Sunday, August 13, 2017

เมื่อเจ้ายิมโนหัวสี ( ไม้กราฟตอแก้วมังกร ) เกิดปัญหาเน่า การสังเกต ประเมินอาการ และแนวทางการรักษา


                      สวัสดีครับ เรื่องราวในคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าไม้กราฟ ยิมโนหัวสีต่อตอแก้วมังกรที่เจอปัญหา บางต้นตอเน่า บางต้นตอไม่เน่าแต่เป็นหัวสีที่เน่า บางต้นเน่าทั้งหัวสีเน่าทั้งตอ ซึ่งเราก็จะมาดูอาการกันว่า อาการแบบไหนคือหนัก แบบไหนพอจะรักษาได้ และแนวทางการรักษาที่ผมใช้นั้น มันมีวิธีการอย่างไรบ้าง

                      แต่ก่อนจะเริ่มบทความผมต้องขอบอกกันก่อนเลยนะครับ ว่าผมก็ไม่ได้มีความรู้ในการรักษากระบองเพชรป่วยมากมายอะไรหรอกนะครับ เพราะงั้นบทความนี้อาจจะไม่ได้มีเนื้อหาที่เจาะลึกเกี่ยวกับโรคพืชอย่างละเอียดนะครับ เป็นเพียงแค่การมาบอกเล่าเรื่องราวและเอารูปมาให้ได้ดูกันว่าเวลาแคคตัสของผมป่วย ผมจัดการกับมันยังไง ยังไงถ้าอ่านบทความนี้จบแล้ว อยากให้ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยนะครับ เพราะบทความนี้เป็นแค่การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของคนๆ เดียวเท่านั้น ซึ่งอาจมีสิ่งใดที่ผมได้เขียนพลาดไป หรือสื่อสารได้ไม่ครบถ้วนก็เป็นได้นะครับ


ก่อนจะไปเริ่มการรักษา เราก็ต้องมาว่ากันในเรื่องของสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ไม้กราฟของเรานั้นเน่ากันก่อนดีกว่า


                       ซึ่งจากที่ผมเคยได้พบมา อาการเน่านั้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยแรกที่ผมจะกล่าวถึงก่อนเลยนั่นก็คือ อาการเน่าที่มาจะมาจากปัญหาที่เกี่ยวกับ ความชื้น

                       ตัวอย่างก็เช่น สถานที่ปลูกอับชื้นเกินไป ซึ่งก็อาจจะมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอย่างเช่นว่า สถานที่ปลูกนั้นไม่ได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสมหรือมีแดดส่องถึงน้อยเกินไป รวมไปถึงสถานที่ปลูกที่อากาศถ่ายเทไม่ดี อับลม ซึ่งการที่ได้รับแสงแดดน้อยไป หรืออากาศถ่ายเทไม่ดีจะทำให้เวลาที่เรารดน้ำต้นไม้ไปแล้ว ดินจะแห้งช้าเพราะไม่มีแสงแดดและลมมาช่วยระเหยความชื้น ซึ่งการที่ดินปลูกนั้นชื้นสะสมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเน่าขึ้นได้ครับ
 
                      รวมไปถึงถ้าดินที่ใช้ในการปลูกนั้นเป็นดินที่ไม่ได้มีความโปร่งหรือมีการระบายน้ำที่ไม่ดี หรือเป็นดินที่มีส่วนผสมที่อมความชื้นมากไป หรือดินแน่นเกินไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหารากเน่าและลามไปจนถึงโคนต้นทำให้ต้นเน่าขึ้นได้เช่นกัน
                      และยิ่งถ้าสถานที่ปลูกของเรานั้นไม่มีหลังคาหรือไม่มีที่กันฝน เวลาฝนตกเมื่อไรเจ้าแคคตัสนั้นก็ต้องตากฝนเปียกปอนไปเสียทุกครั้งมันก็อาจเป็นสาเหตุทำให้หัวแคคตัสที่ต่อบนตอนั้นเน่าตายได้อีกด้วย
                      และนอกเหนือจากนี้ก็จะมีเคสแบบว่าไม้ที่ไม่ได้เปลี่ยนดินมาเป็นระยะเวลานานมากๆ ไม่ได้เปลี่ยนดินมาหลายปี ดินเก่ามากๆ ก็อาจเกิดเชื้อโรคสะสมอยู่ในดินทำให้เกิดเป็นโรคต่อต้นไม้ได้ด้วยนะครับ

