Wednesday, November 30, 2016

การขยายพันธุ์ต้นม้าเวียนด่างด้วยการชำใบ


                    ในการขยายพันธุ์ต้นม้าเวียน ( Haworthia limifolia ) นั้นมีหลายวิธี เช่นการแยกหน่อ การเพาะเมล็ด และการชำใบ ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยการชำใบเป็นวิธีการที่ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก ใบม้าเวียนหนึ่งใบ อาจก่อเกิดเป็นม้าเวียนต้นใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งต้นก็เป็นได้ คิดแล้วก็อยากรู้ว่จะเป็นยังไง ผมก็เลยตัดสินใจจับเจ้าม้าเวียนด่างต้นสวยประจำบ้าน มาเด็ดใบแล้วลองทำดูสักตั้ง จนกลายมาเป็นเรื่องราวที่เขียนในวันนี้นี่แหละครับ เอาเป็นว่าไม่ขอเกริ่นอะไรมาก เราไปเริ่มการชำใบม้าเวียนกันดีกว่าครับ


                    สำหรับต้นแม่พันธุ์ม้าเวียนที่ผมเลือกมาชำใบ ก็ต้นในรูปที่เห็นนี่แหละครับ เป็นม้าเวียนด่างต้นหลักของผมเลยต้นนี้

Sunday, November 20, 2016

การตัดลงตอลูกผสม


                       ผมมีแคคตัสแอสโตร มายริโอ ( astrophytum myriostigma ) อยู่ต้นนึง แต่เดิมเคยเป็นไม้ที่ผมกราฟต่อเอาไว้บนตอลูกผสม ซึ่งก็เลี้ยงมานานแล้วครัจำได้ว่าตอนที่กราฟนั้น เจ้าแคคตัสยังต้นเล็กๆ อยู่เลย จากนั้นก็เลี้ยงตอมาเรื่อยๆ จนเติบใหญ่

                          แต่แล้ววันดีคืนดี ตอของเค้าก็เกิดอาการตอเหี่ยว ประกอบกับช่วงนั้นผมไม่ค่อยอยู่บ้าน การดูแลรดนํ้าก็เลยตกหล่นไป สุดท้ายตอของเค้าก็เหี่ยวจนต้นล้มพับอย่างที่เห็นในภาพด้านล่าง


                         จริงๆ อาการตอเหี่ยวของตอลกผสมนั้น เมื่อเราเลี้ยงไปนานๆ มันมีโอกาสที่จะเกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้ เพราะตอลูกผสมนั้น เมื่อเราเลี้ยงไปสักระยะเวลานึง รากของเค้าอาจจะเกิดอาการรากทำปม อธิบายตามความเข้าใจองผม ซึ่งถ้าผิดก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ อันนี้คือเป็นความเข้าใจของผมที่คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น อาการรากของตอลูกผสมทำปมก็คืออาการที่ตอลดการส่งอาหารมาเลี้ยงลำต้น แต่สะสมอาหารเอาไว้ที่บริเวณรากแทน ซึ่งไม้ที่มีอาการแบบนี้นั้นเมื่อเราขุดขึ้นมาดูจะเห็นว่ารากบางส่วนจะโต ( รากเป็นปม ) ดูตัวอย่างอาการตอลูกผสมทำปมที่รากในภาพด้านล่างนะครับ


                        ซึ่งเมื่อเค้ามีอาการรากทำปมเกิดขึ้นล่ะก็ ไม้จะชะงัก ตอจะมีอาการเหี่ยวและฟีบลงไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามีปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ วิธีการแก้ก็คือจะต้องขุดต้นขึ้นมาแล้วตัดแต่งรากที่เป็นปมนั้นทิ้งไป จากนั้นก็ผึ่งให้แผลแห้งแล้วนำกลับไปลงปลูกอีกครั้ง ก็อาจที่จะสามารถฟื้นขึ้นมาเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งในกรณีที่ตอยังเหี่ยวไม่มาก เมื่อตัดแต่งรากที่เป็นปมทิ้งไปแล้วลงปลูกใหม่ มีโอกาสมากที่ตอจะกลับมาเต่งตึงสมบรูณ์ได้เป็นปรกติ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ตอเหี่ยวฟีบหนักมากๆ ก็อาจจะฟื้นได้แต่ตอก็จะไม่สมบรูณ์เต่งตึงเต็มร้อย จะซูบไปสักหน่อยแต่ก็ยังพอที่จะเลี้ยงแคคตัสให้เจริญเติบโตต่อไปได้อยู่ครับ

