Saturday, March 17, 2018

การกราฟแคคตัสแบบกราฟฐาน ( แคคตัสหนึ่งหน่อ กราฟได้สองต่อ )


                        ในการกราฟแคคตัส  นอกเหนือจากการตัดส่วนยอดของแคคตัสมากราฟ ส่วนฐานหรือบางท่านก็เรียกตูดของแคคตัสที่เหลือจากตอนที่เราปาดยอดไปกราฟแล้วนั้น ก็สามารถเอามากราฟต่อตอได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวันนี้ผมก็จะนำภาพและเรื่องราวการกราฟฐานต้นแคคตัสมาให้ได้ชมกันครับ

                      สำหรับต้นแคคตัสที่จะนำมาสาธิตการกราฟฐานในวันนี้นั้น ผมใช้เป็นต้นแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum asterias ) เป็นแอสโตรด่างไม้รากตัวเอง 


                          การกราฟนั้นจะใช้เป็นหน่อเด็ดสดๆ ก็ได้นะครับ ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นไม้รากเท่านั้น หน่อก็ได้ ขอแค่ว่าต้นแคคตัสหรือหน่อแคคตัสที่จะเอามากราฟนั้น ต้องมีความสมบรูณ์แข็งแรงสักหน่อยก็น่าจะดีครับ

                 ส่วนตอที่จะนำมาใช้ในการกราฟนั้นผมเลือกเป็นตอบลูครับ เป็นตอบลูที่ชำจนออกรากและเลี้ยงดูจนต้นเติบโตสมบรูณ์แข็งแรงพร้อมใช้ 


                            สำหรับเรื่องของสายพันธุ์นั้นไม่ได้จำกัดนะครับ ว่าต้องเป็นแคคตัสสายพันธุ์นี้หรือต้องเป็นตอชนิดนี้เท่านั้น วิธีการที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ตอชนิดอื่น อย่างแก้วมังกร ตอลูกผสม หรือตอสามเหลี่ยมหนามรวมไปถึงตออื่นๆ ก็ใช้ได้นะครับ เช่นเดียวกัน สำหรับแคคตัสสายพันธุ์อื่นอย่างเช่น ยิมโน โลบิเวีย และอื่นๆ อีกมากมาย ก็กราฟแบบนี้ก็ได้เช่นกันครับ

เริ่มการกราฟ ขั้นแรกเราจะมากราฟยอดแคคตัสกันก่อนนะครับ
 
                           เริ่มจากปาดที่ยอดของตอบลูก่อนเลย จากนั้นก็ตัดแต่งขอบตอ ดูรอยปาดให้เรียบเสมอกัน ไม่ยุบ ก็ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ


จากนั้นเราก็จะมาปาดเจ้าต้นแคคตัสที่เตรียมไว้กันต่อเลยครับ


                       ด้วยความที่เจ้าแอสโตรต้นนี้ต้นทรงยาว ผมตัดครึ่งเลยก็แล้วกัน และเช่นเดียวกัน เวลาเราปาด ให้ดูผิวรอยที่เราตัดลงไปให้แผลนั้นเรียบ ไม่ยุบ ไม่หด ถ้าปาดไปแล้วรอยแผลมันไม่เรียบเสมอกันทั้งหมด หรือปาดไปแล้วผิวมันยุบตัวหดบุ๋มลงไป ให้ปาดใหม่อีกครั้งจนกว่าจะเห็นว่าผิวที่ปาดนั้นเรียบเสมอกันดีถึงจะโอเค

เมื่อเราปาดเรียบร้อยแล้วก็นำยอดแคคตัสไปต่อบนตอได้เลยครับ


ต่อเสร็จเรียบร้อยก็ติดสก๊อตเทปเป็นอันจบการกราฟยอด
  

ต่อไปเราก็จะนำฐานของต้นแคคตัสที่เหลืออยู่นี้ไปต่อกราฟบนตออีกอันกันครับ

เหมือนเดิม ปาดที่ตออีกอันที่เราเตรียมไว้กันเลย ปาดเหมือนตออันแรกนั่นแหละ ปาดยอด ตัดแต่งขอบ 