                      ยังมีอีกสาเหตุนึงเกี่ยวกับความชื้นที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้แคคตัสเกิดปัญหาเน่าขึ้นได้นั่นก็คือเรื่องของการติดเชื้อเข้าแผลสด ยกตัวอย่างก็เช่น สมมุติว่าแคคตัสของคุณนั้นเกิดเป็นแผลขึ้นมา อาจจะด้วยสาเหตุจาก โดนหนอนแทะ หนูแทะ นกจิก หรือเจ้าของเผลอทำตกจนทำให้เกิดแผล ถ้าเราไม่ระวังให้ดี ปล่อยให้แคคตัสที่มีแผลสดๆ นั้นตากฝน หรือเรารดน้ำไปโดนแผล อาจจะทำให้น้ำนั้นขังในแผล จนทำให้เกิดอาการติดเชื้อและลามเป็นเน่าก็เป็นได้นะครับ เพราะฉะนั้นถ้าแคคตัสของเราเกิดเป็นแผลสดๆ ขึ้นมาล่ะก็ ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าไปขังในแผลนะครับ ควรเลี่ยงอย่าให้แผลโดนน้ำจนกว่าแผลนั้นจะแห้งสนิทดีเสียก่อนนะครับ


                        ส่วนสาเหตุหลักๆ สาเหตุต่อมาที่อาจทำให้ไม้กราฟของเรานั้นเน่า จะตรงกันข้ามกับสาเหตุแรก เรียกได้ว่าพลิกไปอีกด้านนึงเลยก็คือเรื่องของความร้อน แสงแดด

                        ยิมโนหัวสีต่อตอแก้วมังกรเป็นไม้ที่อยู่แดดได้ ถ้าได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอจะดูสดใสมากๆ เลยด้วยครับ แต่ถ้าแสงแดดที่ได้รับนั้นมันแรงเกินไป ก็อาจทำให้ตอแก้วมังกร โดยเฉพาะตอแก้วมังกรที่ใช้มานานหลายปีจนเริ่มหมดสภาพแล้วนั้น ทนแดดที่จัดมากๆ ไม่ไหว จนเกิดปัญหาตอโดนแดดเผาจนเนื้อตอสุก เมื่อเนื้อตอโดนแดดเผาจนสุก ตรงส่วนเนื้อที่สุกนั้นมันก็จะเน่าเป็นนํ้าเลยล่ะครับ

                       เช่นเดียวกัน ยิมโนหัวสีก็เป็นไม้ที่ถ้าโดนแดดจัดมากเกินไปก็อาจจะไหม้แดดจนเนื้อสุกและจากนั้นก็เน่าได้ครับ

                      มันจะมีกรณีนึงที่เจอกันบ่อยนั่นก็คือ พึ่งซื้อแคคตัสมาใหม่ๆ จากร้าน พอเอากลับมาถึงบ้าน ก็เอามาตากแดดจัดๆ ทันที โดยไม่ทันระวัง และก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันทีเพราะแคคตัสเกิดอาการไหม้แดดจนสุกและเน่าตาย ที่เป็นแบบนี้ ผมคิดว่ามันอาจเป็นเพราะว่าสถานที่ปลูกนั้นต่างกัน ที่ร้านขายแคคตัสเค้าอาจจะไม่ได้ให้แคคตัสได้รับแสงแดดแรงๆ อาจจะเลี้ยงมาแบบแดดอ่อนๆ หรือแดดน้อย พอเราซื้อมาเลี้ยงที่บ้าน เราไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อนว่าไม้มันไม่เคยผ่านแดดจัด แต่เราเอาเค้าไปตากแดดจัดๆ ทันที ไม้อาจจะปรับตัวกับสภาพอากาศไม่ทัน ก็อาจทำให้เจ้าแคคตัสนั้นทนความร้อนไม่ไหวก็เลยโดนแดดเผาจนสุกและเน่าได้ครับ 

                     เช่นเดียวกัน ไม้ที่พึ่งมีการเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง ไม้ที่พึ่งจับลงปลูกในดินใหม่ๆ หรือไม้ที่ปรกติไม่ค่อยได้รับแสงแดดแรงๆ มาก่อนเลยล่ะก็ อย่าจับชนแดดแรงๆ ทันทีนะครับ มันจะเกิดปัญหาโดนแดดเผาเอาได้

