Wednesday, August 3, 2016

การเพาะเมล็ดแคคตัส Astrophytum และคำถามที่ว่า ขนาดของเมล็ดนั้นสำคัญหรือไม่ ?


                      บทความในคราวนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum ) ซึ่งจุดเริ่มของบทความนั้นมาจากคำถามของน้องคนนึง ซึ่งเป็นมือใหม่ที่พึ่งหัดปลูกกระบองเพชรได้ไม่นาน ไม่เคยเพาะเมล็ดมาก่อน วันนึงน้องคนนี้ได้ไปสั่งซื้อเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม แล้วเผอิญเมล็ดที่ได้รับมานั้นมันมีขนาดของเมล็ดที่คละกัน บางเมล็ดก็ใหญ่ แต่บางเมล็ดก็มีขนาดเล็ก ก็เลยเกิดความสงสัยและถามผมประมาณว่า พวกเมล็ดที่ใหญ่ๆ จะงอกได้ดีกว่าเมล็ดที่เล็กๆ หรือไม่

                    ผมได้ฟังแล้วก็พอเข้าใจในความสงสัยของน้องอยู่นะ นั่นก็เพราะว่าแอสโตรไฟตั้มนั้นเป็นแคคตัสที่มีเมล็ดที่มีขนาดที่แตกต่างหลากหลาย บางต้นบางฝักให้เมล็ดที่มีขนาดเล็ก บางฝักเมล็ดจะใหญ่ คนที่ไม่เคยเจอ หรือไม่มีประสบการณ์ในการเพาะเมล็ดมาก่อนก็เลยอาจจะสงสัยขึ้นมาได้ ว่ามันจะดีกว่ากันหรือไม่

                    แต่ก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมนั้นก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรอกนะครับ แต่พอจะมีประสบการณ์ในการเพาะเมล็ดมาบ้าง และกับเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum ) นั้น ด้วยความที่บ้านแอสโตรเป็นไม้ที่ผมชอบมาก ก็เลยมีแคคตัสชนิดนี้เก็บเอาไว้อยู่หลายต้น ซึ่งถ้าช่วงไหนว่างๆ และเป็นจังหวะที่เจ้าแอสโตรที่บ้านผมนั้นออกดอกพร้อมกันหลายต้น ผมก็จะคัดบางต้นมาผสมเกสร และเก็บเมล็ดมาเพาะอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้มีโอกาสได้เจอเมล็ดในลักษณะต่างๆ มาพอสมควร ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้น ผมมองว่าขนาดของเมล็ดมันเป็นแค่ขนาดของเปลือกเมล็ดเท่านั้น ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลต่อการงอกของเมล็ดสักเท่าไรหรอกครับ ไม่ว่าเมล็ดจะเล็กหรือใหญ่ก็งอกได้หมดนั่นล่ะ ความสดใหม่ของเมล็ดต่างหากที่น่าจะส่งผลต่อการงอกเสียมากกว่า เมล็ดยิ่งเก่ายิ่งเก็บเอาไว้นานๆ อัตราการงอกก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ผมคิดแค่นั้น เพราะงั้นคำตอบของผมที่ตอบน้องไปนั่นก็คือ ไม่ว่าเมล็ดจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าเมล็ดนั้นเป็นเมล็ดที่แก่จัดล่ะก็ คุณภาพการงอกไม่ต่างกัน งอกได้ทั้งคู่

                    ซึ่งมันก็เป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะ เพราะตอนที่น้องถามมานั้นเป็นช่วงที่ผมผสมเกสรแอสโตรต้นที่บ้านเอาไว้หลายต้นพอดี ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าลองเลือกเมล็ดที่มีขนาดที่ต่างกันรวมไปถึงมีลักษณะของเมล็ดที่ต่างกันมาเพาะ แล้วถ่ายรูปมาลงในบล็อกด้วยดีกว่าว่าขนาดของเมล็ดนั้นมันมีผลต่อการงอกหรือไม่ เผื่อว่ามีใครถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีกจะได้เอาภาพให้เค้าดูด้วยเลยก็น่าจะดี นี่จึงเป็นจุดเริ่มของเรื่องราวในคราวนี้ครับ