จากนั้นเราก็นำส่วนฐานของต้นแคคตัสที่เหลือไว้เมื่อกี้ไปต่อกับตอเลยครับ


                      ตามรูปที่เห็นเลยครับ คว่ำลงไปเลย ตอนต่อดูท่อน้ำเลี้ยงของตอและของแคคตัสให้มันตรงกัน จากนั้นเราก็จะมาทำการติดสก๊อตเทป เหมือนเดิม เป็นอันเสร็จ 


แค่นี้เลยครับง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน


                       หลังจากนี้เราก็จะนำเค้าไปเก็บไว้ในที่ร่มรำไร อากาศถ่ายเทดี อย่าให้โดนแดดจัด อย่าให้ตากฝน อีก 7 วันค่อยมาดูกันครับว่าต่อติดหรือไม่

                       สำหรับตอบลูผมจะทิ้งไว้ 7 วัน เช่นเดียวกันกับตอแก้วมังกร ตอสามเหลี่ยมหนาม ตอลูกผสม ตอเปเรสเกีย ตอพวกนี้เวลากราฟ รอประมาณ 7 วันรอยต่อก็น่าจะติดดีสามารถแกะสก็อตเทปได้แล้วล่ะครับ

7 วันผ่านไป เราแกะสก็อตเทปเลยดีกว่าว่าจะเป็นไง


ทั้งส่วนยอดและส่วนฐานของต้นแคคตัสที่เรากราฟไปนั้น ต่อติดดี ไม่มีปัญหา
  

ต่อไปเราก็นำไปเลี้ยงต่อได้เลยครับ

                       สำหรับช่วงแรก หลังจากต่อติดใหม่ๆ แนะนำว่าอย่าพึ่งเอาเค้าไว้วางในจุดที่โดนแดดจัดๆ นะครับ เดี่ยวจะไหม้แดดเอาได้ ค่อยๆ เทรนแดด เพิ่มระดับความแรงของแสงที่ได้รับไปทีละนิด ช่วงแรกเริ่มจากเลี้ยงแดดไม่จัดมากสัก 1-2 อาทิตย์ พอเค้าเริ่มตั้งตัวได้ก็ค่อยๆ ขยับให้เค้าได้รับแสงแดดที่มากขึ้นไปทีละขั้นก็น่าจะดีครับ
  

                        สำหรับส่วนยอดแคคตัสที่เรากราฟไปนั้น ผมไม่ขอเขียนอะไรมาก เอาเป็นว่าผมลงภาพเดียวสรุปเลยแล้วกันว่า ส่วนยอดนั้นปรกติดี ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ดีไม่มีปัญหา ตามรูปด้านล่างเลยครับ


                       หน้าตาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าโดยพื้นฐาน แอสโตรต้นนี้เป็นแอสโตรด่าง เพราะฉะนั้นเมื่อยอดเค้าเจริญเติบโตขึ้น มันก็มีโอกาสที่จะออกด่างมากขึ้นหรือน้อยลงได้ หน้าตาตอนโตกับตอนเล็กก็เลยเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เห็นครับ 

เราไปดูกันดีกว่าครับ ว่าการเจริญเติบโตของส่วนฐานที่เรากราฟไปนั้น จะเป็นอย่างไร


                          คือในช่วงแรกๆ หลังจากที่กราฟติด ส่วนฐานอาจจะยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทันทีหรอกนะครับ ต้องเลี้ยงดูไปอีกสักระยะถึงจะเห็นเค้ามีพัฒนาการการเจริญขึ้น ทีละนิด อย่างในภาพนี้เป็น 1 เดือนต่อมา หลังจากกราฟ ซึ่งจะเห็นว่าพัฒนาการของเค้านั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงชัดเจนอะไร แต่ฐานของแคคตัสกราฟไปนั้นยังอยู่ดี ไม่เหี่ยวแฟบยุบหายไปก็เป็นสัญญาณที่ดีให้ได้ทราบว่าเค้ายังมีชีวิตอยู่ ยังต่อติดดีอยู่ ที่เหลือก็แค่รอไปอีกสักนิดเท่านั้นเองครับ

