Tuesday, December 10, 2019

การขยายพันธุ์ตอสามเหลี่ยมหนามด้วยการปักชำ และการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนาม


                         ตอสามเหลี่ยมหนามเป็นตอกราฟที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยความที่ตอชนิดนี้เลี้ยงง่าย โตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ง่าย และในการนำมาทำเป็นตอกราฟนั้น ก็ให้ผลที่ดีมากๆ เป็นตอที่ต่อติดง่าย ส่งการเจริญเติบโตได้ดี ทนทานตอโรคและสภาพอากาศ อายุการใช้งานก็สูง สามารถส่งการเจริญเติบโตเลี้ยงแคคตัสไปได้อีกหลายปี เพราะฉะนั้นตอชนิดนี้จึงเป็นตอที่หลายๆ ท่านชอบใช้ รวมถึงตัวผมเองก็ด้วย ตอสามเหลี่ยมหนามถือเป็นตอที่ผมใช้ประจำเลยก็ว่าได้

                         ซึ่งในการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมนั้น มีหลายๆ ท่านถามเข้ามาว่า ต้องเอาตอไปปักชำให้ออกรากก่อนแล้วถึงค่อยเอามากราฟ หรือตัดมาสดๆ แล้วเอามากราฟได้เลยทันที แบบไหนดีกว่ากัน

                         คำถามนี้ ผมขอตอบว่าได้ทั้งสองอย่าง ตัดตอมาสดๆ แล้วเอามากราฟเลยก็ได้ แต่ถ้าเอาไปปักชำให้ออกรากก่อนแล้วค่อยกราฟมันก็ดี สำหรับท่านที่อยากดูวิธีการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงก์ที่ลงไว้ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ เราเคยทำรีวิววิธีการกราฟบนตอตัดสดไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอนแล้ว

ลิงก์นี้ครับ การกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด 

                         แต่สำหรับบทความนี้ เราจะมาเขียนถึงการกราฟแบบกราฟบนตอที่ผ่านการปักชำมาจนออกรากแล้ว ซึ่งเราจะย้อนไปตั้งแต่ก่อนการกราฟ ตั่งแต่ตัดตอมาสดๆ เอามาปักชำจนออกราก จนต้นสมบรูณ์ แล้วก็จะมากราฟให้ดูกัน พร้อมทั้งจะมีพัฒนาการการเติบโตของไม้กราฟมาให้ได้ดูกันด้วยครับ

เกริ่นมายาวมาก ผมว่าเราเริ่มกันเลยนะครับ


                           ในภาพด้านบนนี้คือตอสามเหลี่ยมหนามที่ผมเลี้ยงไว้ขยายพันธุ์ ก็เลี้ยงแบบง่ายๆ เลยครับ ปลูกด้วยดินใบก้ามปู ให้ได้รับแสงแดดดีๆ โดนแดดทั้งวันในทุกๆ วัน รดน้ำวันละครั้ง ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง เค้าเป็นไม้ที่เติบโตได้ง่าย เลี้ยงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเค้าก็จะแตกกิ่งออกมา ซึ่งเราก็จะเอากิ่งที่แตกออกมานี่แหละมาใช้ในการกราฟ

                           ซึ่งกิ่งที่จะใช้ในการกราฟได้ดีนั้นจะต้องเป็นส่วนยอด ที่ไม่อ่อนเกินไป ต้องเป็นยอดที่มีความสมบรูณ์เต่งตึงสักหน่อยก็จะดีครับ 


                          นี่คือกิ่งที่เรามองว่ามันพร้อมใช้แล้ว ไม่อ่อนเกินไป มีความสมบรูณ์ เราก็จะตัดมา ซึ่งแบบนี้สามารถเอาไปกราฟสดๆ เลยก็ได้ แต่ผมไม่ได้รีบร้อนที่จะต้องใช้ ก็เลยจะเอาไปปักชำให้ออกรากก่อน

                          ข้อดีของการเอาตอกราฟมาปักชำให้ออกรากก่อนแล้วค่อยเอาไปกราฟนั้น ก็คือตอที่ออกรากมาอย่างสมบรูณ์ ต้นแข็งแรงดีแล้ว พอเราเอาไปกราฟ เมื่อต่อติดเค้าจะมาสามารถส่งการเจริญเติบโตให้กับหัวแคคตัสที่เราต่อ ได้อย่างต่อเนื่องทันที คือตอติดปุ๊บ เจ้าแคคตัสก็พร้อมที่จะมีพัฒนาการการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมมองว่าดีมากๆ เลยล่ะครับ

.
 