สำหรับตัวอย่างเมล็ดที่ผมเลือกเอามาลองเพาะให้ดูกันนั้นก็ตามที่เห็นในรูปเลยครับ


                      ซึ่งเมล็ดทั้งสามกองนี้ แต่ละกองต่างก็มาจากคนละฝัก คนละต้น คนละพ่อคนละแม่ และทั้งสามกองนี้ก็มีขนาดเมล็ดที่แตกต่างกันไป  อย่างเมล็ดกองทางขวานั้นจะเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กกว่าอีกสองกองอย่างเห็นได้ชัด และสีของเมล็ดก็ดูจะต่างกันนิดหน่อยด้วยนะครับ เมล็ดกองทางขวาสีะเข้มกว่าเพื่อน ซึ่งเมล็ดทั้งสามกองนี้นั้น ผมผสมเกสรในวันเดียวกัน และเก็บฝักเอาเมล็ดมาล้างในวันเดียวกันเลยล่ะครับ เพราะงั้นเรื่องของเวลาและความเก่าใหม่ของเมล็ดนั้นยังไงก็พอกันแน่นอนครับ


เราไปลงมือเพาะเมล็ดเจ้าพวกนี้กันเลยดีกว่าครับ


                        สำหรับขั้นตอนการเพาะเมล็ดแคคตัสนั้น จริงๆ เมื่อปีที่แล้วผมเคยเขียนเป็นบทความอธิบายแบบละเอียดมาแล้วครั้งนึงแล้วล่ะครับ ถ้าเพื่อนๆ สนใจก็ลองกดเข้าไปอ่านดูได้นะครับ ตามลิงก์นี้ไปเลย การเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิด ตามติดพัฒนาการตั้งแต่ก่อนและหลังการเพาะเมล็ด

                        ส่วนในบทความนี้ผมขอเขียนวิธีการเพาะเมล็ดแบบรวบรัดเลยก็แล้วกันนะครับ แต่ก็อ่านแล้วน่าจะพอเข้าใจได้ นำไปปรับใช้ได้อยู่ครับ

                        ก็ลองเลือกดูนะครับ ถ้าอยากอ่านวิธีการแบบละเอียดก็ตามลิงก์ด้านบน ถ้าเป็นวิธีการแบบคร่าวๆ ก็ดูในบทความนี้ก็ได้ครับ

               ***** เริ่มจากการเตรียมวัสดุที่จะใช้เพาะเมล็ดก่อนเลยก็แล้วกัน โดยผมจะใช้เป็น พีทมอส ซึ่งเจ้าพีทมอสเนี่ยเป็นวัสดุเพาะเมล็ดที่ผมชอบและใช้เป็นประจำ ในความรู้สึกของพีทมอสเป็นวัสดุเพาะที่ค่อนข้างจะเก็บความชื้นได้ดี ผมว่ามันเหมาะกับการเพาะเมล็ดมากๆ เลยครับ เพราะงั้นผมขอเลือกตามที่ผมชอบก็แล้วกันนะครับ


ขั้นแรกก็นำพีทมอสมาใส่กระถาง สักเกินครึ่งกระถางมาหน่อยนึง


จากนั้นก็หยอดปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) ลงไป ตามรูป


ถ้ากะไม่ถูกว่าจะใส่เท่าไรดี ผมว่า 10 เม็ด ก็ได้ครับ

                   ถ้าคุณต้องการจะถามเพิ่มเติมว่าใส่ปุ๋ยแบบอื่นได้หรือไม่ อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้นะครับ เพราะผมเคยใช้แต่ออสโมโค้ทเพียงอย่างเดียว ปุ๋ยอื่นผมไม่เคยใช้ เพราะงั้นผมแนะนำไม่ได้นะครับ

หลังจากใส่ปุ๋ยเรียบร้อยแล้วเราก็เอาพีทมอสใส่กระถางให้เต็ม


จากนั้นก็นำกระถางเอาไปจุ่มในน้ำเพื่อให้พีทมอสนั้นดูดน้ำเข้าไปให้ชุ่ม


                      สังเกตมั้ยครับ ว่าถาดใส่น้ำที่ผมเอากระถางลงไปแช่นั้น นํ้าที่ใส่ลงไปเป็นสีขาว นี่คือน้ำที่ผมยากันราครับ ซึ่งถ้าท่านมียากันราล่ะก็ เอามาผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ฉลากยาระบุไว้ก็ได้นะครับ แต่ถ้าท่านไม่มียากันราก็ไม่ต้องแช่ก็ได้ครับ บางครั้งผมก็ไม่ได้ใช้ยากันรา แต่ถ้าใช้มันก็ดี เป็นการป้องกันเอาไว้ก่อน


                       แช่น้ำทิ้งเอาไว้แล้วรอจนกว่าพีทมอสจะดูดน้ำเข้าไปจนชื้นเต็มที่ ไม่ต้องนั่งรอก็ได้นะครับ ทิ้งไว้สักพักแล้วค่อยมาดูก็ได้ เพราะบางทีพีทมอสก็ดูดน้ำค่อนข้างช้า พีทมอสบางยี่ห้อจะค่อนข้างแห้งสักหน่อย ก็ต้องให้เวลาเค้าดูดน้ำสักพักนึงนั่นล่ะครับ

