Friday, January 6, 2017

การกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอเปเรสเกีย ( Pereskiopsis Graft )


                     เมื่อก่อนตอนที่ผมเริ่มสนใจเกี่ยวกับการผสมเกสรและการเพาะเมล็ดแคคตัสใหม่ๆ ผมชอบจับต้นอ่อนแคคตัสที่เพาะเมล็ดเอาไว้มากราฟต่อบนตอ เพราะด้วยความที่ในตอนนั้นอยากรู้เร็วๆ ว่าต้นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่เราซื้อมานั้น เค้าจะให้ลูกที่มีหน้าตาแบบไหน แม่พันธุ์ต้นไหนให้ลูกสวยๆ บ้าง พ่อพันธุ์ต้นไหนจะส่งต่อลักษณะที่น่าสนใจไปสู่รุ่นลูกได้ดีบ้าง ซึ่งถ้าต้องรอดูจากการเลี้ยงในแบบปรกติ กว่าจะรู้คำตอบมันใช้เวลานานเป็นปี การจับต้นอ่อนขึ้นมากราฟเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้เร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นทางเลือกที่ผมใช้ เพราะถ้าเรารู้ได้เร็วว่าพ่อแม่ต้นไหนที่ให้ลูกลักษณะดีๆ เราจะได้มีแนวทางในการผสมและพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ผมคิดแบบนั้น

ต้นอ่อนยิมโนแคคตัส อายุไม่กี่เดือน

                     ซึ่งตอที่เหมาะสมกับการกราฟต้นอ่อนแคคตัสนั้น ด้วยความที่ต้นอ่อนของแคคตัสที่พึ่งจะงอกมาได้ไม่นาน ต้นอ่อนจึงยังมีขนาดที่เล็กมาก ถ้าจับไปต่อบนตอขนาดใหญ่ ขนาดของท่อน้ำเลี้ยงอาจจะไม่สัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นการเลือกตอที่จะนำมากราฟ ผมจึงเลือกใช้ตอที่มีขนาดเล็กเช่นเดียวกัน ซึ่งตอที่ผมเลือกมาใช้ในการกราฟต้นอ่อนแคคตัสอยู่บ่อยๆ นันก็คือตอเปเรสเกีย ( Pereskiopsis ) ครับ

ตอเปเรสเกีย ( Pereskiopsis )

                    สำหรับวิธีการกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอเปเรสเกีย หรือบางท่านเรียกกันว่าการกราฟเมล็ดนั้น ขั้นตอนที่ผมใช้ก็ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย เอาเป็นว่าไปดูกันเลยดีกว่าครับ

                   เริ่มแรกเรามาเตรียมตอเปเรสเกียที่จะใช้ในการกราฟกัน โดยผมจะใช้เป็นตอเปเรสเกียที่ผ่านการชำจนออกรากและมีการบำรุงมาจนแข็งแรงดีเรียบร้อยแล้ว


                       ในความคิดของผม ตอที่มีความแข็งแรงสมบรูณ์ ปลูกเลี้ยงมาจนออกรากเจริญเติบโตตั้งตัวได้แล้ว เวลาเอามากราฟ จะมีความต่อเนื่องที่ดี พอกราฟติดปุ๊บ ตอจะพร้อมส่งอาหารเลี้ยงแคคตัสได้เลยทันที ผมว่ามันน่าจะดีนะแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงจะมีการชำตอแล้วเลี้ยงสำรองเอาไว้เสมอ เวลาที่คิดจะใช้จะได้มีตอพร้อมสำหรับการใช้งานได้ในทันที ไม่ต้องไปหากันให้วุ่นวาย

เริ่มแรกเราก็จะมาปาดที่ตอเปเรสเกียกันครับ


                      ในตอนลงมือทำนั้น ต้องระวังด้วยนะครับ หนามของต้นเปเรสเกียนั้นตำเจ็บมาก และหนามของเค้าก็เล็กมากๆ เวลาที่โดนตำเข้าไปแล้วดึงออกยากครับ มองไม่ค่อยเห็น