Monday, October 10, 2016

การตัดลงตอแก้วมังกรแบบเหลาแกนตอ และการตัดลงตอแบบตัดไม่เหลือตอ และการล่อราก


                     เรื่องราวที่ผมหยิบมาเขียนในคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดลงตอ ซึ่งเราจะมาทำการตัดแคคตัสลงจากตอแก้วมังกรกันครับ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มบทความ ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับว่าผมเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการตัดลงตอหรือการล่อรากมากสักเท่าไรนัก นานๆ จะทำสักที

                    เพราะผมมีความรู้สึกว่า ถ้าจะเลี้ยงไม้กราฟ ผมอยากจะเลี้ยงแบบให้เค้าเจริญเติบโตไปให้มากที่สุด ถ้าเค้าอยู่บนตอแล้วอยู่ดี มีการเจริญเติบโตที่ดี ก็อยากจะให้อยู่ไปแบบนั้น ถ้าไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเค้า หรือปัญหาอย่างตอเน่า ตอหมดสภาพ ผมก็ไม่อยากจะไปตัดเค้าลงมาจากตอสักเท่าไร เพราะในการตัดลงตอนั้นมันมีความเสี่ยง บางทีตอนเราตัดเค้าลงมาจากตอแล้วเอามาล่อราก มันอาจจะล้มเหลว รากไม่ออก หรือติดเชื้อจนเน่าทำให้เราเสียแคคตัสต้นนั้นไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการตัดลงตอจึงเป็นเรื่องที่ถ้าไม่จำเป็น ผมจะไม่ทำ ผมจึงต้องบอกก่อนเลยว่าความเชี่ยวชาญหรือเทคนิคในการตัดลงตอของผมนั้น ผมรู้ไม่เยอะนะครับ

Friday, September 23, 2016

ดิสโก้แคคตัส ( Discocactus sp. ) คืนนี้มีดอกไม้


                       ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 2 ปีครึ่งน่าจะได้ ผมบังเอิญไปเจอเจ้าดิสโก้แคคตัส ( Discocactus sp. ) ต้นนี้ เข้าที่ร้านขายกระบองเพชรแห่งนึง ซึ่งตอนที่ผมเห็นเจ้าต้นนี้นั้น ผมรู้สึกถูกชะตา ผมว่าเค้าเป็นไม้ที่มีลักษณะของหนามที่สวยดี ทรงต้นก็ดูน่ารัก ผมก็เลยตัดสินใจซื้อมาลองเลี้ยงดู ( ตอนที่ผมเห็นและซื้อเจ้าต้นนี้มานั้น ต้นของเค้าเล็กกว่าในภาพที่เอามาลงให้ได้ดูนี้มาก ตอนนั้นต้นเล็กน่ารักมาก ส่วนตอนนี้ก็เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปเยอะเพราะมันผ่านมา 2 ปีครึ่งแล้ว )

Sunday, September 18, 2016

ต้นกุหลาบเมาะลำเลิง ( Pereskia grandifolia Haw. ) หรือ Rose Cactus


                      ต้นกุหลาบกุหลาบเมาะลำเลิง ( Pereskia grandifolia Haw. ) ต้นนี้ เดิมทีเป็นไม้ที่ผมไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไร แต่ผมจะรู้จักเป็นอีกต้นนึงที่มีลักษณะต้นคล้ายๆ กับต้นนี้ ซึ่งต้นที่ผมรู้จักนั้นจะมีดอกสีส้ม นั่นก็คือต้นกุหลาบพุกาม ซึ่งแถวๆ บ้านผมจะมีคนปลูกกันอยู่บ้าง ผมก็เลยจะคุ้นกับต้นนั้นมากกว่า จนกระทั่งน้องของผมไปซื้อเจ้าต้นกุหลาบเมาะลำเลิงต้นนี้มา ก็เลยทำให้ผมได้รู้จักไม้ชนิดนี้มากขึ้น