                      ซึ่งเรื่องนี้เนี่ยหลายๆ ท่านจะมีการบอกกล่าวกันอยู่เสมอว่าเวลาเราซื้อไม้มาใหม่ๆ  หรือไม้ที่พึ่งมีการเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง หรือไม่ที่ปรกติไม่ค่อยได้รับแสงแดดแรงๆ อย่าพึ่งเอาไปวางแดดจัดๆ ทันทีนะ มันจะไหม้แดดเอาได้ เราควรจะต้องมีการเทรนแดดก่อน ซึ่งการเทรนแดดก็คือ การค่อยๆ เพิ่มแสงแดดที่ไม้จะได้รับให้มากขึ้นไปทีละระดับจากแดดอ่อนไปจนแดดแรงเพื่อให้ไม้ได้ปรับตัวเข้ากับแสงแดดได้โดยไม่ไหม้แดด ซึ่งการเทรนแดดวิธีการก็คือ ค่อยๆ เพิ่มแสงแดด เช่นอาทิตย์แรกที่ลงปลูกหรืออาทิตย์แรกที่ได้ไม้มา เราจะให้เค้าได้รับเพียงแค่แสงแดดอ่อนๆ เพื่อให้ไมปรับตัวไปก่อนเช่นแดดช่วงเช้าๆ 7-9 โมง พออาทิตย์ต่อมาก็ย้ายไปอยู่ในจุดที่แสงแดดมากขึ้นเช่นแดดสาย 8-10 โมง เพื่อให้ไม้ค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับแสงแดดที่แรงขึ้น อาทิตย์ต่อไปก็ปรับจุดวางให้ได้รับแสงแดดเพิ่มไปอีกระดับ ไปแบบนี้เรื่อยๆ นี่คือการเทรนแดด ซึ่งไม้ที่เทรนแดดจะมีโอกาสเกิดปัญหาไหม้แดดได้น้อยกว่าไม้ที่ลงปลูกใหม่โดยไม่เทรนแดดครับ


                          ที่กล่าวไปเหล่านี้คือปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาแคคตัสเน่า แต่ก็อาการเน่าของแคคตัสนั้นก็อาจจะมาจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ผมกล่าวไปก็ได้นะครับ ผมพูดแค่เท่าที่เคยพบเจอมากับตัวเท่านั้น เรื่องโรคมันมีอะไรที่มากกกว่านี้อีกเยอะเลยล่ะครับ


                          ผมมีตัวอย่างยิมโนหัวสีที่มีปัญหาเน่ามาให้ได้ดูกัน 4 ต้น ซึ่งแต่ละต้นที่ผมเลือกภาพเอามาให้ดูกันนั้นก็ จะมีอาการมากน้อยแต่ต่างกันไป  เอาเป็นว่าเราไปเริ่มกันที่ต้นแรกเลยก็แล้วกันนะครับ ตามภาพด้านล่าง


                         สำหรับต้นแรกนี้นั้น จะเป็นไม้กราฟที่เกิดปัญหา หัวแคคตัสเน่าแต่ตอไม่ได้เน่า คือเน่าแค่เฉพาะหัวแคคตัสอย่างเดียวเท่านั้นตอยังปรกติดี

                         เดิมทีเจ้ายิมโนหัวสีหัวนี้นั้น เป็นสีแดงทั้งหัว แต่ครึ่งนึงของหัวมันเน่าจนสีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลช้ำน้ำอย่างที่เห็น ซึ่งวิธีการสังเกตุว่าแคคตัสของเรานั้นเน่าหรือไม่ อย่างแรกเลยคือดูความเปลี่ยนแปลงของสีแคคตัสที่ต้องสงสัยว่าจะเน่า ซึ่งถ้าเป็นอาการเน่าสีผิวตรงส่วนที่เน่าจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลชํ้าๆ


                        แต่เราจะเอาสีที่เปลี่ยนไปของแคคตัสมาเป็นตัวตัดสินเลยก็ไม่ได้นะครับว่าถ้าสีเปลี่ยนคือเน่า เพราะแค่สีเปลี่ยนก็อาจจะไม่ได้เน่าก็ได้นะ แคคตัสบางสายพันธุ์สามารถสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงได้ตามสภาพอากาศ เพราะฉะนั้น อย่าพึ่งเอาสีมาตัดสิน แต่เราต้องไปดูที่ข้อต่อมากันต่อเลย

