Friday, June 9, 2017

การแยกพอต ย้ายกระถางต้นอ่อนแคคตัส และการดูแลแคคตัสที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ


                     เมื่อเมล็ดแคคตัสที่เราได้เพาะเอาไว้ เริ่มงอกและเจริญเติบโตไปจนถึงระดับนึง ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาจับเค้าย้ายกระถาง เปลี่ยนดิน เพื่อให้เค้าได้แยกย้ายกันไปเจริญเติบโตตามเส้นทางของแต่ละต้น
 
                     แล้วไอ้ที่ว่าเติบโตจนถึงระดับนึงนั้น มันต้องเติบโตขนาดไหน ต้นอ่อนต้องมีอายุกี่เดือนถึงจะแยกได้ และขั้นตอนในการแยกพอตนั้นมีวิธีการอย่างไรบ้าง และพอแยกเสร็จแล้วจะต้องดูแลต่อไปยังไง  คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่หลายท่านคงสงสัย

                     ซึ่งสำหรับตัวผมนั้น ในการแยกพอตต้นอ่อนแคคตัส ผมจะไม่ได้เอาอายุของต้นอ่อนมาเป็นตัวกำหนดนะครับ แต่สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าต้นแคคตัสของเรานั้นพร้อมที่จะย้ายพอตได้รึยัง ผมดูที่ขนาดของต้นเป็นหลัก


                       เพราะการเจริญเติบโตของต้นอ่อนแคคตัสนั้น ไม่สามารถระบุแน่นอนได้ว่าอายุเท่าไรจะโตได้ขนาดไหน บางพอตอายุ 4-5 เดือนก็โตพอที่จะแยกได้ แต่บางพอตก็โตช้า อายุ 7-8 เดือนต้นก็ยังไม่โตสักเท่าไร และแม้แต่ในพอตเดียวกัน แต่ละต้นก็ยังโตช้าเร็วไม่เท่ากัน บางต้นโตไวกว่าเพื่อน แต่บางต้นก็โตไม่ทันต้นอื่น ( อาจเพราะวิธีการเลี้ยงของผมยังไม่ดีพอก็ได้มั้ง การเจริญเติบโตของไม้ที่ผมเลี้ยงถึงได้ไม่นิ่งเท่าไร ) เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เอาเรื่องเวลามาเป็นตัวกำหนด แต่จะมองที่ขนาดของต้นและความแออัดของพอตเป็นหลัก ยกเว้นในกรณีที่ว่า ต้นยังไม่โตแต่ดันเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมา อย่างเช่นกระถางล้มคว่ำจนต้นแคคตัสนั้นหลุดออกมาจากกระถาง หรือเกิดปัญหาโรคเน่า โรครา หรือโดนแมลงเข้าโจมตี อะไรแบบนี้ถึงจะเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ต้องแยกพอตเพื่อรักษา แต่ถ้าเค้าปรกติดีไม่ได้มีปัญหาอะไรมารบกวน ผมก็จะดูที่ขนาดของต้นก่อนเลยครับว่าโตพอที่จะแยกได้หรือไม่

                      ซึ่งขนาดของต้นอ่อนที่ผมคิดว่าโตพอที่จะแยกได้แล้วนั้นก็คือตั้งแต่ 1 ซม. ขึ้นไปครับ หรือไม่ผมก็จะดูที่ภาพรวมของพอต ถ้าเห็นว่าต้นอ่อนในพอตนั้นโตจนแน่น เบียดกันจนล้นกระถาง ตัวอย่างตามรูปด้านล่างครับ


เติบโตจนเบียดเสียดกันขนาดนี้ ก็น่าจะได้เวลาแล้วล่ะนะ เพราะมันแน่นจนล้นไปหมดแล้ว

                       แต่บางที ในกรณีที่ต้นอ่อนแคคตัสที่เราเพาะไว้นั้นยังไม่โตเท่าไร จะเลี้ยงต่อไปอีกสักระยะแล้วค่อยแยกพอตก็ยังได้ แต่ดันเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมา อย่างในรูปด้านล่าง


                       ตรงจุดที่ผมใส่ลูกศรชี้เอาไว้ จะเห็นว่าแคคตัสตรงส่วนนั้นมีอาการเน่าตายหลายต้นเลยล่ะครับ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ขึ้นล่ะก็ ยังไงมันก็จำเป็นต้องแยก เพราะอาการเน่ามันมันได้ลามไปสู้ต้นข้างเคียงด้วย ซึ่งถ้าไม่แยกต้นอื่นๆ ในพอตออกมาล่ะก็ มันจะตายตามกันไปจนหมดแน่นอนครับ

                       ซึ่งในการแยกต้นอ่อนที่มีขนาดเล็กมากๆ นั้น ด้วยความที่ต้นอ่อนที่มีขนาดเล็กมากๆ จะค่อนข้างอ่อนแอ มันก็มีโอกาสที่จะตายได้ง่ายกว่าการแยกพวกต้นใหญ่ๆ เพราะงั้นในการแยกพอตก็ต้องเผื่อใจเอาไว้ให้กับความล้มเหลวด้วยนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะแย่ไปเสียทุกครั้งหรอกนะ เพราะโอกาสที่เค้าจะรอดมันก็มีไม่น้อย อย่างตัวผมเองก็มีหลายครั้งเลยครับ ที่ต้องแยกพอตต้นอ่อนที่มันเล็กมากๆ แต่ก็ผ่านมาได้แบบสบายๆ ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้อย่างไรปัญหา เพราะงั้นไม่ต้องไปคิดมากนะครับ อาจจะสำเร็จก็เป็นได้

เกริ่นมาซะยาว เอาเป็นว่าเราไปเริ่มการแยกพอตกันเลยดีกว่าครับ
------------------------------------------------------------------------------------------------

                       สำหรับวิธีการในการแยกพอตแคคตัสนั้น เพื่อความหลากหลาย ผมขอนำเสนอ 2 วิธีด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 วิธีที่นั้น เป็นวิธีการที่ผมเคยทำมาหลายครั้ง และก็รู้สึกโอเคกับทั้ง 2 วิธี เลือกไม่ได้ว่าแบบไหนมันดีกว่ากัน เพราะฉะนั้นผมจะไม่ฟันธงนะว่าแบบไหนมันดีที่สุด เพราะมันแล้วแต่ความชอบส่วนตัวของแต่ละคนด้วย เราอาจจะมองต่างกันก็ได้ ผมอยากให้ท่านดูทั้ง 2 วิธี แล้วเลือกเอาเลยครับว่าท่านชอบแบบไหน ผมแค่มานำเสนอเท่านั้น