Friday, June 3, 2016

การกราฟแคคตัสด้วยตอแก้วมังกรตัดสด


                 เรื่องราวของบทความในคราวนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากบทความเกี่ยวกับการกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรที่ผมเคยได้เขียนไป ซึ่งในบทความนั้นมันมีประเด็นตรงที่ว่าตอแก้วมังกรที่ผมใช้ในการสาธิตการกราฟนั้น เป็นตอที่ได้ทำการปักชำในดินปลูกจนงอกและเจริญเติบโตสมบรูณ์แล้ว ซึ่งหลายๆ ท่านที่อยากจะลองกราฟดูบ้างแต่ทว่าไม่ได้มีตอที่ปักชำมาพร้อมใช้เหมือนอย่างในบทความ ก็เลยมาถามผมว่าถ้ามีแต่ตอที่ตัดมาสดๆ ไม่มีราก หรือไม่ก็เป็นสถานการณ์ที่เร่งด่วน ต้องรีบกราฟเลยทันทีแต่หาตอที่ชำมาแล้วไม่ได้ หามาได้แต่กิ่งยอดแก้วมังกรสดๆ จะเอามากราฟได้หรือไม่ กราฟแล้วจะติดมั้ย ซึ่งผมก็ได้ตอบกลับไปทุกครั้งว่าตอแก้วมังกรตัดสดนั้นก็เอามาใช้กราฟได้ แต่ว่าตอที่เอามาใช้นั้นต้องเป็นตอส่วนยอดที่มีความสมบรูณ์สักหน่อย

                 แต่ทว่ามันจะมีคำถามปลีกย่อยที่เพิ่มเติมมาอีกว่า พอกราฟเสร็จแล้วจะเอาไปปลูกลงดินตอนไหน ลงดินเลยทันทีหลังจากที่กราฟเสร็จ หรือต้องรอให้ต่อติดก่อนแล้วถึงค่อยเอามาปักชำทีหลัง เพราะงั้นวันนี้ผมก็เลยจะมาลงมือสาธิตกัน ว่าวิธีการกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรตัดสดนั้นมีขั้นตอนยังไงบ้าง

ไปเริ่มกันเลยนะครับ

                 โดยในการสาธิตการกราฟครั้งนี้นั้น ผมจะใช้เป็นตอแก้วมังกรสองแบบ นั่นก็คือแก้วมังกรเนื้อขาว กับแก้วมังกรเนื้อแดง ตามภาพด้านล่าง


                 ตออันซ้ายที่หนามน้อยๆ นั่นคือแก้วมังกรเนื้อขาว ซึ่งเป็นตอที่ทุกท่านน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะหาง่ายมากๆ และนิยมใช้กันมานานมากแล้ว ส่วนตอแก้วมังกรอันทางขวาที่หนามเยอะๆ อันนี้คือแก้วมังกรพันธุ์เนื้อสีแดงเป็นตอที่แถวบ้านผมจะหายากกว่าเนื้อขาวสักหน่อย แต่ไม่รู้ว่าที่อื่นจะหาง่ายรึเปล่านะครับ ซึ่งเจ้าแก้วมังกรเนื้อแดงเนี่ยผมได้ยินมาว่าเป็นตอที่ใช้ดี เป็นตอที่มีความแข็งแรงทนทานกว่าแก้วมังกรเนื้อขาว ซึ่งผมก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่าทนกว่าจริงหรือไม่ เพราะไม่ค่อยได้ใช้ แต่ลองดูก็แล้วกัน