                        สิ่งที่เราจะต้องมาพิจารณากันต่อว่าแคคตัสของเรานั้นเน่าหรือไม่นั่นก็คือ ถ้าตรงส่วนไหนของแคคตัสที่เราสงสัยว่ามันเน่าหรือไม่ ให้เรากดลงไปแรงๆ ดูนะครับว่ามันนิ่มจนเละเป็นน้ำหรือไม่ ถ้าเรากดลงไปแล้วมันนิ่มจนเละเป็นน้ำ แสดงว่าเน่า แต่ถ้ามันแข็งก็อาจจะไม่เน่า เช่นเดียวกัน ถ้าเรากดลงไปแรงๆ มันนิ่มแต่ไม่ได้เละเป็นน้ำก็อาจจะไม่เน่านะครับ หลายคนมีปัญหาวันดีคืนดีแคคตัสของต้นเองนั้นเกิดอาการต้นนิ่ม กดหรือบีบลงไปแล้วมันนิ่มๆ ก็เกิดความกังวลว่ามันเน่าหรือมันจะตาย แต่จริงๆ แล้วแค่นิ่มๆ เอามาตัดสินไม่ได้นะครับ  บางทีที่ต้นมันนิ่มอาจเป็นเพราะว่ามันขาดน้ำต้นก็เลยเหี่ยวจนนิ่มก็ได้อาจจะไม่ได้เน่าก็ได้นะ ถ้ามันเป็นอาการเน่าคือมันจะต้องนิ่มมากๆ และเมื่อเรากดลงไปแรงๆ ตรงส่วนที่เรากดจะเหลวเละเป็นน้ำออกมาเลยถึงจะเรียกได้ว่าเน่า

ผมเจาะให้ดูข้างในเลยก็ได้ครับว่า เน่าจนเละเป็นน้ำนั้นมันเป็นยังไง


                       คุณจะเห็นตามในภาพเลยนะครับว่าข้างในเจ้ายิมโนหัวสีตรงที่เน่านั้น ผมเจาะเข้าไปแล้วมันเป็นน้ำเหลวๆ ไปหมดเลยล่ะครับ นี่คือเนื้อข้างในมันเน่าหมดแล้วนะครับ ซึ่งอาการขนาดนี้เนี่ย บอกเลยว่ายิมโนหัวสีหัวนี้นั้นเกินจะรักษาแล้วนะครับ เพราะภายในมันเน่าหมดทั้งหัวแล้ว

                     เพราะฉะนั้น ถ้าแคคตัสของคุณเกิดอาการเน่า กดลงไปแล้วมันเละเป็นน้ำ ดูภายในแล้วมันกลายเป็นน้ำเหลวไปหมดทั้งหัวแบบนี้แล้วล่ะก็ ตัดทิ้งไปได้เลยครับ มันไม่รอดแล้ว


                        แต่สำหรับตอของเค้านั้นยังปรกติดีอยู่ครับ เดี๋ยวผมจะตัดเจ้ากหัวยิมโนที่เน่านี้ออกไป ให้คุณดูว่าตอของเค้านั้นยังปรกติดี ยังไม่ได้เน่าตามไปด้วยแต่อย่างใด


                       อย่างที่เห็นเลยนะครับว่าตอยังเขียวเต่งตึงดี เนื้อในของตอก็ยังปรกติ สีเปลี่ยนเป็นช้ำน้ำ และก็ไม่ได้นิ่มจนเละ แบบนี้ก็คือตอยังแข็งแรงดีอยู่นะครับ จะเอาไปปลูกต่อไปก็ได้ แล้วแต่เลย

อันนี้คือเคสแรก หัวแคคตัสเน่าแต่ตอไม่ได้เน่า

เรามาดูต้นตัวอย่างต้นที่ 2 กันเลยนะครับ


ต้นนี้ไม่มีรายละเอียดอะไรมากมาย มันคือต้นที่เกิดอาการเน่าหมดทั้งต้นจนเกินที่จะเยียวยาแล้วล่ะครับ

                       คุณจะเห็นเลยนะครับว่าเจ้าแคคตัสที่เกิดอาการเน่า สุดท้ายแล้วมันก็จะเละจากที่เคยเป็นหัวแคคตัสกลมๆ ก็จะเหลว อย่างที่เห็น และถ้าเราลองดมดูล่ะก็จะได้กลิ่นเหม็นด้วยล่ะครับ


เจาะดูข้างในก็จะเห็นชัดเจนเลยว่ามันเละเป็นนํ้าหมดแล้ว ไม่รอดแล้วครับ


อันนี้คือเน่าทั้งยิมโนหัวสีและตอก็เน่าด้วยเช่นเดียวกัน


                       คุณลองดูอาการเน่าของตอแก้วมังกรนะครับ จะเห็นว่าเวลาตอแก้วมังกรเน่า มันก็จะแบบเดียวกับแคคตัสเน่านี่แหละ คือส่วนที่เน่าจะกลายเป็นสีน้ำตาลช้ำน้ำ และถ้าเรากดลงไปแรงๆ ตรงส่วนที่เน่า มันจะเละเป็นน้ำออกมาเลยเช่นเดียวกัน เดี๋ยวผมเจาะให้ดูข้างในตอที่เน่า