                      ซึ่งตอนที่ผมเห็นเจ้าต้นนี้ที่น้องของผมเอาให้มาดูนั้น ผมค่อนข้างประทับใจเลยทีเดียวครับ ด้วยความที่เค้าเป็นไม้ที่มีดอกที่สวยมาก ดอกสีชมพูสดใส ต้นที่น้องผมซื้อมานั้น ก็ไม่ได้ต้นใหญ่สักเท่าไรแต่ให้ดอกเยอะดี ผมเห็นแล้วก็รูสึกว่าเป็นไม้ที่น่าสนใจก็เลยอยากรู้จักเจ้าต้นนี้มากขึ้น ก็เลยไปลองเสิร์ชข้อมูลของไม้ชนิดนี้ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ไปเจอข้อมูลว่าไม้ชนิดนี้นั้น จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นกระบองเพชร ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกสนใจในเจ้าต้นนี้มากขึ้นไปอีก เพราะผมชอบปลูกกระบองเพชรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเจ้ากุหลาบเมาะลำเลิงต้นนี้ก็เลยเป็นไม้ที่ผมลงมาร่วช่วยดูแลด้วย เพราะอยากเห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตของไม้ชนิดนี้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป อยากรู็ว่าเลี้ยงยากหรือไม่

Saturday, September 10, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอริทเทอโร ( Ritterocereus ) และเรื่องราว เมื่อแคคตัสเน่า เราเลยต้องกราฟ


                     ในการปลูกต้นไม้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และบางครั้งปัญหาก็มาแบบฉับพลันจนเราตั้งตัวไม่ทันเลยล่ะครับ อย่างเรื่องราวที่ผมเขียนในวันนี้นั้น เป็นเรื่องราวของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแคคตัสต้นสำคัญต้นนึงของผม ซึ่งก็คือเจ้าแอสโตรไฟตั้ม ต้นในรูปที่เห็นนี่แหละครับ เจ้าต้นนี้คือแคคตัส Astrophytum asterias cv. super kabuto v-type ไม่แน่ใจว่าใส่ชื่อถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เอาเป็นว่า ผมขอเรียกง่ายๆ ว่าแอสโตรวี  ก็แล้วกันนะครับ

                     เจ้าแอสโตรวีต้นนี้ เป็นต้นที่อยู่กับผมมานาน เป็นต้นที่เคยออกดอกและให้เมล็ดผมมาพอสมควรเลยครับ และตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงเค้ามานั้น เค้าไม่เคยเกิดปัญหาเลยสักครั้ง อดทนแข็งแรง ผ่านฝนฟ้าประคองกันมาตั้งแต่ตอนที่ผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวในการปลูกแคคตัสเลยก็ว่าได้ เป็นต้นที่สอนอะไรผมในหลายเรื่องเลยล่ะครับ

Thursday, September 1, 2016

มะพร้าวทะเลทรายใบกลม และเรื่องราว เมื่อต้นมะพร้าวทะเลทรายของฉันใบร่วง


                        มะพร้าวทะเลทรายใบกลม ทรงต้นน่ารักต้นนี้ เป็นไม้ที่ผมเลี้ยงมาตั้งแต่ตอนยังเป็นต้นเล็กๆ เห็นพัฒนาการ การเจริญเติบโตกันมาตลอด ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้น เค้าเป็นไม้ที่เลี้ยงไม่ยากเท่าไร ด้วยความที่เค้าค่อนข้างทนต่อดินฟ้าอากาศบ้านเราได้ดี แข็งแรง โตไว ที่ผ่านมาผมก็เลี้ยงแบบมาสบายๆ ไม่มีเรื่องให้ต้องกังวลสักเท่าไรนัก

Friday, August 19, 2016

เมื่อแคคตัสต้นเหี่ยว เพราะโดนเพลี้ยแป้งเกาะที่ราก


                     เรื่องราวที่จะเขียนถึงในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( Astrophytum ) ต้นในรูปที่เห็นนี้เลยครับ ซึ่งเหตุการณ์นั้นเริ่มตรงที่ผมบังเอิญสังเกตเห็นเจ้าแอสโตรต้นนี้มีอาการเหี่ยว ลำต้นเริ่มจะยุบลงเรื่อยๆ

Wednesday, August 3, 2016

การเพาะเมล็ดแคคตัส Astrophytum และคำถามที่ว่า ขนาดของเมล็ดนั้นสำคัญหรือไม่ ?