 ****  ก่อนจะลงมือกราฟ ขอย้ำอีกสักครั้งนะครับว่าในการเลือกตอมาใช้สำหรับกราฟนั้น พยายามเลือกตอส่วนยอดที่มีความสมบรูณ์ไม่อ่อนหรือว่าแก่จนเกินไป เลือกยอดที่มันอวบๆ ตึงๆ หน่อยนะครับถึงจะดี ถ้าเป็นไปได้เลือกตอที่มีขนาดใหญ่กว่าตอที่ผมใช้ในวันนี้นะครับ ไอ้ตอที่ผมใช้ในวันนี้เนี่ยบอกเลยว่ามันเล็กเกินไปหน่อย เพราะด้วยความที่ช่วงหลังๆ ผมเริ่มจะเปลี่ยนแนวของตอที่ใช้ ไม่ค่อยได้เล่นพวกแก้วมังกรสักเท่าไร หันไปใช้ตอชนิดอื่นเป็นหลัก ผมเลยโละต้นแก้วมังกรที่ปลูกไว้ทิ้งไปเกือบหมดแล้ว เลยไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนัก หามาได้แต่อันเล็กๆ เท่านี้นี่แหละ เพราะฉะนั้นในการเลือกตอตัดสดมาใช้เอาที่มันยาวๆ และสมบรูณ์สักหน่อยนะครับ มันจะดีกว่าใช้ตอเล็กๆ แบบนี้แน่นอนครับ

ผ่านเรื่องตอเราก็ไปเลือกหน่อแคคตัสสำหรับมาใช้กราฟในครั้งนี้กันดีกว่า


                 ก็ตามภาพนี้เลยครับหน่อที่ผมเลือกมาก็เป็นไม้ยอดนิยมของหลายๆ ท่าน นั่นก็คือยิมโนด่างสองหน่อ ( gymnocalycium mihanovichii variegata )  ส่วนหน่อสีเขียวๆ ที่ไม่มีหนามนั่นก็คือแอสโตรไฟตัม ( astrophytum ) หน่อนี้ไม่ได้ใช้ในบทความนี้นะครับ แต่จะใช้เป็นตัวทดลองในอีกบทความนึง พอดีทำพร้อมกันก็เลยติดมาในภาพด้วย

                และไอ้ที่เห็นเป็นคราบสีขาวๆ เกาะอยู่ที่ผิวของหน่อยิมโนด่างหน่อสีชมพูเขียวหน่อด้านบนซ้ายนั้น ไม่ได้เป็นความผิดปรกติหรือปัญหาอะไรนะครับ คือปรกติที่บ้านผมจะมีการฉีดยากันเชื้อรากับพวกต้นไม้ในบ้านอยู่เรื่อยๆ ก็เลยอาจจะมีคราบยาหลงเหลืออยู่ตามต้นไม้บ้าง เพราะงั้นคราบขาวๆ ที่เห็นมันก็คือคราบยากันราที่ผมเคยฉีดเอาไว้นั่นเองครับ พอดีตอนเด็หน่ออกมาผมไม่ได้ล้างหรือว่าเช็ดคราบมันออกก็เลยติดเป็นรอยขาวๆ มาแบบนั้น เจ้าหน่อนี้ยังสมบรูณ์ดีไม่ได้มีอะไรนะครับ

เริ่มต้นกราฟเลยนะครับ อันแรกใช้เป็นตอแก้วมังกรเนื้อขาวก่อนเลยก็แล้วกัน 


                  ด้วยความที่มันเป็นตอตัดสดเพราะฉะนั้นเวลาที่เรากราฟมันจะจับไม่ค่อยถนัดสักเท่าไร เพราะงั้นหาอะไรมาเป็นฐานสำหรับตั้งตอหน่อยก็ดีนะครับ ตอนกราฟจะได้ลงมือง่ายๆ ผมใช้เป็นกระถางที่เห็นนี่แหละครับพอดีหันไปเจอพอดีเลยได้อันนี้มาเป็นฐาน จากนั้นก็เอากิ่งแก้วมังกรไปปักตั้งเอาไว้แบบนี้ เวลาปาดจะได้ปาดง่ายๆ 

                  วิธีการกราฟเขียนแค่คร่าวๆ นะครับ ถ้าอยากอ่านแบบละเอียดมากๆ ก็ตามไปอ่านในลิงก์นี้แล้วกันนะ การกราฟแคคตัสด้วยตอแก้วมังกร วิธีการแบบละเอียด