จะเห็นนะครับ ว่าข้างในเหลวหมดแล้ว แบบนี้คือ เน่าหมดไม่เหลือ โยนทิ้งไปได้เลยครับ

เราไปดูต้นต่อไปกันเลยดีกว่าครับ ตามภาพด้านล่าง


                     เจ้าต้นนี้ บางท่านดูภาพแล้วก็อาจจะไม่รู้สึกว่ามันป่วยหรือมีปัญหาอะไร แต่คิดว่าหลายท่านน่าจะดูออกแล้วล่ะนะ ส่วนไหนของต้นที่น่าจะมีปัญหา

ตรงบริเวณโคนของตอนั่นเองครับ ที่มีอาการผิดปรกติ


จะเห็นว่าตรงโคนของตอนั้น เริ่มมีอาการเน่า สีเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลช้ำน้ำนิดหน่อยแล้ว

                        แต่อย่างที่บอกไปว่าเราจะดูแค่สีที่เปลี่ยนแล้วเอามาตัดสินเลยทันทีไม่ได้ อาการเน่านั้นเราต้องกดลงไปตรงส่วนที่เน่าเพื่อทดสอบด้วย ถ้ากดลงไปแล้วมันแค่นิ่มๆ แต่ไม่เละเป็นน้ำก็อาจจะยังไม่เน่า อาการเน่าเวลาเรากดลงไปแรงๆ จะเละเป็นน้ำออกมาเลยนะครับ

เดี๋ยวผมถอนมาให้ดูเลยดีกว่า


                         จุดที่ผมคิดว่าเน่า คือตรงบริเวณแนวเส้นที่ขีดเส้นไว้นั่นล่ะครับ ส่วนตรงอื่นยังปรกติดีครับ พวกรอยริ้วรอยแผลเป็นต่างๆ ตามหัวแคคตัสและตอนั้นเป็นแผลเก่าครับ เป็นแผลที่แห้งไปนานแล้ว ไม่นิ่ม ไม่เละ ไม่เหลว เพราะงั้นรอยแผลอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหานะครับ ที่มีปัญหาแค่ช่วงโคนตอที่ขีดเส้นไว้เท่านั้น

เจาะให้ดูเลยดีกว่าจะได้เห็นว่า ส่วนที่เน่านั้นเนื้อด้านในจะเละเป็นน้ำ


                         แต่ดูจากอาการแล้วมันไม่ได้เน่าหมดทั้งตอ มันเน่าแค่ตรงส่วนโคนตอเท่านั้น ยังเหลือส่วนของตอที่ยังโอเคอีกพอสมควร ซึ่งแนวทางการรักษา ไม้กราฟที่ตอเน่านั้นก็คือเราจะต้องเอามีดปาดเนื้อของตอส่วนที่มันเน่าทิ้งไปให้หมด ต้องไม่ให้เหลือเนื้อส่วนที่เน่าอยู่เลยแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้นะครับ ต้องเอาออกให้หมด


                        ผมจะปาดตรงแนวที่วางมีดเอาไว้นี่แหล่ะครับ ผมคิดว่าแนวนี้จะอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เนื้อของตอยังไม่น่าจะเน่ามาถึง  ผมประเมินจากสีของตอที่ยังเขียวอยู่น่าจะยังปรกติ เพราะงั้นก็จะเอาประมาณนี้


                         สำหรับตอแก้วมังกรนั้น แกนตอ ต่อให้ไม่มีเนื้อ มีแต่แกนตอเพียวๆ ก็ยังสามารถออกรากได้ เลี้ยงต้นได้ เพราะฉะนั้นตอนที่ปาดเนื้อส่วนที่เน่าทิ้งไป ถ้าเราปาดไปแล้วแกนตอยังแข็ง ยังไม่เน่าจนเป็นสีน้ำตายและนิ่มจนเหลวไปด้วยแล้วละก็ ก็ไม่ต้องตัดแกนตอออกก็ได้นะครับ ปาดออกแค่เนื้อตอส่วนที่มันเน่า แล้วเหลือแกนตอส่วนที่ยังดีๆ เอาไว้ได้ครับ ตามรูปด้านล่าง


จะเห็นนะครับว่าแกนตอนั้นยังปรกติดี ผมจะเหลือไว้แบบที่เห็นเลยครับ อันนี้คือตัดแต่งเสร็จเรียบร้อย เอาส่วนที่เน่าออกไปหมดแล้ว


