Thursday, May 19, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอบลู ( Myrtillocactus geometrizans )


                   เจ้าแอสโตรด่าง ( astrophytum asterias nudum variegata ) ต้นที่เห็นในรูปนี้ เค้าถือเป็นแคคตัสที่ผมชอบมากต้นนึงเลยล่ะครับ ผมประทับใจในสีสันและอยากจะรู้ต่อไปว่าถ้าเลี้ยงไปเรื่อยๆ เมื่อเค้าโตขึ้นไปแล้วนั้นจะมีพัฒนาการที่เป็นแบบไหน จะเหลืองหมดทั้งหัวหรือสีเขียวจะขึ้นมาไล่ให้สีเหลืองนั้นหายไป หรือจะเป็นยังไงต่อไป คิดแล้วมันก็น่าสนุกจนทำให้ผมสนใจที่จะเฝ้ามองการเจริญเติบโตของเต้าต้นนี้มากเป็นพิเศษ 

                  ซึ่งที่ผ่านมาการเจริญเติบโตก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจอยู่นะ อาจจะไม่ได้โตเร็วสักเท่าไร เพราะเป็นแอสโตรที่ด่างค่อนข้างจะมาก แต่ก็ยังมีพัฒนาการที่ขยับไปข้างหน้าให้ได้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตอยู่ตลอด จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วนี่แหละครับ ที่จู่ๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา.....

เพราะวันดีคืนดีก็มีรอยแผลเกิดขึ้นบริเวณลำต้นของเค้า เป็นรอยแตกยาวประมาณสัก 1-1.5 ซม ตามที่เห็นในรูปด้านล่างนี้เลยครับ


                      ตอนที่เห็นแผลของเค้าปรากฏขึ้นมาก็ต้องบอกเลยว่าผมรู้สึกแปลกใจ และก็ไม่แน่ใจว่าสาเหตุนั้นมันเกิดจากอะไร เพราะก่อนหน้าที่ผมจะมาเห็นแผลที่เกิดขึ้นนั้น ก็ต้องบอกเลยว่ามันเป็นช่วงที่ผมไม่ได้อยู่บ้หลายวันพอดี เพราะงั้นผมก็เลยแปลกใจว่ามันเกิดรอยแตกแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะแอสโตรไฟตัมต้นอื่นๆ ที่เลี้ยงอยู่ด้วยกันในบริเวณนั้นอีกเยอะแยะมากมายก็ไม่ได้มีต้นไหนที่มีปัญหา มีแต่ต้นนี้ต้นเดียวนี่แหละครับ ที่อยู่ดีๆ ก็มีรอยแผลเกิดขึ้น

                     แต่คิดไปมันก็ปวดหัวเปล่าๆ ล่ะนะ ในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นมาแล้วแบบนี้ ผมไม่อยากจะไปคิดอะไรให้มันเยอะ ผ่านเลยไปเลยก็แล้วกัน มันจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ช่าง ผมไม่ต้องรู้ถึงสาเหตุนั้นก็ได้ เพราะงั้นผมก็เลยเลือกที่จะไม่หาคำตอบว่ารอยแตกนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ผมจะเดินหน้าต่อไป ในเมื่อมันมีรอยแผลที่ทำให้ดูเป็นตำหนิที่ไม่สวยงาม มองแล้วไม่ชอบใจ งั้นผมก็จะทำการกราฟปาดเหนือแผลแล้วยกส่วนที่ยังสวยๆ ขึ้นไปไว้บนตอเสียเลยก็แล้วกัน ให้เค้าไปเริ่มใหม่บนนั้นอีกครั้งดีกว่า เผื่อเค้าจะได้โตไวๆ ออกดอกเร็วๆ หรือไม่ก็ออกหน่อเยอะๆ ก็คงจะดี

*** อ่านมาถึงตรงนี้อย่าพึ่งเข้าใจผิดแล้วคิดว่าถ้าแคคตัสเป็นแผลแล้วจะต้องผ่าหรือต้องตัดเอาไปกราฟเท่านั้นนะครับ มันไม่ได้เป็นปัญหาที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะต้องอะไรขนาดนั้น ที่ผมเลือกที่จะกราฟนั้นมันเป็นแค่ความคิดสนุกๆ ผสมกับความหมั่นเขี้ยวของผมเองเท่านั้น คุณไม่ต้องทำตามผมก็ได้นะครับ