                       มีบางท่านเจอแบบว่าพีทมอสแห้งมากขนาดที่ว่าแช่น้ำนานแล้วแต่ก็ไม่ยอมชื้นสักที บางท่านเอากระถางจุ่มลงไปปุ๊บ พีทมอสลอยเด้งขึ้นมาจนล้นกระถางออกมาหมดไม่ยอมจมลงไปในน้ำก็มี ซึ่งถ้าเจอเหตุการณ์พีทมอสแห้งมากขนาดนั้นแล้วล่ะก็ ถ้าเป็นผมนะ ผมจะเอาพีทมอสไปแช่น้ำก่อนเอามาใช้ วิธีการก็


                         หาขัน กระป๋อง หรืออะไรก็ได้มาใส่น้ำ จากนั้นก็เอาพีทมอสเทลงไปตามรูปเลยครับ แล้วก็วางทิ้งไว้สัก 1 คืน ปล่อยให้พีทมอสลอยน้ำอยู่แบบนั้นไปเลยครับ เดี๋ยวเค้าจะค่อยๆ ดูดน้ำเข้าไปเองนั่นแหละ สัก 1 คืนก็น่าจะโอเค พีทมอสชื้นพอได้แล้วล่ะครับ เราก็เอาผ้าขาวบางมากรอง หรือโกยเอามาใส่กระถางแล้วเอาไปเพาะได้เลยครับ


หลังจากที่เตรียมกระถางเพาะเรียบร้อยแล้ว เราก็เอาเมล็ดมาโรยกันเลยดีกว่าครับ


                        พอโรยเมล็ดเสร็จเรียบร้อย ผมจะพ่นยากันราอีกรอบนึง ก็เอายากันราใส่ฟ็อกกี้หรือที่ฉีดแล้วพ่นใส่เมล็ดที่เราโรยไปนั่นล่ะครับ

เสร็จแล้วผมก็จะนำกระถางเพาะเมล็ดไปใส่ในถุงพลาสติก ( ถุงแกง ) แล้วก็มัดปากถุง


                          การเอากระถางไปใส่ในถุงแล้วมัดไว้แบบนี้ก็เพื่อที่จะรักษาความชื้นเอาไว้ไม่ให้วัสดุเพาะนั้นแห้งเร็ว ซึ่งเค้าสามารถอยู่ในถุงแบบนี้ได้นานหลายเดือนโดยที่ดินไม่แห้งเลยล่ะครับ ซึ่งการเพาะเมล็ดแล้วเก็บใส่ถุงแบบนี้เรียกกันว่าการเพาะเมล็ดแคคตัสแบบปิดนั่นเองครับ

                         หลังจากที่มัดถุงเรียบร้อยแล้ว ผมก็จะนำถุงเพาะเหล่านี้เอาไปเก็บไว้ในที่ๆ มีแสงส่องรำไร อย่าให้โดนแดดจัดอย่างเด็ดขาดเลยนะครับ ถ้าโดนแดดแรงๆ ต้นแคคตัสในถุงจะถูกอบจนทนความร้อนไม่ไหวและสุกตายเอาได้ เพราะฉะนั้นให้เค้าอยู่ในที่ๆ มีแสงส่องรำไรจะเหมาะสมกว่านะครับ

                        และถ้าเกิดว่าสถานที่เก็บถุงเพาะเมล็ดของเรานั้นร่มจนเกินไปหรือไม่มีแสงส่องเลยล่ะก็ แบบนี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไรนะครับ ร่มเกินไปต้นจะยืดจนเสียทรงเอาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ควรให้เค้าได้อยู่ในสถานที่ซึ่ง โดนแดดอ่อนๆ รำไร หรือให้โดนแดดอ่อนๆ แล้วกางสแลนช่วยกรองแสงเสริมอีกสักหน่อยก็น่าจะดีนะครับ

                       โดยปรกติหลังจากที่ทุกอย่างเรียบร้อย ผมจะวางถุงเอาไว้แบบนั้น 3 เดือนขึ้นไป โดยจะไม่แกะถุงออกมาดูเลยสักครั้ง ก็ปล่อยๆ ไปเลยครับ ไม่ได้ไปสนใจอะไรมากมาย ปล่อยให้เค้างอกและเจริญเติบโตอยู่ในนั้น ยกเว้นแต่ว่าถ้าเกิดปัญหา ราขึ้นหรือตะไคร่ขึ้น หรือเน่าตาย อะไรแบบนี้ถึงจะแกะถุงออกมาจัดการ แต่ถ้าต้นมีการเจริญเติบโตปรกติดี ผมก็จะไม่แกะถุงครับ