พอเดือนที่ 2 จะเห็นเค้าเริ่มมีพัฒนาการ ส่วนฐานนั้นเริ่มแตกยอดแล้วล่ะครับ


หลังจากที่เค้าแทงยอดขึ้นมาแล้ว การเจริญเติบโตก็จะต่อเนื่องขึ้น ยอดที่แตกออกมานั้นโตค่อนข้างเร็วเลยทีเดียวครับ 


ตัดไปเป็นภาพตอนโตเลยดีกว่า


                      บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมส่วนยอดเมื่อโตแล้วด่างเยอะ แต่ส่วนฐานทำไมโตแล้วไม่ด่าง อันนี้ผมต้องตอบว่า เราก็กำหนดไม่ได้หรอกนะครับเรื่องพวกนี้ ทิศทางการเจริญเติบโตนั้นมันไม่แน่นอน เราไม่รู้หรอกว่ามันจะโตไปแล้วหน้าตาเป็นยังไง เพราะมันมีโอกาสที่จะออกได้หลากหลาย ถึงแม้ว่าจะเป็นไม้ที่มาจากต้นเดียวกันเมื่อโตไปแล้วก็อาจจะหน้าตาต่างกันก็ได้นะครับ


                         และในอนาคตต่อไป ทั้งสองต้นก็อาจจะเจริญเติบโตหน้าตาเปลี่ยนไปไม่เหมือนกับในตอนนี้ก็เป็นได้นะครับ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่เราไม่รู้


                         ผมมีตัวอย่างการกราฟฐานแคคตัสอีกต้นนึงมาให้ได้ดูกันด้วย ซึ่งเจ้าต้นที่จะเอามาให้ได้ดูกันนี้เป็นไม้ที่ผมกราฟไว้เมื่อตอนช่วงเดือนตุลาคม ปี 58 ก็ประมาณเกือบ 2 ปีครึ่งมาแล้ว ตอนนี้เจ้าต้นนี้โตมากๆ แล้วด้วยครับ ผมเห็นเค้ามีพัฒนาการที่น่าสนใจดีเลยเอามาให้ดูกัน


                     ภาพนี้คือภาพตอนที่พึ่งกราฟติดใหม่ๆ ด้านซ้ายคือส่วนฐาน ส่วนด้านขวาคือส่วนยอดของเค้าครับ เราจะดูการเจริญเติบโตกันเฉพาะส่วนของการกราฟฐานนะครับ


                           ช่วงที่กราฟติดใหม่ๆ ก็จะนิ่งๆ ยังไม่มีอะไรนั่นล่ะ แต่พอเลี้ยงไปเรื่อยๆ เค้าก็จะเริ่มมีพัฒนาการขึ้นมา เริ่มมีการแตกหน่อ


การแตกหน่อของต้นนี้น่าสนใจดี คือเค้าแตกหน่ออกมาพร้อมกันหลายหน่อเลยล่ะครับ 


                        ซึ่งในการกราฟแคคตัสมันก็มีโอกาสไม่น้อยเลยล่ะครับที่ไม้กราฟนั้นจะแตกหน่ออย่างรวดเร็วทีละหลายหน่อได้ อาจเพราะว่าตอนั้นส่งการเจริญเติบโตได้ดี เมื่อตอส่งดี การเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสก็ดีตามไปด้วยทำให้เค้าเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จนสามารถออกหน่อเยอะแยะขึ้นมาได้อะไรแบบนั้น


