Friday, February 3, 2017

การตัดลงตอเปเรสเกีย


                      ในบทความที่แล้วเราได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอเปเรสเกียกันไปพอสมควร แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน เพราะยังมีอีกเรื่องเกี่ยวกับไม้กราฟตอเปเรสเกียที่ผมยังอยากจะเขียน นั่นก็คือเรื่องราวของการตัดลงตอเปเรสเกีย มาในบทความนี้ก็เลยจะมาต่อกัน ว่าวิธีการตัดแคคตัสลงจากตอเปเรสเกียที่ผมใช้นั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และหลังจากที่ตัดแคคตัสลงมาจากตอแล้วเราจะเลี้ยงดูกันยังไงต่อไป

ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความที่แล้วลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ ตามลิงก์ การกราฟต้นอ่อนแคคตัสบนตอเปเรสเกีย ( Pereskiopsis Graft )

                      สำหรับเจ้าแคคตัสที่เราจะมาตัดลงจากตอกันในคราวนี้ก็ตามรูปเลยครับ แต่ก่อนจะเริ่มวิธีการตัดลง ผมขอลงภาพเก่าๆ ของเจ้าต้นนี้สัก 3-4 ภาพ เพื่อย้อนความถึงพัฒนาการของเค้าก่อนนะครับ ว่าที่มาที่ไปของเค้านั้นเป็นยังไง 


เจ้าต้นนี้คือแคคตัสสายพันธ์ ( astrophytum myriostigma variegata ผมเรียกง่ายๆ ว่า มายริโอด่าง ก็แล้วกันนะครับ 

                  จำได้ว่าตอนที่ผมนำเจ้ามายริโอด่างต้นนี้มากราฟบนตอเปเรสเกียนั้น ยังเป็นต้นเล็กๆ อยู่เลยครับ แต่เป็นภาพของเค้าที่ผมถ่ายเอาไว้จะเป็นตอนที่เค้าเริ่มโตแล้วนะครับ ภาพสมัยตอนที่เค้ายังเล็กๆ ตอนเป็นต้นอ่อนที่ผมเริ่มกราฟใหม่ๆ ผมไม่ทันได้ถ่ายไว้ มีแต่ภาพตอนเริ่มโตมาประมาณนึงแล้ว

ภาพแรกของเจ้าต้นนี้ที่ผมถ่ายไว้

ซึ่งภาพแรกของเค้าก็คือภาพที่เห็นนี่แหละครับ ผมเห็นลายด่างแบบนี้แล้วชอบเลยครับ น่าสนใจดี


และเมื่อวันเวลาผ่านไปเจ้ามายริโอด่าง จากต้นน้อยๆ ก็ค่อยๆ เติบโตสวยงามขึ้นเรื่อยๆ 


ดูมีอนาคตมากๆ เลยล่ะครับ ด่างดี และโตค่อนข้างไว ทำให้ผมรู้สึกว่าตอเปเรสเกียนั้นส่งการเจริญเติบโตได้ดีเลยทีเดียว


                      แต่ตอเปเรสเกียก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ นั่นก็คือเค้าเป็นตอที่มีขนาดเล็ก เวลาที่เราเลี้ยงไปเรื่อยๆ เมื่อแคคตัสเจริญเติบโตขึ้นจนต้นใหญ่มากๆ ตอเปเรสเกียจะเริ่มรับนํ้าหนักขอเจ้าแคคตัสไม่ไหว เมื่อเริ่มแบกไม่ไหว ตอก็จะเริ่มเอนล้มในที่สุด อย่างในรูปจะเห็นว่าตอนนี้ตอเริ่มรับนํ้าหนักเจ้ามายริโอด่างไม่ไหว เริ่มเอนจนผมต้องหาไม้มาผูกคํ้าไม่ให้ล้มแล้วล่ะครับ


                     ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่าคงถึงเวลาที่จะต้องตัดแคคตัสลงจากตอแล้วล่ะนะ เพราะตอเริ่มรับนํ้าหนักแคคตัสไม่ไหวแล้ว ตัดลงมาเลี้ยงแบบรากตัวเองดีกว่า

                    สำหรับวิธีการตัดลงตอเปเรสเกียที่ผมใช้นั้นก็ต้องบอกเลยว่า ไม่ยาครับ หลักที่ผมใช้ก็คือ ตัดเอาตอออกให้หมดไม่ให้เหลือ เราจะเอาแค่เฉพาะหัวแคคตัสเท่านั้น ไม่เอาตอครับ