                         การเหลือแกนตอเอาไว้แบบนี้นั้น มันใช้ได้แค่ตอแก้วมังกรนะครับ ถ้าเป็นตอชนิดอื่นล่ะก็ ตอบางชนิดแกนตอมันอ่อนไม่ได้แกนตอแข็งเหมือนแก้วมังกร มันเหลาแบบนี้ไม่ได้ครับ เนื้อแกนมันอ่อนเกินไป และอีกอย่างนึงเลยก็คือบทความนี้เราคุยกันในรายละเอียดของตอแก้วมังกร เราไม่ได้พูดถึงตอชนิดอื่นนะครับ เพราะรายละเอียดมันอาจจะต่างกันก็ได้ ผมขอให้อยู่ในส่วนของแก้วมังกรเท่านั้นนะครับ


                       หลังจากที่เราตัดส่วนที่เน่าออกไปหมดแล้ว เราจะยังไม่เอาไปปลูกเลยนะครับ แต่เราจะวางเจ้าแคคตัสผึ่งเอาไว้ เพื่อรอให้แผลแห้งเสียก่อน ก็อาจจะผึ่งเอาไว้สัก 7 วันก็ได้ครับ

                       ซึ่งในระหว่างที่เราวางผึ่งเอาไว้ เราต้องดูอาการด้วยว่า มันมีอาการเน่าลุกลามเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีส่วนไหนที่เน่าเละเป็นน้ำลุกลามเพิ่มเติม แสดงว่าเราตัดออกไม่หมด อาการเน่านั้นยังไม่หมด ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมีการตัดกันอีกรอบจนกว่าจะแน่ในว่าส่วนที่เน่านั้นไม่เหลือแล้ว


                      แต่เจ้าต้นนี้ของผม ไม่ได้มีอาการเน่าเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทุกอย่างปรกติดี เพราะงั้นก็ไม่ต้องทำอะไรครับ ผึ่งเอาไว้ 7 วันรอแผลแห้งแล้วก็ปลูกได้ตามปรกติ


จะเห็นนะครับว่าแผลเริ่มแห้งแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรแล้วนะครับ รอลงปลูกต่อไปได้ครับ

ตัดภาพมาอีกที หลังจากที่ผมเอากลับไปลงปลูก


ส่วนภาพนี้เป็นภาพ อีก ประมาณ 1 เดือนครึ่งต่อมา จะเห็นว่าเค้ากลับมาเจริญสดใสอีกครั้งแล้วล่ะครับ 


ก็ถือว่าเคสนี้ผ่านไปได้ด้วยดี นะครับ

เราไปดูต้นสุดท้ายกันเลยนะครับ


                        ต้นนี้จะเจออาการเน่ารูปแบบเดียวกับต้นที่แล้วคือตอเน่า แต่หัวแคคตัสไม่ได้เน่า แต่จะต่างจากต้นที่แล้วตรงที่ เจ้าต้นนี้ตอจะเน่าหนักกว่าคือเน่าเกือบหมดทั้งตอ


ผมลองปาดไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าเนื้อของตอมันเหลว ปาดไปปาดมา มารู้ตัวอีกทีก็เหลือแต่แกนตอแบบนี้ซะแล้ว


                        ซึ่งถ้าเป็นแคคตัสทั่วไป ที่ไม่ด่าง หรือเป็นไม้ด่างแต่ไม่ได้ด่างหมดทั้งหัว มีบางส่วนที่ยังเป็นสีเขียว หรือดำ หรือม่วง เราสามารถตัดลงตอแล้วเอาไปปลูกหรือไปล่อรากต่อได้  อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตัดลงตอแก้วมังกรได้ตามลิงก์นี้เลยครับ การตัดลงตอแก้วมังกร

                        แต่ในกรณีของเจ้ายิมโนหัวสีต้นนี้นั้น ไม่สามารถตัดเค้าลงจากตอแล้วเอาไปปลูกต่อหรือเอาไปล่อรากได้ เพราะด้วยความที่เค้าเป็นไม้ที่ด่างหมดเลยทั้งหัว ไม่มีส่วนใดที่เป็นสีเขียว หรือดำ หรือม่วงอยู่เลย นั่นหมายความว่าเค้าไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงเอามาเลี้ยงตัวเองให้เจริญเติบโตได้ เพราะไม่มีสารคลอโรฟิลล์ (สารคลอโรฟิลล์ คือสารประกอบที่มีสีเขียว พบได้ในส่วนที่มีสีเขียวในพืช อาจรวมถึงสีโทนดำหรือม่วงเพราะบางทีสีเขียวนั้นก็อาจจะเขียวเข้มมากจนเกือบดำหรือม่วงได้ครับ คลอโรฟิลล์นั้นทำหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตของพืช)