                      เวลาผมกราฟตอเปเรสเกียนี่ ถ้าเป็นไปได้ผมจะไม่ค่อยได้ใช้มือจับตรงๆ เท่าไร แต่จะใช้เป็นที่คีบ ฟอร์เซบ (Forceps) มาหนีบแทนการจับด้วยนิ้วตรงๆ เพราะผมไม่ชอบหนามของตอชนิดนี้เลยจริงๆ ครับ

ระยะในการปาดนั้นก็จากยอดลงมาประมาณนี้ครับ


ปาดแล้วครับ


                      ตัดใบตรงส่วนบนๆ  5-6 ใบบนสุด ออกสักครึ่งใบด้วยก็ดีครับ เพราะเดี๋ยวตอนท้ายเราจะต้องมีการสวมถุงเพื่อรักษาความชื้น การตัดใบ 5-6 ใบบน ออกครึ่งใบจะทำให้สวมถุงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเดี๋ยวจะเห็นภาพต่อไปด้านล่างครับ

ตัดใบ 5-6 ใบบน ออกสักครึ่งนึง

                      ตอนเราลงมือปาดยอดของตอ ก็ดูรอยตัดให้ตรง ดูผิวที่ตัดให้เรียบเสมอกันด้วยนะครับ ถ้าปาดไปแล้วเนื้อมันยุบหรือรอยตัดไม่เรียบเสมอกันก็ปาดซํ้าอีกรอบนะครับ เอาจนกว่าเราจะเห็นว่ารอยตัดนั้นมันเรียบเสมอกันดีกว่าครับ

                      และมันจะมีเทคนิคอย่างนึงในการกราฟตอเปเรสเกีย ซึ่งผมก็ได้รับคำแนะนำมาอีกทีนึง นั่นก็คือว่าเปเรสเกียนั้น ในบางทีเวลาที่เราปาดลงไป บางทีเนื้อตอจะค่อนข้างแห้ง ไม่มีค่อยมีน้ำเลี้ยงสักเท่าไร ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้การกราฟนั้นติดยากขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจึงอาจที่จะต้องมาทำการตัดใบของต้นเปเรสเกียมาสักใบนึง แล้วเอามาบี้ หรือเอามายี หรือบีบน้ำเลี้ยงจากใบเปเรสเกียออกมา แล้วเอามาป้ายตรงบริเวณตอที่เราปาดเอาไว้เพื่อช่วยเพื่มน้ำเลี้ยงให้มากขึ้นให้ตอไม่แห้งจนเกินไปเวลาที่ต่อจะได้ติดดียิ่งขึ้น 

( สำหรับเทคนิคนี้ก็แล้วแต่ท่านจะตัดสินใจนะครับ ยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าผมก็ฟังคำแนะนำเค้ามาอีกทีนึง ยังไงก็ฟังหูไว้หูหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนก็ดีนะครับ )

บี้ใบเปเรสเกียเพื่อเอานํ้าเลี้ยงจากใบ

                    ก็ตามในรูปเลยครับ ผมบี้ใบเปเรสเกียให้น้ำเลี้ยงของใบไหลออกมา จากนั้นก็เอาไปป้ายกับตอที่ปาดเอาไว้ เพื่อไม่ให้ตอนั้นแห้งเกินไป

แล้วก็เอาไปป้ายตรงตอที่เราปาดไว้

เรียบร้อยแล้วนะครับ ทีนี้เราจะมาเลือกต้นอ่อนแคคตัสที่จะเอามากราฟในคราวนี้กันครับ

                      โดยเจ้าแคคตัสที่ผมจะนำมากราฟในครั้งนี้ ผมเลือกมาเป็นลูกๆ ยิมโนแคคตัส ( gymnocalycium mihanovichii ) ต้นจิ๋วกระถางนี้


