Tuesday, April 16, 2019

การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบเปิด


สำหรับเรื่องราวในวันนี้เราจะมาลองเพาะเมล็ดแคคตัสแบบเปิดกันครับ เริ่มต้นเราไปดูอุปกรณ์ในการเพาะกันก่อนเลยดีกว่า


                           สำหรับอุปกรณ์ในการเพาะเมล็ดนั้น ก็จะมี ถาดพลาสติก หัวฉีดฟ็อกกี้ กระถาง เมล็ดแคคตัส ยากันรา ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) สุดท้ายก็คือวัสดุเพาะ ซึ่งผมเลือกใช้เป็นพีทมอสครับ

ลงมือกันเลยนะครับ เริ่มจากใส่พีทมอสลงในกระถางประมาณครึ่งนึงของกระถาง


                             จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) สูตรเสมอ ถ้าเป็นการเพาะเมล็ดในกระถางขนาดเล็กก็ใส่ประมาณ 10 เม็ดก็พอครับ 


จากนั้นเราก็ใส่พีทมอสลงไปจนถึงขอบกระถางเลยครับ


                          ขั้นตอนต่อมา เราก็จะมาผสมยากันรากับน้ำ อัตราส่วนผสมก็ตามที่ระบุไว้ข้างฉลากเลยครับ ยากันราที่ผมใช้เป็นประจำในการเพาะเมล็ดก็ตามรูปนั่นล่ะครับ


เมื่อผสมยากันราเรียบร้อยแล้วก็เทน้ำยากันราใส่ถาดพลาสติก


แล้วเราก็นำกระถางเพาะที่ใส่พีทมอสไปเรียบร้อยเมื่อตอนต้นมาวางในถาดได้เลยครับ 


                            รอสักพักให้เจ้าพีทมอสในกระถางนั้นดูดน้ำเข้าไปจนชุ่ม เมื่อเห็นว่าพีทมอสดูดน้ำเข้าไปจนชุ่มแล้วก็เอาเมล็ดแคคตัสมาโรยในกระถางได้เลยครับ


                          สำหรับเมล็ดที่ผมนำมาลองเพาะในบทความนี้นั้น ก็จะมีเมล็ดแอสโตรไฟตั้ม ( Astrophytum ) และเมล็ดยิมโนแคคตัส ( Gymnocalycium ) ครับ ซึ่งเมล็ดแคคตัสชนิดอื่นๆ ก็อาจที่จะนำมาเพาะแบบนี้ได้อยู่นะครับ เพียงแต่ผมมีเมล็ดอยู่แค่ 2 สายพันธุ์นี้ก็เลยทำตัวอย่างมาให้ดูได้แค่เท่านี้ ยังไงก็ลองนำไปปรับใช้ในการเพาะดูนะครับ

                          หลังจากที่เราโรยเมล็ดแคคตัสลงไปในกระถางเรียบร้อย เราก็จะมาผสมยากันราอีกสักครั้ง โดยครั้งนี้เราจะนำยากันราไปใส่ในที่ฉีดฟ็อกกี้


แล้วก็เอาฟ็อกกี้ที่ใส่ยากันรานั่นล่ะมาพ่นยาใส่เมล็ดที่เราโรยไว้ได้เลยครับ  


                          เมื่อเราพ่นยากันราจนทั่วเรียบร้อยก็เป็นอันเสร็จ จบขั้นตอนการเพาะเมล็ดแล้วล่ะครับ ต่อจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของการดูแล และรอดูการงอกและการเจริญเติบโตของเจ้าเมล็ดแคคตัสต่อไปครับ


                          สำหรับในการดูแลนั้น ผมจะนำถาดเพาะเมล็ดนี้ไปวางไว้ในจุดที่มีแสงแดดส่องอ่อนๆ รำไร อย่าให้โดนแดดจัดเด็ดขาดนะครับ เพราะต้นอ่อนแคคตัสนั้นอ่อนแอ ถ้าโดนแดดแรงเกินไปมันจะสุกแดด ไหม้แดดจนตายได้ง่าย

                          แต่ถ้าร่มเกินไป ไม่โดนแดดเลยก็ไม่ดีนะครับ ถ้าต้นไม้ไม่ได้รับแสงแดดเลย ต้นจะยืดจนเสียทรงและการเจริญเติบโตก็จะไม่ดีเท่าที่ควรด้วย เพราะฉะนั้นควรให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ หรือแดดรำไรก็จะดีกว่าครับ


                          เห็นถุงในตะกร้าด้านหลังมั้ยครับ อันนั้นคือถุงเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิดครับ การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิดคือเก็บใส่ถุง แบบเปิดคือใส่ถาดก็จะต่างกันแค่นิดหน่อยเองครับ สถานที่วางก็วางไว้ที่เดียวกัน ได้รับอากาศและแสงแดดพอๆ กัน แต่จะมีที่ต่างกันก็แค่การรดน้ำน่ะครับ