                       เพราะฉะนั้นจากที่กล่าวไป เจ้ายิมโนหัวสีที่ด่างเป็นสีหมดเลยทั้งหัวไม่มีสีเขียวอยู่เลย อย่างเจ้าต้นนี้ที่ชมพูหมดเลยทั้งหัวก็เลยไม่สามารถที่จะตัดลงจากตอมาเลี้ยงแบบไม้ทั่วๆ ได้ เพราะมันสังเคราะห์แสงเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ตัดลงจากตอไปแล้วมันจะนิ่งหยุดการเจริญเติบโตและค่อยๆ ยุบตายลงไปในที่สุด

                       ซึ่งเมื่อเจ้าหัวสีต้นนี้ตัดลงไม่ได้ ตัดลงแล้วไม่รอด เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เค้ามีชีวิตอยู่ต่อไป หนทางมันก็มีเพียงแค่ต้องจับเค้ามากราฟอีกครั้งบนตออันใหม่  เพื่อให้ตออันใหม่เป็นตัวเลี้ยงเค้าให้เจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเองครับ

ว่าแล้วเราก็ไปลุยกันเลยดีกว่า 


                      สำหรับตอที่จะใช้ในการกราฟแคคตัสนั้น ผมจะเลือกใช้เป็นตอที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับขนาดของแคคตัสที่จะต่อ หรือไม่ก็จะเลือกเป็นตอที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของแคคตัสประมาณนึง ผมว่าถ้าขนาดของตอกับแคคตัสมันสูสีกันเวลาที่กราฟไปแล้วรอยต่อมันจะดูสนิทกันดี ผมชอบแบบนั้น ผมจะไม่เลือกตอที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของแคคตัสมากเกินไป ความรู้สึกส่วนตัว ตอที่เล็กกว่าขนาดของแคคตัสมากๆ ผมต่อแล้วมันให้ผลไม่ค่อยดีเท่าไร ต่อไปแล้วชอบมีปัญหาได้ง่าย บางทีก็ต่อติดไม่ดียังไงก็ไม่รู้ เพราะงั้นผมจะชอบอะไรที่มันพอดีกันมากกว่าครับ

ซึ่งตอที่ผมเลือกมานั้นก็เป็นตอหนามดำครับ เทียบดูแล้วขนาดมันสูสีกันดี เลยเอาอันนี้เลย


                        สำหรับวิธีการกราฟตอหนามดำอย่างละเอียดก็ตามไปอ่านได้ในลิงก์นี้เลยนะครับ การกราฟแคคตัสบนตอหนามดำ และการเปลี่ยนตอ ย้ายตอแคคตัส

                       ในบทความนี้ผมขอไม่เขียนวิธีการกราฟอย่างละเอียดนะครับ เพราะเนื้อหาของบทความมันยาวเกินไปแล้ว ผมต้องรวบรัดให้จบแล้วครับตอนนี้


                          วิธีการแบบรวบรัดก็ เริ่มจาก ปาดที่ตอ ตัดแต่งขอบ ดูรอยปาดให้เรียบเสมอกัน ถ้าปาดเบียวหรือปากไปแล้วตอยุบก็ให้ปาดใหม่ จนกว่าจะเห็นว่ารอยตัดนั้นเรียบเสมอกันถึงจะพอ


การปาดหัวแคคตัสก็เช่นเดียวกัน ปาดแล้วก็ดูรอยตัดให้เรียบเสมอกัน


ไม่ค่อยพอใจเท่าไร ขอปาดแต่งอีกสักรอบนึงแล้วกัน


เมื่อปาดทั้งตอและแคคตัสเรียบร้อย จากนั้นเราก็จับมาต่อกันเลยครับ

                        แต่ตอนที่ต่อกันผมรู้สึกไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เพราะพอต่อลงไปแล้วพบว่าตอมันเล็กกว่าหัวแคคตัสไปหน่อยนึง เวลาต่อแล้วเนื้อมันเหลื่อมออกมา มันทำให้รู้สึกห่วงขึ้นว่าจะต่อติดดีหรือไม่ แต่ก็ไม่ทันทันและ เพราะปาดไปแล้ว จะวิ่งไปหาตออันใหม่ก็ไม่มีตอที่ใหญ่กว่านี้อยู่เลยในตอนนั้น เพราะงั้นก็เลยต้องเอาแบบนี้เลยแล้วกัน


