกต้นใช้ดินสูตรดินเดียวกันนั้น นั่นก็เพราะว่า ถ้าแคคตัสแต่ละต้นมีส่วนผสมของดินที่ไม่เหมือนกัน เวลาที่รดน้ำ มันก็อาจจะเกิดอาการดินแห้งไม่พร้อมหรือไม่ไล่เลี่ยกันกัน สมมุติต้นนึงอาจจะดินแห้งหลังจากรดนํ้าไปแล้ว 2 วัน แต่อีกต้นรดนํ้าไป 4 วัน ดินก็ยังแฉะ เมื่อแต่ละต้นดินแห้งไม่ไล่เลี่ยกัน การจัดการในเรื่องของการรดน้ำมันก็จะไม่ค่อยลงตัวเท่าไร ผมจึงเลือกใช้สูตรดินแบบเดียวกันทั้งหมด เวลารดน้ำไปแล้วก็จะได้แห้งพร้อมกัน การจัดการมันจะง่ายขึ้น เวลารดก็ทีเดียวพร้อมกันทั้งบ้านไปเลย และอีกอย่างนึงก็คือสูตรดินที่ผมใช้มันเหมาะกับสภาพอากาศในสถานที่ปลูกของผม เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมได้แคคตัสมาใหม่ๆ การเปลี่ยนดินให้เค้าเป็นสูตรเดียวกันกับต้นอื่นๆ ในบ้าน ก็จะทำให้ในการปลูกนั้นมันเป็นไปในรูปแบบเดียวกันได้

ตัวอย่างส่วนผสมดินปลูกแคคตัส หินภูเขาไฟ เพอร์ไลท์ ดินใบก้ามปูหมัก

                     เคยมีเหตุการณ์สมัยก่อนที่ผมซื้อต้นไม้มาแล้วเอามาปลูกเลยทันทีไม่ได้เปลี่ยนดินก่อน ผลปรากฏว่าอาทิตย์ต่อมาต้นไม้เกิดเน่า ก็เลยเทกระถางออกมาดูและได้เห็นว่าส่วนผสมของดินปลูกที่เค้าใช้นั้น มีส่วนผสมที่อมความชื้นมากเกินไป แห้งช้า อมนํ้า แถมดินยังแน่นจับตัวกันเป็นปึก ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นว่าดินปลูกมันไม่เข้ากับอากาศและรูปแบบปลูกของเรา มันชื้นเกินไปกับสภาพอากาศที่ได้รับจากที่เราปลูก ทำให้ปลูกไปได้ไม่นานไม้ก็เน่าตายเพราะชื้นเกินไป

                   นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเวลาที่ซื้อต้นไม้มาใหม่ จึงควรที่จะต้องเอาดินเก่าออกแล้วล้างราก เพราะจะได้เปลี่ยนดินใหม่ให้เป็นสูตรเดียวกันกับต้นอื่นๆ ในบ้านครับ


                      ซึ่งจากสองเหตุผลที่กล่าวไป ท่านอาจจะแย้งขึ้นว่า ถ้าต้องมาเปลี่ยนดินล้างราก ก็ต้องมาเสียเวลาให้วุ้นวาย แถมไม้ก็ต้องมาชะงักการเจริญเติบโตเพราะต้องมาลงปลูกใหม่ กว่าจะฟื้นก็ต้องเสียเวลาอีกเป็นอาทิตย์ จะไม่แย่หรือ แถมการล้างราก ตัดราก มันก็มีความเสี่ยง เกิดล้างรากแล้วตายจะทำไง 

แน่นอนครับ  การเทกระถางแล้วจับต้นไม้มาล้างราก มันทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโตแน่นอนครับ และมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้อยู่แล้ว เพราะนั้นผมอยากให้ท่านอ่านสิ่งที่ผมเขียนแล้วพิจารณาดูก่อนนะครับว่าท่านคิดยังไง ถ้าท่านอ่านที่ผมเขียนแล้วไม่มั่นใจ ก็อย่าพึ่งทำตามดีกว่าครับ แต่ถ้าท่านมั่นใจ  ก็จัดไปครับ


และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกที่จะล้างราก และเปลี่ยนดินแคคตัสที่พึ่งได้มาใหม่
...........
...........

