Sunday, November 12, 2017

การตัดลงตอยิมโนด่าง และเรื่องราวการปลูก การดูแลไม้ที่พึ่งตัดลงตอ


                       สวัสดีครับ เรื่องราวในวันนี้เริ่มมาจาก มีเพื่อนท่านนึงได้มาสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นไม้ที่เค้าพึ่งไปซื้อมา เค้าเล่าว่า ได้ซื้อยิมโนด่างแดงดำมาต้นนึง ( ไม้กระถาง ) ซึ่งตอนที่เลือกซื้อนั้นเจ้าตัวไม่ได้มีการพูดคุยรายละเอียดของไม้ที่ซื้อกับคนขายแต่อย่างใด แค่มองภายนอกเห็นว่าเจ้าแคคตัสดูปรกติ ต้นดูแข็งแรงดี ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็เลยตัดสินใจซื้อมา

                       หลังจากที่กลับมาถึงบ้าน เจ้าตัวอยากที่จะเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางใหม่ให้กับเจ้าแคคตัส ก็เลยตัดสินใจเทกระถางเพื่อเตรียมจะเปลี่ยนดิน ซึ่งตอนที่เทกระถางออกมานั้น ตรงส่วนรากของเจ้ายิมโนด่างมันเป็นลักษณะคล้ายๆ อย่างในภาพด้านล่าง


                        ในภาพที่ลงไว้นี้ไม่ใช่ภาพของเพื่อนท่านนี้นะครับ แต่เป็นภาพต้นของผมเองครับ ผมขอใช้ภาพต้นของตัวเองเอามาลงก็แล้วกันนะครับ มันสื่อสารได้ง่ายกว่า

                        ก็คือลักษณะของรากเจ้ายิมโนด่างที่เค้าซื้อมานั้น มันเป็นแบบคล้ายๆ ในภาพนี้ ตรงส่วนที่น่าจะเป็นราก มีลักษณะเป็นแท่งแบบนี้ แล้วก็จะมีรากฝอยเส้นเล็กๆ แทงออกมาจากแกนนี้อีกต่อนึง ซึ่งเค้าไม่เคยเลี้ยงไม้แบบนี้มาก่อนเลย เค้าก็เลยมาถามผมว่าแบบนี้มันคือยังไง อยากให้ผมอธิบายไม้ลักษณะนี้ให้ฟังหน่อย แล้วก็อยากรู้ว่าไม้แบบนี้มันโอเคมั้ย จะเลี้ยงต่อไปยังไงดี เลี้ยงยากหรือไม่ อะไรประมาณนั้น


                        ซึ่งไม้ในลักษณะนี้ ตรงส่วนรากมาเป็นแท่งแบบนี้นั้น เป็นไม้ที่เรียกกันว่าไม้ตัดลงตอ เป็นไม้ตัดลงตอแก้วมังกรแบบเหลาแกนตอครับ

                        อธิบายเพิ่มเติมก็คือว่า เดิมทีเจ้ายิมโนแดงดำต้นนี้นั้น เค้าเคยเป็นไม้กราฟ ต่อบนตอแก้วมังกร แต่ทว่า ได้มีการตัดเค้าลงจากตอ โดยเป็นการตัดลงแบบที่เหลือแกนของตอเอาไว้หน่อยนึง เพื่อให้แกนตอนั้นเป็นจุดที่ออกราก เพราะฉะนั้นลักษณะของรากก็เลยจะเป็นแบบนี้ คือมีส่วนของแกนตอที่เหลือเอาไว้เพื่อให้รากออกอย่างที่เห็น

เอาเป็นว่าเราไปย้อนดูกันดีกว่าครับว่าในขั้นตอนของการตัดลงตอนั้น มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง 

สำหรับต้นตัวอย่างที่ผมเอามาให้ได้ดูกันนั้นเป็นยิมโนด่างแดงดำกราฟตอแก้วมังกร เจ้าต้นนี้ผมซื้อมาเลี้ยงนานแล้ว


