Wednesday, February 3, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอหนามดำ และการเปลี่ยนตอ ย้ายตอแคคตัส


                       บทความในวันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแคคตัส Astrophytum myriostigma variegata หรือเจ้ามายริโอด่างต้นตามที่เห็นในภาพนี้แหละครับ ซึ่งเจ้ามายริโอต้นนี้เป็นไม้ที่ผมได้กราฟเอาไว้บนตอลูกผสมตั้งแต่เมื่อตอนที่เค้ายังเป็นแคคตัสต้นเล็กๆ ขนาดประมาณ  1 ซม. เท่านั้น


                             แต่ด้วยความที่ตอลูกผสมนั้นมีปัญหาคือเมื่อเลี้ยงไปนานๆ จะเกิดอาการรากทำปม ทำให้ตอเหี่ยวต้องเสียเวลาถอนขึ้นมาตัดแต่งรากแล้วปลูกใหม่ ประกอบกับเจ้าต้นนี้ก็ถูกเลี้ยงมานานพอสมควรจนเค้าเริ่มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของตอที่ต่อเอาไว้ไปมากแล้วด้วย ผมก็เลยเกิดความรู้สึกว่าถ้าเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ สักวันเจ้าตอลูกผสมอาจจะรับขนาดของไม้ที่ใหญ่มากๆ ไม่ไหว หรือไม่ตอก็อาจที่จะทำปมที่รากจนตอเหี่ยวหมดสภาพ ทำให้ต้องมาเสียเวลาเสียความต่อเนื่องในการเจริญเติบโตกันไปอีกไมรู้จะกี่รอบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา ผมว่าจัดการเปลี่ยนย้ายเจ้ามายริโอด่างต้นนี้เอาไปไว้บนตอที่มีขนาดใหญ่และมีความทนทานแข็งแรงมากกว่าตออันเดิมไปเลยก็แล้วกัน ทำซะทีเดียว เสียเวลาครั้งเดียวแล้วจากนั้นเราก็จะได้เลี้ยงกันไปยาวๆ แบบไม่ต้องไปกังวลอะไรก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า และนั่นก็เลยกลายมาเป็นเรื่องราวของบทความในวันนี้ครับ


                             ไปเริ่มการเปลี่ยนตอกันเลยดีกว่า สำหรับตออันใหม่ที่ผมเลือกใช้ในการเปลี่ยนตอยกยอดในครั้งนี้นั้น นั่นก็คือเจ้าตอหนามดำต้นใหญ่ต้นนี้ครับ


                               ตอหนามดำ ( Harrisia jusbertii ) นั้นมีจุดเด่นที่น่าสนใจจนทำให้ผมต้องเลือกมาใช้ก็เพราะตอชนิดนี้เค้าเป็นตอที่มีขนาดใหญ่ มีความทนทานสูงมากและอายุการใช้งานก็นานหลายปี เรียกได้ว่าถ้ากราฟบนตอหนามดำติดแล้วล่ะก็ จะอยู่ไปได้อีกไกลมาก เค้าสามารถที่จะเลี้ยงแคคตัสต้นนี้ต่อไปจนมีขนาดใหญ่ได้เกินกว่า 10 ซม. ก็รับน้ำหนักไหวแบบหายห่วงกันเลยล่ะครับ เพราะฉะนั้นจึงเหมาะมากที่จะนำมาใช้กับเจ้ามายริโอด่างหัวใหญ่ต้นนี้เป็นอย่างยิ่ง


ซึ่งขั้นตอนในการกราฟแคคตัสบนตอหนามดำนั้นก็ไม่ยากครับ เริ่มแรกเราก็นำเจ้าตอหนามดำที่เตรียมไว้มาปาดก่อนเลยครับ


สำหรับในการปาดตอนั้น ก็ดูตามในภาพเลยก็แล้วกันนะครับ ผมปาดประมาณนี้


                           แล้วจากนั้นก็ทำการตัดแต่งขอบตอสักหน่อยป้องกันเวลาที่ตอยุบตอหด หัวแคคตัสจะได้ไม่เลื่อนมาชนกับขอบตอจนหลุดหรือเกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้รอยต่อไม่สนิท