*** เพราะถึงแม้ว่าแคคตัสจะแตกหรือเกิดเป็นรอยแผล ถ้ารักษาดีๆ ก็ยังสามารถที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้ แค่ช่วงที่เกิดแผลขึ้นมาใหม่ๆ เราระวังเรื่องการเน่าและการติดเชื้อ พยายามอย่าให้แผลโดนนํ้า เมื่อแผลของเค้าแห้งเมื่อไรก็จะกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเท่านั้นไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง เพราะงั้นเมื่อแคคตัสของเราเกิดเป็นแผลขึ้นมา ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าทิ้งหรือว่าต้องตัดเอาไปต่อบนตอหรอกนะครับ เลี้ยงต่อไปเลยก็ได้อย่างที่บอกไปว่าที่ผมเลือกที่จะกราฟเพราะผมแค่อยากทำอะไรสนุกๆ เท่านั้น ถ้าคุณไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจหรือยังไม่พร้อมที่จะยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการกราฟ ผมว่าอย่าพึ่งเลยนะครับ เพราะถ้าพลาดต่อไม่ติดขึ้นมามันจะเสียดายเปล่าๆ เพราะงั้นใจเย็นๆ ก่อนนะครับ อย่าพึ่งใจร้อนด่วนตัดสินใจ

เราไปเริ่มเรื่องราวการกราฟเจ้าแคคตัสแอสโตรด่างต้นนี้กันเลยดีกว่าครับ


                ซึ่งตอที่ผมเลือกใช้ในการกราฟต่อเจ้าต้นนี้นั้นก็คือตอที่เรียกกันว่า ตอบลู ( Myrtillocactus geometrizans ) ต้นสีฟ้าตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ


                    การที่ครั้งนี้ผมเลือกตอบลูมาเป็นตอในการกราฟนั้น นั่นก็เพราะตอบลูเป็นตอที่ค่อนข้างจะมีความทนทานอายุการใช้งานเยอะ ถ้ากราฟติดขึ้นมาล่ะก็น่าจะอยู่กันไปได้สบายๆ อีกหลายปีอย่างแน่นอน และเจ้าตอบลูนั้นก็เป็นตอที่การส่งอาหารก็ค่อนข้างดี จากที่เคยกราฟแคคตัสบนตอบลูมาบ้าง ผมว่าตอชนิดนี้เลี้ยงไม้ได้โอเคมากเลยครับ และเจ้าตอบลูต้นที่เลือกมานี้ก็มีขนาดความกว้างของลำต้นที่ใกล้เคียงกับขนาดของเจ้าแคคตัสพอดีเลยด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจับมาต่อกันล่ะก็รอยต่อน่าจะพอดีหรือใกล้เคียงเหมาะสมกันมากๆ ต่อกันไปแล้วก็น่าจะติดสนิทกันได้พอดี คู่นี้จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมในการต่อครั้งนี้เป็นอย่างยิ่งเลยล่ะครับ


                      มีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเกี่ยวกับตอบลูที่ผมอยากจะบอกก่อนการกราฟนั่นก็คือว่า ตอบลูนั้นเป็นตอที่เวลากราฟจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการตอหดขึ้นได้ โดยเฉพาะตอบลูที่ไม่สมบรูณ์พอ หรือมีการปลูกเลี้ยงมาแบบขาดน้ำ ตอมาแบบสภาพโทรมๆ ไม่เต่งตึง ไม่สมบรูณ์แล้วล่ะก็ เวลาที่เราปาดไปปุ๊บตอจะมีโอกาสที่จะหดทำให้เนื้อตอยุบจนรอยต่อนั้นอาจจะติดไม่สนิทหรือเลื่อนไหลทำให้การต่อนั้นได้ผลไม่ค่อยดีก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในการเลือกตอบลูมาใช้ควรที่จะต้องเลือกตอที่มีความสมบรูณ์ เต่งตึง ดูอวบอิ่มสักหน่อยนะครับ