                      บทความในคราวนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum ) ซึ่งจุดเริ่มของบทความนั้นมาจากคำถามของน้องคนนึง ซึ่งเป็นมือใหม่ที่พึ่งหัดปลูกกระบองเพชรได้ไม่นาน ไม่เคยเพาะเมล็ดมาก่อน วันนึงน้องคนนี้ได้ไปสั่งซื้อเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม แล้วเผอิญเมล็ดที่ได้รับมานั้นมันมีขนาดของเมล็ดที่คละกัน บางเมล็ดก็ใหญ่ แต่บางเมล็ดก็มีขนาดเล็ก ก็เลยเกิดความสงสัยและถามผมประมาณว่า พวกเมล็ดที่ใหญ่ๆ จะงอกได้ดีกว่าเมล็ดที่เล็กๆ หรือไม่

                    ผมได้ฟังแล้วก็พอเข้าใจในความสงสัยของน้องอยู่นะ นั่นก็เพราะว่าแอสโตรไฟตั้มนั้นเป็นแคคตัสที่มีเมล็ดที่มีขนาดที่แตกต่างหลากหลาย บางต้นบางฝักให้เมล็ดที่มีขนาดเล็ก บางฝักเมล็ดจะใหญ่ คนที่ไม่เคยเจอ หรือไม่มีประสบการณ์ในการเพาะเมล็ดมาก่อนก็เลยอาจจะสงสัยขึ้นมาได้ ว่ามันจะดีกว่ากันหรือไม่

                    แต่ก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมนั้นก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรอกนะครับ แต่พอจะมีประสบการณ์ในการเพาะเมล็ดมาบ้าง และกับเมล็ดแคคตัสแอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum ) นั้น ด้วยความที่บ้านแอสโตรเป็นไม้ที่ผมชอบมาก ก็เลยมีแคคตัสชนิดนี้เก็บเอาไว้อยู่หลายต้น ซึ่งถ้าช่วงไหนว่างๆ และเป็นจังหวะที่เจ้าแอสโตรที่บ้านผมนั้นออกดอกพร้อมกันหลายต้น ผมก็จะคัดบางต้นมาผสมเกสร และเก็บเมล็ดมาเพาะอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้มีโอกาสได้เจอเมล็ดในลักษณะต่างๆ มาพอสมควร ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้น ผมมองว่าขนาดของเมล็ดมันเป็นแค่ขนาดของเปลือกเมล็ดเท่านั้น ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลต่อการงอกของเมล็ดสักเท่าไรหรอกครับ ไม่ว่าเมล็ดจะเล็กหรือใหญ่ก็งอกได้หมดนั่นล่ะ ความสดใหม่ของเมล็ดต่างหากที่น่าจะส่งผลต่อการงอกเสียมากกว่า เมล็ดยิ่งเก่ายิ่งเก็บเอาไว้นานๆ อัตราการงอกก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ผมคิดแค่นั้น เพราะงั้นคำตอบของผมที่ตอบน้องไปนั่นก็คือ ไม่ว่าเมล็ดจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าเมล็ดนั้นเป็นเมล็ดที่แก่จัดล่ะก็ คุณภาพการงอกไม่ต่างกัน งอกได้ทั้งคู่

                    ซึ่งมันก็เป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะ เพราะตอนที่น้องถามมานั้นเป็นช่วงที่ผมผสมเกสรแอสโตรต้นที่บ้านเอาไว้หลายต้นพอดี ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าลองเลือกเมล็ดที่มีขนาดที่ต่างกันรวมไปถึงมีลักษณะของเมล็ดที่ต่างกันมาเพาะ แล้วถ่ายรูปมาลงในบล็อกด้วยดีกว่าว่าขนาดของเมล็ดนั้นมันมีผลต่อการงอกหรือไม่ เผื่อว่ามีใครถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีกจะได้เอาภาพให้เค้าดูด้วยเลยก็น่าจะดี นี่จึงเป็นจุดเริ่มของเรื่องราวในคราวนี้ครับ