                      แต่ในกรณีของบทความในคราวนี้ เรากำลังคุยกันในเรื่องราวที่ว่า ขนาดของเมล็ดนั้นมีผลต่อการงอกหรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องมีการแกะถุงออกมาเพื่อมาดูผลของการงอกกัน ว่าเป็นยังไง ว่าแล้วก็ไปดูกันดีกว่าครับ


จากในภาพ นี่คือ 9 วันหลังจากที่ทำการเพาะเมล็ดนะครับ จะเห็นว่าเริ่มงอกกันหมดแล้ว


                       และจากที่ดูทั้งสามกระถางนะครับ ผมคิดว่าอัตราการงอกนั้นค่อนข้างดีหมดเลยทั้งสามกระถางเลยนะครับ ผมไม่ได้นับนะครับว่าโรยไปกี่เมล็ดและงอกมากี่เปอร์เซ็นต์ แต่จากที่เห็นผมว่างอกเยอะมากไม่รู้ว่าเกือบหมดเลยมั้ยไม่ได้นับ


                       และขนาดของต้นที่แคคตัสงอกขึ้นมานั้น ก็มีขนาดของต้นและความสมบรูณ์ที่พอๆ กันเลยนะครับ แต่สีสันของต้นอาจจะต่างกันไปบ้าง เพราะมาจากคนละพ่อคนละแม่กัน และมีกระถางนึงซึ่งเป็นเมล็ดที่มาจากต้นแม่ด่าง ซึ่งลูกที่เกิดมานั้นคงจะได้เชื้อด่างจากแม่มาเยอะจนเกินไปเลยเป็นสีขาว ชมพูแบบนี้ 

ด่างเกินไป

                           ซึ่งลักษณะของแคคตัสที่ด่างหมดทั้งหัว ( เผือก ) แบบนี้ผมขอพูดเพิ่มเติมด้วยเลยก็แล้วกันนะครับ ว่าไม้ลักษณะด่างทั้งหัวจะเป็นไม้ที่ไม่สามารถสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้ เพราะมันด่างมากเกินไป ไม่มีสีเขียวหรือว่าคอโรฟิลล์ซึ่งช่วยในการสังเคราะห์แสง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ อีกไม่เกิน 1 เดือน เค้าจะค่อยๆ ยุบและตายลงไปจนหมด แต่ถ้าจะให้รอดมีชีวิตต่อไปล่ะก็ ต้องเอาขึ้นไปกราฟต่อบนตอเพื่อให้ตอช่วยเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งผมไม่อยากทำสักเท่าไร เพราะถึงเค้าจะสามารถอยู่รอดเจริญเติบโตบนตอได้ แต่ไม้ด่างทั้งหัว หรือพวกหัวสีนั้นเป็นไม้ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ตายง่าย อายุไม่ค่อยยืนเท่าไรครับ ซึ่งถ้าครั้งไหนที่ผมเพาะเมลดแล้วลูกที่งอกขึ้นมานั้นด่างมาขนาดนี้ล่ะก็ ผมจะรู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก ผมไม่อยากได้แบบนี้เลยครับ

                         และถ้าให้พูดตามตรง ถ้าผมเจอลักษณะแบบนี้ผมจะไม่เอามากราฟบนตอนะครับ ผมจะปล่อยให้เค้าค่อยๆ ยุบตายลงไป จะไม่ยื้อเอาไว้ เพราะอย่างที่บอกไปด้านบนนั่นล่ะครับ ว่ามันอ่อนแอ ตายง่าย ผมเลยเลือกปล่อยเค้าตายไปตั้งแต่เล็กๆ เลยดีกว่า แต่ก็แล้วแต่เลยนะครับ ไม่ต้องปล่อยตายแบบผมก็ได้ครับ หลายๆ ท่านที่เพาะได้ต้นแบบนี้มาก็จับมากราฟขึ้นตอกันเยอะแยะ อันนี้แล้วแต่จะตัดสินใจเลยครับ อย่าพึ่งเชื่อผม สิ่งที่ผมคิดอาจจะผิดก็ได้นะครับ