เรากลับไปต่อกันที่เจ้าต้น Lobivia Cactus กันดีกว่าครับ ที่เมื่อตอนต้นบทความเราเทกระถางไป
 
                   สำหรับขั้นตอนต่อมานั้นก็ไม่มีอะไรมาก หลังจากที่เราเทกระถางออกมาแล้ว เอาดินออกแล้ว ต่อไปเราก็ไปล้างรากเจ้าแคคตัสให้สะอาดกันเลยดีกว่าครับ


                     ระหว่างที่เราล้างราก ให้เราตรวจเช็ครอบๆ ต้นอย่างละเอียดนะครับว่ามีตรงส่วนไหนที่มีปัญหาบ้างหรือไม่ รากเน่ามั้ย ถ้ามีอาการรากเน่าให้ตัดรากส่วนที่เน่าทิ้ง ถ้าตามลำต้นมีแผลให้ดูว่าแผลนั้นเป็นแผลสดหรือผลแห้ง ถ้าเป็นแผลแห้งที่เกิดมานานแล้วก็ไม่เป็นไร แล้วก็ดูว่าตามลำต้นมีเพลี้ยหอยเกาะหรือไม่ ถ้ามี เตรียมไปซื้อยากำจัดเพลี้ยได้เลยครับ


                     ผมตรวจเช็คเจ้าแคคตัสต้นนี้โดยรอบแล้วไม่มีปัญหาอะไร รากโอเค โคนต้นมีรอยนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะงั้นต้นนี้ผมถือว่าโอเค

ขั้นตอนต่อไปผมจะนำเจ้าต้นนี้ไปแช่ยากันราครับ 


                       สำหรับเรื่องของตัวยานั้น มันมีหลายยี่ห้อ หลายชนิด บางทีร้านขายยาใกล้บ้านท่านอาจจะไม่ได้มียาแบบเดียวกับที่ผมใช้ขาย เพราะงั้นผมขอไม่พูดถึงยี่ห้อของยาก็แล้วกันนะครับ ยังไงผมแนะนำให้ท่านลองสอบถามจากร้านแถวบ้านหรือร้านประจำของท่านดูนะครับว่าเค้ามียากันรากันเน่าชนิดไหนบ้าง น่าจะโอเคกว่า และสำหรับขั้นตอนการใช้งานการผสม ก็ผสมตัวยาตามคำแนะนำข้างฉลากยาที่ท่านซื้อมาเลยครับ

ผมจับเจ้าต้นนี้แช่ยากันรา 20-30 นาทีครับ จากนั้นก็จะเอาขึ้นมา

หลังจากแช่ยากันรา อาจจะมีคราบยาติดตามต้นนิดหน่อยยะครับ

เมื่อเอาขึ้นมาแล้วต่อไปก็ทำการตัดแต่งรากให้เหลือประมาณสัก 2-3 ซม.


                      จริงๆ บางท่านก็ไม่ตัดแต่งรากนะครับ แต่เหตุผลที่ผมตัดแต่งรากนั่นก็เพราะผมรู้สึกว่า อยากจะให้เค้าสร้างระบบรากขึ้นมาใหม่ ก็เลยจะตัดรากที่มันเก่า รากแก่ รากฝอยออกไป แล้วให้เค้าสร้างรากใหม่ที่สดๆ ขึ้นมาใหม่เลยน่าจะดีกว่า ผมคิดว่ารากใหม่ๆ สดๆ น่าจะมีประสิทธิภาพในการหาอาหารที่ดีกว่ารากเก่ารากแก่ อะไรประมาณนั้น

                    หลังจากที่ตัดแต่งรากปุ๊บ ถ้าท่านมียาเร่งราก หรือผงเร่งราก สามารถเอายาเร่งรากมาทาตรงส่วนรากที่เราตัดแต่งเพื่อเร่งการออกรากใหม่ของเค้าได้นะครับ วิธีการใช้ยาเร่งราก อ่านที่ฉลากข้างขวดยาเลยครับ