                               มีพี่ๆ เคยแนะนำเอาไว้ว่าในการกราฟแคคตัสด้วยตอหนามดำนั้น เวลาเราปาดตอแล้วเนี่ยให้เช็ดยางที่ตอออกด้วยไม่เช่นนั้นยางที่ออกมาจากตอเมื่อแห้งจะกลายเป็นรอยสีดำซึ่งจะเป็นปัญหาทำให้แคคตัสที่เราต่อไปนั้นติดยาก หรืออาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้ หรือ อื่นๆ แต่โดยสรุปนั้น ว่ากันว่ายางสีดำเนี่ยไม่เป็นผลดีต่อการกราฟสักเท่าไร ซึ่งเท็จจริงยังไงผมก็ไม่แน่ใจนะครับ

                             แต่ก็มีบางท่านที่บอกมาเหมือนกันว่าเรื่องเช็ดยางของตอหนามดำนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องไปเช็ดออกก็ได้ ไม่เช็ดก็ไม่เป็นไรต่อติดได้เหมือนกัน ยางสีดำนั้นไม่ได้เป็นปัญหาในการกราฟแต่อย่างใด ซึ่งโดยส่วนตัวของผมนั้นจากที่ได้ลองกราฟแคคตัสด้วยตอหนามดำมา ผมบอกเลยว่าผมเคยกราฟทั้งแบบที่เช็ดยางออกและไม่ได้เช็ดยางออกก็เคยอยู่หลายครั้ง ซึ่งในมุมมองของผมนั้นมันก็ต่อติดทั้งสองแบบนะครับ ไม่ว่าจะเช็ดยางออกหรือไม่เช็ดสำหรับผมยังไม่เห็นว่าแบบไหนที่จะเป็นปัญหาเท่าที่เคยทำมาก็ติดหมดนะครับ และก็เคยมีไม้กราฟของผมที่พอกราฟไปแล้วมียางสีดำไหลออกมาเยอะมากรอบรอยต่อเลยก็ว่าได้แต่สุดท้ายก็กราฟติดและส่งดีไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องเช็ดยางเนี่ยแล้วแต่ท่านจะพิจารณาก็แล้วกันนะครับว่าจะเช็ดหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจกลัวเรื่องยางสีดำที่ออกมาจะเป็นปัญหาแล้วล่ะก็ เช็ดยางออกเพื่อความชัวร์ดีกว่าครับ

                           สำหรับการกราฟในคราวนี้ ผมเลือกที่จะเช็ดยางออกครับ เพราะการกราฟรอบนี้ผมตั้งใจที่จะเก็บข้อมูลมาเขียนบทความ เพราะฉะนั้นผมเลยค่อนข้างที่จะต้องละเอียดกว่าตอนที่เคยกราฟเวลาปรกติสักหน่อย ก็เลยจะทำทุกขั้นตอนที่ได้ทราบมาให้ครบทั้งหมด จะได้อธิบายให้ทุกท่านได้ทราบกันได้อย่างละเอียดครบถ้วน

เมื่อเราปาดตอหนามดำ ตัดแต่งอะไรเรียบร้อยแล้ว ทีนี้เราก็มาปาดยกยอดเจ้ามายริโอเพื่อเอาไปต่อกับตอกันเลยดีกว่า

สำหรับในการปาดแคคตัสครั้งนี้ผมจะปาดตรงจุดตามรูปนี้ครับ


                                การที่ผมเลือกปาดแคคตัสตรงจุดประมาณนี้นัก็เพราะผมคิดว่าหัวแคคตัสที่นำมาต่อควรจะต้องมีขนาดที่ใกล้เคียงกับขนาดของตอ หรือเล็กกว่าตอ แคคตัสจะต้องไม่ใหญ่กว่าขนาดของตอมากจนเกินไปเพราะถ้าแคคตัสใหญ่กว่าตอมากจนเกินไปเวลาที่เราต่อไปแล้วมันจะเหลือรอยแผลที่เหลื่อมเกินออกมาจากตอซึ่งรอยแผลนั้นมันมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายเพราะฉะนั้นเวลาที่ผมกราฟ ผมจะกะให้ขนาดของรอยตัดบนแคคตัสกับรอยตัดของตอมีขนาดที่พอดีกันหรือใกล้เคียงกันให้มากที่สุดหรือไม่ก็ต้องเลกกว่าตอไปเลยเวลาต่อประกบกันมันจะได้สนิทไม่เหลือแผลบนหัวแคคตัสมาให้เสื่ยงที่จะติดเชื้อหรือเน่าเอาได้ เพราะฉะนั้นผมจึงตัดที่ตรงจุดนี้ซึ่งผมคะเนแล้วว่าถ้าผมปาดตรงนี้มันจะได้ขนาดรอยแผลที่ใกล้เคียงกับขนาดของหน้าตัดของตอหนามดำที่เตรียมไว้พอดี มันน่าจะประกบกันได้สนิทพอดีกันเป๊ะผมเลยปาดตรงจุดนี้