อันนี้คือภาพเมื่อ 2 ปีที่แล้วครับ ตอนนั้นหน่อเพียบ

                    เลี้ยงไปเลี้ยงมาเค้าก็เจริญเติบโตมาเรื่อยๆ  มีการเด็ดหน่อเอาไปชำบ้าง เอาไปกราฟบ้างตามประสา จนกระทั่งวันนึงผมก็ตัดสินใจว่าจะตัดเค้าลงจากตอ
                    ซึ่งเหตุผลที่ผมตัดเค้าลงจากตอนั้น ผมบอกเลยว่าไม่มีครับ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ต้นของเค้าก็ยังสมบรูณ์ดี จริงๆ จะเลี้ยงบนตอต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่ผมอยากตัดลง ไม่อยากเลี้ยงบนตอแล้ว คิดแล้วก็ลงมือเลย

                    วิธีการตัดลงตอแก้วมังกรนั้นไม่ยากครับ เริ่มจากตัดตอให้เหลือส่วนของตอเอาไว้สัก 4-5 ซม. ไว้ก่อนเผื่อเหลือเผื่อขาดแล้วค่อยไปแต่งทีหลัง


                       ขอแทรกนิดนึงนะครับ คือในการตัดลงตอไม้กราฟนั้น ถ้าแคคตัสที่เราคิดจะตัดลงนั้นเกิดเป็นแคคตัสด่างที่ด่างเป็นสีหมดทั้งหัว อย่างพวกยิมโนหัวสีที่เหลืองทั้งหัว แดงทั้งหัว ไม่มีผิวส่วนไหนของเจ้าแคคตัสที่มีสีเขียว หรือเขียวอมดำ เขียวอมม่วง หรือโทนดำโทนม่วงอยู่เลยล่ะก็ แบบนั้นอย่าตัดลงจากตอนะครับ 

หัวสีหมดทั้งหัว ไม่มีสีเขียวปนเลยแบบนี้ ไม่ควรตัดลงจากตอนะครับ

                       พวกแคคตัสหัวสีที่ผิวด่างเป็นสีหมดทั้งหัว ไม่มีสีเขียวหรือม่วงหรือดำปน ถ้าเราไปตัดเค้าลงจากตอล่ะก็ เค้าจะไม่สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเค้าไม่มีครอโรฟิลล์ หรือสารสีเขียวในพืชที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง ตัดลงจากตอแล้วมันจะไม่ค่อยยอมออกราก ไม่โต และจะค่อยๆ ยุบแต่ตายลงไปในที่สุด เพราะฉะนั้นพวกหัวสีควรให้ตอเลี้ยงต่อไปอย่าไปตัดลงนะครับ

เรากลับมาที่การตัดลงตอกันต่อดีกว่า หลังจากที่เราตัดเค้าลงจากตอมาแล้ว ขั้นตอนต่อมาเราก็จะต้องมาเหลาแกนตอกันต่อเลยครับ

ใช้มีดค่อยๆ ปาด แซะเนื้อของตอออกไปให้เหลือแค่เพียงแกนตอเท่านั้น


                       ซึ่งการที่เราเหลือแกนตอเอาไว้นั่นก็เพราะเราต้องการที่จะให้แกนตอนี้เป็นจุดที่จะออกรากนั่นเองครับ เมื่อเราเอาไปปลูกรากจะแทงออกมาจากส่วนของแกนตอครับ

                      แซะเนื้อตอให้หมดอย่าให้เหลือเลยนะครับ ถ้าส่วนของตอมันกินลึกเข้าไปมากๆ ก็ต้องหามีดเล็กๆ มาค่อยๆ ขูดออกให้หมดครับ ให้เหลือแต่แกนเท่านั้น


                       สำหรับการตัดลงตอแบบเหลือแกนตอ เหลาแกนตอนั้น เป็นวิธีการที่จะใช้ได้ดีกับเฉพาะไม้กราฟตอแก้วมังกรนะครับ ถ้าเป็นไม้กราฟตอชนิดอื่นล่ะก็ตัดตอออกให้หมดเลยดีกว่าครับ