                         มาถึงตรงนี้ผมขอสรุปและยืนยันเหมือนกับที่กล่าวเมื่อไปตอนต้นบทความนั่นล่ะครับ ว่าเมล็ดของ astrophytum นั้น ไม่ว่าจะเมล็ดที่มีขนาดเล็ก หรือเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ ก็สามารถงอกได้ทั้งคู่ และภาพรวมของต้นอ่อนที่งอกออกมานั้นก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไร เพราะขนาดของเมล็ดมันเป็นแค่ขาดของเปลือกเมล็ดเท่านั้น คุณภาพความสดใหม่ของเมล็ดต่างหากคือสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นท่านที่ซื้อเมล็ดแอสโตรมาแล้วเมล็ดที่ได้มีหลายๆ ขนาดปนกัน หรือได้เมล็ดที่เล็กๆ มาล่ะก็ ถ้าเมล็ดนั้นเป็นเมล็ดที่เก็บสดๆ ใหม่ๆ ไม่ทิ้งไว้ค้างปี หรือไม่เก็บเมล็ดขณะที่เมล็ดยังอ่อนเกินไป หรือตอนจัดส่งมานั้นเมล็ดไม่ได้ถูกทับจนเละแบนแต๊ดแต๋ หรือเมล็ดแหลกละเอียดมาเลยล่ะก็ ผมว่าน่าจะงอกได้อย่างไม่เป็นปัญหานะครับ
 
                       แต่ในการเพาะเมล็ดนั้น การที่จะตัดสินว่าเมล็ดจะงอกได้ดีหรือไม่ อาจจะไม่ได้ตัดสินกันที่ตัวเมล็ดแค่เพียงอย่างเดียวด้วยนะ วัสดุเพาะ ความสะอาด สภาพอากาศ ความชื้น แสงแดด โรคและเมลง รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่อาจจะแทรกซ้อนเข้ามาอย่างฉับพลัน อาจทำให้ผลของการเพาะเมล็ดนั้นเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นไปได้ เค้าถึงได้พูดกันยังไงล่ะครับ ว่าการเพาะเมล็ดนั้นมีความเสี่ยง

โชคดีนะครับทุกท่าน ขอให้สนุกกับการเพาะเมล็ดนะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

ปล. สำหรับทุกบทความที่ผมเขียน ถ้ามีข้อมูลตรงไหนที่ผิดพลาด หรือควรจะต้องแก้ไขตรงจุดไหน แนะนำผมได้นะครับ ผมจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป ขอบคุณทุกท่านมากๆ

7 comments:

  1. เพาะเมล็ดแล้ว ต้นอ่อนงอกไม่กี่ต้นเอง แล้วสักพักก็ทยอยเน่าตายกันไปหมด ไม่รู้เป็นเพราะอะไรพอจะทราบมั้ยค่ะ แล้วเมล็ดที่เหลือก็ไม่งอกออกมากันเลย ต้องทำอย่างไรต่อไป ช่วยแนะนำให้ทีค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. สาเหตุที่ต้นอ่อนเน่าตายนั้น เกิดได้หลายสาเหตุครับ อาจจะเกิดจาก ปัญหาพวกวัสดุปลูกที่ไม่สะอาด ทำให้อาจจะเกิดปัญหาโรครา โรคเน่าขึ้นได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของสภาพอากาศ เช่นโดนแดดแรงเกินไปจนสุกแดด หรือชื้นเกินไปจนเน่า หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีสาเหตุอีกมายมายจริงๆ ครับ เพราะงั้นผมคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากสาเหตุไหนกันแน่

      ส่วนเมล็ดที่ยังไม่งอก ผมว่ารอดูไปอีกสักระยะก่อนก็ได้ครับ บางทีเมล็ดก็อาจจะมีโอกาสที่จะงอกช้าได้อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเพาะมานานเป็นเดือนๆ แล้วยังไม่งอก ก็ต้องเผื่อใจเอาไว้ด้วยนะครับ ว่าเมล็ดอาจจะฝ่อไปแล้วก็ได้

      Delete
    2. ขอบคุณมากค่ะ ที่สละเวลามาตอบ ตอนนี้มีงอกเพิ่มขึ้นมาอีกสองต้นแล้ว รอดูต่อไปค่ะ

      สอบถามหน่อยค่ะ ว่าปกติใส่น้ำเพิ่มลงไปในถุงด้วยรึเปล่าค่ะ

      Delete
    3. ขอบคุณมากค่ะ ที่สละเวลามาตอบ ตอนนี้มีงอกเพิ่มขึ้นมาอีกสองต้นแล้ว รอดูต่อไปค่ะ

      สอบถามหน่อยค่ะ ว่าปกติใส่น้ำเพิ่มลงไปในถุงด้วยรึเปล่าค่ะ

      Delete
    4. ไม่ได้ใส่นํ้าเพิ่มเลยครับ

      Delete
  2. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  3. Thank you very much for your knowledge and experience sharing.

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.