ปาดที่ส่วนยอดของตอเลยแล้วกัน


จากนั้นก็ตัดแต่งขอบ


จากนั้นผมก็จะมาปาดกันที่แคคตัสยิมโนหัวสีที่จะเอาไปต่อกับตอเลยทันที


                  เวลาที่เราปาดลงไปนั้นหลายท่านสงสัยว่าปาดที่หัวแคคตัสนั้น แค่ไหนถึงจะพอดี ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจกลัวว่าจะปาดลึกเกินไป หรือตื้นเกินไป ซึ่งเอาจริงๆ ผมไม่รู้หรอกว่าลึกแค่ไหนถึงจะดีที่สุด เวลาผมปาดผมจะกะระยะประมาณว่าเอาให้มันไม่ลึกหรือสูงเกินไปนัก กะว่าหันลงไปแล้วเจอท่อน้ำเลี้ยงตรงกลางก็โอเค คือมันอธิบายมาเป็นคำพูดได้ยากเอาเป็นว่าดูตามรูปแล้วกันนะครับ ว่าผมปาดไม่ลึกเท่าไร


หันไปแล้วเห็นว่าเจอท่อน้ำเลี้ยงตรงกลางชัดเจนแบบนี้ก็เป็นอันใช้ได้สำหรับผม

                     และเวลาที่เราหั่นลงไปนั้นดูรอยตัดด้วยนะครับทั้งรอยตัดบนตอและรอยตัดบนหน่อแคคตัสจะต้องเรียบ แผลต้องเรียบเสมอกัน ถ้าหั่นไปแล้วมันเกิดอาการยุบ เนื้อไม่เรียบเสมอกันล่ะก็ ให้ปาดซ้ำไปอีกจนกระทั่งเห็นว่ารอยปาดนั้นเรียบเสมอกันถึงค่อยพอ เพราะถ้าปล่อยให้มันมีรอยยุบหรือรอยตัดไม่เสมอกัน เวลาที่เราเอามาต่อประกบกันมันจะเกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้รอยต่อนั้นมันไม่สนิท ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสำเร็จในการกราฟและการเจริญเติบโตของไม้กราฟได้ครับ เพราะฉะนั้นเวลาปาดเสร็จก็ดูก่อนนะครับว่าที่เราปาดไปนั้นยุบมั้ย รอยปาดเสมอกันหรือไม่ ตอนตัดแตงขอบก็ไปเล็งไปด้วยนะครับ เมื่อมั่นใจว่าเสมอกันแล้วก็เอาไปประกบกันได้เลยครับ 


ประกบกันแล้วก็หมุนหัวแคคตัสเพื่อไล่อากาศสักหน่อยจากนั้นก็เอาสก็อตเทปติดเพื่อยึดไม่ให้แคคตัสกับตอนั้นหลุดจากกัน


เรียบร้อยแล้วครับสำหรับการกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรตัดสด อันแรกของเรา


ไปกราฟกันต่อที่ตออันที่สองเลยดีกว่า เจ้าตอแก้วมังกรเนื้อแดงนั่นเอง


วิธีการก็เหมือนเดิมเลยครับ ปาดและตัดแต่งขอบ


แล้วก็มาปาดที่หน่อแคคตัสยิมโนด่างที่เตรียมเอาไว้


เอาไปต่อประกบกัน


จากนั้นก็ติดสก็อตเทป


 เสร็จแล้วครับ


หลังจากที่เราต่อเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วก็เป็นคำถามต่อมานั่นก็คือ ตอเสร็จแล้วแบบนี้เอาไปปักลงดินเลยได้หรือไม่

                 มีบางคนเคยบอกว่าเอาไปปักตอนนี้เลยก็ได้ แต่ในการทดลองครั้งนี้ผมขอเลือกที่จะยังไม่เอาไปปักชำในดินเลยทันที แต่ผมจะเก็บเอาไว้ก่อน รอให้รอยต่อติดสนิทเรียบร้อยแล้วค่อยเอาไปปักชำทีหลัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะทำก็คือการนำเจ้าแคคตัสที่เรากราฟไว้เอาไปผึ่งไว้ก่อน  1 อาทิตย์ เพื่อรอให้เค้าต่อติดแล้วค่อยเอาไปชำทีหลังนั่นเองครับ