                      ยิมโนพอตนี้อายุกี่เดือนผมก็จำไม่ได้เหมือนกันนะครับ แต่โดยปรกติ ในการกราฟต้นอ่อนแคคตัสนั้น ผมจะใช้ต้นอ่อนที่มีอายุหลังจากการงอกขึ้นมา ไม่น้อยกว่า 3 อาทิตย์ขึ้นไป ประมาณนี้ครับ แต่ในพอตนี้เนี่ย มันน่าจะอายุหลายเดือนแล้วล่ะนะ เพราะบางต้นในพอตก็ต้นใหญ่แล้ว แต่ถ้านับรวมในการกราฟที่ผ่านมา ก็นั่นล่ะครับ ต้นอ่อนที่ผมว่าโตพอที่จะจับมากราฟได้ก็น่าจะต้องมีอายุตั้งแต่ 3 อาทิตย์ขึ้นไป ครับ

โดยผมจะดึงมาต้นนึง เอาเป็นเจ้าต้นที่เล็กที่สุดในพอตก็แล้วกันครับ

ดึงออกมาแล้วครับ ต้นเล็กมาก ประมาณก้านไม้ขีดได้

                     สำหรับการปาดแคคตัสที่มีขนาดเล็กมากๆ แบบนี้นั้น ต้องเบามือสักหน่อยนะครับ เพราะต้นของเค้าค่อนข้างที่จะอ่อนแอ แค่เราเอานิ้วไปกดหรือบีบแรงๆ ก็บี้เละคามือได้ง่ายๆ และด้วยความที่ขนาดต้นนั้นเล็ก ถ้าเราเผลอไปนิดเดียวอาจจะปาดเค้าได้ไม่ดีอาจจะลึกไปหรือว่าปาดแล้วเบียวก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นตอนลงมือทำก็ต้องอาศัยความนิ่งสักหน่อยนะครับ

                   ส่วนในการปาดนั้นควรจะปาดลึกหรือว่าตื้นขนาดไหน ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกันเอาเป็นว่าตามรูปก็แล้วกันนะครับ ผมปาดลงไปประมาณนี้ครับ


                      ต้องบอกเลยว่าผมลงมีดเบี้ยวไปนิดนึง อาจเพราะผมเป็นคนมือไม่ค่อยนิ่งเท่าไรเลยพลาดปาดเบี้ยว แต่ผมลองมองดูแล้วเห็นว่ารอยตัดนั้นเรียบดี ถึงจะผ่าเบี้ยวไปนิดแต่ผิวยังดูเสมอกันไม่ยุบ เพราะฉะนั้นก็น่าจะต่อได้ไม่เป็นปัญหา

                      เมื่อผ่าเสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะนำไปต่อกัน มันมีอีกเรื่องนึงของตอเปเรสเกียที่ต้องบอกให้ทราบกันก่อน นั่นก็คือเรื่องของการต่อท่อนํ้าเลี้ยงของตอเปเรสเกีย
                     
                     โดยปรกติตอชนิดต่างๆ เช่น แก้วมังกร ตอบลู ตอสามเหลี่ยมหนาม ตอลูกผสม ตอหนามดำ และตออื่นๆ จะมีท่อน้ำเลี้ยงอยู่ตรงส่วนกลางของต้น  ยกตัวอย่างตามรูปด้านล่าง อันนี้คือตอสามเหลี่ยมหนาม มองตามลูกศรในรูปนะครับ จะเห็นว่าท่อน้ำเลี้ยงของตอสามเหลี่ยมหนามนั้นก็คือตรงกลาง ที่เป็นกลมๆ นั่นล่ะครับท่อนํ้าเลี้ยง

( ต้องขออัพเดทว่าผมได้มีการแก้ไขเนื้อหาในบทความในส่วนที่เกี่ยวกับท่อนํ้าเลี้ยง เนื้องจากผมได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วก็เลยย้อนกลับมาอ่านบทความของตนเองอย่างละเอียดอีกครั้ง แล้วรู้สึกว่าคำอธิบายในส่วนของการต่อท่อนํ้าเลี้ยงระหว่างแคคตัสกับตอ ผมเขียนได้ไม่โอเคเลยครับ ก็เลยมีการปรับแก้เนื้อหาบางส่วน แต่คือยังไงเรื่องนี้ผมขอว่าอยากให้ทุกท่านหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะครับ ผมลองนั่งคิดวนไปวนมา แก้อยู่หลายรอบแล้วก็ยังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเขียนไปเลยจริงๆ  ต้องขอโทษด้วยนะครับ )

