ในการปลูกต้นไม้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และบางครั้งปัญหาก็มาแบบฉับพลันจนเราตั้งตัวไม่ทันเลยล่ะครับ อย่างเรื่องราวที่ผมเขียนในวันนี้นั้น เป็นเรื่องราวของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแคคตัสต้นสำคัญต้นนึงของผม ซึ่งก็คือเจ้าแอสโตรไฟตั้ม ต้นในรูปที่เห็นนี่แหละครับ เจ้าต้นนี้คือแคคตัส Astrophytum asterias cv. super kabuto v-type ไม่แน่ใจว่าใส่ชื่อถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เอาเป็นว่า ผมขอเรียกง่ายๆ ว่าแอสโตรวี ก็แล้วกันนะครับ
เจ้าแอสโตรวีต้นนี้ เป็นต้นที่อยู่กับผมมานาน เป็นต้นที่เคยออกดอกและให้เมล็ดผมมาพอสมควรเลยครับ และตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงเค้ามานั้น เค้าไม่เคยเกิดปัญหาเลยสักครั้ง อดทนแข็งแรง ผ่านฝนฟ้าประคองกันมาตั้งแต่ตอนที่ผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวในการปลูกแคคตัสเลยก็ว่าได้ เป็นต้นที่สอนอะไรผมในหลายเรื่องเลยล่ะครับ
นี่เป็นภาพที่ผมถ่ายเอาไว้เมื่อตอนที่เค้าติดฝัก
ต้องบอกเลยว่าฝักนึงให้เมล็ดเยอะมากเลยล่ะครับ
แต่แล้ววันดีคืนดี เจ้าแอสโตรต้นนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นมาจนได้
แถมยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจู่ๆ เค้าก็เกิดอาการรากเน่า และอาการเน่านั้นก็ลุกลามกินไปจนถึงต้นของเค้าเลยด้วยครับ
จริงๆ
ผมไม่รู้หรอกว่ามันเริ่มเกิดอาการตั้งแต่เมื่อไร
เพราะตอนที่เกิดเรื่องนั้นมันไม่ได้แสดงอาการผิดปรกติอะไรออกมามากนัก
จะบอกว่าผมดูไม่ออกก็ได้ ว่าเค้ากำลังรากเน่า เพราะตอนนั้นต้นของเค้าก็ดูเหมือนว่าจะปรกติดี
ไม่ได้แสดงสีหรือร่องรอยเน่า ช้ำ หรือเน่าเละเป็นน้ำให้ได้เห็นเลยสักนิด ก่อนหน้านั้นผมก็เลยไม่ได้รู้สึกผิดสังเกตอะไรเลยครับ
แต่ที่ผมรู้ว่าต้นนี้นั้นเกิดอาการเน่า มันเป็นความบังเอิญล้วนๆ
เพราะวันที่เกิดเรื่องนั้นจู่ๆ ผมก็นึกอยากยกเจ้าต้นนี้ขึ้นมาดูเล่น
ซึ่งในขณะที่ผมกำลังยกกระถางขึ้นมานั้นผมเกิดความรู้สึกว่าต้นของเค้านั้นมันคลอนผิดปรกติ
ต้นโงนเงนเหมือนรากไม่สมบรูณ์ รากไม่เกาะแน่นกับดิน และตอนที่ผมเอามือยกกระถางขึ้นมานั้น
ผมลองเอียงกระถางดู ต้นของเค้าก็ทำท่าจะล้ม ซึ่งโดยปรกติ
ถ้าต้นแคคตัสของเรานั้นระบบรากดี รากเยอะรากแน่น รากสมบรูณ์ เวลาที่เรายกกระถางขึ้นมาต้นจะมั่นคงไม่โอนเอนไปมา
เพราะระบบรากที่ดีจะยึดกับดินจนแน่น ต่อให้เราเอามือจับที่หัวแคคตัสแล้วยกขึ้นมา
กระถางก็จะลอยขึ้นมาพร้อมกับต้นเลยล่ะครับ ถ้ารากแข็งแรง
ผมจะลองยกแคคตัสที่รากสมบรูณ์ รากแน่นมาให้ดูกระถางนึงก็แล้วกันนะครับ