                              เวลาที่เราปาดเพื่อยกยอดแคคตัสออกมานั้น มีดต้องคมมากๆ นะครับ เพราะแคคตัสในคราวนี้นั้นมีขนาดหัวที่ใหญ่มาก จึงค่อนข้างที่จะมีความหนาของเนื้อแคคตัสมากสักหน่อย ถ้ามีดไม่คมแล้วล่ะก็เวลาปาดจะผิวที่ปาดจะไม่เรียบ เพราะฉะนั้นมีต้องคมจัดๆ เวลาหั่นก็อย่าลงมีดหลายครั้ง ปาดแบบครั้งเดียวหั่นฉับเดียวให้ขาดไปเลยครับ ใจต้องนิ่งเอาให้ทีเดียวจบเลยดีกว่าครับ 

                  แต่เรื่องปาดเรื่องหั่นเนี่ยพูดแล้วเหมือนจะง่ายแต่ตอนทำน่ะค่อนข้างลุ้นเลยล่ะครับ โอกาสที่จะพลาดปาดแล้วแผลเบี้ยวหรือไม่ได้ตามต้องการนั้นมีมาก อย่างผมเนี่ยเป็นคนมือไม่นิ่ง บางทีตอนที่ลงมีดผ่าไปมันก็ไม่ได้ตามที่ใจคิดเท่าไรครับ ต้องมีการปาดเพิ่มเพื่อแก้ไขอยู่บ่อยๆ เพราะงั้นเรื่องนี้ก็ต้องค่อยๆ ทำกันไป ใจเย็นๆ นะครับ

ได้และครับหัวแคคตัสที่เราปาดยกยอดออกมา พร้อมเอาไปต่อได้เลยครับแบบนี้


แต่จะเห็นนะครับว่าผมไม่ได้ปาดแคคตัสออกทั้งหมดแต่ผมได้เหลือเนื้อของแคคตัสติดตออันเก่าไว้ด้วยประมาณนึง


                             ที่ผมเลือกปาดตรงจุดนี้และเหลือฐานของต้นแคคตัสติดตอเก่าไว้ส่วนนึงแบบนี้ นอกจากเหตุผลเรื่องของรอยต่อที่ผมได้กล่าวไปแล้วด้านบน อีกเหตุผลนึงนั่นก็เพราะการปาดโดยที่เหลือเนื้อแคคตัสเอาไว้ส่วนนึงจะมีโอกาสที่ต่อไปเค้าอาจจะแตกหน่อใหม่ขึ้นมาก็เป็นไปได้ ซึ่งถ้าเค้าแตกหน่อใหม่ขึ้นมาแล้วล่ะก็ จะเป็นกำไรสองต่อนั่นเองครับ เราจะได้ทั้งแคคตัสที่ย้ายตอไปอันใหม่และก็ได้หน่อใหม่ที่จะเกิดขึ้นบนตออันเก่าไปด้วยเลย เพราะฉะนั้นผมจึงปาดเหลือเนื้อแคคตัสเอาไว้ประมาณ 1-1.5 ซม. เพื่อรอลุ้นให้เค้าแตกยอดใหม่ออกมานั่นเองครับ

                           ไม่รอช้าดีกว่าครับ ในขั้นตอนของการกราฟนั้น ตอนที่ลงมือทำจริงๆ นั้นเร็วมากครับ แต่เนื่องจากผมเขียนเยอะอธิบายค่อนข้างละเอียดมันเลยอาจที่จะทำให้รู้สึกได้ว่าการกราฟนั้นเวลาลงมือทำใช้เวลานาน แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดทุกขั้นตอนที่ผ่านมาจนถึงตรงนี้อยู่ในระยะเวลาประมาณนาทีหรือสองาทีเท่านั้นครับ เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านลงมือทำก็ไม่ต้องรอช้านะครับเมื่อตัดแต่งตอเรียบร้อย ปาดยอดแคคตัสเรียบร้อยแต่งขอบจนมั่นใจแล้วว่าผิวหน้าของรอยตัดทั้งของตอและของแคคตัสนั้นเรียบดีแล้วเราก็เอาหัวแคคตัสที่เราได้ไปต่อประกบกันกับตอเลยดีกว่าครับ