ตอสามเหลี่ยมหนาม ท่อนํ้าเลี้ยงคือท่อที่เป็นวงกลมตรงกลาง ตามลูกศรชี้

                         ซึ่งการกราฟนั้นก็คือการผ่าแล้วจับอกับของแคคตัสนั้นมาต่อติดกัน โดยที่ต้องให้ส่วนของท่อนํ้าเลี้ยงของตอและของแคคตัสนั้นต่อกัน ซึ่งเมื่อการกราฟนั้นสำเร็จ เนื้อของตอแลแคคตัสเค้าต่อติดสมานกันเมื่อไร ตอก็จะคอยส่งอาหารมาตามท่อน้ำเลี้ยงเพื่อเลี้ยงหัวแคคตัสให้เจริญติบโตต่อไป ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าในตอชนิดต่างๆ อย่างเช่นตอสามเหลี่ยมหนามนั้น ท่อน้ำเลี้ยงจะอยู่ตรงบริเวณกลางของลำต้น เพราะฉะนั้นในการกราฟ เวลาเราจับแคคตัสกับตอมาต่อกัน ถ้าเจ้าแคคตัสกับตอนั้นมีขนาดใกล้เคียง หรือเล็กใหญ่กว่ากันไม่มาก เราก็แค่วางหัวแคคตัสลงตรงจุดกึ่งกลางของตอ เพื่อให้ท่อนํ้าเลี้ยงนั้นต่อตรงกัน มันก็จะต่อกันพอดี ตัวอย่างตามรูปด้านล่าง

เวลากราฟ ต่อท่อนํ้าเลี้ยงให้ตรงกันนะครับ

                     แต่สำหรับในการกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอตอเปเรสเกียนั้น ด้วยความที่ต้นอ่อนแคคตัสมีขนาดที่เล็กกว่าขนาดของตอมากๆ วิธีการในการกราฟเราก็จะต้องมาดูที่ท่อนํ้าเลี้ยงของตอเปเรสเกียกันก่อนนะครับ เวลาเราต่อไปจะได้ตรงจุดของท่อนํ้าเลี้ยง

                     ซึ่งท่อน้ำเลี้ยงของเปเรสเกียจะเป็นท่อเล็กๆ ที่จะอยู่บริเวณรอบๆ ของแกนกลางต้น ลองดูตามรูปด้านล่างนะครับ ผมใส่ลูกศรชี้เอาไว้แล้วว่าท่อนํ้าเลี้ยงของตอเปเรสเกียอยู่ตรงช่วงไหน


                     ท่อน้ำเลี้ยงของตอเปเรสเกีย จะอยู่ตรงจุดตามลูกศรชี้ไป เป็นท่อเล็กๆ รอบๆ แกนกลาง ซึ่งในการต่อนั้น การที่จะต่อให้ท่อน้ำเลี้ยงของตอเปเรสเกียกับของแคคตัสตรงกันนั้น ถ้าแคคตัสที่นำมาต่อนั้นเป็นไม้ที่มีขนาดต้นที่ใหญ่พอๆ กับขนาดของตอ อันนี้ก็คงไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เราต่อลงไปได้เลย เพราะถ้าเป็นแคคตัสที่มีขนาดต้นใหญ่มีหน้าตัดที่พอๆ กับขนาดของตอ ยังไงมันก็จะมีส่วนของท่อน้ำเลี้ยงที่ตรงกันแน่ เพราะขนาดมันพอกัน เราจับต่อกันยังไงก็น่าจะติด แต่ถ้าเป็นในกรณีของต้นอ่อนแคคตัสที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของตอเปเรสเกียมากๆ แล้วล่ะก็ ในการต่อเราอาจจะที่จะต้องขยับหัวแคคตัสให้เฉียงออกมาจากกึ่งกลางตอสักหน่อยนะครับ เพื่อให้เค้าอยู่ตรงกับจุดท่อน้ำเลี้ยงที่อยู่ด้านข้างพอดี