ผมจะลองยกแคคตัสที่รากสมบรูณ์ รากแน่นมาให้ดูกระถางนึงก็แล้วกันนะครับ
แต่พอตอนนั้นพอผมยกกระถางเจ้าแอสโตรวีขึ้นมาแล้วรู้สึกได้ว่าต้นมันโอนเอนเหมือนจะล้มคากระถาง ผมคิดในใจขึ้นมาทันทีเลยว่า เกิดปัญหาแน่นอน รากคลอน ต้นเหมือนจะล้มแบบนี้ ผมคิดไล่ไปเลยว่า รากเสีย รากเน่า รากขาด อะไรสักอย่างในนี้แน่ๆ และตอนนี้รากของเค้าต้องกุดมากเหลือรากดีๆ น้อยมากแล้วด้วย ต้นถึงได้ทำท่าจะล้มแบบนี้
ว่าแล้วผมก็เลยเทกระถางออกมาดูทันที แล้วก็พบว่ารากของเค้านั้นเน่าเสียจนกุดแล้วครับตอนนั้น ( ไม่มีภาพในตอนนั้นนะครับ ผมคิดไม่ทัน พึ่งจะมาคิดถ่ายภาพก็ตอนที่เอามีดหั่นเค้าไปแล้ว )
ซึ่งเมื่อเจอปัญหารากเน่าขึ้นกับแคคตัส
การแก้ปัญหาที่ผมใช้ ผมจะใช้หลักที่ว่า ถ้ารากเน่าให้ตัดส่วนที่เน่าออกไปให้หมด
ตรงไหนเน่าจนเละต้องไม่เก็บไว้ ตัดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงส่วนที่ยังสมบรูณ์ดี
ผมก็เลยเอามีดไล่ปาดไปเรื่อยๆ
สุดท้ายปาดไปปาดมาก็พบว่าตัดรากจนหมดไม่มีเหลือแต่ก็ยังไม่จบ ผมยังมองเห็นว่ามันยังไม่หมด อาการเน่านั้นมันไม่ได้แค่ราก แต่มันลามเข้าไปกินโคนต้นแล้วด้วย ซึ่งที่ผมทำได้ในตอนนั้นก็คือต้องผ่าต่อไปทีละนิด เมื่อมันกินไปถึงโคนต้นก็ต้องผ่าออกไปให้หมดจนกว่าจะเจอส่วนที่ดี จะหยุดมือไม่ได้ เพราะถ้าผ่าส่วนที่เน่าออกไปไม่หมด อาการเน่าก็จะไม่หายไปแต่จะลุกลามไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้นจะเน่าตายจนหมด
ลองดูตามในภาพนะครับ จะเห็นว่าที่ผมผ่าที่ต้นไปนั้น
ตรงแกนกลางของต้นจะเป็นสีแดงๆ ดูชํ้าๆ ( ในบางกรณีอาการเน่าจะทำให้เนื้อของแคคตัสที่เน่านั้นเละเป็นนํ้า ) อันนี้คืออาการที่ผมคิดว่าเน่านะครับ ตรงส่วนที่ผ่านี้คือส่วนของโคนต้นที่เน่า
ซึ่งถ้าเจอแบบนี้คือต้องผ่าอีก เพราะงั้นผมก็เลยปาดต่อไป
แล้วก็หวังให้มันไม่กินไปจนถึงยอด ขอให้มันลามไปถึงแค่กลางต้น
ยังหลงเหลือส่วนที่ยังดีอยู่บ้างก็อาจจะยังพอมีความหวังว่าเค้าอาจจะสามารถที่จะรอดต่อไปได้
เพราะถ้าอาการเน่า ถ้าเกิดว่ามันกินไปถึงยอดเมื่อไรก็น่าจะจบแน่นอนครับ
ภาพนี้เป็นภาพตอนที่ผมปาดไปจนถึงส่วนที่คิดว่าน่าจะถึงส่วนที่ดีแล้ว
คือผ่าส่วนที่เน่าออกไปจนหมดแล้ว ซึ่งก็ดูจากในภาพนะครับ จะเห็นว่า
ผมปาดส่วนของต้นที่เป็นอาการติดเชื้อ สีแดงๆ คล้ำๆ ออกไปหมดแล้ว ปาดไปจนเจอแกนต้นสีขาวๆ
เนื้อขาวๆ แบบนี้ เป็นส่วนเนื้อที่ปรกติดีแล้วนะครับ ซึ่งแบบนี้คือสุดแล้วครับ
เราได้ต้นส่วนที่ยังปรกติดีอยู่มาเรียบร้อยแล้วครับ แต่อย่างที่เห็นเลยครับ