                โดยผมจะเอาทั้งสามต้นนี้ไปวางตั้งเอาไว้ในกระถางเปล่าๆ อันนี้ก็แล้วกัน หรือจะใช้เป็นตะกร้า หรือกระจาดอะไรก็ได้


                วางตั้งเอาไว้ในนี้แล้วก็ยกไปตั้งเก็บเอาไว้ในที่ๆ มีแสงส่องรำไรอากาศถ่ายเทสะดวก อย่าให้โดนแดดแรง ให้โดนแสงอ่อนๆ ได้ครับ

                วางทิ้งเอาไว้แบบนี้  7 วัน ไม่ต้องห่วงนะครับว่ามันจะเหี่ยวหรือจะตาย มันไม่ตายหรอกครับถ้าตอของท่านนั้นสมบรูณ์เต่งตึง เราสามารถตั้งเอาไว้แห้งๆ แบบนี้ได้เป็นอาทิตย์แบบสบายๆ แคคตัสเป็นไม้ที่ทนกว่าที่คิดพลังชีวิตสูงมากๆ เพราะงั้นหายห่วงแน่นอนครับ


                  1 สัปดาห์ผ่านไป กลับมาดูกันอีกครั้งจะเห็นได้ว่ายังอยู่กันอย่างดีไม่มีเหี่ยวหรือมีปัญหาอะไร ตอนนี้ก็ได้เวลาที่จะมาแกะสก็อตเทปกันแล้วล่ะครับ


ผลก็ปรากฏว่า แกะออกมาแล้วติดดีอยู่ครับ น่าจะรอดและเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน ผมคิดว่างั้นนะ


ถือว่าการต่อครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี จากนี้เราก็จะเอาทั้งสามต้นนี้ไปลงปลูกในดินกันได้เลยครับ

                โดยดินที่ผมจะใช้ในการปลูกไม้กราฟนั้นก็ง่ายๆ เลยครับ ผมใช้เป็นดินใบก้ามปู เป็นดินที่ผมใช้แล้วรู้สึกชอบเป็นการส่วนตัวน่ะครับ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมาย

                เรื่องดินปลูกนั้นยังไม่ต้องเชื่อผมหรอกนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว แต่ละคนแต่ละที่ต่างก็มีสูตรดินปลูกของตัวเองที่ต่างกันไปหลายหลาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องตามแบบผมก็ได้ครับ


                    ช่วงแรกๆ หลังจากที่เราเอาไม้ที่เรากราฟไว้ไปปักชำ อย่าพึ่งให้เค้าตากแดดแรงๆ นะครับ เพราะรากของตอนั้นยังไม่มี ถ้าเอาไปตากแดดแรงๆ ตออาจจะเหี่ยวเอาได้ ทำให้การฟื้นตัวนั้นช้า และการเอาแคคตัสไปตากแดดแรงๆ โดยที่ยังไม่เคยมีการปรับแสง เทรนแดดมาก่อนมันก็มีโอกาสที่แคคตัสของเรานั้นมันจะไหม้แดดและตายเอาได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นตอนชำใหม่ๆ อย่าพึ่งจับตากแดดแรงๆ นะครับ ให้เค้าโดนแดดอ่อนๆ ไปก่อนสักระยะ จนกว่าเค้าจะออกรากและเริ่มฟื้นตัว การเจริญเติบโตเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงปรากฏอย่างชัดเจน เห็นยอดของแคคตัสที่กราฟไว้เริ่มเดินเมื่อไรเราค่อยเพิ่มปริมาณการให้แดดของเค้าให้มากขึ้นทีละนิดก็แล้วกันนะครับ