Wednesday, July 20, 2016

การชำหน่อแคคตัส และอีกหลากหลายเรื่องราวในการปลูกแคคตัส


                สวัสดีครับ วันนี้ก็มาพบกับเรื่องราวของการปลูกแคคตัสของผมกันอีกเช่นเคย ซึ่งแรกเริ่มนั้น ครั้งนี้ผมคิดจะเขียนเกี่ยวกับวิธีการขยายพันธุ์แคคตัสด้วยการปักชำหน่อแค่เรื่องเดียว แต่วิธีการชำหน่อแคคตัสที่ผมทำนั้น มันไม่ค่อยมีเนื้อหาสักเท่าไร เพราะผมใช้วิธีการแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน  ตอนที่เขียนก็เลยพบว่าเนื้อหาของบทความมันน้อยมากๆ ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่างั้นลองเพิ่มเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกแคคตัสที่ผมคิดว่าน่าสนใจเข้าไปด้วยเลยก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จึงเป็นบทความที่มีเนื้อหาหลายเรื่องผสมกัน ทั้งเรื่องหลักของบทความ นั่นก็คือเรื่องของการชำหน่อแคคตัส และเรื่องที่เสริมเพิ่มเข้ามาอย่างเช่นเรื่องของการผสมดินปลูก ( สูตรดินปลูกที่ผมใช้ ) การเปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก และอื่นๆ เอาเป็นว่าเราไปเริ่มเรื่องราวกันเลยดีกว่าครั

Tuesday, June 14, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสด


                บทความนี้เป็นเรื่องราวที่คาบเกี่ยวมาจากบทความที่แล้วซึ่งก็คือเรื่องของการกราฟแคคตัสบนตอตัดสดนั่นเองครับ ซึ่งในบทความนี้เราก็จะมาลองกราฟแคคตัส astrophytum บนตอสามเหลี่ยมหนามตัดสดกันบ้าง
               และด้วยความที่บทความนี้เป็นบทความภาคต่อที่ต่อเนื่องมาจากอีกบทความนึง เพราะฉะนั้นเนื้อหาของบทความจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากสักเท่าไรนะครับ ถ้าอยากอ่านวิธีการกราฟแคคตัสบนตอตัดสด การดูแลไม้กราฟ หรือเรื่องราวอื่นๆ ปลีกย่อยล่ะก็ ตามลิงก์ที่ลงไว้ด้านล่างนี้เลยนะครับ  เป็นบทความเกี่ยวกับการกราฟบทความหลักๆ ของเรา

 บทความแรก  การกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรตัดสด 

ส่วนอันนี้เป็นบทความเก่าอีกบทความที่น่าสนใจ การกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกร แบบตอชำ

เริ่มเรื่องราวคราวนี้กันเลยดีกว่าครับ

Friday, June 3, 2016

การกราฟแคคตัสด้วยตอแก้วมังกรตัดสด


                 เรื่องราวของบทความในคราวนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากบทความเกี่ยวกับการกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรที่ผมเคยได้เขียนไป ซึ่งในบทความนั้นมันมีประเด็นตรงที่ว่าตอแก้วมังกรที่ผมใช้ในการสาธิตการกราฟนั้น เป็นตอที่ได้ทำการปักชำในดินปลูกจนงอกและเจริญเติบโตสมบรูณ์แล้ว ซึ่งหลายๆ ท่านที่อยากจะลองกราฟดูบ้างแต่ทว่าไม่ได้มีตอที่ปักชำมาพร้อมใช้เหมือนอย่างในบทความ ก็เลยมาถามผมว่าถ้ามีแต่ตอที่ตัดมาสดๆ ไม่มีราก หรือไม่ก็เป็นสถานการณ์ที่เร่งด่วน ต้องรีบกราฟเลยทันทีแต่หาตอที่ชำมาแล้วไม่ได้ หามาได้แต่กิ่งยอดแก้วมังกรสดๆ จะเอามากราฟได้หรือไม่ กราฟแล้วจะติดมั้ย ซึ่งผมก็ได้ตอบกลับไปทุกครั้งว่าตอแก้วมังกรตัดสดนั้นก็เอามาใช้กราฟได้ แต่ว่าตอที่เอามาใช้นั้นต้องเป็นตอส่วนยอดที่มีความสมบรูณ์สักหน่อย