เริ่มจากผมจะเอามือจับที่หัวแคคตัส แล้วบิดหักลงมาจากตอ


                    ถ้าเราหักเค้าลงมาจากตอแล้ว มันยังมีเนื้อของตอ หรือแกนตอติดมากับหัวแคคตัสด้วยแล้วล่ะก็ ให้ใช้มีดแซะออกให้หมดเลยนะครับ อย่าให้เหลือแกนตอหรือเนื้อตอติดมาด้วยเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เอาครับ เราเอาแค่เฉพาะหัวแคคตัสเท่านั้น


                    ตอนที่ผมบิดหักเจ้าต้นนี้ลงจากตอนั้น พอดีไม่ค่อยมีเนื้อตอหรือแกนตอติดมาด้วยสักเท่าไร มีแค่นิดหน่อยๆ มันก็เลยง่าย ผมเอามีดขูดเล็กๆ น้อยๆ ก็เรียบร้อยแล้วล่ะครับ

ดูว่ามีเนื้อของตอติดมากับหัวแคคตัสหรือไม่ ถ้ามีให้แซะเนื้อตอออกให้หมด

                        ด้วยความที่เจ้ามายริโอต้นนี้มีหน่อเยอะผมก็เลยนึกสนุก เด็ดหน่อของเค้าออกมา กะว่าจะเอาไปลองกราฟต่อบนตอเล่นๆ ถ้าติดก็ดีจะได้มีต้นสำรอง แต่ถ้าไม่ติดก็ไม่เป็นไร ซึ่งเดี๋ยวตอนท้ายบทความเดี๋ยวผมเอามาให้ดูด้วยแล้วกันว่าหน่อที่เด็ดมาสุดท้ายเป็นยังไง


กลับไปที่มายริโอต้นหลักของเรากันต่อดีกว่าครับ  ว่าจะทำยังไงกันต่อหลังจากที่ตัดลงมาจากตอเรียบร้อย

                      ขั้นตอนต่อมาหลังจากที่เราได้หัวแคคตัสมาเรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณมีพวกยาเร่งราก หรือผงทาเร่งราก ก็สามารถทาได้ตอนนี้เลยนะครับ แต่ถ้าไม่มีหรือไม่อยากทาก็ไม่ต้องทาก็ได้ อย่างผมนั้นก็ไม่ได้ทายาเร่งรากอะไรทั้งนั้น เพราะไม่มีครับตอนนั้น


                       หลังจากที่เราทายาเร่งรากเรียบร้อย หรือจะไม่ทาก็แล้วแต่ ขั้นตอนต่อไปเราก็จะเอาเจ้าแคคตัสไปวางผึ่งเพื่อรอให้แผลแห้งครับ ซึ่งการวางผึ่งนัน ผมจะใส่ตะกร้าวางไว้ในจุดที่มีแสงส่องรำไร อากาศถ่ายเทดี จะให้ได้รับแดดอ่อนๆ เล็กน้อยก็ได้ แต่ห้ามให้ตากฝนนะครับ ซึ่งการวางผึ่งนั้นก็จะวางเอาไว้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ขึ้นไป จะยาว 3 อาทิตย์ หรือเดือนนึงเลยก็ได้ แคคตัสเป็นไม้ที่อดทนเอามากๆ ยิ่งถ้าเป็นแคคตัสที่ต้นมีความสมบรูณ์ดี ต้นมีขนาดใหญ่แล้วล่ะก็ จะอยู่ได้นานมากครับ เพราะงั้นวางไว้ได้เลยสบายๆ อาจจะมีอาหารต้นเหี่ยว ผิวยุบไปบ้างจากการขาดน้ำ แต่ไม่ตายง่ายๆ หรอกครับ

                      ซึ่งในระหว่างที่เราวางผึ่งเอาไว้นั้น ถ้าโชคดีเค้าก็อาจที่จะแทงรากออกมาด้วยตัวของเค้าเอง ซึ่งถ้าเจอแบบนี้ล่ะก็สบาย ลงปลูกไม่นานก็น่าจะฟื้นตัวได้แล้วล่ะครับ แต่ถ้าวางผึ่งเอาไว้ 2-3 อาทิตย์แล้วเค้ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ เค้าอาจที่จะยังไม่พร้อมที่จะออกรากในตอนนั้นก็เป็นได้ หรืออาจที่จะต้องลงปลูกหรือล่อรากก่อน รากถึงจะมาก็เป็นได้ ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไปดีกว่าครับ