ต่อท่อนํ้าเลี้ยงให้ตรงกัน

                    ตามที่เห็นในรูปเลยครับว่าผมจะจับเจ้าแคคตัสวางต่อเฉียงจากตรงกลางตอนิดหน่อย เพราะท่อน้ำเลี้ยงของเปเรสเกียนั้นอยู่เฉียงออกมารอบๆ จากแกนกลาง ตามลูกศรชี้ในภาพด้านบน เพราะฉะนั้นตอนที่เราต่อกันมันจึงออกมาริมๆ แบบนี้

           ***** ก็เอาเป็นว่าดูให้ท่อน้ำเลี้ยงมันตรงกันนั่นล่ะครับ เวลาที่คุณปาดลงไปที่ตอ เราก็มองดูก่อนว่าขุดของท่อน้ำเลี้ยงนั้นอยู่ตรงส่วนไหน เราก็จับมาต่อให้ตรงกันนั่นล่ะครับ

                   เมื่อเราต่อกันเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาที่ผมคิดว่าทำก็ได้ แต่จะไม่ทำก็แล้วแต่ เพราะบางคนก็ไม่ทำแบบนี้ นั่นก็คือการเอาถุงมาครอบเพื่อรักษาความชื้นครับ


                       อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องของความเชื่อนะครับ อย่างตัวผมนั้น เชื่อว่าพวกต้นอ่อนแคคตัสนั้นมันค่อนข้างอ่อนแอ และตายง่าย ถ้าเกิดว่าเจอสภาพอากาศที่แห้งมากๆ ในระหว่างที่การต่อสมานกันยังต่อติดไม่ดี ยังส่งอาหารถึงกันได้ไม่ดี มันมีโอกาสที่แคคตัสจะคายน้ำเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งเกินไป ทำให้ต้นแคคตัสที่เราต่อไปนั้นเกิดอาการต้นฟีบ หรือคายน้ำมากไปจนต้นแห้งตายไปก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการนำถุงใสมาครอบเอาไว้เพื่อรักษาความชื้นไม่ให้สภาพอากาศนั้นแห้งเกินไปนัก ต้นจะได้ไม่คายน้ำมากจนฟีบและแห้งตาย แต่คือเรื่องนี้มันเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลนะครับ บางคนก็ทำแบบนี้แหละ เอาถุงมาครอบไว้เพื่อรักษาความชื้น แต่ก็มีหลายท่านนะที่ไม่ได้ครอบถุงแต่ก็ยังต่อติดได้อย่างไม่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมว่าแล้วแต่การตัดสินใจก็แล้วกันนะครับ ยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ครับ

                      สำหรับถุงที่ผมใช้ครอบเพื่อรักษาความชื้นนั้น ก็ตามในรูปนี่แหละครับ เป็นถุงซิปล็อคขนาดเล็กๆ ก็ซองใส่ยานั่นล่ะครับ ผมซื้อจากร้านขายยาแถวบ้าน

                      ย้อนกลับไปนิดนึง เมื่อตอนที่ผมปาดที่ตอแรสเกียที่เขียนไปด้านบนนั้น ที่ผมบอกว่าให้ตัดใบบนๆ ออกครึ่งใบ นั่นก็เพราะเวลาที่เราครอบถุงลงไปนั้น มันจะลงล็อกพอดี ไม่หลุด ไม่เลื่อน ไม่บีบเกินไปนัก


                      ก็เรียบร้อย ครบถ้วนแล้วล่ะครับกับขั้นตอนในการกราฟ หลังจากนี้ผมก็จะนำเจ้าต้นนี้ไปเก็บเอาไว้ในสถานที่ร่มมีแสงรำไร อากาศถ่ายเทดี และรอเวลาให้การต่อนั้นสมานต่อติดกัน ก็น่าจะประมาณสัก 5-7 วันก็น่าจะรู้ผลแล้วล่ะนะว่าต่อติดหรือไม