แต่สำหรับตัวผมนั้นไม่ได้ใช้ยาเร่งรากแต่อย่างใดครับ


                      หลังจากที่ทุกอย่างเรียบร้อยมาถึงตรงนี้ ต่อไปผมก็จะเอาเจ้าแคคตัสต้นนี้ไปผึ่งเอาไว้ในที่ร่มมีแสงส่องรำไร เพื่อรอให้แผลที่ตัดแต่งรากไว้นั้นแห้งสนิท ถึงค่อยเอาลงปลูกครับ ซึ่งในการวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลแห้งนั้น ห้ามให้แคคตัสนั้นตากฝน เดี๋ยวจะเน่าตายเอาได้ และก็ห้ามตากแดดจัดๆ เกินไป มันจะไหม้แดดหรือเหี่ยวเอาได้ อยู่ในที่มีแสงส่องรำไร หรือแดดอ่อนๆ ช่วงเช้าๆ ก็พอได้อยู่ครับ

                     ระยะเวลาในการวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลตัดแต่งรากนั้นแห้ง ถ้าเป็นแคคตัสขนาดเล็กกว่า 1.5 ซม. ก็อาจจะวางผึ่งไว้สัก 5 วัน ถ้าเป็นแคคตัสที่มีขนาดประมาณสัก 2-3 ซม. ก็สัก 7 วัน ถ้าเป็นแคคตัสที่ต้นมีขนาดใหญ่กว่า 4-5 ซม. ขึ้นไปก็สมารถวางผึ่งเอาไว้นานกว่านั้นได้ครับ 1-2 อาทิตย์เค้าสามารถอยู่ได้สบาย ไม่ต้องกลัวนะครับว่าเค้าจะตาย แคคตัสนั้นทนแห้งได้นานมากๆ ครับ

สำหรับเจ้าต้นนี้ผมวางผึ่งเอาไว้ 2 อาทิตย์ครับ


                    ในภาพนี้คือ 2 อาทิตย์ต่อมาหลังจากวันที่ตัดแต่งราก จะเห็นนะครับว่าเค้าก็ยังดูปรกติดีไม่มีปัญหาอะไร ผึ่งมาแล้ว 2 อาทิตย์ก็ยังสบายๆ ครับ

มาปลูกกันเลยดีกว่าครับ


ในภาพนี้คือขั้นตอนการลงปลูก ก็ง่ายๆ เลยครับ ใส่ดินปลูกลงในกระถาง ครึ่งกระถาง 


                      จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท เม็ดสีเหลือง ) ถ้ากระถางเล็กๆ ก็สัก 10 เม็ดก็ได้ จากนั้นก็เติมดินลงไปแล้วก็เอาแคคตัสของเรานั้นลงปลูกเลยครับ

คราบสีขาวตามต้นคือคราบยากันราครับ ไม่ใช่ปัญหา

                     สำหรับดินปลูกแคคตัสที่ผมใช้นั้น อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าผมใช้สูตรดินที่ผสมเอง ซึ่งส่วนผสมสูตรดินของผมนั้นก็ มี ดินใบก้ามปูหมัก ร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ ดินที่เป็นก้อนใหญ่ๆ เป็นปึก ไม่เอาครับ ร่อนเอาแต่เนื้อดินร่วนๆ ละเอียดเท่านั้น จากนั้นก็เอาดินที่ได้ไปผสมกับ หินภูเขาไฟก้อนเล็ก ( เบอร์ 00 ) และเพอร์ไลท์ ในอัตราส่วนผสมพอๆ กัน เท่านี้ก็จะได้ดินปลูกในแบบที่ผมใช้แล้วครับ

                   แต่ถ้าท่านไม่ได้ปลูกไม้ในปริมาณเยอะ มีแคคตัสอยู่แค่ไม่กี่กระถาง ไม่อยากผสมดินเอง หรือหาซื้อพวกหินภูเขาไฟ เพอร์ไลท์ไม่ได้ ก็สามารถซื้อดินแคคตัสที่ขายกันตามร้านขายแคคตัสเอามาใช้ก็ได้อยู่ครับ ดินแคคตัสของบางร้านที่เค้าผสมขายก็ใช้ดีเลยครับ เวลาซื้อก็ลองดูเนื้อดินที่มันละเอียดโปร่งๆ ร่วนๆ ไม่จับตัวเป็นก้อนเป็นปึกนะครับ