                     เมื่อเราเหลาจนเหลือแต่แกนตอเรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณมีพวกยาเร่งราก ก็สามารถนำมาทาได้นะครับ วิธีการใช้ยาแนะนำให้อ่านข้างฉลากยาของคุณเลยครับ ส่วนผมนั้น แต่เจ้าต้นนี้ตอนที่ทำผมไม่มียากันรา เพราะงั้นผมก็เลยไม่ได้ใช้ครับ

เอาเนื้อตอออกให้หมดนะจ๊ะ

                         ขั้นตอนต่อมาก็คือการนำเจ้าแคคตัสที่เราตัดลงตอเอาไว้ ไปวางหงายผึ่งเพื่อรอให้แผลแห้ง โดยในการผึ่งเพื่อรอให้แผลที่เราตัดลงไว้นั้นแห้งนั้น ก็อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ขึ้นไปครับ ไม่ต้องกลัวนะครับว่าวางผึ่งเอาไว้นานๆ แล้วมันจะตาย แคคตัสที่มีขนาดโตแล้ว สามารถวางผึ่งเอาไว้ได้เป็นเดือนๆ ได้อย่างสบายไม่ตายครับ ผมเคยวางแคคตัสเปลือยๆ มีแต่ต้นเปล่าๆ ผึ่งเอาไว้ 2-3 เดือนก็รอดครับ เพราะงั้นแค่ 2-3 อาทิตย์ อยู่ได้ครับ

สำหรับสถานที่วางผึ่งแคคตัสนั้น ผมจะวางหงายไว้ในจุดที่มีแสงส่องรำไร อากาศถ่ายเทดี

                     ไม่ควรให้ไม้ที่เราวางผึ่งไว้นั้นตากฝนเพราะอาจทำให้เค้าติดเชื้อและเน่าตายได้และก็ไม่ให้ให้เค้าตากแดดที่จัดเกินไปด้วยนะครับ เพราะมันจะโดนแดดเผาจนอาจทำให้เหี่ยวเอาได้ ให้อยู่ในจุดที่มีแสงอ่อนๆ รำไร อากาศถ่ายเทดี จะดีกว่าครับ


                         สำหรับเจ้ายิมโนด่างต้นนี้ สุดท้ายแล้วผมวางผึ่งเอาไว้เกือบเดือนเลยล่ะครับ ซึ่งเค้าก็จะมีอาการต้นยุบนิดๆ นิ่มหน่อยๆ เพราะวางผึ่งเอาไว้นานก็เลยทำให้มีอาการขาดนํ้า แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรครับ ยังปรกติดี ตามที่เห็นในภาพเลยครับ นี่คือผมวางผึ่งไว้ เกือบเดือนจริงๆ ครับ


ได้เวลาที่เราจะนำเค้าไปลงปลูกแล้วล่ะครับ

                     สำหรับวัสดุปลูกหรือดินปลูกไม้ตัดลงตอที่ผมใช้นั้นก็จะใช้เป็น ดินใบก้ามปูร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ (ถ้าไม่มีใช้เป็นดินแคคตัสก็ได้ ) จากนั้นก็ผสมกับกับหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด (เบอร์ 00) และ เพอร์ไลท์ ในอัตราส่วนผสมที่พอๆ กัน
( เรื่องดินเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับมุมมองและความเหมาะสมแต่ละคน สูตรดินที่ดีที่สุดคือสูตรที่เหมาะสมกับสถานที่ปลูก อากาศ สภาพแวดล้อม และรูปแบบการปลูกของเรามากที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องดินผมขอแนะนำให้หาข้อมูลจากหลายๆ ทางจะดีกว่านะครับ )

เมื่อเราเตรียมดินมาเรียบร้อยแล้ว เราก็เอาไม้ตัดลงตอของเราไปลงปลูกกันเลยครับ


สำหรับการรดน้ำ ผมจะรดเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิท ถ้าดินยังชื้นผมก็จะไม่รดครับ 