                     ในความคิดของผม การกราฟต้นอ่อนที่มีขนาดเล็กมากๆ โอกาสที่จะต่อไม่ติดมันก็มีอยู่พอสมควรเลยนะครับ เพราะยิ่งไม้เล็กมากเท่าไร ความอ่อนแอก็มีมาก เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสเกิดความพลิกผันได้นะครับ อาจจะต่อติดดีไม่มีปัญหา หรืออาจที่จะต่อติดแต่คิดไม่ค่อยดี ติดแล้วส่งการเจริญเติบได้ไม่ดี หรือแย่สุดคือต่อไม่ติดและตายไปเลยก็มีนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องเผื่อใจเอาไว้ด้วยนะครับ ผมเคยมาแล้วครับ กราฟ 10 ต้น ติดแค่ 2 ต้น กับเจ้าตอเปเรสเกียเนี่ย

                   และอีปัญหานึงที่จะเจอกันบ่อยในการกราฟต้นอ่อนบนตอเปเรสเกียนั่นก็คือ เรื่องของการต่อติดแต่ติดไม่สนิททั้งหัว เนื้อของแคคตัสกับเนื้อของตอต่อติดแค่กันบางส่วนเท่านั้น ซึ่งพอเราเลี้ยงไปเรื่อยๆ ตออาจจะดีดจนหัวแคคตัสเอียงหรือเด้งหลุดออกมาก็เป็นได้ ตัวอย่างตามรูปด้านล่าง 

เป็นคนละต้นกันกับต้นที่เราสาธิตไปนะครับ อันนี้คือตัวอย่างที่ผมเก็บภาพาจากอีกต้นนึง

ต่อติดไม่ค่อยดี เนื้อแคคตัสกับที่ต่อติดกันมีแค่นิดเดียว ตอดีดจนเกือบหลุด

                       ซึ่งถ้าเจอกรณีแบบนี้เกิดขึ้นล่ะก็ ผมจะพิจารณาว่า ในเมื่อต่อกันไปแล้วแต่ติดไม่ดี ติดไม่สนิท แล้วหัวแคคตัสยังสามารถเจริญเติบโตได้อยู่หรือไม่ ถ้าแคคตัสยังโตขึ้นได้อยู่ผมก็จะปล่อยไปไม่ทำอะไร เพราะถือว่ายังเติบโตได้ก็ปล่อยให้เค้าโตต่อไปดีกว่า แต่ถ้าเกิดว่ามันต่อกันติดไม่สนิทแล้วหัวแคคตัสนิ่งไปเลย เลี้ยงไปนานเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่โตขึ้นเลยสักนิด ไม่มีพัฒนาการอะไรใดๆ เลยสักอย่าง ยอดไม่เดิน ก็อาจที่จะต้องมาทำการรีกราฟกันใหม่อีกครั้ง หรือไม่ผมก็อาจจะปล่อยไปเลยก็เป็นไปได้ แล้วแต่จะตัดสินใจ 

แต่ถึงแม้ว่าจะต่อติดไม่ดี แต่เติบโตได้แบบนี้ ก็ไม่มีปัญหา

                      แต่อย่างต้นตัวอย่างที่ลงให้ดูนั้น ไม่ต้องต่อใหม่แต่อย่างใด เพราะถึงแม้ว่าจะต่อติดแค่นิดเดียวแต่หัวแคคตัสก็ยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างไม่เป็นปัญหา เพราะงั้นก็ไม่ต้องทำอะไรครับ ปล่อยไปอย่างงั้นเลยครับ ไม่ต้องห่วง

ต้นอาจจะเอียงไปบ้าง แต่โตได้เรื่อยๆ ปล่อยไปแบบนี้ได้เลยครับ

สำหรับการดูแลไม้กราฟตอเปเรสเกียนั้น

                       ในช่วงระยะแรกๆ หลังจากที่เค้าต่อกันติดใหม่ๆ ผมจะเลี้ยงแบบให้โดนแดดอ่อนๆ ไปก่อน ไม่ให้โดนแดดจัด เพราะเค้ายังปรับตัวกับแสงแดดแรงๆ ไม่ได้ โดนแดดจัดไปอาจจะตายเอาได้ เพราะฉะนั้นผมจะให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปสักระยะ จนกว่าต้นของเค้าจะเริ่มเจริญเติบโตตั้งตัวได้ มีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดีเมื่อไร ก็จะค่อยๆ เพิ่มแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้นเรื่อยๆ ( เทรนแดด ) ไปทีละระดับครับ