เม็ดดินสีนํ้าตาลคือดินญี่ปุ่น ผมเอามาโรยหน้ากระถางเฉยๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ครับ

หลังจากที่ปลูกเรียบร้อยแล้ว ต่อไปผมก็จะรดน้ำ โดยผมจะรดน้ำจนเห็นว่าน้ำไหลออกก้นกระถาง ก็พอครับ

รดนํ้าแล้วครับ
                     หลังจากนั้นก็จะเอาแคคตัสไปเก็บไว้ในโรงเรือนหรือสถานที่ปลูกของเราต่อไป แต่ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่เราเอาเค้าลงปลูก อย่าพึ่งให้เค้าได้รับแสงแดดแรงๆ นะครับ ต้นมันจะเกิดอาการเหี่ยวหนักหรือไหม้แดดเอาได้ ให้วางในจุดที่มีแสงแดดอ่อนๆ นะครับ รอจนกว่าเค้าจะออกรากและเริ่มฟื้นตัวมีการเจริญเติบโตแล้วถึงค่อยขยับเค้าไปอยู่ในจุดที่มีแสงแดดส่องมากขึ้นต่อไป ทีละนิด จะดีกว่าครับ

ส่วนการรดน้ำ ผมจะรอน้ำต่อเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทเท่านั้น ถ้าดินยังชื้นผมก็จะยังไม่รดน้ำครับ


                      พอมาถึงขั้นตอนนี้หลายท่านอาจจะอยากถามว่า ต้องใช้เวลากี่วัน แคคตัสที่เราลงปลูกไปนั้นถึงจะออกราก ซึ่งคำตอบนี้ก็ต้องบอกว่ามันไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้หรอกนะครับว่ากี่วันถึงจะออกราก อาจจะ 1 อาทิตย์ หรือ 2-3 อาทิตย์ หรือมากกว่านั้นก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นตอบแบบเป๊ะๆ ไม่ได้หรอกนะครับว่ากี่วันรากถึงจะมา ต้องใจเย็นๆ นะครับ

                     บางท่านใจร้อนเกินไป กังวลมากเกินไป ปลูกไปได้แค่ 2-3 วันก็ไปถอนมันขึ้นมาดูว่ารากมาหรือยัง ถอนแล้วก็ปลกใหม่ทุก 3 วัน ผมว่าอย่าทำแบบนนั้นเลยนะครับ บางทีเค้าอาจจะออกรากแล้วแต่พอคุณถอนขึ้นมาดู รากใหม่ที่พึ่งงอกอาจจะชํ้าทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตได้นะครับ ถ้าคุณอยากจะเช็คว่าเจ้าแคคตัสของคุณนั้นออกรากแล้วหรือไม่ รากเยอะแล้วหรือยัง วิธีการเช็คแบบง่ายๆ ก็คือ เอานิ้วลองดันที่ต้นดู ถ้ากลัวโดนหนามตำก็หาอะไรมาช่วยดันก็ได้ หรือเอากระดาษพันนิ้วก็ได้


                     ลองดันต้นดูไม่ต้องแรงมากนะครับ ถ้าดันแล้วต้นมันคลอน เอนโยกไปตามที่เราดัน แสดงว่ารากยังไม่มา หรือรากงอกแล้วแต่ยังงอกน้อย ยังอยู่ในช่วงของการตั้งตัว แต่ถ้าเราดันต้นของเค้าไปแล้วต้นไม่โยก ต้นแน่นติดกับดินดีไม่คลอน ก็แสดงว่ารากออกเยอะ หรือรากแน่นสมบรูณ์แข็งแรงตั้งตัวได้แล้ว อะไรแบบนั้น

นี่คือวิธีการเช็คว่ารากออกเยอะแล้วหรือยังแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องถอนต้นขึ้นมาให้ต้นชํ้า รากชํ้าครับ

ประมาณนี้ครับสำหรับการดูแลแคคตัสของผม


                   เจ้าโลบิเวียต้นนี้ หลังจากที่เราตัดแต่งรากและลงปลูก พอเค้าเริ่มออกรากและเจริญเติบโตตั้งตัวได้ หลังจากนั้นก็มีพัฒนาการที่ดีมากๆ เลยล่ะครับ


