Saturday, May 5, 2018

การแยกพอต ย้ายต้นอ่อนแคคตัส แบบย้ายเป็นกลุ่ม


                         เมื่อปีที่แล้ว ทางบล็อกของเราเคยได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการแยกพอต ย้ายกระถางต้นอ่อนแคคตัสกันไป ซึ่งในครั้งนั้น ผมเขียนเอาไว้ 2 วิธี วิธีแรกก็คือ การย้ายกระถางแบบถอนทีละต้นแล้วเอาไปลงปลูกเลยทันที ส่วนวิธีการที่สอง ก็คือการนำต้นแคคตัสไปล้างราก ล้างดินออกให้หมด จากนั้นก็ตัดแต่งรากและวางผึ่งให้แผลแห้งก่อน แล้วค่อยลงปลูกใหม่ นอกจากนั้นในบทความก็ยังมีเขียนเกี่ยวกับการลงปลูกและการดูแลต้นอ่อนแคคตัสเบื้องต้นอีกด้วย ซึ่งเพื่อนๆ พี่ๆ สามารถเข้าไปอ่านกันได้ตามลิงก์ที่ลงไว้นี้เลยครับ การย้ายกระถางต้นอ่อนแคคตัส และการดูแลต้นอ่อนที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ

                         มาในส่วนของเรื่องราวในวันนี้กันบ้าง คืออย่างที่บอกไปว่า ตอนปีที่แล้วเราเขียนการแยกพอตไป 2 วิธี แต่จริงๆ แล้ว ในการแยกพอตแคคตัสนั้น มันมีวิธีการที่หลากหลายมากกว่านั้น ซึ่งในวันนี้เราจะมานำเสนอในอีกวิธีการนึงกัน นั่นก็คือ การแยกพอตแคคตัสแบบย้ายเป็นกลุ่มครับ

                       สำหรับต้นอ่อนแคคตัสที่เราจะไปย้ายกระถางกันในวันนี้ เป็นลูกๆ แอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum asterias ) ลูกไม้เพาะเมล็ด อายุประมาณ 7-8 เดือน


                           ต้องบอกว่าภาพแคคตัสในบทความนี้เป็นภาพที่เก่ามากแล้วนะครับ พอดีผมทำข้อมูลบทความนี้เอาไว้นานแล้ว เคยเอาภาพบางส่วนไปลงให้ได้ดูกันในเฟสบุ๊กตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว แต่ผมพึ่งจะได้เอามาเรียบเรียงลงเป็นบทความ เพราะงั้นไม้ชุดที่ทำนี้ บอกไว้ก่อนเผื่อบางท่านอยากขอดูภาพเพิ่มเติม คือไม้ชุดนี้ตอนนี้โตมากแล้วครับ ออกดอกมีลูกกันไปหมดแล้วครับ

                           ไปต่อกันดีกว่า หลายท่านเคยถามมาว่า ต้นอ่อนแคคตัสที่เราเพาะเมล็ดนั้น ต้องย้ายพอตตอนอายุเท่าไร กี่เดือนแยกได้ ซึ่งผมมองว่ามันกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวไม่ได้นะครับ เพราะว่าต้นไม้แต่ละต้นนั้น มันไม่ได้มีการเจริญเติบโตที่คงที่เท่ากันทุกต้น บางพอตอายุ 5 เดือน ต้นก็โตพอที่จะแยกพอตได้แล้ว แต่บางพอต ผ่านไป 6 -7 เดือนแล้ว แต่ต้นก็ยังเล็กมากๆ ยังไม่พร้อมให้แยกได้ก็มี เพราะฉะนั้น ระยะเวลาเอามาใช้วัดไม่ได้ครับ

                           แต่หลักที่ผมใช้ในการดูว่าแบบไหนพร้อมจะแยกพอตได้แล้วก็คือขนาดของต้น ผมจะดูว่าถ้าพอตไหน ต้นมันโตเบียดกันจนแน่นเต็มพอต หรือมีขนาดต้นแต่ละต้นใหญ่เกิน 1 ซม. ขึ้นไป แบบนั้นคือน่าจะโตพอที่แยกพอต ย้ายกระถางได้แล้วล่ะครับ ผมคิดแบบนั้น