กลับมาที่ต้นเดิมที่เรากราฟไว้ อันนี้คือภาพหลังจากที่กราฟติดไปได้ 3 สัปดาห์

                     สำหรับเรื่องของดินปลูก ผมมีอยู่สูตรเดียว นั่นก็คือดินใบก้ามปูครับ ผมใช้ดินใบก้ามปูปลูกไม้กราฟทุกต้นที่มีเลยก็ว่าได้ เพราะงั้นผมมีแค่สูตรนี้สูตรเดียวครับ

ส่วนการให้น้ำ

                     เปเรสเกียเป็นไม้ที่ผมว่าน่าจะชอบน้ำนะ จากที่ปลูกมา ผมให้น้ำค่อนข้างจะเยอะเลยทีเดียวครับ ผมไม่เคยกำหนดวันนะว่าต้องรดน้ำกี่วันครั้ง พอเห็นว่าดินเริ่มแห้งเมื่อไรก็จะรดน้ำเลยทันทีครับ


                      ไม่รู้ผมคิดไปเองรึเปล่านะ แต่ในการเลี้ยงไม้กราฟตอเปเรสเกีย ถ้าเกิดว่าปล่อยให้เค้าแห้งจนเกินไป แห้งจนต้นเริ่มมีอาการขาดน้ำ และยิ่งถ้าโดนแดดจัดๆ ซ้ำเข้าไปด้วยแล้วล่ะก็ เหมือนว่าใบของเปเรสเกียจะร่วงเลยครับ


                    เปเรสเกียเป็นไม้ที่แตกิ่งใหม่ เก่งมากๆ และกิ่งของเค้านั้นก็โตเร็วมากๆ เลยล่ะครับ ซึ่งถ้าเมื่อไรที่ตอเปเรสเกียของผมนั้นแตกกิ่งแทรกออกมาเยอะๆ ผมจะตัดกิ่งเหล่านั้นทิ้งหมดเลยครับ จะไม่เก็บกิ่งของเค้าเอาไว้ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเค้าแตกกิ่งออกมาเยอะๆ มันอาจจะไปแย่งสารอาหารที่จะส่งไปเลี้ยงหัวแคคตัสที่เรากราฟเอาไว้ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมเห็นเค้าแตกกิ่งผมจึงมักจะตัดออกตลอด 

ถ้าตอแตกกิ่งเยอะๆ แบบนี้ ก็ตัดกิ่งตอออกไปบ้างนะครับ จะได้ไม่แย่งอาหารแคคตัส

                    แต่ก็ต้องบอกเลยว่า มันแตกกิ่งใหม่มาแทบทุกอาทิตย์เลยครับ บางทีผมก็เบือๆ กับการที่ต้องมานั่งเล็มกิ่งออกอยู่ตลอดเหมือนกันนะ

ตัดภาพมาอีกที เจ้ายิมโนน้อยๆ เริ่มโตและครับ

                       ในส่วนของพัฒนาการการเจริญเติบโตของแคคตัสที่กราฟบนตอเปเรสเกียนั้น ผมว่าใช้ได้อยู่นะ จากที่เห็นๆ มา ก็โตไปเรื่อยๆ เลยทีเดียวครับ

พัฒนาการผมว่าใช้ได้อยู่ครับ

                      เห็นตอเปเรสเกียต้นเล็กๆ ดูเก้งก้างแบบนี้ บางท่านอาจจะรู้สึกสงสัยว่าเค้าจะเลี้ยงแคคตัสไปได้นานขนาดไหน ตอเล็กมากๆ แบบนี้จะรับน้ำหนักของแคคตัสเมื่อโตขึ้นได้สักเท่าไร เมื่อแคคตัสต้นใหญ่ตอจะรับไม่ไหวแล้วหักลงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้นั้น ผมขอบอกว่าเค้าสามารถที่จะเลี้ยงแคคตัสให้เติบโตจนหัวมีขนาดใหญ่ได้สบายครับ เลี้ยงต่อไปได้นานเลยด้วยครับ