                 แต่ทว่ามันจะมีคำถามปลีกย่อยที่เพิ่มเติมมาอีกว่า พอกราฟเสร็จแล้วจะเอาไปปลูกลงดินตอนไหน ลงดินเลยทันทีหลังจากที่กราฟเสร็จ หรือต้องรอให้ต่อติดก่อนแล้วถึงค่อยเอามาปักชำทีหลัง เพราะงั้นวันนี้ผมก็เลยจะมาลงมือสาธิตกัน ว่าวิธีการกราฟแคคตัสบนตอแก้วมังกรตัดสดนั้นมีขั้นตอนยังไงบ้าง

ไปเริ่มกันเลยนะครับ

Thursday, May 19, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอบลู ( Myrtillocactus geometrizans )


                   เจ้าแอสโตรด่าง ( astrophytum asterias nudum variegata ) ต้นที่เห็นในรูปนี้ เค้าถือเป็นแคคตัสที่ผมชอบมากต้นนึงเลยล่ะครับ ผมประทับใจในสีสันและอยากจะรู้ต่อไปว่าถ้าเลี้ยงไปเรื่อยๆ เมื่อเค้าโตขึ้นไปแล้วนั้นจะมีพัฒนาการที่เป็นแบบไหน จะเหลืองหมดทั้งหัวหรือสีเขียวจะขึ้นมาไล่ให้สีเหลืองนั้นหายไป หรือจะเป็นยังไงต่อไป คิดแล้วมันก็น่าสนุกจนทำให้ผมสนใจที่จะเฝ้ามองการเจริญเติบโตของเต้าต้นนี้มากเป็นพิเศษ 

                  ซึ่งที่ผ่านมาการเจริญเติบโตก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจอยู่นะ อาจจะไม่ได้โตเร็วสักเท่าไร เพราะเป็นแอสโตรที่ด่างค่อนข้างจะมาก แต่ก็ยังมีพัฒนาการที่ขยับไปข้างหน้าให้ได้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตอยู่ตลอด จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วนี่แหละครับ ที่จู่ๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา.....

Saturday, March 19, 2016

Mammillaria Beneckei variegata แมมหนามตะขอ


                           ในบรรดากระบองเพชรทั้งหลายที่ผมเคยได้ลองปลูกมา เจ้าแมมมิลลาเรียหนามตะขอเป็นหนึ่งในกระบองเพชรที่ผมรู้สึกว่าเลี้ยงง่ายเป็นอันดับต้นๆ ในใจผมเลยล่ะครับ

                          เค้าเป็นแคคตัสที่เจริญเติบโตได้เร็วและแตกหน่อเก่งมากๆ อย่างเจ้าต้นที่เอามาให้ดูกันในวันนี้ เป็นแมหนามตะขอด่าง  ( Mammillaria Beneckei variegataที่ผมได้มาเมื่อตอนช่วงต้นปีที่แล้ว ซึ่งตอนที่ได้มาแรกๆ นั้น เค้ายังเป็นแคคตัสต้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 3-4 ซม. และก็ไม่ได้มีหน่อเยอะเยอะเหมือนตอนนี้ มีหน่อเล็กๆ ติดมาด้วยหน่อนึงเท่านั้น แต่พอเลี้ยงมาเรื่อยๆ มีการเปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง และปลูกเลี้ยงในสภาพอากาศที่เหมาะสมได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง ไม่นานก็เริ่มแตกหน่อกันตามมาอีกเพียบเลยล่ะครับ 