เริ่มการแยกพอตด้วยการเทกระถางออกมาก่อน


                           ตอนนี้ให้เช็คดูรอบๆ ต้น ราก และดูที่วัสดุปลูกนะครับ ว่ามีอะไรผิดปรกติหรือไม่ เช่นว่า ในวัสดุปลูกนั้นมีเพลี้ย หรือมีแมลง มีมดหรือไม่ รวมไปถึงที่ต้นอ่อนแคคตัสนั้น มีต้นไหนที่เป็นโรคหรือไม่ อย่างราสนิม หรือต้นไหนเน่า ถ้ามีสิ่งผิดปรกติให้เปลี่ยนวิธีการแยกพอตเป็นการล้างต้นล้างราก แยกเอาความสิ่งผิดปรกตินั้นออกให้หมด แยกต้นที่เป็นปัญหาออกไป แล้วเช็คทุกต้นให้ละเอียดดีกว่าครับ แต่ถ้าเกิดว่ามองแล้วไม่มีความผิดปรกติอย่างที่กล่าวไปล่ะก็ เราทำต่อได้เลยครับ

                          ต้นอ่อนแอสโตรชุดนี้ เท่าที่ผมมองดูยังไม่เห็นอะไรที่น่าเป็นห่วง อาจจะมีพวกคราบนํ้า คราบความชื้น และก็คราบยากันราที่เกาะตามต้นอยู่บ้าง ซึ่งผมมองว่าไม่เป็นปัญหาครับ

                          และหลังจากที่เช็คจนแน่ใจแล้วว่าต้นอ่อนนั้นรกติดี ผมก็จะเอามือค่อยๆ บิ แบ่งต้นออกเป็นชุดๆ หรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละสัก 3-8 ต้น ถ้าต้นมันใหญ่ก็กลุ่มละ 3-4 ถ้าต้นมันไม่ใหญ่ก็สักกลุ่มละ 5-6 ต้น หรือไม่ก็ดูขนาดกระถางที่จะใส่ แบ่งจำนวนให้มันสูสีกับขนาดของกระถาง หรือเล็กกว่าขนาดกระถางหน่อยนึงก็น่าจะกำลังดี


อย่างของผมนั้นจะแยกไปใส่กระถาง 2 นิ้ว ซึ่งเป็นกระถางเล็ก ก็จะแบ่งเป็นประมาณในรูป คือเป็น 4 กลุ่ม

                           เน้นกันอีกครั้งนะครับ พอเราแยกเป็นกลุ่มแบบนี้แล้ว ให้ลองเช็คดูตามโคนต้นและตามวัสดุปลูกดูอีกรอบด้วยนะครับ ว่ามีอะไรผิดปรกติหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต่อเลยครับ ( แต่ถ้าเจออสิ่งผิดปรกติ หรือไม่ต้นไหนมีอาการโคนเน่า ราสนิม หรือเจอมด เจอเพลี้ยแป้ง ให้เปลี่ยนวิธีการไปใช้การล้างรากครับ ตามลิงก์นี้เลยครับ ย้ายต้นอ่อนแบบล้างราก ) 

ขั้นตอนต่อมา ผมจะทำการตัดเอาดินบางส่วนออกไป ให้เหลือประมาณในรูป


                           เหตุผลที่ตัดนั้นก็ไม่มีอะไร ผมคิดว่าไหนๆ ก็จะเปลี่ยนดินให้เค้าแล้ว ก็ไม่อยากเก็บดินเก่าๆ เอาไว้เยอะ อยากให้เค้าได้รับดินใหม่ๆ เอาดินเก่าออกไปบ้าง ให้เหลืออยู่ประมาณนึงก็พอ และถ้าชุดไหนรากมันยาวมากๆ ผมก็ตัดรากออกไปด้วยบางส่วนครับ

จากนั้นก็จะเอาไปลงปลูกเลยทันที


                          สำหรับดินปลูกที่ใช้นั้น จริงๆ เราซื้อดินแคคตัสที่ขายตามร้านขายกระบองเพชรทั่วไปมาใช้เลยก็ได้ หรือถ้าอยากเพิ่มความโปร่งให้กับดิน เพื่อช่วยให้ระบายน้ำและความชื้นได้ดียิ่งขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ โดยเราเอาดินแคคตัสนั้นไปผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด ( เบอร์ 00 ) หรือเพอร์ไลท์ ก็จะช่วยเพิ่มความโปร่งให้กับดินได้มากเลยล่ะครับ อัตราส่วนผสมก็ลองกะเอานะครับ เรื่องนี้มันไม่ตายตัว แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละบ้านด้วยครับ อย่างถ้าบ้านไหนแดดเยอะ แดดดี หรือมีโรงเรือน ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะไม่ค่อยเจอปัญหาความชื้นเท่าไร ใช้ดินได้หลากหลาย แต่ถ้าบ้านไหน แดดน้อย ที่ปลูกไม่กันฝน อากาศไม่ถ่ายเท รดนํ้าไปแล้วดินแห้งช้า 4-5 วันผ่านไปแล้วดินยังไม่แห้ง แบบนี้ดินที่ใช้ควรต้องเพิ่มความโปร่ง เพิ่มการระบายนํ้าให้มากขึ้น เพื่อลดความชื้นสะสมที่จะก่อให้เกิดโรค อะไรประมาณนั้น