                        ส่วนเรื่องของสภาพอากาศและแสงแดด ไม้ที่ลงปลูกใหม่ๆ ไม่ควรให้เค้าได้รับแสงแดดที่จัดเกินไปนะครับ มันจะไหม้จนอาจทำให้ตายได้ ควรให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปจนกว่าจะเริ่มออกรากและต้นเริ่มกลับมามีการเจริญเติบโตเสียก่อนถึงค่อยเพิ่มปริมาณแสงแดดที่ได้รับ หรือเทรนแดดต่อไป

                       และไม่ควรให้เจ้าแคคตัสของเรานั้นตากฝน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเน่าตายหรือเกิดเป็นโรคขึ้นได้ สถานที่ปลูกควรที่จะมีหลังคากันฝนนะครับ

                       มีคนถามผมอยู่บ่อยครั้ง ว่าไม้ที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ นั้น เมื่อไรถึงจะออกราก กี่วัน กี่อาทิตย์ ซึ่งก็ต้องบอกเลยนะครับว่า มันกำหนดตายตัวไม่ได้หรอกว่าต้องกี่วันกี่เดือน บางต้นสองอาทิตย์รากก็งอกแล้ว รากแทงออกมาตั้งแต่ตอนที่วางผึ่งเอาไว้ยังไม่ได้เลยปลูกเลยก็มีให้เห็นบ่อย แต่บางต้น ปลูกไปสองเดือนแต่กลับไม่ออกรากเลยสักเส้นก็มี คือเรื่องแบบนี้มันก็ต้องเผื่อใจให้กับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยนะครับ

                       บางท่านใจร้อน ปลูกไปสามวันก็ถอนขึ้นมาดูพอเห็นว่ารากยังไม่ออกก็ร้อนใจ คิดว่ามันจะไม่รอด ซึ่งมันเร็วไปครับ ให้เวลาเค้าไปสักระยะ 3 อาทิตย์ขึ้นไปก่อนดีกว่าครับ เพราะรากมันไม่ได้มาเร็วขนาดนั้น ใจเย็นๆ แล้วก็ไม่ต้องถอนขึ้นมาดูบ่อยๆ นะครับ ถ้าคุณคาใจจริงๆ ว่าไม้ที่เราปลูกไปนั้นมันออกรากแล้วหรือยัง แค่เอานิ้วดันที่ต้นดูก็พอครับ ถ้าเอานิ้วดันแล้วต้นมันโยกๆ คลอนๆ ก็แสดงว่ายังไม่ออกรากหรืออกรากแล้วแต่รากยังน้อยมากๆ แต่ถ้าเอานิ้วดันดูแล้วต้นแน่นไม่โยกไม่คลอนก็แสดงว่ารากออกเยอะแล้ว หรือไม่ก็ดูที่ยอด ว่ายอดเดินหรือไม่ ถ้ายอดเดิน แตกยอดสดใส หรือตรงยอดเริ่มแตกหนามใหม่อ่อนๆ ขึ้นมาก็แสดงว่าเค้าเริ่มฟื้นตัวแล้ว อะไรแบบนั้น

เห็นสีต่างกันแต่นี่คือเจ้าต้นเดิมนะครับ เป็นภาพตอนยอดเดิน สีเลยสดใสขึ้น

                         เมื่อไม้ตัดลงตอของเรานั้นออกรากและตั้งตัวได้ เริ่มมีการเจริญเติบโต และเข้ากับสภาพอากาศที่บ้านเราได้เมื่อไร ผมก็จะเลี้ยงเค้าเหมือนกับที่เลี้ยงแคคตัสทั่วๆ ไป เลยครับ ไม่ได้มีส่วนใดในการปลูกที่แตกต่าง ผมเลี้ยงแบบเดียวกัน ดินเหมือนกัน กินเหมือนกัน แดดเท่ากัน เลยครับ


                         ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มของบทความนี้ คือคำถามของเพื่อนท่านนึงที่ได้ไปซื้อยิมโนด่างมาโดยตอนที่ซื้อนั้น เจ้าตัวไม่ทราบมาก่อนว่าไม้ที่ตนเองซื้อมา เป็นไม้ตัดลงตอ