ประกบกันจากนั้นก็หมุนเพื่อไล่อากาศ แล้วก็เอาสก็อตเทปติดทันทีตามรูปเลยนะครับ


                             ในการกราฟแคคตัสที่มีขนาดใหญ่นั้น เวลาที่เราติดสก็อตเทปเราสามารถที่จะลงน้ำหนักมือได้นะครับเพราะหัวแคคตัสนั้นมีความแข็งจึงไม่ต้องไปกลัวเรื่องติดสก็อตเทปแรงๆ แล้วจะชํ้า ติดแน่นๆ ได้เลยครับหัวใหญ่ขนาดนี้ แต่ถ้าเป็นแคคตัสหัวเล็กๆ ล่ะก็เบามือหน่อยนะครับ กดแรงแล้วจะชํ้าหรือเละเอาได้

                            เพื่อความชัวร์ว่าการตอครั้งนี้จะติดแน่นรอยต่อสนิทดี ตอไม่ดีด ไม่เด้ง ไม่หลุด ไม่เคลื่อน เราสามารถที่จะเอาหนังยางมาช่วยในการยึดให้แน่นได้ด้วยนะครับ


                           อันนี้คือจุดเด่นที่สำคัญของตอหนามดำเลยล่ะครับ ด้วยความที่หนามของตอชนิดนี้นั้นแข็งมากๆ เราสามารถเอาหนังยางมาขึงเพื่อช่วยยึดได้นะครับ ซึ่งการขึงด้วยหนังยางนั้นมีข้อดีตรงที่ว่าถ้าเกิดว่าตอยุบจนทำให้หัวแคคตัสเลื่อนยุบตามลงมาแล้วล่ะก็อาจจะทำให้รอยต่อนั้นหลุดเอาได้ แต่เมื่อเราเอาหนังยางมาขึงไว้ เจ้าหนังยางซึ่งมีความยืดหยุ่นก็จะเลือนตามลงมาด้วยทำให้รอยต่อนั้นยังสนิทแน่นดีอยู่ อะไรประมาณนั้น ผมอธิบายไม่ค่อยเก่งสักเท่าไร ลองดูตามภาพแล้วพิจารณาตามไปนะครับ
 

                    แต่เอาหนังยางไปติดแบบนี้กับตอชนิดอื่นอาจจะติดไม่อยู่นะครับ หนามตอจะหักเสียก่อน เพราะหนามของตอชนิดอื่นนั้นไม่ได้แข็งแรงเหมือนอย่างเจ้าตอหนามดำอันนี้ เพราะฉะนั้นการใช้หนังยางช่วยแบบนี้อาจจะใช้ได้แค่กับต่อไม่กี่ชนิดนะครับ แต่หนามดำเนี่ยได้แน่เพราะหนามเค้าแข็งมากๆ

                               หลังจากที่เราเอาหนังยางมาช่วยยึดเรียบร้อยทีนี้มีเทคนิคนึงที่ผมเคยได้อ่านเจอนั่นก็คือว่าในการกราฟตอหนามดำนั้น เราสามารถเอาถุงมาครอบเพื่อช่วยลดการเกิดปัญหายางตอเป็นสีดำขึ้นมาได้ ซึ่งเทคนิคที่ผมบอกเลยว่าผมไม่เคยทำมาก่อนนะครับ แต่เอาเป็นว่าเพื่อความละเอียดครบถ้วนทุกเรื่องราว ผมลองเอาถุงมาครอบให้ทุกท่านได้ดูด้วยก็แล้วกันว่ามันให้ผลยังไงบ้าง


                              ครอบถุงเสร็จเรียบร้อย เราก็นำเจ้าแคคตัสที่เราต่อไว้เอาไปวางไว้ในจุดที่สว่าง มีแสงรำไร อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่โดนฝนสาด จากนั้นก็ทิ้งเอาไว้แบบนั้นสัก 2-3 อาทิตย์