                         แต่สำหรับตัวผมนั้น ผมผสมดินปลูกเองครับ ซึ่งสูตรดินปลูกที่ผมใช้ก็ง่ายๆ  ดินใบก้ามปูหมัก ร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ จากนั้นก็เอาไปผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด ( เบอร์ 00 ) และเพอร์ไลท์ อัตราส่วนผสมพอๆ กัน ตอนผสมผมไม่มีการตวงอย่างละเอียดแต่อย่างใด กะเอาด้วยความรู้สึกล้วนๆ ครับ เอาว่าผสมออกมาแล้วลองเอามือลงไปกวนดู ถ้ารู้สึกว่าดินมันร่วน ลองขยำแล้วไม่จับตัวเป็นปึก เป็นก้อน ก็โอเคครับ

                        ขั้นตอนการลงปลูกนั้นก็ง่ายมากๆ ผมเคยลงในบล็อกหลายทีแล้วเหมือนกัน แต่ลงอีกรอบก็ได้ครับ แต่ผมขอใช้ภาพเป็นภาพเก่าแล้วกันนะครับ วิธีการมันเดิมๆ ไม่ได้แตกต่างจากที่ผมเคยลงไปครั้งก่อนๆ

เริ่มจากใส่ดินลงไปประมาณครึ่งกระถาง


จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ทลงไปหน่อยนึง

เม็ดสีเหลืองคือ ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท )

จากนั้นผมจะใส่ยา สตาร์เกิลจี ( เม็ดสีชมพู ) ลงไปด้วยหน่อยนึง 


สตาเกิลจีเป็นยาที่มีคุณสมบัติในการป้องกันมดและแมลง เพลี้ยแป้ง ใส่ตอนเอาไม้ลงปลูกใหม่ๆ จากนั้นครั้งต่อไปก็ใส่ประมาณเดือนละครั้ง อะไรประมาณนั้น 


                            แต่ถ้าท่านไม่มียาตัวนี้ หรือไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ แล้วแต่ท่านจะตัดสินใจเลยครับ แต่ผมใช้แล้วมันก็โอเคอยู่ครับ ป้องกันได้อยู่ ผมก็เลยใส่
 
เมื่อใส่ปุ๋ยกับยาป้องกันแมลงเรียบร้อยแล้วก็เติมดินลงไปอีกหน่อยนึง


จากนั้นก็เอาเจ้าแคคตัสที่เราแยกไว้มาลงปลูกได้เลยครับ


                           เรียบร้อยแล้วครับ ถ้าท่านมีพวกหินโรยหน้าก็สามารถโรยได้ตามสะดวกเลยครับ การโรยหินจะช่วยประคองไม่ให้ต้นแคคตัสที่เราพึ่งปลูกไปนั้นเอนล้ม แต่ตอนที่ผมทำไม้ชุดนี้ ผมไม่ได้โรยหินเพราะอะไรก็จำไม่ได้ มันผ่านมานานแล้ว

                           พอไม่มีหินประคองไว้ มันก็อาจจะมีต้นที่เอนไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ยังไม่ถึงกับต้นล้ม เพราะงั้นผมปล่อยไว้แบบนี้เลย เดี๋ยวพอเค้าออกรากใหม่ เดี๋ยวก็กลับมาตั้งตัวได้ครับ 

                           หลังจากลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ผมจะยังไม่รดน้ำทันทีนะครับ เพราะว่าตอนระหว่างที่แยกต้นของเค้า และตอนที่ตัดเอาวัสดุปลูกเก่าของเค้าบางส่วนออกไปนั้น รากมันจะมีบางส่วนที่ขาดและเป็นแผลขึ้นมาได้ ถ้ารดน้ำเลยทันทีมันมีโอกาสที่จะติดเชื้อแล้วทำให้ต้นเน่าตายได้ เพราะงั้นผมจะเว้นการรดน้ำไปก่อน 5-7 วัน เพื่อรอให้แผลแห้ง โดนจะวางเอาไว้ในที่ร่มรำไร อย่าให้โดนแดดจัด อย่าให้ตากฝน ให้เค้าได้รับแดดอ่อนๆ ก็พอครับ