                       ด้วยความที่เค้าไม่รู้จักและไม่เคยเลี้ยงไม้ตัดลงตอมาก่อน ไม่แน่ใจและไม่มั่นใจในไม้ต้นนั้นว่ามันโอเคหรือไม่ ก็เลยมาถามในเชิงว่าไม้แบบนี้ มันโอเคหรือไม่ เลี้ยงยากมั้ย มันจะเติบโตได้ดีมั้ย

                       เอาความรู้สึกส่วนตัวของผมนะ ผมว่าไม้ตัดลงตอมันก็พอใช้ได้อยู่นะครับ เลี้ยงได้ เติบโตได้ตามปรกตินั่นล่ะครับ จากที่ผมเคยตัดลงตอและเลี้ยงมาประมาณนึง บางต้นเลี้ยงมาแล้ว 2-3 ปี ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ดีไม่ได้มีปัญหา เจริญเติบโตมีพัฒนาการที่พอใช้ได้อยู่นะครับ

                        มีบางท่านให้ความเห็นเอาไว้ว่าพวกไม้ตัดลงตอ ระบบรากจะไม่ค่อยดี เพราะไม่มีรากแก้วเหมือนกับพวกไม้เพาะเมล็ด ซึ่งเรื่องนี้มันก็ใช่ ไม้ตัดลงตอจะมีแค่รากฝอย รากอาจจะไม่ใหญ่เท่าไม้เพาะเมล็ดที่มีรากแก้ว มีระบบรากที่เส้นใหญ่แตกแขนงได้ดี แต่ผมก็มองว่าไม้ตัดลงตอระบบรากมันก็ไม่ได้แย่อะไรนะครับ อาจจะไม่มีรากแก้วมีแค่เพียงรากฝอย แต่ถ้าเราเลี้ยงดี ดูแลดี เอาใจใส่ในการปลูกเป็นอย่างดี พวกไม้ตัดลงตอมันก็เจริญเติบโตได้ดีนะครับ เพราะงั้นผมว่าถ้าคุณไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเลี้ยงไม้แบบไหนเท่านั้น ไม้ตัดลงตอ รวมไปถึง ไม้กราฟ ไม้ชำหน่อ ผมว่ามันโอเคหมดนั่นล่ะครับ

                       ผมมองว่า มันอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่การเลี้ยงดูของเราครับ ไม่ว่าจะไม้ประเภทไหน ไม้เมล็ด ชำหน่อ ไม้กราฟ ถ้าเราเลี้ยงไม่ดี ไม่เอาใจใส่ มันก็ตายได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเราตั้งใจดูแลเค้าเป็นอย่างดี จัดสถานที่ปลูกให้เหมาะสม ตามดูพัฒนาการอยู่ตลอดไม่ทอดทิ้ง เปลี่ยนดินปีละครั้ง ถ้าเห็นเค้าเริ่มมีอาการที่ผิดปรกติก็รีบตรวจสอบและรักษาไม่ปล่อยปัญหาไว้นาน ผมว่ามันก็ไม่ตายง่ายๆ เจริญเติบโตให้ผลต่อเราคุ้มค่าได้อยู่ ผมคิดแบบนั้น

                      อย่างเจ้ายิมโนแดงดำตัดลงตอของผมต้นนี้ ผมเคยจับเทกระถางเพื่อเปลี่ยนดินประจำปี เท่าที่ดูระบบรากของเค้าก็ถือว่าใช้ได้อยู่นะครับ รากเยอะพอสมควร ดูจากภาพด้านล่างได้ครับ 


ภาพนี้เป็นภาพตอนที่ผมเปลี่ยนดิน จะเห็นว่ารากมันก็พอมีอยู่นะครับ


ส่วนภาพต่อมาด้านล่างนี้ เป็นภาพปัจจุบันของเค้าครับ 


                      ถ้านับตั้งแต่วันที่ตัดลงตอมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งเค้าก็ปรกติดี มีการเจริญเติบโตมีพัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ อย่างไม่เป็นปัญหา


