Thursday, January 30, 2020

เมื่อแมมขนแมว ( Mammillaria Bocasana ) เกิดปัญหาต้นเน่า


                          เรื่องราวในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าแคคตัสแมมมิลลาเลียขนแมว ( Mammillaria Bocasana ) ของผมต้นนึงที่มีอาการต้นเน่า เราก็เลยต้องมาทำการรักษากันอย่างเร่งด่วน

ก่อนอื่นเลยเราไปดูภาพของเจ้าแมมขนแมวต้นนั้นกันเลยดีกว่าครับ เป็นภาพในวันที่ผมทราบว่าเค้ามีอาการเน่า


ถ้าคุณดูในภาพมุมนี้จะเห็นว่าเจ้าแมมขนแมวต้นนี้ก็ดูเหมือนว่าจะแรกติดี แต่เดี๋ยวผมจะพลิกให้ดูอีกด้านนึงนะครับ 


                         พอมาดูด้านนี้จะเห็นว่าตรงส่วนลำต้นของเค้านั้นมีอาการเน่า ซึ่งผมได้ทำการแซะในส่วนผิวด้านนอกออกไปเพื่อที่จะได้มองเห็นรอยเน่าได้ชัด ซึ่งจะเห็นว่าด้านในของลำต้นนั้นเน่าเป็นโพรงเข้าไปเลยล่ะครับ


เรามาดูในมุมใกล้ๆ กันดีกว่าครับจะเห็นรอยเน่าชัดขึ้น 

                          ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลเป็นโพรงคือส่วนของเนื้อแคคตัสที่เน่าติดเชื้อ ซึ่งถ้าให้พูดถึงสาเหตุล่ะก็ ผมคิดว่าสาเหตุของการเน่าก็น่าจะมาจากเรื่องของความชื้นนั่นล่ะครับ

                          เพราะว่าตอนที่เกิดเรื่อง ช่วงวันที่เราถ่ายรูปมาเนี่ย เป็นช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นหน้าฝน อาจจะด้วยความที่อากาศชื้น ฝนตกฟ้าครึ้มบ่อย แสงแดดก็เลยอาจไม่พอเพียง ด้วยความที่แมมขนแมวมีขนที่หนาและต้นนี้เป็นฟอร์มกอมีหน่อค่อนข้างแน่น ตอนที่ผมรดน้ำผมอาจจะเผลอรดจนเปียกชุ่มทั้งกอ ซึ่งด้วยความที่อากาศมันชื้น แดดไม่ค่อยมี ก็เลยทำให้ภายในกอของแมมต้นนี้มีความชื้นสะสมที่มากจนเกินไปจนเกิดอาการเน่าขึ้นมาได้ อันนี้คือที่ผมคิดนะ อาจจะคิดถูกหรือผิดก็ได้เพราะเราไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของไม้ตลอดเวลาอาจจะมีสาเหตุอื่นแทรกซ้อนตอนที่เราไม่ได้เห็นก็เป็นได้ 

แต่ในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นมาแล้ว ผมว่าเราไปโฟกัสกันที่การรักษาเลยดีกว่า


                           สำหรับแคคตัสที่มีปัญหาเกิดอาการเน่านั้น แนวทางการรักษาก็คือ ต้องตัดอาส่วนที่เน่านั้นออกไปให้หมดอย่าให้เหลือเด็ดขาด ถ้าเราไม่เอาส่วนที่เน่านั้นออกไปมันจะลุกลามไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้นแคคตัสจะเน่าหมดทั้งต้นและตายในที่สุด เพราะฉะนั้นต้องเอาส่วนที่เน่าออกให้หมดนะครับ

                           เมื่อเอาส่วนที่เน่าออกไปหมดแล้ว ส่วนที่ดีที่ยังเหลืออยู่เราค่อยมาว่ากันว่าจะเอาไปทำอย่างไร ตอนนี้เราเริ่มทำการผ่าส่วนที่เน่าออกให้หมดกันเลยดีกว่าครับ


ด้วยความที่มันเน่าเป็นโพรงเข้าไปกลางลำต้น ผมจะใช้มีดปลายแหลมหรือมีดคว้าน ค่อยๆ คว้านแซะเนื้อที่เน่าออกมา


                         แต่ว่าหลังจากที่คว้านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเน่าลึกมาก ผมว่าน่าจะถึงแกนกลางต้น ผมประเมินแล้วว่าน่าจะต้องผ่าแยกส่วนเจ้าต้นนี้แล้วล่ะ เพราะถ้าไม่แยกหน่อออกมาเกรงว่าอาจจะติดเชื่อลุกลามพากันตายหมดทั้งต้นก็เป็นได้ แต่ถ้าแยกหน่อออกมา แล้วเอาหน่อเหล่านั้นไปชำ ผมว่าโอกาสที่จะมีบางหน่อที่รอดต่อไปได้ จะได้เป็นต้นสำรองต่อไปในอนาคตด้วย 