เราเริ่มขั้นตอนการกราฟแคคตัสบนตอบลูกันเลยดีกว่าครับว่ามีวิธีการยังไงบ้าง

เริ่มแรกผมจะปาดที่ตอบลูที่เราเตรียมเอาไว้ ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ ผมจะตัดในระยะประมาณนี้ 


                      มีคนเคยถามผมว่ามีหลักในการปาดยังไง ต้องปาดสูงหรือต่ำขนาดไหนถึงจะโอเค ซึ่งก็ต้องบอกตามตรงว่าผมไม่มีหลักอะไรที่แน่ชัดหรอกนะครับ ขอตอบรวมไปถึงในการกราฟตอชนิดอื่นๆ ด้วยเลยก็แล้วกันว่าเวลาผมปาด ไม่ว่าจะเป็นตอชนิดไหนก็ตามผมจะคิดแค่ว่าถ้าปาดลงไปแล้วแกนตอไม่แข็ง อยู่ในจุดที่แกนตอไม่แก่จนเกินไปผมถือว่าผมโอเคแล้วครับ

แกนตอแก่เกินไป แกนตอแข็งเกินไปจะรู้ได้ยังไง ?

                    การจะรู้ได้ว่าแกนตอของตอที่เราจะใช้กราฟนั้นมันแก่เกินไปหรือไม่จะรู้ได้ตอนที่เราเอามีดปาดลงไปนั่นล่ะครับ ถ้าเราหั่นมีดลงไปปุ๊บแล้วมันไปสะดุดตรงแกนกลางของตอ ปาดไม่เข้า หั่นยาก หั่นไม่ขาดในฉับเดียวแล้วล่ะก็ มีโอกาสสูงที่แกนตอจะแข็ง ตอแก่เกินไปครับ ( แต่มีดต้องคมนะครับ มีดทื่อแล้วปาดไม่เข้าเอง อันนี้ไม่นับนะครับ )

                   แต่ส่วนใหญ่ถ้าตอที่เราใช้เป็นตอที่ตัดมาจากส่วนของยอดล่ะก็ ถ้าไม่ปาดลึกหรือปาดในตำแหน่งที่ตํ่ามากจนเกินไป ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาแกนตอแข็งสักเท่าไรหรอกครับ 

                   อันที่จริงแล้วปัญหาเรื่องแกนตอแก่ แกนตอแข็งเนี่ย ผมไม่ได้เจอกับการกราฟตอบลูหรอกครับ ผมจะเจอกับพวกตอแก้วมังกรที่แก่ๆ เสียมากกว่า เพราะงั้นถ้าเลือกตอบลูมาใช้ก็ไม่น่าจะต้องไปห่วงกับเรื่องนี้สักเท่าไรหรอกครับ ไอ้ที่ผมพูดไปด้านบนถือซะว่าผมพูดถึงตอชนิดอื่นก็แล้วกันนะครับ

อย่างตอบลูต้นนี้ที่ผมปาดลงไปก็ถือว่าโอเคครับ กำลังดี ปาดทีเดียวอยู่


                     หลังจากที่เราปาดยอดของตอออกไป เราก็จะต้องมาทำการตัดแต่งขอบต่อเลยนะครับ อย่างที่บอกไปว่าตอบลูนั้นเป็นตอที่มีโอกาสเนื้อตอหด หรือตอยุบได้ง่าย เพราะฉะนั้นการตัดแต่งขอบตอเวลากราฟผมถือว่าสำคัญเลยทีเดียว เพราะถ้าไม่ได้มีการตัดแต่งขอบตอไว้แล้วล่ะก็ ถ้าเกิดว่าไม้ที่เราต่อไปเกิดอาการตอยุบตอหดขึ้นมามันอาจที่จะเกิดปัญหาหัวไม้เลื่อนไปชนชอบตอซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างทำให้รอยต่อนั้นติดไม่สนิทหรือต่อติดไม่ดีเอาได้ การที่เราตัดแต่งขอบตอเอาไว้จะช่วงให้เวลาเกิดปัญหาตอหดมันก็จะไม่หดเลื่อนไปชนขอบตอนั่นเองครับ เพราะเราเหลาขอบออกไปหมดแล้ว ต่อให้เกิดปัญหาตอยุบก็พอไหว น่าจะผ่านไปได้