ว่าอาการเน่ามันกินไปครึ่งต้น ปาดไปปาดมาเหลือแค่ครึ่งหัวแบบนี้ โอกาสมันก็ 50-50 จะรอดหรือจะตาย ตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไร
คิดแค่ว่าก็ทำเท่าที่ทำได้อะไรจะเกิดก็แล้วแต่โชคชะตาก็แล้วกัน
ซึ่งหลังจากที่เหลือหัวของเค้าอยู่แค่ครึ่งหัวแบบนี้
ที่ผมจะทำต่อไปนั่นก็คือการเอาไปกราฟต่อบนตอ เพื่อให้ตอช่วยเลี้ยงชีวิตเค้าต่อไป
แต่เจ้าแอสโตรต้นนี้ ต้องบอกเลยว่าเค้ามีขนาดต้นค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 6 ซม. ซึ่งในการกราฟนั้น ใช้ตอที่มีขนาดเล็กคงไม่ดีแน่
อย่างพวกแก้วมังกรผมมองแล้วว่าไม่ไหว ถ้าขนาดของหัวแคคตัสใหญ่กว่าขนาดของตอมากๆ
เป็นเท่าตัวแล้วล่ะก็ ตอนที่จับมาต่อกัน ผมคิดว่ามันประคองตัวยาก
ผมก็เลยคิดว่าต้องใช้ตอที่มีขนาดที่ใกล้เคียงกับขนาดของหัวแคคตัสมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ซึ่งหันไปหันมาในบ้านผมตอนนั้น ตอที่มีขนาดลำต้นน่าจะพอสูสีกับเจ้าแคคตัสต้นนี้นั้น
ก็มีแต่เจ้าตอ ริทเทอโร ( Ritterocereus ) ต้นนี้นี่แหละที่เป็นตอที่ใหญ่สุดที่ผมมี เพราะงั้นผมก็เลยเลือกเจ้าต้นนี้มาใช้
ตอริทเทอโรเป็นตอขนาดใหญ่
ขนาดต้นของเค้านั้น ถ้าเลี้ยงดีๆ เลี้ยงไปนานๆ
สามารถเลี้ยงให้โตได้มากกว่าเจ้าต้นนี้ของผมหลายเท่านัก ผมคิดว่าต้นของเค้าน่าจะสามารถโตได้หลายเมตรเลยล่ะครับ
แต่ต้นที่ผมมีนั้นมันยังเล็กเพราะผมยังเลี้ยงมาได้ไม่นานเท่าไรก็เลยพึ่งโตได้แค่นี้
ซึ่งในส่วนของการนำตอชนิดนี้มากราฟแคคตัสนั้น ต้องบอกเลยว่าผมไม่มีประสบการณ์ในการกราฟแคคตัสบนตอชนิดนี้สักเท่าไร
แต่ในความรู้สึกของผม ผมว่าริทเทอโรน่าจะเป็นตอที่ใช้ได้อยู่นะครับ
ด้วยความที่ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่แข็งแรงมากๆ ทนทาน อายุเยอะ
ถ้าเรากราฟติดแล้วล่ะก็ ผมว่าสามารถเลี้ยงต่อไปได้อีกหลายปีสบายๆ ตอน่าจะหมดสภาพได้ยากมากๆ
น่าจะเหมาะกับการเลี้ยงระยะยาวอยู่นะครับ แต่เรื่องส่งดีหรือไม่
กราฟบนตอนี้แล้วไม้จะโตเร็วหรือโตช้า อันนี้ผมก็ไม่รู้นะครับ
อย่างที่บอกไปว่าประสบการณ์เกี่ยวกับตอชนิดนี้ผมมีน้อย
เพิ่มเติมเรื่องการเลี้ยงตออีกหน่อยนะครับ
เรื่องตอเนี่ยเนี่ยผมบอกเลยว่าการมีตอสะสมเอาไว้มันเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะครับ
เพราะถ้าเวลาที่เกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมาอย่างเช่นถ้าแคคตัสของคุณเกิดอาการต้นเน่าแบบผม
ถ้าคุณไม่มีตอสำรองพร้อมใช้เอาไว้เลยล่ะก็ มันจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ
ถ้าคุณจะต้องมาวิ่งหาตอในยามฉุกเฉินอาจจะหาไม่ทันและช่วยแคคตัสของคุณไม่ทันก็ได้นะครับ