                          เพราะในการเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด เราเก็บต้นไม้ใส่ในถุงแล้วมัดปากถุงไว้ทำให้การระเหยของน้ำจะช้า ไม้จะอยู่ได้เป็นเดือนๆ โดยที่วัสดุเพาะจะชื้นอยู่ตลอดทำให้ไม่ต้องรดน้ำเลย ทิ้งไว้ยาวๆ หลายเดือนได้เลยโดยที่วัสดุเพาะไม่แห้ง

                         แต่ในการเพาะเมล็ดแบบเปิด น้ำจะระเหยเร็วกว่าเยอะ ทำให้เราต้องมาเติมน้ำในถาดให้เค้าบ้าง เพราะถ้าไม่หมั่นเติมน้ำ ปล่อยทิ้งไว้สักอาทิตย์ น้ำก็จะเริ่มแห้ง แล้ววัสดุเพาะก็จะแห้งตามไปทำให้ต้นไม้ขาดน้ำได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องมาคอยเติมน้ำให้เค้าเมื่อเห็นว่าถาดเค้าน้ำเริ่มแห้ง ซึ่งเวลาผมเติมน้ำก็จะเติมน้ำให้มีระดับสักประมาณ 1 ซม. ครับ

                         ก็ประมาณนี้ครับ ที่เราต้องดูก็คือระดับน้ำ เมื่อเห็นว่าน้ำในถาดแห้งก็เติม ซึ่งมันไม่ได้ยากอะไรเลยครับ อย่างผมก็จะเติมน้ำประมาณอาทิตย์ละครั้ง ที่เหลือก็รอดูพัฒนาการ การเจริญเติบโตกันไปเรื่อยๆ


                        ภาพนี้เป็นภาพตอนที่เมล็ดเริ่มงอก ในเรื่องระยะเวลาการงอก กี่วันเมล็ดถึงจะงอกนั้นมันกำหนดตายตัวไม่ได้เหมือนกันนะครับ มันจะมีที่อกเร็วบ้าง งอกช้าบ้างไม่แน่ไม่นอน เพราะฉะนั้นผมตอบเป็นระยะเวลาที่แน่ชัดไม่ได้นะครับ


เจ้าเมล็ดเริ่มๆ ทยอยกันงอกไปเป็นลำดับ


                           ข้อดีของการเพาะเมล็ดแบบเปิดคือเราจะเห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสได้ชัด อย่างการเพาะแบบปิด บางทีเราเก็บใส่ถุงมันมองเห็นไม่ชัดหรือเราอาจมองข้ามไปเพราะถุงมันมัวไอน้ำทำให้เราอาจมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในถุงเพาะ แต่การเพาะเมล็ดแบบเปิดคือเราเห็นเลย หยิบจับกระถางมาส่องได้ ทำให้การจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมันจะเห็นได้ง่าย รวมไปถึงในการพ่นยาพ่นปุ๋ยให้กับต้นอ่อนแคคตัสก็ทำได้ง่ายด้วยครับ

                          แต่โดยส่วนตัวผมไม่ได้พ่นปุ๋ยเพิ่มเติมหรอกนะครับ เพราะว่าเราใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) ลงไปในกระถางตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มเพาะซึ่งปุ๋ยละลายช้ามันก็มีฤทธิอยู่ได้ 3 เดือนเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าคุณอย่าใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม อย่างฉีดปุ๋ยน้ำให้ต้นอ่อนแคคตัสเพิ่มก็ทำได้ ผสมปุ๋ยน้ำแบบเจือจางฉีดสักเดือนละครั้งก็ได้อยู่ครับ


                        สำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับเจ้าต้นอ่อนที่เพาะเมล็ดแคคตัสแบบเปิด ด้วยความที่มันเป็นการเพาะแบบเปิดโล่ง ก็อาจจะมีพวกมด แมลง หนอน หนู อะไรพวกนี้มารบกวนเอาได้ แต่ถ้าสถานที่ปลูกของคุณนั้นมีการทำความสะอาดเก็บกวาดเป็นระเบียบ และในการดูแลคุณหมั่นสังเกตเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ผมว่าไม่น่าเป็นปัญหานะครับ


                           ส่วนปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมก็จะมีเรื่องของ ต้นหญ้าที่มาขึ้นในกระถางบ้าง ตะไคร่น้ำบ้าง เรื่องต้นหญ้าผมว่ามันแล้วแต่สถานที่ อย่างบ้านผมมีต้นไม้เยอะ ก็อาจจะมีเมล็ดหญ้าปลิวมาตกแล้วงอกได้ ซึ่งถ้าเจอก็จะถอนออกให้หมด หมั่นถอนเรื่อยๆ ไม่ปล่อยให้เค้าโตแย่งอาหารแย่งที่อยู่กับเจ้าแคคตัส