เขียนแท็กไว้ช่วยจำก็ดีนะครับ พ่อแม่เป็นใคร ปลูกเมื่อไร

                          หลังจากที่ผ่านไป 5-7 วัน ก็จะเริ่มรดน้ำครั้งแรกครับ โดยปริมาณน้ำที่รด มากน้อยขนาดไหนนั้น ผมรดจนเห็นว่าน้ำมันไหลออกทางก้นกระถางครับ

                          และหลังจากนั้นในการรดน้ำครั้งต่อไป จะรดเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ถ้าดินยังชื้น ดินแฉะ จะยังไม่รด เว้นไปก่อนจนกว่าจะดินแห้งเท่านั้นครับ


                          สำหรับการดูแลไม้ที่พึ่งแยกพอตในช่วงแรกๆ นั้น ก็จะให้เค้าได้รับแสงแดดที่ไม่แรงเกินไป โดยสถานที่ปลูกของผมนั้น จะมีการขึงสแลนกรองแสงเพื่อรดความแรงของแสงแดด เพราะงั้นผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแดดเท่าไรครับ เจอบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าสถานที่ปลูกของท่านจำกัดไม่สามารถขึงสแลนกรองแสงได้ ผมแนะนำให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ช่วงเช้า – สาย ประมาณ 7-10.30 โมง ซึ่งยังเป็นแดดที่ไม่แรงเกินไป ส่วนแดดช่วง กลางวัน เที่ยง บ่าย 11.30 – 15.30 ให้เลี่ยงไปก่อนเพราะแดดจะแรงไป ต้นไม้จะทนความร้อนไม่ไหวและไหม้แดดจนตายเอาได้ครับ

                         หลังจากที่ต้นของเค้านั้นเริ่มตั้งตัวได้ ยอดเดินดี มีพัฒนาการการเจริญเติบโต เริ่มชินกับสภาพอากาศและแสงแดดที่ได้รับเมื่อไรก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณแสงแดดที่เค้าได้รับใหม่มากขึ้นไปทีละระดับครับ จากแดดอ่อนๆ ในตอนแรกๆ ก็ค่อยๆ เริ่มขยับให้ได้ได้รับแสงแดดที่เข้มขึ้น แรงขึ้นไปทีละนิด หรือที่เรียกว่าการเทรนแดดนั่นเองครับ

ประมาณเกือบ 3 อาทิตย์ต่อมา ตอนนี้ต้นอ่อนยอดเดิน มีการเติบโตแล้วครับ
 
                          สำหรับพัฒนาการการเจริญเติบโตของเค้านั้น ไม้ชุดนี้เติบโตได้ค่อนข้างดี หลังจากลงปลูกไปก็ไม่เจอปัญหาอะไรถือว่าสำเร็จไปได้ด้วยดีครับ


ไปดูภาพตอนโตของเค้าสักหน่อยนึงแล้วกันนะครับ


                          ด้วยความที่ลูกๆ แอสโตรชุดนี้ต้นพ่อของเค้าเป็นแอสโตรกิ๊กโกะ  ( astrophytum asterias kikko ) ก็เลยมีบางต้นเมื่อโตขึ้นมาก็จะออกลักษณะกิ๊กโกะแนวเดียวกับต้นพ่อของเค้ามาบ้าง


                          แต่คือเราก็ไม่รู้หรอกครับว่าลูกที่เกิดมานั้นมันจะเหมือนพ่อกี่ต้น เหมือนแม่กี่ต้น และเหมือนมากหรือน้อยขนาดไหน เคยมีคนถามประมาณว่า ซื้อเมล็ดที่เก็บจากต้นแม่ด่างหรือพ่อด่างมา สมมุติว่า 50 เมล็ด เพาะมาแล้วจะได้ลูกด่างกี่ต้น ซึ่งคำตอบคือไม่รู้ครับ มันไม่แน่ไม่นอนถึงขนาดจะบอกได้ว่าจะได้ลูกหน้าตาแบบไหน เอาแค่ว่าเพาะมาแล้วจะงอกกี่ต้นยังกำหนดไม่ได้เลยครับ เพราะงั้นเรื่องแบบนี้คงฟันธงไม่ได้หรอกนะครับ