              ช่วงอาทิตย์แรกๆ หลังการลงปลูก อาจจะยังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสที่เรากราฟไว้สักเท่าไรหรอกนะครับ แต่เมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ พอตอแก้วมังกรเริ่มออกรากและฟื้นตัวขึ้นมาเมื่อไร การเจริญเติบโตของแคคตัสก็จะค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมาเองนั่นล่ะครับ แต่มีข้อแม้ว่าการต่อนั้นรอยต่อต้องติดสนิทดีนะครับ ตอเค้าถึงจะส่งการเจริญเติบโตได้ดี ทำให้แคคตัสเจริญเติบโตได้ดีตามไปด้วย แต่ถ้าในการกราฟนั้น คุณต่อไม่ดีหรือรอยต่อติดไม่สนิทแล้วล่ะก็ แคคตัสอาจจะโตช้าหรือไม่โตหรือนิ่งไปเลยก็เป็นไปได้นะครับ เพราะฉะนั้นต้องดูกันไปเรื่อยๆ นะครับ ถ้ากราฟดี รอยต่อติดสนิท เมื่อตอออกรากจนสมบรูณ์เมื่อไร เจ้าแคคตัสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนครับ

เรามาดูเจ้าแคคตัสที่ผมได้กราฟไว้ ตอนที่เค้าเริ่มเจริญเติบโตกันดีกว่าครับ


             อันนี้เป็นภาพประมาณ 1 เดือนหลังจากวันกราฟ จะเห็นว่าเจ้าแคคตัสมีพัฒนาการการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วล่ะครับ ต้นใหญ่ขึ้นกว่าตอนที่กราฟนิดนึงและยอดก็ดูสดใสดี


ภาพสุดท้ายก่อนจบบทความ


                    ก็ประมาณนี้ก็แล้วกันนะครับสำหรับเรื่องราวการกราฟแคคตัสบนตอตัดสด ทั้งตอแก้วมังกรเนื้อขาวและตอแก้วมังกรเนื้อแดง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปลูกแคคตัสของท่านบ้างไม่มากก็น้อย

เพิ่มเติมเรื่องราว สำหรับท่านที่สนใเรื่องเกี่ยวกับการตัดแคคตัสลงจากตอแก้วมังกร ลองเข้าไปอ่านเรื่องราวการตัดลงตอแบบละเอียดทุกขั้นตอนได้ ตามลิงก์ที่ลงไว้นี้ได้เลยครับ การตัดลงตอแก้วมังกรแบบเหลาแกนตอ และการตัดลงตอแบบตัดไม่เหลือตอ และการล่อราก

เพจของเรา  https://www.facebook.com/chowcactus

ปล. จริงๆ แล้วบทความนี้ ตอนที่ทำข้อมูลประกอบการเขียนนั้น ผมทำการกราฟเอาไว้ 3 ตอ ด้วยกัน แต่เอามาลงแค่ 2 เพราะว่าตอนที่อัพลงในบล็อกนั้นผมรู้สึกว่าถ้าลงทั้งหมดรวดเดียวมันยาวเกินไป ก็เลยตัดภาพของการกราฟออกไปตอนึง ซึ่งตออันนั้นก็คือตอสามเหลี่ยมหนาม แต่ก็ไม่ได้จะตัดทิ้งไปเลยนะครับ เดี๋ยวจะเปิดเป็นอีกบทความนึงไปเลยก็แล้วกัน ถือว่าเป็นภาคต่อขอบทความนี้ก็ได้ ยังไงเดี๋ยวเอาไว้ผมเขียนเสร็จแล้วจะมาโพสต์ลิงก์ในนี้และก็ในเพจของผมก็แล้วกันนะครับ เรื่องราวการกราฟแคคตัสบทตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด 

มาแล้วครับสำหรับบทความภาคต่อของบทความนี้ ถ้าสนใจก็ตามลิงก์นี้เลยครับ การกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด

แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไป ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ

1 comment:

  1. ตอแก้วมังกรอยู่ได้ึงกี่ปีครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.