                              ถ้าเป็นพวกตอแก้วมังกร ตอบลู ตอลูกผสม ระยะเวลาในการสมานรอยต่อตั้งแต่วันที่กราฟจนรอยต่อเชื่อมกันติดสนิทเราอาจจะรอแค่อาทิตย์เดียวก็เรียบร้อยติดสนิทแกะออกมาดูได้แล้วนะครับ แต่กับตอหนามดำนั้นจะต้องใช้เวลารอให้รอยตอสมานกันนานกว่าตอชนิดอื่นนะครับ ต้อง 2-3 อาทิตย์ขึ้นไปนะครับ ตอชนิดนี้ต้องให้เวลากับเค้านิดนึง เพราะงั้นอดทนรอไปก่อนไม่ต้องรีบร้อนนะครับ


                               ส่วนเจ้าตออันเก่าที่เราปาดเหลือเนื้อเอาไว้ ผมก็จะเอาไปวางผึ่งไว้ในที่ๆ ไม่โดนฝนสาด แดดไม่จัดมาก เพื่อรอให้แผลที่ปาดนั้นแห้ง ถ้าท่านมีปูนแดงจะเอาปูนแดงทาเพื่อปิดปากแผลเพื่อกันการติดเชื้อด้วยก็ได้ แต่ผมไม่มีปูนแดงก็เลยไม่ได้ทา วางผึ่งไว้ให้แผลแห้งสัก 1-2 อาทิตย์แล้วค่อยเอากลับมาเลี้ยงต่อได้ตามปรกติ ช่วงแรกอย่าให้แผลโดนน้ำนะครับ แล้วเดี๋ยวเราเลี้ยงไปเรื่อยๆ เมื่อแผลแห้งเค้าจะค่อยๆ แตกหน่อใหม่ออกมาให้เราเองครับ

3 อาทิตย์ผ่านไป เรามาแกะหนังยางกับสก็อตเทปที่ติดเอาไว้ออกเพื่อดูผลการกราฟในครั้งนี้กันเลยดีกว่าครับว่าติดหรือไม่


                           ซึ่งผลก็ปรากฏว่า สำเร็จไปได้ด้วยดี รอยต่อนั้นติดสนิท และอาการยางสีดำก็ไม่ค่อยมีสักเท่าไรด้วย ก็ถือว่าเทคนิคต่างๆ ที่ได้ใช้ไปทั้งการเช็ดยาง และการครอบถุงนั้นถือว่าใช้ได้ ให้ผลที่ดีเลยล่ะครับ รอยต่อค่อนข้างสวยเลยทีเดียว


                               ก็เรียบร้อยแล้วล่ะครับสำหรับการเปลี่ยนย้ายตอและกราฟแคคตัสบนตอหนามดำครั้งนี้ ต่อไปเราก็เอาไปเลี้ยงต่อได้ตามปรกติเลยครับ แต่ช่วงแรกๆ หลังจากที่กราฟติดแล้วนั้น ผมแนะนำว่าอย่าพึ่งให้รอยต่อโดนน้ำ อย่าให้เค้าตากฝนนะครับ เดี๋ยวจะติดเชื้อทำให้เน่าตายเอาได้ เพราะฉะนั้นระวังเรื่องนี้ด้วยนะครับ


                            ส่วนเรื่องแสงแดดก็ค่อยๆ ให้เค้าปรับแดดไปเรื่อยๆ ก่อนนะครับ อย่าพึ่งเอาเค้าออกไปชนแดดจัดๆ ตรงๆ ค่อยๆ เพิ่มแสงไปทีละนิด เทรนให้เค้าชินกับแดดไปสักระยะก่อนนะครับ แล้วเมื่อเค้าปรับตัวได้เมื่อไร การเจริญเติบโตและพัฒนาการของยอดเริ่มเดินเมื่อไรก็ค่อยให้เค้าได้รับแสงแดดมากขึ้นน่าจะโอเคกว่า