ด้วยความที่ผมไม่รีบร้อนเท่าไร สุดท้ายผมก็วางเจ้าต้นนี้ผึ่งเอาไว้ 1 เดือนครับ


อาจจะมีอาการต้นเหี่ยวไปบ้าง เพราะวางผึ่งเอาไว้นานเป็นเดือนต้นก็เลยคายน้ำจนซูบ แต่ก็ยังโอเคอยู่นะครับ


                       เมื่อมาถึงในขั้นตอนนี้ ได้หัวแคคตัสที่ผึ่งจนแผลแห้งสนิทเรียบร้อยแบบนี้แล้ว มันก็จะมีสองทางให้เราตัดสินใจ ทางแรกคือเอาไปล่อราก ส่วนอีกทางก็คือเอาไปลงปลูกในดินปลูกเลย

                       ซึ่งถ้าเราจะเอาไปล่อรากล่ะก็ วิธีการล่อรากที่ผมใช้ก็ง่ายๆ เอาหินภูเขาไฟก้อนเล็กสุด ( เบอร์ 00 ) มาใส่กระถาง จากนั้นก็เอาเจ้าแคคตัสลงไปปักชำในหินภูเขาไฟ รดน้ำให้พอชื้นๆ จากนั้นก็เอาเค้าไปเก็บในที่ ที่มีแสงแดดส่องอ่อนๆ อย่าให้โดนแดดจัด อย่าให้ตากฝน การดูแลหลังจากนั้นก็แค่คอยรดน้ำเมื่อเห็นว่าหินภูเขาไฟเริ่มแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นการรอคอยให้เค้าออกราก ซึ่งเมื่อเค้าเริ่มออกราก ต้นเริ่มมีการเจริญเติบโต ยอดเริ่มเดินเมื่อไรเราก็จะย้ายเค้าออกมาปลูกในดินปลูกตามปรกติต่อไปครับ นี่คือการล่อราก

                      แต่สำหรับเจ้ามายริโอด่างต้นนี้ ผมตัดสินใจไม่ล่อรากเพราะรู้สึกี้เกียจ ผมเอาลงปลูกในดินปลูกเลยก็แล้วกัน แล้ววัดกันไปเลยดีกว่า


                        สำหรับดินที่ผมใช้ปลูกนั้น เป็นดินผสมเองครับ ซึ่งส่วนผสมดินที่ผมใช้นั้นก็มี ดินใบก้ามปูร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ ถ้าไม่มีใช้เป็นดินแคคตัสที่เค้าขายกันตามร้านขายกระบองเพชรก็ได้ จากนั้นก็เอามาผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็ก และเพอร์ไลท์  อัตราส่วนผสมก็พอๆ กันครับ ตอนผสมผมไม่ได้ตวงแบบละเอียด ก็เอาแค่มองว่าเนื้อดินร่วนละเอียดดูมีความโปร่งผมก็พอแล้ว

                       เรื่องดินเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว อันนี้ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณาก็แล้วกันนะครับ สูตรดินนั้นมีมากมายหลายแบบ ขอแค่เพียงอยู่ในหลักที่ว่าดินนั้นต้องโปร่ง ระบายน้ำได้ดี แบบนี้ก็น่าจะโอเคครับ

ลงปลูกกันเลยดีกว่าครับ


                       เวลาที่ลงปลูก ถ้าเราเอาไม้ลงดินแล้วต้นมันล้มมันเอน ตั้งตัวไม่อยู่ล่ะก็ เอาหินมาโรยหน้าเพื่อประคองต้นไม่ให้ล้มก็ได้นะครับ อย่างเจ้าต้นนี้ผมก็มีโรยเพื่อประคองไม่ให้ต้นล้มเหมือนกันครับ เพราะไม้ตัดลงมันไม่มีรากคอยพยุงให้ต้นตั้งอยู่กับดิน ปักแล้วมันก็ชอบล้มน่ะครับ