                      อันนี้คือข้อดีของการกราฟแคคตัสที่เห็นได้ชัด ถ้าตอดีจะส่งไว แคคตัสเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง มีพัฒนาการที่ดีมากๆ เลยล่ะครับ


โตจนต้นปริแตกเลยเลยทีเดียว 


บางท่านก็อาจจะส่งสัยว่าอาการต้นปริแตกนั้นเกิดจากอะไร 

                          อาการต้นปริแบบนี้ผมคิดว่า อาจเกิดจากตอของเค้าได้รับสารอาหารจากดินที่มีธาตุอาหารสูงหรือได้รับปุ๋ยเข้าไปในปริมาณมาก ตอก็เลยส่งการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนแคคตัสปริแตก แต่ก็อาจจะเป็นที่ตัวของแคคตัสเองด้วยนะครับที่เป็นพันธุ์ที่แตกง่ายด้วยล่ะ เพราะจากที่เคยเลี้ยงพวกแอสโตรซุปเปอร์ หรือแอสโตรวีมาบ้าง ไม้ตัวนี้ไม่ว่าจะไม้กราฟหรือแม้แต่ไม้รากตัวเองก็แตกค่อนข้างง่าย แค่เค้าได้รับปุ๋ยในปริมาณที่มากไป หรือได้นํ้าได้สารอาหารปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็วฉับพลัน ประมาณว่าอดมานาน อยู่ดีๆ มีคนเอานั้าเอาอาหารมาให้กินรวดเดียวเยอะๆ เค้าก็จะกินจน ต้นก็มีโอกาสปริได้ อะไรประมาณนั้น อันนี้เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุจากความรู้สึกของผมนะครับ ไม่ได้มีหลักทฤษฏีอะไรมาอ้างอิงนะครับ แค่คิดเท่านั้น

                       ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวของแคคตัสต้นปริแตกได้ ตามบทความในลิงก์นี้เลยครับ เพราะใส่ปุ๋ยมากเกินไป แคคตัสก็เลยปริแตก


                          มาถึงตอนท้ายของบทความในวันนี้แล้ว ก่อนจะลากันไป มีเรื่องนึงที่ผมต้องบอกเกี่ยวกับการกราฟ นั่นก็คือการกราฟนั้น บางทีมันก็ไม่แน่ไม่นอนนะครับ โอกาสที่จะกราฟไม่ติดมันก็มี คือในบทความเราเอาการกราฟที่มันสำเร็จมาให้ได้ดูกัน แต่ในความเป็นจริงที่ผมกราฟ มันก็มีบางครั้งเหมือนกันนะครับที่ผมกราฟไม่สำเร็จ ไม่ใช่ว่าผมจะต่อติดทุกครั้งไม่มีพลาด พลาดบ้างก็มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ต้องเผื่อใจเอาไว้ด้วยนะครับ

                        ผมพูดแบบนี้ไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเป็นการบอกว่าอย่าเสี่ยงเลยอะไรแบบนั้นนะครับ แค่บอกให้เผื่อใจ แต่ไม่ได้บอกให้ถอดใจ เพราะยังไงการกราฟก็เป็นวิธีการการขยายพันธุ์แคคตัสที่ดีมากๆ ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากๆ ถ้าท่านทำเป็นแล้วล่ะก็ ท่านสามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนแคคตัสได้อย่างมากมายในเวลาที่ไม่นานนัก อย่างแน่นอนครับ


แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไปของเรา

เพจของเราครับ  https://www.facebook.com/chowcactus

4 comments:

  1. น่ารักจังค่ะ แบบนี้กราฟแล้วได้ทีเดียว 2 ต้น

    ReplyDelete
  2. จาก1เป็น4เลย เป็นวีด้วย

    ReplyDelete
  3. ใช้เวลานารเท่าไหร่หลังจากกราฟแล้วโตเท่าภาพสุดท้ายครับ

    ReplyDelete
  4. ดีเยี่ยมครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.