เพราะงั้นผมคิดว่าเลี้ยงตอเอาไว้เถอะครับ เลี้ยงแล้วไม่ได้ใช้ก็ดีกว่าจะต้องรีบใช้หรือจำเป็นต้องใช้แล้วไม่มีให้ใช้
มาต่อกันดีกว่า
เมื่อได้ตอมาเรียบร้อย
ขั้นตอนตอมาก็คือการกราฟ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า การกราฟในคราวนี้
ผมไม่แน่ใจเลยว่าจะติดหรือไม่ ความมั่นใจในตอนนั้นมันหายไปหมดเลยครับ
แต่มันก็ต้องทำเพื่อช่วยชีวิตเจ้าแอสโตรต้นนี้ล่ะนะ
เพราะงั้นก็มีแต่ต้องเดินหน้าลงมือเท่านั้น
เริ่มกันเลยนะครับ
ด้วยความที่เจ้าริทเทอโรต้นนี้มีหนามเยอะมาก
และหนามก็ยาวมากๆ ซึ่งในการกราฟผมไม่ค่อยชอบหนามเยอะๆ เท่าไร
เพราะงั้นก็เลยจะตัดหนามออกให้กุด จะได้ทำการกราฟง่ายๆ ไม่ต้องระวังหนามตำ
หลังจากที่ผมตัดหนามออกไปบางส่วนแล้ว
จากนั้นก็จะมาเริ่มการปาดกันเลยครับ
ขั้นตอนต่างๆ ที่ผมทำนั้น
พอเขียนออกมาอาจจะดูเหมือนว่าใช้เวลานาน แต่ทั้งหมดที่เขียนมานั้น
ตอนที่ทำผมใช้เวลานิดเดียวเองนะครับ ผมเร่งทำเลยล่ะครับ
เพราะไม่อยากจะปาดแคคตัสทิ้งไว้นานๆ กลัวผิวมันจะแห้งแล้วยุบ
เพราะงั้นตั้งแต่การปาดแคคตัส การปาดตอเนี่ย ใช้เวลาไม่นานนะครับ
ปาดตอ ตัดแต่งขอบตอ เรียบร้อยแล้วครับ
จากนั้นผมก็จะนำเจ้าแอสโตรที่ผ่าเอาไว้ในตอนแรกมาประกบกับตอทันที
ซึ่งตอนที่ประกบลงไปนั้นผมมองเห็นทันทีเลยว่าเจ้าแอสโตรต้นนี้ใหญ่กว่าขนาดของตอเยอะเลยครับ
ขนาดว่าตออันนี้เป็นตอที่ใหญ่ที่สุดที่ผมมีแล้วนะ แต่ก็ยังเล็กกว่าเจ้าแอสโตรมากๆ
แต่มันไม่มีตัวเลือกแล้วตอนนั้น หาตอที่ใหญ่ที่สุดได้เท่านี้ เพราะงั้นก็ต้องตามนี้ไปเลย
ประกบเสร็จผมก็จะทำการหมุนหัวแคคตัสเพื่อไล่อากาศ จากนั้นก็ทำการติดสก็อตเทปเพื่อยึดไม่ให้เค้าหลุดออกจากกัน
เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับกับการกราฟเจ้าแอสโตรต้นนี้บนตอริทเทอโร
หลังจากที่ทำมาถึงตรงนี้แล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของโชคชะตาแล้วล่ะครับ
รอลุ้นว่าการกราฟครั้งนี้จะติดหรือไม่ หรือจะเป็นยังไงต่อไปก็ต้องรอดูไปอีกสักระยะ
ด้วยความที่ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้กราฟแคคตัสที่มีขนาดใหญ่สักเท่าไร
ผมไม่แน่ใจว่าระยะเวลาที่จะต้องรอให้รอยต่อที่เรากราฟไว้นั้นสมานเป็นเนื้อเดียวกันมันต้องรอกี่วัน
ปรกติถ้าเป็นการกราฟบนตอแก้วมังกรก็ 7 วัน แต่ตออันนี้ผมกะไม่ถูก
เพราะงั้นผมก็เลยคิดว่าจะเก็บเอาไว้สัก 2-3 อาทิตย์เลยก็แล้วกัน เอาให้มั่นใจว่าเค้าติดแน่ๆ
แล้วค่อยแกะสก็อตเทปดีกว่า
โดยระหว่างการรอนั้น
ผมก็ทำการเก็บเจ้าต้นนี้เอาไว้ในที่ๆ มีแสงส่องรำไร อย่าให้โดนแดดจัด
อย่าให้โดนฝนสาดเป็นเด็ดขาด ก็ประมาณนี้ครับ