                          ก็แยกมาได้ทั้งหมด 6 หน่อเลยล่ะครับ ซึ่งหน่อเรานี้ เราจะเอาไปผึ่งให้แผลที่เราแยกหน่อนั้นแห้งสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยเอาไปชำ หรือลงปลูกต่อไปครับ ซึ่งผมก็จะเอาไปผึ่งไว้ในที่ร่มรำไร ก็วางไว้ในบ้านนั่นล่ะ

                         ส่วนต้นหลักนั้น อย่างที่บอกไปว่ามันเน่าลึกเป็นโพรง กินเนื้อไปเยอะมาก ผมก็เลยจะต้องทำการผ่าครึ่ง เพื่อที่จะดูว่ามันเน่ากินไปถึงยอดมั้ย ถ้าส่วนยอดยังดีอยู่ล่ะก็จะได้เอาส่วนยอดไปชำ


จากที่ผ่าครึ่ง ผมว่าส่วนยอดนั้นยังโอเคอยู่ น่าจะเอาไปชำได้ 


                         แต่ว่าด้วยความที่แผลที่เราผ่าตัดไปนั้นมันใหญ่มาก ทั้งแผลที่เราเจาะปาดเอาส่วนเน่าที่ลำต้นออก และแผลที่เราตัดผ่าส่วนยอด หลังจากที่เราผ่าอะไรเสร็จเรียบร้อย ผมก็จะใช้เป็นผงอลูมินั่มทาเพื่อปิดปากแผล


ผงอลูมินั่มนั้นจะช่วยในเรื่องของการผิดปากแผลให้แห้ง ลดการคายน้ำจากแผล ซึ่งใช้ดีครับผงตัวนี้


เจ้าผงตัวนี้ผมไม่ทราบนะครับว่ามีขายที่ไหนบ้าง พอดีผมซื้อมาเมื่อนานมาแล้วจากงานแคคตัสงานนึง


                        หลังจากที่เราทาผงอลูมินั่มปิดปากแผลเรียบร้อย เราก็จะนำเค้าไปวางผึ่งไว้ในที่ร่มรำไรเพื่อรอให้แผลเค้าแห้งสนิทเช่นเดียวกัน 1-2 สัปดาห์

                        ช่วงที่วางผึ่งเอาไว้นั้น เราก็ต้องคอยดูความเปลี่ยนแปลงไปด้วยว่ามีอาการเน่าติดเชื้อเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเราผ่าส่วนที่เน่านั้นออกไม่หมด ก็ต้องจับเค้ามาผ่าใหม่ เอาส่วนที่เน่าออกให้หมด แต่ถ้าเค้าไม่ได้เน่าเพิ่มเติมก็ไม่ต้องทำไร รอแผลแห้งตามเวลา 

                         หลังจากที่เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ หน่อกับส่วนยอดที่เราผ่าแยกออกมานั้นยังโอเคดี แต่ส่วนของฐานของต้นนั้นอาการไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ยังไม่ตาย ยังพอได้ลุ้น ซึ่งเราก็จะมาทำการลงปลูกกันเลยครับ


                       วิธีการปลูกนั้นก็ไม่มีอะไรมาก ดินที่ใช้เป็นดินแคคตัส จะซื้อดินแคคตัสที่ขายกันตามร้านขายต้นแคคตัสมาใช้เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกดินที่โปร่งๆ มีส่วนผสมที่ระบายน้ำได้ดีสักหน่อยจะก็ดีมากเลยครับ เพราะแมมนั้นเน่าง่ายเน้นโปร่งๆ ไม่อมความชื้นดีกว่าครับ


ลงปลูกแล้วล่ะครับ
อันนี้คือส่วนยอดที่เราปาดไว้

หลังจากที่ลงปลูกแล้วผมก็จะรดน้ำแค่พอชื้นๆ ก็พอ เป็นอันเรียบร้อย

ส่วนนี่คือหน่อที่เราแยกไว้

ช่วงที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ สภาพอากาศที่ได้รับ ผมว่าให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ถึงปานกลาง

                          ส่วนการให้น้ำ พวกสายพันธุ์แมมมิลลาเลีย ผมจะไม่ได้ให้น้ำบ่อยนัก จะจัดรูปแบบการรดน้ำเป็น 1 อาทิตย์ดูทีนึง สมมุติว่าผมจะดูทุกวันจันทร์ เมื่อถึงวันจันทร์ผมจะมาสังเกตว่าดินนั้นแห้งหรือไม่ ถ้าดินแห้งสนิทจะรดน้ำแค่พอชื้นๆ แต่ถ้าดินยังชื้นล่ะก็ จะเว้นการรดน้ำในอาทิตย์นั้นไป ไปดูอีกทีวันจันทร์ต่อไป ประมาณนี้ครับ จะไม่รดน้ำบ่อย เน้นแห้งๆ ไว้ก่อนเพราะกลัวเน่าอีกครับ 

ผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์เจ้าแมมขนแมวที่เราลงปลูกก็น่าจะเริ่มออกรากตั้งตัวได้แล้วล่ะครับ


                            เมื่อเค้าเริ่มออกราก มีพัฒนาการการเจริญเติบโต เราก็สามารถเลี้ยงเค้าได้ตามปรกติ เหมือนเลี้ยงแมมทั่วๆ ไปได้เลยครับ

                           สำหรับในการเลี้ยงแคคตัสในกลุ่มสายพันธุ์แมมมิลลาเลียของผมนั้น ผมจะเลี้ยงแบบเน้นแดดเยอะๆ โดยจะให้โดนแดดตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็นเลยล่ะครับ เพราะแคคตัสในกลุ่มสายพันธุ์นี้เป็นไม้ที่ชอบแดด


                          ส่วนเรื่องที่ต้องระวังนั้นก็เรื่องของความชื้นนั่นล่ะครับ เพราะพวกแมมนั้น ถ้าชื้นสะสมมากเกินไปจะมีโอกาสเกิดปัญหาเน่าขึ้นได้ อย่างที่เจ้าแมมขนแมวต้นนี้ของเราต้องเจอไงล่ะครับ เพราะฉะนั้นในการปลูก ควรให้เค้าได้รับแสงแดดอย่างสมํ่าเสมอในทุกๆ วัน แสงแดดจะช่วยไล่ความชื้นและช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตที่ดีของแคคตัสด้วยครับ


                           สำหรับการผ่าแยกหน่อ ปาดยอดเพื่อรักษาอาการเน่าของเจ้าแมมขนแมวต้นนี้ ต้องบอกว่า ไม่ได้สำเร็จหมดทุกต้นหรอกนะครับ จากจำนวนที่ได้แยกไว้ ผมแยกหน่อได้มา 6 หน่อ ปาดยอด แล้วก็ส่วนฐานของต้นที่เราแซะส่วนที่เน่าออกไป นับรวมกันทั้งหมดได้เป็น 8 ต้น ( หน่อ 6 ยอด 1 ฐาน 1 ) แต่หลังจากที่เราได้ลงปลูกไป มีบางส่วนที่ไม่สำเร็จผล ตายจากไป อาจเพราะยังผ่าส่วนที่เน่าออกไม่หมด หรืออาจจะมีการติดเชื้อเน่าเพิ่มเติมหลังจากที่ลงปลูกก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วต้นที่รอดมาจนเติบโตได้นั้นมีเพียงแค่ 3 ต้นเท่านั้น ก็ตามภาพเลยครับ


                       3 ต้นนี้คือต้นที่รอดมาจนเติบโตตั้งตัวได้ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ต้นนี้นั้นก็แข็งแรงดี และคิดว่าอีกไม่กี่เดือนเค้าก็น่าจะมีดอกให้ได้ชมกัน ถ้าไม่มีอะไรแทรกซ้อน


                          จากเรื่องราวแคคตัสเน่าในครั้งนี้ ผมโชคดีอย่างนึงตรงที่เห็นอาการเน่านี้ทันเวลา และรักษาทันที ก็เลยทำให้ยังมีรอดมาได้บ้าง ถ้าเกิดว่าผมไม่ได้สังเกตหรือปล่อยไม่รีบรักษา ผมว่าน่าจะไม่เหลือ ตากยกกออย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะบอกกับทุกท่านก็คือ ถ้าแคคตัสเน่าอย่าทิ้งไว้นาน อย่าปล่อยให้อาการลุกลาม ควรทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ควรผ่าส่วนที่เน่าออกให้หมด อย่าเสียดาย เพราะถ้าคุณเสียดายแล้วตัดออกไปไม่หมด มันจะลามแล้วสุดท้ายก็ตายหมดครับ

                          แต่สิ่งที่สำคัญที่เราต้องเอาใจใส่นั่นก็คือการปลูกและการดูแลนั่นล่ะครับ ถ้าเราเอาใจใส่ดูแลไม้ของเรา จัดการสถานที่ปลูกและการดูแลให้ดี หมั่นสังเกตความผิดปรกติไม้อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็คงจะน้อยลง ผมพยายามจะบอกกับตัวเองแบบนั้น แต่มันก็ไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะอย่างช่วงหน้าฝนนี่ต้องบอกเลยว่า ขนาดผมเลี้ยงต้นไม้ในโรงเรือนแท้ๆ คิดว่าน่าจะคุมสภาพอากาศและความชื้นได้ แต่ก็ยังเจอปัญหาเลยครับ

ก็หวังว่าทั้ง 3 ต้นที่เหลืออยู่นี้ จะเติบโตงดงามต่อไปนานๆ

แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกต้นไม้เรื่องต่อไปของเรา

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.