                   พอเราจัดการตัดแต่งตอเรียบร้อยเป็นที่น่าพอใจ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราก็จะมาปาดเจ้าแคคตัสแอสโตรเพื่อยกยอดเค้าขึ้นไปกราฟบนตอของเรากันเลยดีกว่าครับ

                   ยังจำกันได้นะครับ ว่าเหตุผลที่เป็นจุดเริ่มทำให้ผมต้องกราฟเจ้าแคคตัสต้นนี้นั่นก็เพราะว่าเค้ามีเกิดเป็นแปลและมีรอยแตกขึ้นมาบริเวณลำต้น ซึ่งเจ้าแผลนี้เนี่ยผมจะไม่เก็บเอาไว้ให้มันเป็นตำหนิ เพราะงั้นผมก็เลยจะตัดลำต้นของเค้าเหนือรอยแผลขึ้นไปและยกส่วนยอดที่ยังดีๆ สวยใสไร้ตำหนิขึ้นไปตอบนตอ เพราะฉะนั้นในการลงมีดของผม ผมจะหั่นประมาณในรูปด้านล่างนี้เลยครับ หั่นเหนือแผล


                      เวลาปาดมือต้องนิ่ง มีดต้องคมมากๆ เลยนะครับ ตอนลงมีดก็เอาให้ฉับเดียวขาดไปเลย อย่าเลื่อยไปเลื่อยมาแผลมันจะไม่เรียบ เล็งให้ดีๆ แล้วทีเดียวจบเลยดีกว่าครับ

                     ข้อสำคัญนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการปาดตอหรือการปาดที่หัวแคคตัส ตอนที่เราปาดเสร็จ ดูรอยปาดด้วยนะครับ ดูว่าแผลที่เราปาดไปนั้นเรียบเสมอกันหรือไม่ ถ้ายุบหรือไม่เรียบเสมอกันให้ปาดอีกจนกว่ารอยตัดที่ได้จะเสมอกัน เพราะถ้ารอยปาดนั้นไม่เรียบเสมอกัน เวลาที่เราเอาไปประกบกันมันจะไม่ต่อกันสนิท เพราะฉะนั้นเวลาปาดก็ดูรอยผิวที่เราปาดเอาไว้ด้วยนะครับ

                    ***** และถ้าคุณสังเกตที่ภาพเจ้าแอสโตรด่างที่ผมหั่นเอาไว้จะเห็นว่าตรงบริเวณขอบรอยตัดที่ผมปาดเอาไว้นั้น ผมได้ทำการเหลาขอบหรือตัดแต่งขอบเอาไว้ด้วย แต่งขอบแบบเดียวกับที่แต่งขอบตอนี่แหละ ซึ่งที่ผมทำแบบนี้ลงไปนั้นก็เพราะผมคิดว่า แคคตัสของเรานั้นก็มีโอกาสที่จะเนื้อหดหรือว่ายุบได้เช่นเดียวกันกับกรณีของตอหดตอยุบ เพราะฉะนั้นการตัดแต่งที่ขอบรอยตัดของแคคตัสจึงเป็นการทำเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ถ้าเกิดว่าเนื้อแคคตัสเกิดหดนั่นเองครับ ( อันนี้เป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ อย่าพึ่งเชื่อว่ามันใช่ ผมอาจจะคิดผิดก็ได้นะครับ )

                    ***** เรื่องการเหลาขอบตอหรือตัดแต่งขอบนั้น เป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ ว่ามันเป็นหลักที่ควรทำหรือไม่ หรือดีไม่ดีแน่ชัดอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจของผมที่คิดว่ามันน่าจะต้องทำแบบนั้น ซึ่งสิ่งที่ผมคิดอาจจะไม่ถูกกได้ เพราะฉะนั้นท่านยังไม่ต้องเชื่อหลักของผมดีกว่านะครับ ดูเพื่อเป็นแนวทางนึงเท่านั้นและค่อยๆ พิจารณาไปดีกว่าครับ แนวทางและเทคนิคในการปลูกต้นไม้นั้นมีมากมาย อย่าพึ่งเชื่ออะไรง่ายๆ ลองหาข้อมูลหลายๆ ด้านแล้วเอามาประกอบกันจากนั้นก็ค่อยๆ พจารณากันไปว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมจะดีกว่าครับ