ตอนนี้เจ้าต้นนี้กำลังเริ่มออกหน่อเล็กๆ มาหลายหน่อเลยครับ


                     ก่อนจากกันไป ผมขอพูดถึงการซื้อต้นไม้อีกสักนิดนึงนะครับ ( ไม่ใช่เฉพาะแต่กระบองเพชร ต้นพูดรวมไปถึงไม้ชนิดอื่นๆ ด้วย ) คือในการซื้อต้นไม้นั้น ก่อนจะซื้อ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรู้ในสิ่งที่เราจะซื้อ ว่าเรากำลังจะซื้อต้นอะไร เป็นไม้ประเภทไหน และสิ่งที่น่าจะต้องรู้ต่อมาก็คือ ไม้ที่เราจะซื้อนั้นชอบอากาศแบบไหน สถานที่ปลูกที่เรามี ที่เราจะจัดให้เค้าอยู่นั้นมันเหมาะสมกับความต้องการของเค้าหรือไม่ และมีข้อควรระวังในการปลูกในเรื่องไหนบ้าง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร 

                    หลายคนซื้อต้นไม้มาแล้วก็ปลูกไม่รอด เพราะตอนซื้อไม่ได้ใส่ใจ และก็ไม่คิดที่จะสนใจ ปลูกกันไปมั่วๆ สถานที่ปลูกไม่เหมาะสม อากาศไม่เหมาะสม หรือวิธีการดูแลไม่เหมาะสม อย่างแคคตัสนั้นเป็นไม้ที่ชอบแดด แต่ที่บ้านไม่มีแดดส่อง หรือมีแดดก็ส่องแค่วันละ 1-2 ชั่วโมงแค่นั้น ซึ่งมันน้อยไป ซื้อมาปลูกแล้วก็เติบโตได้ไม่ดี มีปัญหาตามมาเช่นต้นยืดเสียทรงบ้าง เป็นโรคบ้าง ไม่ออกดอกบ้าง ปลูกเท่าไรก็ไม่ได้ดั่งใจเราต้องการ แต่ถ้าเรารู้ก่อนที่เราจะซื้อว่าไม้ที่เราจะซื้อนั้น เค้าชอบอากาศแบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร บ้านเรามีอากาศอย่างที่เค้าต้องการหรือไม่ ในการปลูกของเราก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นด้วยว่าเราจะต้องปรับรูปแบบการเลี้ยงแบบไหนยังไง

                    เพราะฉะนั้นถ้าคุณกำลังจะซื้อต้นไม้ที่คุณไม่รู้จักวิธีการปลูกวิธีการดูแลเลยแม้แต่นิดเดียวล่ะก็ ผมแนะนำให้คุณคุยกับคนขายให้ละเอียด ไม่ต้องอายนะครับ ถามเค้าเลย ต้นนี้เลี้ยงยังไง ชอบอากาศแบบไหน ดินปลูกควรใช้เป็นดินแบบไหน ข้อควรระวังในการปลูกมีอะไรบ้าง

                    หรืออย่างบางท่านอยากซื้อไม้ดอกมาปลูกเพื่อดูดอกสวยๆ ก็ถามคนขายเลยครับว่า ต้นนี้เป็นพันธุ์ที่ออกดอกยากมั้ย ปีนึงออกได้หลายครั้งหรืออกดอกแค่ปีละครั้ง ถ้าออกดอกแค่ปีละครั้งเค้าจะออกดอกในช่วงฤดูกาลไหน และต้องเลี้ยงแบบไหน ให้เค้าได้รับอากาศแบบไหนดอกถึงจะมา ถามไปเลยครับ ไม่ต้องกลัวคนขาย พ่อค้าแม่ค้าที่ดี เค้าพร้อมจะแนะนำ พร้อมจะบอกเราอย่างละเอียดแน่นอนครับ แต่ถ้าคุณถามเค้าแล้ว เค้าไม่ตอบคุณ ไม่อยากคุยกับคุณ หรือเค้าแสดงท่าที่รำคาญที่คุณถามเค้าเยอะ ผมว่าแบบนั้นก็ผ่านดีกว่าครับ ไปซื้อร้านอื่นดีกว่างั้น

ซื้อต้นไม้ อย่าใจร้อน

สุดท้ายนี้ ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

1 comment:

  1. ได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.