                           ส่วนเรื่องตะไคร่น้ำ ปัญหานี้ผมยอมเลยครับ ผมป้องกันไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะป้องกันยังไงเหมือนกันครับ เป็นเรื่องที่ผมไม่มีข้อมูลจริงๆ ที่ทำได้ก็เพียง เวลาที่พอตไหนมีตะไคร่ขึ้นมากๆ ผมจะเอาออกมาจากถาดมาวางผึ่งไว้ให้ตระไคร่มันแห้ง เมื่อเจ้าตะใคร่นั้นแห้งมันจะล่อนเป็นแผน เราก็ค่อยๆ แซะออกมาครับ ผมทำได้แค่ประมาณนี้ เรื่องรักษาให้หายขาดผมยอมรับเลยว่าทำไม่ได้จริงๆ ถ้าท่านใดที่ทราบรบกวนช่วยแนะนำผมด้วยนะครับ

                          สำหรับพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าต้นอ่อนแคคตัสที่เราเพาะเมล็ดแบบเปิดนั้น ผมว่ามันก็น่าพอใจอยู่ครับ อาจจะไม่ได้โตเร็ว แต่ก็อยู่ในระดับที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ คาดหวังได้อยู่ครับ


                          ผมขอไม่เอาไปเทียบกับการเพาะเมล็ดแบบปิดก็แล้วกันนะครับเรื่องการเติบโต ใครโตเร็วโตช้ากว่ากัน หรือในการเพาะทั้งสองแบบนี้ แบบไหนมันดีกว่ากัน เพราะว่าการเพาะเมล็ดทั้งสองแบบมันก็ดีทั้งคู่แหละ อาจจะมีจุดเด่นที่ต่างกันบ้าง แต่ว่ามันโอเคทั้งคู่ เพราะฉะนั้นไม่เอาแบบไหนไปข่มแบบไหนดีกว่านะครับ ดีทั้งคู่ครับ แล้วแต่ชอบเลยครับ

ก่อนจะจบบทความเราไปดูภาพพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสกันอีกสักนิดก็แล้วกันนะครับ


อันนี้คือเจ้ายิมโนอายุ 6 เดือน ด้วยความที่ผมโรยเมล็ดเยอะไปหน่อย ตอนเค้าโตก็เลยเบียดกันจนแออัดไปสักนิด


                        เติบโตขนาดนี้ เราสามารถจับเค้ามาแยกพอตย้ายกระถางขยับขยายต่อไปได้แล้วล่ะครับ สำหรับวิธีการในการแยกพอต ย้ายกระถางต้นอ่อนแคคตัส สามารถเข้าไปชมกันได้ในบทความตามลิงก์นี้เลยครับ การแยกพอต ย้ายต้นอ่อนแคคตัส


ส่วนในภาพนี้คือแอสโตร อายุประมาณ 5 เดือนครับ


                          ด้วยความที่เป็นลูกแอสโตรด่าง ต้นที่ด่างมากๆ จะโตค่อนข้างช้าและอ่อนแอสักหน่อยนะครับ อาจจะตายได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นต้นที่ด่างหมดทั้งหัวไม่มีสีเขียวปนอยู่เลยล่ะก็ ส่วนใหญ่จะตายตั้งแต่ยังเล็กๆ อย่างในพอตนี้มีต้นที่ด่างทั้งหัวและค่อยๆ ตายลงไปหลายต้นจนเหลืออยู่แค่ที่เห็นนี่ล่ะครับ 

ส่วนต้นที่ไม่ด่างหรือด่างน้อยก็เติบโตตามปรกติไม่มีปัญหาอะไรครับ

                         ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวการเพาะเมล็ดแคคตัสแบบเปิด วิธีการนั้นไม่ยากเลยนะครับ ถ้าเพื่อนๆ สนใจลองก็มาเพาะเมล็ดกันนะครับ ได้เห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสตั้งแต่เล็กจนโต ผมว่ามันจะทำให้คุณเข้าใจในความเป็นไปของต้นไม้เมื่อถึงวันที่เค้าเติบโตออกดอกเมื่อไรมันจะเป็นอะไรที่ชื่นใจมากๆ เลยล่ะครับ

                 สำหรับเพื่อนๆ ที่ สนใจเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดแคคตัสในแบบปิดล่ะก็ การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด วิธีการนั้นก็ไม่ยากเช่นเดียวกันครับ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิดเอาไว้ ลองเข้าไปดูกันได้นะครับตามลิงก์ด้านล่าง

การเพาะเมล็ดกระบองเพชรแบบปิด ( เก็บกระถางเพาะในกล่องพลาสติกใส ) 

การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด ตามติดพัฒนาการตั้งแต่ก่อนและหลังการเพาะเมล็ด

ผมลงไว้ 2 บทความ ทั้งสองบทความ น่าสนใจทั้งคู่ ลองเข้าไปเลือกดูนะครับว่าวิธีการแบบไหนถูกใจคุณมากที่สุด


แล้วพบกันใหม่นะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

1 comment:

  1. ขอบคุณ สำหรับการแนะนำ การเพาะเมล็ด แบบเปิด
    🌵🌵🌵😍😍😍

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.