เมื่อเรียบร้อยทั้งการปาดและตัดแต่งตอและปาดตัดอต่งขอบแคคตัส เราก็จะนำทั้งสองมาประกบต่อกันทันทีเลยดีกว่า


                  ประกบลงไปปุ๊บ เราก็จะทำการหมุนหัวแคคตัสเพื่อไล่อากาศ จากนั้นก็จะเอาสก็อตเทปมาติดเพื่อยึดเค้าไว้ด้วยกันจนกว่าจะถึงวันที่รอยต่อของเค้าติดเพื่อตอกับเนื้อแคคตัสสมานเชื่อมต่อกันสนิท เราจึงค่อยแกะสก็อตเทปนั้นออก


                     ซึ่งระยะเวลาในการติดสก็อตเทปนั้น ผมจะติดเอาไว้ 7 วันครับ ค่อยแกะออก ซึ่งจริงๆ แล้วผมเคยได้ยินมานะว่าการกราฟแคคตัสบนตอบลูเนี่ย 5 วันก็ติดแล้ว แต่ผมขอยึดหลักที่ 7 วันก็แล้วกัน 


                    เสร็จจากการตอและติดสก็อตเทปแล้วที่เหลือก็ไม่มีอะไรแล้วครับ รอครบกำหนด 7 วัน แล้วค่อยมาดูกันว่าจะติดหรือไม่ ซึ่งไม้กราฟที่เราต่อเอาไว้เนี่ย ช่วงระหว่างการรอให้เค้าติดผมจะเอาเค้าไปเก็บไว้ในทีๆ อากาศถ่ายเทดี มีแสงแดดส่องแบบรำไร ไม่ให้โดนแดดแรง และไม่ให้โดนฝนสาดอย่างเด็ดขาด เพราะเดี๋ยวจะติดเชื้อและเน่าเอาได้ เก็บดีๆ รักษาดีๆ แค่ไม่กี่วันเท่านั้น เมื่อเค้าต่อกันติดเมื่อไรก็สบายแล้วครับ

                   หลังจากที่ครบกำหนด 7 วันผ่านไป เรามาแกะดูผลงานการกราฟแคคตัสแอสโตรไฟตัมบนตอบลูในครั้งนี้กันเลยดีกว่าว่าจะโอเคหรือไม่


แกะสก็อตเทปออกเรียบร้อยแล้วครับ มองจากด้านบนแบบนี้ ดูสดใสดีเลยทีเดียวครับ



เราไปดูรอยต่อด้านข้างกันบ้างว่าติดกันสนิทดีหรือไม่


ก็ตามที่เห็นเลยครับ รอยต่อติดสนิทดี น่าพอใจเลยทีเดียวครับ


                    หลังจากนี้ก็จะเป็นการเลี้ยงในปบบปรกติแล้วล่ะครับ แต่ช่วงแรกๆ หลังจากที่เรากราฟติดใหม่ๆ อย่าให้เค้าโดนแดดจัดนะครับ เดี๋ยวจะไหม้แดดตายเอาได้ ช่วงแรกๆ นี้ค่อยๆ ปรับแสง เทรนแดดไปสักระยะก่อนนะครับ เริ่มจากเลี้ยงแบบให้เค้าโดนแดดอ่อนๆ ไปก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับการได้รับแสงแดดของเค้าให้มากขึ้นทีละนิด วันละนิดวันละหน่อย จนเค้าเริ่มชินกับแสงแดดมากๆ ได้เมื่อไรก็สามารถเลี้ยงแบบปรกติได้แล้วล่ะครับ

                    แล้วก็อย่าให้เค้าตากฝนนะครับ เดี๋ยวรอยต่อจะติดเชื้อแล้วเน่าลามจนตายกันหมด ผมเคยเจอมากับตัวแล้วล่ะครับ แบบว่าต่อติดแล้วแต่สุดท้ายพอเลี้ยงไปเรื่อยๆ กลับเกิดอาการเน่าตรงรอยต่อแล้วลามไปจนเน่าตายทั้งหัว เพราะงั้นระวังเรื่องฝนสาดหรือเรื่องความชื้นด้วยนะครับ