โรยหินเรียบร้อย ดูสวยดีเลยทีเดียว

เรียบร้อยแล้วนะครับ

                      สำหรับการดูแลไม้ตัดลงที่พึ่งจะเอาลงปลูกใหม่ๆ นั้น ห้ามเอาไปตากแดดแรงๆ อย่าพึ่งให้โดนแดดจัดนะครับ เพราะเค้าจะทนกับแดดแรงๆ ไม่ไหว อาจจะไหม้แดดหรือมีอาการต้นคายน้ำจนต้นเหี่ยวเอาได้ เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ของการปลูกก็ให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปก่อน รอจนกว่าเค้าจะเริ่มออกราก ต้นเริ่มฟื้นเมื่อไรก็ค่อยเพิ่มแสงแดดไปทีละนิดตามลำดับ ( เทรนแดด )

                     ส่วนการรดน้ำ รดต่อเมื่อดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ถ้าดินยังชื้นก็ยังไม่ต้องรด ผ่านไปก่อน รอจนกว่าจะเห็นว่าดินแห้งสนิทค่อยรด

อย่าให้เค้าตากฝนบ่อยๆ เพราะอาจจะทำให้เน่าตายได้นะครับ


                        ประมาณนี้ครับ ที่เหลือเป็นเรื่องของการรอคอยว่าเจ้าแคคตัสจะยอมออกรากหรือไม่ และการออกรากนั้นจะเร็วขนาดไหน อันนี้เป็นเรื่องของตัวแคคตัสต้นนั้นแล้วล่ะครับ บางต้นก็ออกรากได้ไว 2-3 อาทิตย์รากก็มาแล้ว บางต้นก็ต้องรอกันเป็นเดือนกว่ารากจะมา บางต้นก็ไม่มาเลยก็มี เรื่องนี้คนปลูกอย่างเราก็ต้องใจเย็นๆ นะครับ บางคนใจร้อน เห็น 5-6 วัน แล้วต้นยังนิ่งไม่ขยับการเจริญเติบโตก็ทนไม่ไหวไปถอนขึ้นมาดู เห็นยังไม่มีรากก็กังวลไปว่าทำไมรากไม่งอก มันเร็วไปครับ มันไม่ได้มาเร็วทันใจขนาดนั้นหรอกครับ เพราะฉะนั้นต้องใจเย็นๆ นะครับ ให้เวลากับเค้าสักหน่อยนะ

                      และก็ต้องเผื่อใจถ้าเกิดว่าสุดท้ายแล้วมันไม่สำเร็จ ต้นแคคตัสเกิดไม่ยอมออกรากหรือเกิดตายจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตามด้วยนะครับ ต้องบอกเลยว่าการตัดลงตอแคคตัสนั้นมันก็มีโอกาสที่จะล้มเหลว ไม่ได้ขึ้นง่ายทุกต้น บางต้นก็ยากมากนะครับ อย่างพวกแคคตัสที่ด่างมากๆ ด่างเกินครึ่งหัว เท่าที่ผมเคยตัดลงมา ผมว่าออกรากยากพอตัวเลยครับ ต้องลุ้นกันหนักเลยทีเดียว

                      **** ต่ถ้าเป็นหัวแคคตัสที่ด่างหมดทั้งหัว เป็นหัวสีที่ไม่มีสีเขียวหรือสีโทนดำหรือม่วงปนอยู่เลยล่ะก็ แบบนี้ตัดลงไม่ได้นะครับ พวกหัวสีที่ไม่มีสีเขียวปนจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงด้วยตัวเองได้เพราะไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงเลี้ยงตัวเองไม่ได้ต้องให้ตอช่วงเลี้ยงช่วงส่งการเจริญเติบโตครับ ถ้าตัดลงจากตอ เท่าที่ผมเคยลอง เค้าไม่ยอมออกรากรับ

ตัดภาพมาอีกทีเลยแล้วกัน หลายเดือนผ่านไป เจ้ามายริโอต้นนี้ยังอยู่ดี


                      อาจจะไม่ได้เติบโตต้นใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิมมากสักเท่าไร เพราะเล่นออกแต่หน่อจนหน่อเต็มไปหมดการเจริญเติบโตก็เลยไปเพิ่มที่หน่อเป็นหลัก แต่ก็ถือว่าน่าพอใจอยู่ครับ หายห่วงแล้วตอนนี้

                      ไหนๆ ก็มาถึงขนาดนี้แล้ว เดี๋ยวผมเทกระถางออกมาให้ดูเลยก็แล้วกัน ว่าหลังจากที่ตัดลงตอแล้วเลี้ยงต่อมาอีกหลายเดือน รากของเค้านั้นจะมีมากน้อยขนาดไหน