มีตัวอย่างไม้กราฟอีกต้นนึงของผมมาให้ดู


                      เจ้าต้นนี้คือ ( astrophytum myriostigma ) หรือเจ้าแอสโตร มายริโอด่าง ซึ่งตอนที่ผมกราฟนั้น ก็ขนาดหัวพอๆ กันกับต้นที่เอามาสาธิตในวันนี้นี่แหละครับ ซึ่งผมเลี้ยงปล่อยยาวๆ จนเค้าเติบโตจนต้นใหญ่ อย่างทีเห็นเลยครับ
 
                      ผมประมาณเอาไว้ว่า ถ้าตอยังสามารถที่จะรับน้ำหนักและเลี้ยงได้ไม่มีปัญหา ตอไม่เอียง ต้นไม่ล้ม หรือหัก ผมก็จะเก็บเอาไว้แบบนั้นไม่ตัดลง แต่ถ้าแคคตัสนั้นโตจนต้นใหญ่มากๆ จนเกินที่เค้าจะรับน้ำหนักได้ไหว ต้นเอียงล้มยืนไม่อยู่ ก็คงต้องตัดลงครับ

เอามาให้ดูอีกต้นนึงก็แล้วกัน

ต้นนี้เป็นแอสโตไฟตั้ม แอสทีเรียส ( astrophytum asterias )


                     เช่นเดียวกันครับ แอสโตรต้นนี้เป็นไม้ที่ผมจับมากราฟตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นต้นอ่อนต้นเล็กๆ เท่านั้น เลี้ยงไปเลี้ยงมา เค้าโตจนออกดอกและติดฝักให้เมล็ดได้แล้วล่ะครับ เพราะงั้นก็น่าจะสรุปได้แล้วล่ะครับ ว่าเปเรสเกียนั้น สามารถที่จะส่งการเจริญเติบโตและเลี้ยงแคคตัสของเราไปได้ จนโต จนออกดอกได้เลยล่ะครับ

                    ก็ประมาณนี้แล้วกันนะครับสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอเปเรสเกีย เพราะบทความเริ่มจะยาวเกินไปและ เอาเป็นว่าถ้ามีอะไรเพิ่มเติมค่อยไปว่ากันใหม่ในอนาคตก็แล้วกันนะครับ ตอนนี้ผมเขียนเยอะมากจนเริ่มจะมึนแล้วล่ะครับ
เจ้ายิมโนต้นน้อยๆ ในตอนแรก ตอนนี้โตแล้วครับ

                   ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะบอกก่อนที่จะจบบทความนี้ไปนั่นก็คือ เทคนิคในการปลูกต้นไม้นั้นมีหลากหลาย อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งแรกที่ท่านเห็น ให้หาข้อมูลจากหลายๆ ที่มาประกอบกันก่อนที่จะตัดสินใจ ก่อนจะลงมือทำอะไร เผื่อใจให้กับความเสี่ยงด้วยนะครับ


            แล้วพบกันใหม่ กับเรื่องราวการปลูกต้นไม้ของเรา ซึ่งก็จะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากบทความนี้นี่แหละ เป็นเรื่องของการตัดลงตอเปเรสเกีย

ก็ตามลิงก์ที่ลงไว้นี้เลยครับ การตัดลงตอเปเรสเกีย

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

9 comments:

  1. ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้มากเลย

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากค่ะ :)

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณมากๆ ค่ะ

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณ​มากคะและ​ได้ความรู้มากเลยจะลองทำตามนะคะ

    ReplyDelete
  5. ขอบคุนมากๆครับ

    ReplyDelete
  6. ขอบคุณนะคะ สำฟรับความรู้ดี ๆ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.