หมุนหัวแคคตัสเพื่อไล่อากาศจากนั้นก็ติดสก็อตเทปเลยทันที


                         ในการกราฟแคคตัสบนตอหนามดำเราจะทิ้งเอาไว้สัก 2 อาทิตย์เพื่อรอให้เจ้าแคคตัสกับตอนั้นต่อติดกันสนิท แล้วถึงค่อยแกะสก็อปเทป โดยผมจะเอาไม้ที่กราฟไปเก็บไว้ในทีร่มรำไร ไม่ให้โดนแดดจัดไม่ให้ตากฝนอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าปล่อยให้ตากฝนอาจเกิดปัญหาติดเชื้อและเน่าเอาได้ เช่นเดียวกันถ้าโดนแดดแรงไปหัวแคคตัสอาจจะเหี่ยวจนต่อกันไม่ติดก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเก็บไม้ในที่ไม่โดนฝนและไม่โดนแดดจัดนะครับ

ตัดภาพมีอีกครั้ง ผมแกะสก็อตเทปแล้วนะครับ


เท่าที่ดูก็ปรกติ ไม่ได้มีอะไรครับ เพราะงั้นผมขอเขียนถึงแค่นี้ก็แล้วกันนะครับ ต้องจบบทความแล้วล่ะครับ

                          สำหรับในบทความนี้ บอกกันอีกครั้งนะครับว่า ผมไม่ได้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคต้นไม้ ที่เขียนไปทั้งหมดเป็นแค่การแชร์ประสบการณ์ของผมเท่านั้นว่าตอนที่เจ้ายิมโนหัวสีของผมเกิดปัญหาเน่านั้นผมแก้ปัญหายังไง ซึ่งมันอาจจะมีขั้นตอนไหนที่ทำผิดหลักไปก็ได้ เพราะผมก็ไม่ได้รู้อะไรมากมายเลยครับ ผมทำไปตามที่คิดเท่านั้น เพราะฉะนั้น แนะนำเลยว่าให้หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะครับ อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่ผมเขียนโดยสนิทใจ พิจารณาให้ดีก่อนนะครับ

                         และก็อย่าใจร้อนเกินไปด้วยนะครับ บางท่านใจร้อนเกินไป เห็นแคคตัสของต้นเองมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย ก็คิดไปไกลว่ามันจะตาย อย่างเช่นแคคตัสต้นมีอาการต้นนิ่ม ก็ไปคิดว่ามันเน่า แล้วก็เอามีดไปผ่ามันซะงั้น ผลปรากฏว่าสรุปแล้วมันไม่ได้เน่า มันแค่ขาดน้ำ หรือเห็นแคคตัสสีมันผิวเปลี่ยน สีเข้มขึ้นหรืออ่อนลง แล้วก็ไปคิดว่ามันเน่า ก็เอามีดไปผ่ามัน ทั้งๆ ที่ สีมันอาจจะเปลี่ยนเพราะโดนแดดก็เป็นได้ เพราะในแคคตัสบางชนิดก็สามรถเปลี่ยนสีได้ตามความมากน้อยของแสงแดดที่ได้รับ ไม่ได้เน่าแต่ประการใด แต่พอรู้ก็สายไปแล้วเพราะใจร้อน เพราะงั้นต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ หาข้อมูลให้ดี ถ้าคุณเล่นเฟสบุ๊กล่ะก็ จะมีเพจที่นำเสนอในเรื่องการปลูกแคคตัสอยู่หลายเพจ รวมไปถึงมีกลุ่มพูดคุยและเปลี่ยนความรู้ในการปลูกแคคตัสอยู่หลายกลุ่มด้วยเช่นกัน ลองเข้าไปดูนะครับ มีเรื่องราวมากมายให้อ่านเยอะเลยครับ อย่าใจร้อนนะครับ ค่อยๆ เรียนรู้ไปดีกว่าครับ

ขอบคุณทุกท่านมากๆ ครับ ที่อ่านมาจนจบ ผมขอตัวไปพักก่อนนะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

2 comments:

  1. เป็นบทความที่ดีมาก ผมเจอปัญหาแบบนี้พอดี ทำให้สามารถช่วยชีวิตยิมโนผมรอดตายได้ ขอบคุณจริงๆครับ

    ReplyDelete
  2. เจอปัญหาพอดีเลยคะ ขอบคุณมากค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.