                          ส่วนเรื่องการดูแลไม้กราฟนั้นผมเคยเขียนเอาไว้แล้วในบทความก่อนๆ เพราะฉะนั้นผมขอไม่เจาะลึกก็แล้วกันนะครับ เอาแบบย่อๆ เลยก็แล้วกัน ไม้กราฟนั้นดินปลูกใช้ได้หลากหลายไม่ตายตัว ถ้าเป็นดินปลูกไม้กราฟที่ผมใช้อยู่นั้นจะเป็นดินใบก้ามปูครับ แต่จะเป็นดินสูตรอื่นก็ได้ จะซื้อที่ร้านเค้าผสมมาสำเร็จหรือผสมเอาเองเลยก็ได้ครับ ขอแค่ว่าโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีาตุอาหารสมบรูณ์ก็โอเคแล้วล่ะครับสำหรับเรื่องดินสำหรับปลูกไม้กราฟ ส่วนเรื่องการรดน้ำผมไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องรดกี่วันครั้ง ถ้าผมเห็นว่าดินปลูกเริ่มแห้งผมก็จะรดน้ำเลยทันที สำหรับเรื่องปุ๋ยนั้นก็คงต้องพูดเหมือนเดิมว่าผมเป็นพวกที่ไม่เนนการใช้ปุ๋ยผมใส่แค่ปุ๋ย ออสโมโค้ท 3 เดือนครั้ง แค่นี้จบแล้วครับ


                            ก่อนจะจบบทความครั้งนี้ไป เราทิ้งท้ายกันด้วยภาพของพัฒนาการของเจ้ากระบองเพชรมายริโอด่างต้นนี้กันสักหน่อยก็แล้วกันนะครับว่าหลังจากที่เค้าอยู่บนตอหนามดำแล้วจะเจริญเติบโตสวยงามขนาดไหน


                            ภาพด้านล่างเป็นภาพที่ถ่ายเอาไว้เมื่อเดือนก่อน จะเห็นได้ว่าการเจริญเติบโตของเค้านั้นใช้ได้เลยนะครับ ดูสดใสแข็งแรงเลยทีเดียว และก็ใกล้จะออกดอกแล้วด้วยครับ อีกไม่นานเจ้าต้นนี้ก็คงจะได้กลายเป็นอีกหนึ่งต้นพ่อพันธุ์ประจำบ้านของผมได้แล้วล่ะครับ


ตุ่มดอกเริ่มมาแล้วล่ะครับ คาดว่าอีกไม่นานน่าจะมีดอกให้ได้ชมและผสมเกสรขยายพันธุ์กันต่อไป


เพิ่มเติม ภาพล่าสุดของเจ้าต้นนี้


ตอนนี้ก็มีดอกออกมาให้ได้ชมกันเรียบร้อยแล้วล่ะครับ


และภาพนี้คือภาพของตออันเก่าอันเดิมที่เมื่อตอนที่กราฟผมได้เหลือฐานเนื้อของแคคตัสเอาไว้หน่อยนึงนั่นเองครับ


                            จะเห็นนะครับว่าตรงส่วนของฐานเดิมที่เราเหลือไว้ เค้าได้แตกหน่อออกมาใหม่สามหน่อรวดเลยทีเดียวครับ ถือว่าได้กำไรเต็มๆ เลยนะครับแบบนี้


ตัดมาเป็นภาพตอนที่หน่อของเค้าเริ่มโตเลยก็แล้วกัน หน่อนี้สวยมาก สีสันสดใสด่างสวยชัดเจนมากๆ เลยครับ


                            ซึ่งเจ้าหน่อที่แตกออกมาเหล่านี้ ผมจะรอให้เค้าเจริญเติบโตขึ้นไปอีกสักหน่อยจากนั้นก็จะทำการตัดหน่อเหล่านี้เอามากราฟเพื่อเพิ่มจำนวนต่อไป


                             บทความนี้ หลังจากที่เขียนและตรวจแก้อยู่หลายรอบ ผมก็ยังมีความรู้สึกอยู่ว่ามันยังไม่สมบรูณ์สักเท่าไร ยังไม่พอใจ ยังมีบางอย่างที่ยังติดใจอยู่แต่นึกไม่ออกว่าขาดส่วนไหนไป ซึ่งถ้าท่านที่ผ่านเข้ามาอ่านแล้วรู้สึกว่าขาดส่วนไหนเรื่องอะไรไป หรือมีจุดไหนที่ผมเขียนผิดพลาด ก็แนะนำผมด้วยนะครับ 


แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกแคคตัสเรื่องต่อไปของเรา

 พจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

2 comments:

  1. มาอ่านบล็อกนี้แล้ว รู้สึกเป็นแรงบันดาลใจในการปลูกกระบองเพชรอย่างจริงจังเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆค่ะ ได้ทั้งความรู้ ทั้งกำลังใจในการกราฟไม้เลยค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.