                        และคือบางต้น ตอนเด็กๆ ก็อาจจะยังไม่ได้ออกลัษณะชัดเจนเท่าไร หน้าตายังธรรมดา แล้วค่อยไปออกลัษณะสวยๆ ตอนโตก็มี อย่างไม้ชุดนี้ คุณลองย้อนกลับไปดูภาพการเจริญเติบโตของเค้าจะเห็นว่า ตอนเด็กๆ ก็หน้าตาธรรมดามาก ไม่มีบั้ง ไม่มีขีดที่บ่งบอกเลยว่าจะเป็นโกะ พึ่งจะมาออกลายตอนโตนี่แหละครับ เพราะงั้นเรื่องแบบนี้มันต้องค่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ ครับ อย่าพึ่งไปตั้งความหวังว่าเราเพาะไปร้อย มันต้องได้ลูกที่ถูกใจเรากี่ต้น คุณจะเครียดเสียเปล่าๆ ครับ ทำใจให้สบาย ดูกันไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดมากดีกว่าครับ ตอนเด็กๆ ไม่สวย อาจจะไปสวยตอนโตอย่างไม้ชุดนี้ของผมก็ได้ เช่นเดียวกัน ตอนเด็กๆ สวย ตอนโต อาจจะเปลี่ยนแปลงไปไม่สวยเหมือนตอนเด็กก็ได้เช่นกันครับ


                           พอเห็นหน้าตาลูกไม้ชุดนี้ตอนโต ต้องบอกเลยว่าอันนี้ก็คือข้อดีของการจดแท็กรายละเอียดต้นไม้เอาไว้ ถ้าผมไม่เขียนแทกติดไว้ว่าพวกนี้เป็นลูกของใคร ผมคงเสียดายแย่ ได้ลูกดีขนาดนี้ถ้าไม่รู้ว่ามาจากพ่อแม่ต้นไหนจะเป็นอะไรที่เซ็งเลยล่ะครับ แต่พอมีแท็กว่าพวกนี้พ่อเป็นใคร ในอนาคตต่อไป เวลาที่ต้นพ่อของเค้าออกดอก เราจะเลือกจับคู่ผสมได้ง่ายขึ้น อย่างพ่อต้นนี้ให้ลูกดี แม่ต้นนี้ให้ลูกสวย เราก็เลือกมาจับคู่กัน จะได้มีลุ้นที่ลูกจะออกมาสวยมากขึ้น การปลูกต้นไม้ของเราก็จะมีทิศทางที่ชัดขึ้นครับ


                           ในความรู้สึกของผม วิธีการแยกพอตแบบแบ่งเป็นชุดๆ แบบนี้ เป็นวิธีการที่โอเคเหมือนกันครับ ผมว่ามันเหมาะเวลาที่เราต้องแยกไม้จำนวนเยอะๆ ซึ่งถ้าต้องมาถอนกันทีละต้น หรือมานั่งล้างรากกันทีละต้น บางทีทำกันหลายชั่วโมงก็ไม่จบ แต่พอมาใช้วิธีแบบนี้แล้วแป๊บเดียว เทกระถาง บิแยกเป็นส่วนๆ ตัดแต่งเอาดินเก่าออกนิดหน่อย แล้วเอาลงปลูกเลยทันทีแค่นี้เองครับ คือมันง่าย แต่ว่ามันก็มีจุดที่ต้องระวัง นั่นก็คือคุณต้องดูให้ละเอียดตอนแยกพอตว่าไม้ของคุณนั้นมันไม่ได้เป็นโรค หรือไม่ได้มีเพลี้ยมีอะไรปะปนมาด้วย ถ้าดูไม่ละเอียด โรคหรือเพลี้ยเหล่านั้นมันจะตามติดไปก่อเกิดเป็นปัญหาได้ในภายหลัง เพราะฉะนั้นในการทำเราต้องละเอียดในการมองหน่อยนะครับ ถ้าระหว่างที่แยกพอตนั้นเราเจอพอตไหนที่มีต้นที่มีปัญหาราสนิม โคนเน่า หรือในดินปลูกหรือที่รากมีมดมีเพลี้ยแป้ง ผมแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการเป็นการล้างราก เอาปัญหานั้นออกไปให้หมดก่อน แยกต้นที่เป็นโรคออกไปเสียให้หมด จะดีกว่าครับ เพื่ออนาคตจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวกันอีกรอบ


ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวการแยกพอตแคคตัสแบบย้ายเป็นกลุ่ม แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกต้นไม้เรื่องต่อไปของเรา

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

1 comment:

Note: Only a member of this blog may post a comment.