                           ซึ่งพอเราตัดยอดของเจ้าสามเหลี่ยมหนามมาได้ปุ๊บ ผมจะยังไม่เอาไปชำลงดินเลยทันทีหรอกนะครับ แต่จะเอามาทายาเร่งราก เพื่อช่วยกระตุ้นการออกราก จากนั้นก็จะวางผึ่งเอาไว้ในที่ร่มรำไร เพื่อรอให้แผลนั้นแห้งเสียก่อนสัก 1 สัปดาห์ แล้วค่อยเอาไปชำลงดินต่อไป


ซึ่งดินที่ใช้ปลูกนั้นก็เหมือนเดิม ดินใบก้ามปู ผสมกับกาบมะพร้าวสับเล็ก


                          ช่วงที่เราเอาตอกราฟมาลงปลูกใหม่ๆ นั้น ไม่ควรให้โดนแดดจัดนะครับ อาจเกิดอาการเหี่ยวหรือไหม้แดดเอาได้ ควรวางเค้าไว้ในที่ร่มรำไร โดนแดดอ่อนๆ ส่วนในเรื่องของการรดน้ำนั้น ผมรด 1-2 วันครั้ง

                          ตอสามเหลี่ยมหนามเป็นตอที่ออกรากง่าย เราเลี้ยงไปสักประมาณ 2-3 สัปดาห์ เค้าก็เริ่มจะมีราก เริ่มมีพัฒนาการการเจริญเติบโตแล้ว

เมื่อตอที่เราชำไว้นั้นเริ่มมีความสมบรูณ์ ต้นเต่งตึงเราก็สามารถนำมาใช้ในการกราฟได้แล้วล่ะครับ


อย่างในภาพนี้คือตอที่พร้อมใช้งานได้แล้ว เรามาลงมือกราฟกันเลยดีกว่าครับ


                         สำหรับแคคตัสที่เราจะเอามากราฟกันในคราวนี้นั้น ผมเลือกมาเป็นหน่อยิมโน Yellow Tiger แล้วก็ จะมีหน่อ ยิมโน LB และก็จะมี Astrophytum เป็นไม้เพาะเมล็ดต้นเล็กๆ เราก็จะเอามาลองกราฟกันด้วย


เราไปเริ่มที่การกราฟหน่อ ยิมโน LB ก่อนเลยก็แล้วกัน


                          เริ่มจาก ปาดที่ยอดของตอ ในการปาด ให้ดูรอยปาดให้เรียบเสมอกัน ถ้าปาดพลาดหรือไม่มั่นใจว่าที่เราปาดนั้นมันโอเคหรือไม่ล่ะก็ ให้ปาดใหม่อีกครั้ง


จากนั้นก็ตัดแต่งขอบตอแบบนี้


                         การแต่งขอบตอแบบนี้ก็เพื่อเวลาที่เรารดน้ำไปโดน น้ำจะได้ไหลลงตามแนว เป็นการระบายน้ำไม่ให้ขังอยู่ที่ยอดแคคตัสที่เราต่อมากนัก 

เมื่อเราปาดตอเรียบร้อยแล้วต่อไปเราก็จะมาปาดที่หน่อแคคตัสของเรากันบ้าง 


ผมจะปาดตามแนวประมาณนี้ กะด้วยสายตาแล้วว่ามันไม่ลึกไม่ตื้นเกินไป


                         ปาดเรียบร้อยแล้วครับ เช่นเดียวกันคือต้องดูรอยตัดให้เรียบเสมอกัน ถ้ามีรอยยุบหรือมีรอยแผลที่ไม่เรียบเสมอกันให้ปาดใหม่