จากที่ดูก็ออกรากมาพอใช้ได้อยู่นะครับ เดี๋ยวผมล้างน้ำก่อนนะครับ จะได้เห็นระบบรากของเจ้ามายริโอด่างแบบละเอียด


ล้างเรียบร้อยแล้วครับ ผมค่อนข้างพอใจอยู่นะแบบนี้ รากอาจจะไม่เยอะ รากเส้นไม่ใหญ่มาก แต่ก็โอเคอยู่นะครับ


ก็ถือว่าการตัดลงตอเปเรสเกียของเราในวันนี้นั้นสำเร็จลงไปด้วยดีนะครับ ก็จบแล้วครับบทความ

                   แต่ก่อนจะลากันไป เมื่อตอนกลางบทความผมได้เขียนบอกเอาไว้ว่าตอนที่ตัดลงตอนั้น ผมได้เด็ดหน่อของเจ้ามายริโอด่างออกมา กะว่าจะเอาไปกราฟเพื่อทำเป็นต้นสำรองเผื่อต้นนี้ตาย เอาเป็นว่าเราไปดูภาพการกราฟหน่อแคคตัสแบบย่อๆ กันดีกว่าครับว่าเป็นยังไง

โดยผมจะเอาไปกราฟต่อบนตอบลูครับ


ซึ่งตอบลูที่ผมใช้เป็นตอที่ชำจนมีราก เลี้ยงจนต้นสมบรูณ์แล้วนะครับ

วิธีการก็ ปาดที่ยอดของตอบลู และตัดแต่งขอบ


จากนั้นก็ปาดที่หน่อแคคตัสที่จะใช้กราฟ


จากนั้นก็นำแคคตัสที่เราปาดไปต่อบนตอที่เตรียมไว้ ประกบกัน หมุนไล่อากาศแล้วติดสก๊อตเทป



                      เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ จากนี้ก็นำไปเก็บไว้ในที่ร่มมีแสงส่องรำไร เป็นเวลา 7 วัน เมื่อครบ 7 วันก็แกะสก๊อตเทปออกมาดูได้เลยครับ ระยะเวลา 7 วันก็น่าจะต่อติดรู้ผลกันแล้วล่ะครับ ว่าการกราฟของเรานั้นสำเร็จหรือไม่ 

                      ซึ่งการกราฟเจ้าต้นนี้ผลก็ปรากฏว่าต่อติดดีไม่มีปัญหาอะไรนะครับ และหลังจากที่กราฟติดเค้าก็มีการเจริญเติบโตที่ดีเลยทีเดียว แต่ผมขอไม่ลงรายละเอียดอะไรมากนะครับ เพราะบทความนี้มันยาวเกินไปแล้ว ขอข้ามไปที่ปลายทางด้วยภาพในปัจจุบันของเค้าเลยก็แล้วกัน ว่าตอนนี้เค้าเติบโตไปขนาดไหน สวยงามหรือไม่ก็ไปดูกันเลยดีกว่าครับ


                            และนี่คือภาพที่ผมถ่ายเอาไว้เมื่ออาทิตย์ก่อน อย่างที่เห็นเลยครับว่าเค้าเจริญเติบโตได้ดีมากๆ ขนาดต้นของเค้าตอนนี้ใหญ่กว่าต้นแม่ของเค้าอีกครับตอนนี้ ตอบลูเป็นตออีกชนิดนึงที่ใช้ดีมากๆ เลยล่ะครับ

                           ด้วยความที่บทความนี้มันยาวมากๆ ผมก็เลยเขียนรายละเอียดเดียวกับการกราฟแคคตัสบนตอบลูได้ไม่ละเอียดเท่าไร เพราะถ้าเขียนจนครบ กว่าจะจบบทความคงอีกไกล แต่ถ้าท่านใดที่สนใจอยากจะอ่านเรื่องราวการกราฟแคคตัสบนตอบลูอย่างละเอียดล่ะก็ ผมมีบทความเก่าที่เคยเขียนเอาไว้มาให้ได้ลองอ่านกัน เป็นบทความที่ผมเขียนไว้ละเอียดเลยทีเดียวครับ ลองเข้าไปอ่านดูได้ตามลิงก์ที่ลงไว้นี้เลยครับ การกราฟแคคตัสบนตอบลู ( Myrtillocactus geometrizans )

                          ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวการตัดลงตอเปเรสเกีย และการกราฟหน่อแคคตัสบตอบลู ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไปของเรา

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

1 comment:

  1. ได้ประโยชน์มากๆ ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.