ท้ายๆ บทความเราไปดูพัฒนาการของไม้กราฟต้นนี้กันอีกนิดนึงก็แล้วกันนะครับ ก่อนจะลากันไป


                    นี่เป็นภาพ 1 เดือนหลังจากที่กราฟติด ก็จะเห็นได้ว่าเจ้าแอสโตรต้นนี้นั้นดูสดใสดี การเจริญเติบโตก็เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นมานิดหน่อยแล้วนะครับ ยอดเริ่มจะขยาย ( ยอดเดิน ) สีสันของต้นก็ดูจะสดใส เรียกได้ว่าหายห่วงแล้วล่ะครับ ต่อไปก็เป็นเรื่องของอนาคตแล้วล่ะนะว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน จะดีหรือจะร้าย จะออกดอกออกผลให้ลูกหลานมากมายหรือจะมีปัญหาเกิดขึ้นมาทำให้ตายจากกันไปก็ต้องแล้วแต่อนาคตจะพาไปแล้วล่ะครับ

ภาพนี้เป็นภาพตอน 1 เดือนครึ่งหลังจากกราฟ


2 เดือนหลังจากกราฟ


                       ก็จบแล้วล่ะครับสำหรับเรื่องราวการกราฟแคคตัสบนตอบลูในคราวนี้ ก่อนที่จะจากกันไป ผมอยากบอกเพื่อนๆ ที่กำลังสนใจหรือคิดอยากที่จะลองกราฟแคคตัสว่า ในการกราฟแคคตัสนั้นมันมีความเสี่ยงนะครับ ไม่ใช่ว่าทำไปแล้วจะสำเร็จได้ดังที่หวังไปเสียหมด ตัวผมเองกราฟแคคตัสมามากมาย ได้ดั่งใจมาเยอะ แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องผิดหวัง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือทำ ต้องเผื่อใจให้กับความล้มเหลวที่อาจจะเกิดเอาไว้ด้วยนะครับ ในการกราฟรวมไปถึงทุกเรื่องในการปลูกต้นไม้มันมีได้และมีเสียทั้งนั้นแหละครับ เพราะต้นไม้นั้นมีชีวิต มีเกิด มีตาย ไม่มีอะไรที่แน่นอนไปเสียทั้งหมดหรอกครับ


                      แต่ก็ไม่ใช่ว่าเห็นผมบอกแบบนี้แล้วจะต้องกลัวหรือกังวลว่าการกราฟนั้นมันเสี่ยงมาก อย่าไปทำเลยดีกว่าอะไรแบบนั้น ถ้าท่านอยากจะลองทำก็ทำเถอะครับ ถ้ายังไม่มีความมั่นใจก็ค่อยๆ รวบรวมความมั่นใจ อาจจะเริ่มจากการหาข้อมูล ซื้อหนังสือมาอ่านสักเล่ม สองเล่ม หรือเปิดเว็บดูตัวอย่างที่คนอื่นๆ เค้าได้ลองทำเอาไว้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบล็อกหรือเพจของผมก็ได้นะครับ อย่างในเฟสบุ๊ก็มีเพจหรือกลุ่มที่เกี่ยวกับการปลูกแคคตัสอยู่มากมาย มีความรู้มีตัวอย่างจากพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ได้ลงมือทำเอาไว้มาให้เราได้เห็นเป็นแนวทางอยู่เยอะแยะ ลองเปิดดูกันไปเล่นๆ เรื่อยๆ เมื่อเราแน่ใจและเริ่มมีความมั่นใจ มีความอยากที่จะลงมือทำอย่างเต็มที่เมื่อไร ก็ลุยกันเลยครับ การลงมือทำอะไรสักอย่าง ต่อให้ผลที่ออกมานั้นจะสำเร็จหรือว่าล้มเหลว สิ่งนึงที่จะได้รับกลับมาเลยนั่นก็คือประสบการณ์และความรู้ ซึ่งเมื่อเรามีประสบการณ์และความรู้ที่มากขึ้น ต่อไปไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรือว่าความล้มเหลวแบบไหนที่ผ่านเข้ามา เราจะเดินหน้าผ่านมันไปได้แน่นอนครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.