เมื่อปาดเรียบร้อยแล้วก็นำแคคตัสมาต่อบนตอได้เลยครับ


ประกบลงไปแล้วก็หมุนๆ หัวแคคตัสสักหน่อย ดูให้รอยต่อนั้นทาบกันสนิท จากนั้นก็เอาสก็อตเทปมาติด


ติดสก็อตเทปเรียบร้อยก็เป็นอันเสร็จสำหรับอันนี้

                          แต่ยังไม่จบ เพราะตอนที่เราปาดหน่อแคคตัสนั้น จะเห็นว่ายังมีส่วนฐานของหน่อที่เหลืออยู่ ซึ่งเจ้าฐานของแคคตัสที่เหลืออยู่นั้นเราสามารถเอามากราฟได้เช่นเดียว มีโอกาสที่จะกราฟติดได้เช่นเดียวกันครับ 


วีธีการก็เหมือนกับการกราฟส่วนยอดนั่นแหละ 

ปาดตอ จากนั้นก็นำส่วนฐานของแคคตัสมาประกบลงไปแบบในภาพนี้เลยครับ


                           ประกบลงไปเสร็จเรียบร้อยก็ติดสก็อตเทปได้เลย ซึ่งในการกราฟส่วนฐานนั้น ก็ต้องมาลุ้นกันอีกทีนะครับว่าจะติดได้ดีขนาดไหน เปอร์เซ็นต์การติดอาจจะไม่ชัดเจนเท่าไร มีโอกาสล้มเหลวได้ ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยนะครับ 

                           ต่อไปเราก็จะมาทำการกราฟต้นอ่อนแอสโตรกันบ้าง เป็นแอสโตรด่างที่ผมเพาะเมล็ดเอาไว้ อายุประมาณสัก 6-7 เดือนน่าจะได้ 

วิธีการก็เหมือนเดิมเลยครับ ปาดตอให้เรียบร้อย จากนั้นก็จับเจ้าแคคตัสมาผ่าได้เลยครับ


ผมจะผ่าครึ่งประมาณนี้เพื่อที่ว่าจะได้สามารถนำทั้งสองส่วน ทั้งส่วนยอดและส่วนฐานแบ่งไปกราฟเป็น 2 ต้น 

ส่วนยอดก็เอาไปต่อแบบนี้เลย


ส่วนของฐานก็มาอยู่ตรงนี้ แบบนี้เลย


ติดสก็อตเทปให้เรียบร้อยก็เป็นอันเสร็จ

หน่ออื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน แยกย้ายกันไปกราฟ


                          เมื่อกราฟเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็จะนำเค้าไปเก็บเอาไว้ในที่ร่มรำไร เพื่อรอให้รอยแผลที่กราฟนั้นต่อติดกัน ซึ่งก็จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน ก็น่าจะต่อติดดีแล้วล่ะครับ


1 อาทิตย์ผ่านไป

เราก็จะมาแกะดูกันครับว่าเป็นยังไงบ้าง


                          เท่าที่เห็นก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ผ่านไปได้ด้วยดี ต่อไปก็เป็นเรื่องของการดูแล และตามติดพัฒนาการของเค้ากันต่อแล้วล่ะครับว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน


                           ซึ่งในการเลี้ยงดูไม้กราฟที่พึ่งต่อติดได้ไม่นานนั้น ช่วงแรกๆ ผมจะเลี้ยงแบบให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปสักระยะก่อน เพราะถ้าโดนแดดแรงไป อาจจะไหม้แดดเอาได้เพราะไม้ยังไม่แข็งแรง รอเค้าเติบโตยอดเดินดีมีพัฒนาการเสียก่อนค่อยเพิ่มแสงไปทีละระดับ

ส่วนการรดน้ำนั้นก็ 2 วันครั้ง หรือดูที่ดิน ถ้าเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็รด แต่ถ้าดินยังแฉะๆ ก็ไม่ต้องรดก็ได้