3 อาทิตย์ผ่านไป ผมคิดว่าน่าจะติดแล้วล่ะนะ
เพราะงั้นเรามาแกะดูกันเลยดีกว่าครับ
ผลก็ปรากฏว่าการกราฟในครั้งนี้ ติดนะครับ
รอยต่อสมานกัน
มองที่หัวแคคตัสก็ยังอยู่ดีไม่มีติดเชื้อตรงไหน แบบนี้ก็น่าจะโอเคแล้วครับ
ต่อไปก็เป็นขั้นตอนของการเลี้ยงตามปรกติแล้วล่ะครับ
ช่วงแรกๆ หลังจากที่เค้าต่อติดผมก็จะเลี้ยงแบบไม่ให้โดนแดดจัดๆ
ให้โดนแต่แสงแดดอ่อนๆ ไปก่อน แล้วค่อยๆ
ขยับปริมาณแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเห็นว่าเค้าน่าจะพอรับแสงแดดเยอะๆ ได้แล้วจากนั้นก็เลี้ยงตามปรกติเลยครับ
ในการเลี้ยงแคคตัสของผมนั้น
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ได้เจอปัญหาไม้เน่าทำให้ผมค่อนข้างระวังในเรื่องของความชื้นมากขึ้น
โดนเฉพาะฝนตก ผมจะพยายามไม่ให้แคคตัสของผมนั้นตากฝน เพราะถ้าโดนฝนสาดบ่อยๆ
ผมกลัวว่ามันจะเน่าหรืออาจจะเกิดพวกโรคราสนิมขึ้นมาได้
เพราะงั้นเรื่องความชื้นผมจะค่อนข้างระวังสุดๆ เลยล่ะครับ
ในตอนที่เขียนบทความอยู่นี้ เจ้าต้นนี้ก็ยังอยู่ดี
เจริญเติบโตอยู่บนตออย่างไม่มีปัญหาอะไร เค้ามีพัฒนาการการเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ช้าๆ
ซึ่งผมก็ไม่ได้ไปคาดหวังว่าเค้าจะต้องโตเร็วหรือต้องออกดอกหรือไม่
เพราะตั้งแต่วันที่ช่วยชีวิตเค้าให้กลับมาได้ ผมพอใจแล้วครับ
แค่เค้ายังรอดอยู่ด้วยกันต่อไป แค่นี้ก็ดีแล้ว ส่วนเค้าจะเป็นยังไง จะโตไปในทิศทางไหน
ก็แล้วแต่เค้าแล้วล่ะครับ ผมแค่เลี้ยงให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนวันข้างหน้าก็ให้มันเป็นเรื่องของอนาคตดีกว่าครับ
สิ่งที่ผมเขียนไปทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมคิดและทำลงไปตามความเชื่อของผม สิ่งที่ผมเขียนมันอาจจะไม่ได้ถูกต้องก็ได้ เพราะผมไม่ใช่คนที่เก่งมาจากไหน ประสบการณ์ในการปลูกแคคตัสของผมนั้นยังน้อยมากครับ เพราะฉะนั้นผมอยากให้คุณมองบทความนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ตัวอย่างนึงเท่านั้น
อย่าพึ่งเชื่อ
ฟังหูไว้หู หาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ เว็บเพื่อประกอบการตัดสินใจ จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แน่นอนครับ
เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ
ตอนนี้เจ้าแอสโตรวีเป็นยังไงบ้างคะ
ReplyDeleteก็ยังอยู่ดีครับ
Deleteเขียนเรียบเรียงดีมากเลยครับ ถ่ายทอดความรู้และความรู้สึกดีมากเลย ผมอ่านเเล้วรู้สึกลุ้นตาม ในขณะเดียวกันก็ดีใจในตอนท้ายที่เค้ายังสู้อยู่กับเราต่อ
ReplyDeleteขอบคุณนะครับ
Deleteขอบคุณค่ะ👍👍
ReplyDelete