                         พอเห็นว่ายอดเริ่มเดิน  ต้นเริ่มมีการเจริญเติบโต ผมก็จะค่อยๆ เพิ่มแสงแดดให้เค้าได้รับแดดอย่างสมํ่าเสมอในทุกๆ วัน  เมื่อเค้าได้รับแสงแดดอย่างสมํ่าเสมอ อย่างพอเพียงในทุกวัน ประมาณ 2 เดือนต่อมา เค้าก็ออกดอกมาให้ได้ชมกันครั้งแรกจนได้


นี่คือหน้าตาของดอกเจ้าโลบิเวียต้นนี้ครับ


ชื่อเต็มๆ ของเค้าคือ lobivia sunrise นั่นเองครับ สวยดีนะครับ

                       และนี่ก็คือเรื่องราวการจัดการ และขั้นตอนการดูแลแคคตัสที่พึ่งซื้อมาใหม่ๆ ของผม ซึ่งเวลาผมรับไม้ใหม่เข้าบ้าน เกือบทั้งหมดของไม้ที่ซื้อมาผมจะทำแบบที่เขียนไปนี่ล่ะครับ ยกเว้นแต่ว่า ถ้าช่วงที่ซื้อไม้มานั้นเป็นช่วงที่ฝนตกติดกันทุกวัน ฟ้าครึ้ม อากาศไม่สดใส หรือถ้าเป็นช่วงไหนที่ผมไม่ว่าง ไม่สะดวกที่จะเปลี่ยนดินตัดแต่งรากให้เค้าจริงๆ ล่ะก็ ผมก็จะวางเค้าแยกเอาไว้ก่อน ไม่จับไปวางรวมกับต้นอื่นๆ ในโรงเรือน ผมจะมีโซนวางไม้ใหม่ของผมอยู่มุมนึงเพื่อเอาไว้สำหรับวางไม้ที่ต้องการการปรับตัว หรือพวกไม้ดูอาการอะไรแบบนี้อยู่ครับ
 ...............................

แต่เชื่อว่าน่าจะมีบางท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแต่ก็คงยังไม่อยากที่จะเลือกวิธีการล้างรากแบบนี้อยู่ดี และก็คงอยากที่จะถามว่าแล้วถ้าไม่อยากล้างราก อยากซื้อมาแล้วปลูกต่อไปแบบนั้นเลยทันทีจะได้มั้ย

ผมขอตอบว่า ก็ได้ครับ จะเลี้ยงเลยโดยไม่ทำแบบวิธีการในบทความนี้ก็ได้

                      แต่ถ้าเป็นผมนะครับ ถ้าผมจะไม่เปลี่ยนดิน ไม่ล้างราก ถ้าจะเลี้ยงต่อไปเลยทันทีโดยที่ไม่ทำอะไรเลยล่ะก็ ในช่วง 2-3 อาทิตย์แรกหลังจากที่ได้ไม้มา ผมจะแยกไว้ตางหากไม่เอาไปเลี้ยงรวมกับต้นอื่นๆ ครับ ที่แยกก็เพื่อดูว่ามีอะไรผิดปรกติหรือไม่ และก็ให้เค้าได้ปรับสภาพอากาศให้เข้ากับอากาศบ้านเราด้วยครับ 

              สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องมีเตรียมไว้เลยก็คือ พวกยากันรา และพวกยากันเพลี้ย ยาป้องกันแมลงต่างๆ ต้องมีเตรียมไว้ เวลามีปัญหาเกิดขึ้นจะได้ใช้ได้อย่างทันถ้วงทีครับ 

อาจจะมีการพ่นยากันรา และยากันเพลี้ยเพื่อป้องกันไว้ก็ดีครับ 

พอผ่านไปสัก 3 อาทิตย์ ถ้าไม่มีอะไรที่ผิดปรกติเกิดขึ้น ก็น่าจะเบาใจได้ในระดับนึงแล้วล่ะครับว่าไม้ของเราที่ซื้อมาน่าจะโอเคอยู่

................................

ประมาณนี้ก็แล้วกันนะครับ

แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไปของเรา

เพจของเราครับ https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.