                           สำหรับเรื่องของการให้ปุ๋ยไม้กราฟนั้น ผมใส่เป็นปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) ใส่ 3 เดือนครั้ง ถ้าเป็นไม้เล็กๆ จะใช้เป็นสูตรเสมอ แต่ถ้าเป็นไม้กราฟที่โตพร้อมออกดอกได้แล้วผมก็จะใส่เป็น สูตรเร่งดอก ออสโมโค้ทนั้น มี 2 สูตร ท่านที่อยากบำรุงต้นก็สูตรเสมอ แต่ถ้าอยากเร่งดอก บำรุงดอกก็สูตรเร่งดอก ลองไปซื้อหากันตามร้านขายปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรทั่วไปน่าจะมีขายอยู่ครับ

                            คือตอสามเหลี่ยมนั้นเป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ทนทาน ในการเลี้ยงไม้กราฟตอชนิดนี้จึงไม่ค่อยจุกจิกมากนัก ได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ให้น้ำเค้าอย่างพอเพียง ถ้าไม่ปล่อยทิ้งหรือละเลยจนเกินไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นง่ายอย่างแน่นอน การปลูกต้นไม้นั้น การเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญนะครับ

เราไปดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของเค้าแคคตัสที่กราฟไปสักหน่อยก็แล้วกันนะครับ


บางต้นก็เติบโตได้ดี โตเร็ว บางต้นก็เรื่อยๆ ต้องให้เวลากันไป 


                          แต่ก็มีที่สุดท้ายแล้วก็ยุบหายไปเหมือนกัน เป็นส่วนฐานที่ผมได้กราฟไป มีบางอันที่ไม่ติด แห้งไปในที่สุด ผมไม่ได้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้


                          เจ้า LB ที่เรากราฟไปต้นนี้ พอเค้าเติบโตขึ้นมาก็เริ่มออกสีสันสดใสเลยล่ะครับ ผมลืมบอกไปว่า หน่อนี้เป็นหน่อ LB ด่าง เผื่อบางท่านสงสัยว่าตอนที่กราฟมันไม่ได้สีนี้นี่ ทำไมตอนนี้สีสดใสแบบนี้ คือเป็นหน่อจากต้น LB ด่าง แต่ตอนเล็กๆ ที่เด็ดมากราฟ มันยังไม่ออกสีด่างเหมือนต้นแม่ แต่พอเลี้ยงมาเรื่อยๆ ปรากฏว่าเค้าเริ่มจะออกสีด่างตอนโตนี่แหละนะ ดีเลยครับแบบนี้ เพราะไม่ได้คาดหวังไว้เลยสักนิดว่าสุดท้ายเค้าจะออกด่าง


                           ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวการขยายพันธุ์ตอสามเหลี่ยมหนาม และการกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนาม ไม่ยาก ก็ถือว่าเป็นตอที่น่าสนใจและก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเลยล่ะครับ

                          สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่อยากซื้อหาตอชนิดนี้มาไว้กราฟ หรือขยายพันธุ์ ผมออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับว่า ผมไม่ได้มีขาย เพราะที่ผมมีอยู่นั้น ผมก็ทำไม่ทันใช้เหมือนกัน มีเท่าไหร่ผมกราฟหมดเพราะงั้นผมไม่สามารถเปิดจำหน่ายได้จริงๆ ยังไงผมแนะนำว่าลองดูตามกลุ่มซื้อขายแคคตัสในเฟสบุ๊คนะครับ น่าจะมีคนนำมาลงขายในกลุ่มซื้อขายอยู่บ้าง ยังไงลองเสิร์ชในเฟสบุ๊คว่า กลุ่มซื้อขายแคคตัส จะเจอกลุ่มซื้อขายอยู่หลายกลุ่มเลยทีเดียว ลองเข้าไปดูนะครับ ต้องขอโทษด้วยจริงๆ ครับเรื่องนี้ 

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกแคคตัสเรื่องต่อไปของเรานะครับ

เพจของเรา  https://web.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.