                        เดี๋ยวผมเอาภาพมาเปรียบเทียบให้ดูความแตกต่างของการเจริญเติบโตก็แล้วกันนะครับว่าเลี้ยงมาแค่ปีเดียวเท่านั้นแต่เจ้าแมมหนามตะขอสามารถโตไปได้ไกลขนาดไหน

Sunday, March 13, 2016

ยิมโนหัวสี รวมเรื่องราวการปลูก การดูแล และวิธีการขยายพันธุ์แคคตัสยิมโนหัวสีอย่างง่ายๆ


                      ยิมโนหัวสี ( Gymnocalycium mihanovichii f. variegata ) แคคตัสสีสันสดใสมองแล้วสะดุดตาต้นนี้ เป็นกระบองเพชรสายพันธุ์นึงที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาจเพราะความที่เค้าเป็นไม้ที่มีสีสันที่หลากหลาย เช่น แดง เหลือง ส้ม ชมพู อื่นๆ และราคานั้นก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย เจ้ายิมโนหัวสีจึงเป็นไม้ที่โดนใจหลายๆ ท่านเข้าอย่างจัง โดยเฉพาะนักปลูกมือใหม่ที่อยากจะเริ่มหาแคคตัสสักต้นที่สวยงามและราคาไม่แพงมาปลูกแล้วล่ะก็ เจ้ายิมโนหัวสีนี่แหละครับที่เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายท่านซื้อมาลองหัดปลูก

แต่ในการปลูกแคคตัสนั้นไม่ง่าย และปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

                      ตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำบล็อกและเพจที่นำเสนอเกี่ยวกับการปลูกแคคตัสมาจนกระทั่งถึงวันนี้ แคคตัสที่มีคนส่งข้อความเข้ามาถามปัญหาผมมากที่สุดก็คือเจ้ายิมโนหัวสีนี่แหละครับ ซึ่งคำถามนั้นก็มีหลากหลาย ยกตัวอย่างคำถามที่ผมเจอบ่อยๆ ก็เช่น เจ้ายิมโนหัวสีนั้นเลี้ยงยังไง ต้องรดน้ำกี่วันครั้ง ใส่ปุ๋ยอะไร ดินปลูกควรจะใช้แบบไหน อยากให้ออกดอกต้องทำยังไง ทำไมยิมโนหัวสีถึงต้องต่อบนตอ แล้วตอนั้นคือต้นอะไร เลี้ยงแบบไม่ต่อตอได้มั้ย เด็ดหน่อมาปลูกลงดินเลยได้หรือไม่ และถ้าจะขยายพันธุ์เจ้ายิมโนหัวสีนั้นต้องทำยังไง รวมไปถึงการถามปัญหาที่เกิดขึ้นในการปลูกเช่น แบบนี้เน่ามั้ย เป็นโรคอะไรและแก้ไขยังไง โดนหนูแทะมาต้องทำยังไง แคคตัสไหม้แดดจะตายหรือไม่

                      ด้วยคำถามที่เข้ามามากมายทำให้ผมรู้สึกว่าน่าจะต้องมีการรวบรวมคำถามเหล่านั้นเอามาเรียบเรียงแล้วทำเป็นบทความที่เกี่ยวกับวิธีการปลูกและการดูแลรวมไปถึงข้อควรระวังในการปลูกไม้ชนิดนี้ ( ไม้กราฟ ) ไปเลยดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่กำลังอยากที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องราวในการปลูกแคคตัสกราฟบ้าง ไม่มากก็น้อย และนี่ก็เลยเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ

Wednesday, February 3, 2016

การกราฟแคคตัสบนตอหนามดำ และการเปลี่ยนตอ ย้ายตอแคคตัส


                       บทความในวันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแคคตัส Astrophytum myriostigma variegata หรือเจ้ามายริโอด่างต้นตามที่เห็นในภาพนี้แหละครับ ซึ่งเจ้ามายริโอต้นนี้เป็นไม้ที่ผมได้กราฟเอาไว้บนตอลูกผสมตั้งแต่เมื่อตอนที่เค้ายังเป็นแคคตัสต้นเล็กๆ ขนาดประมาณ  1 ซม. เท่านั้น

Friday, January 15, 2016

การกราฟแคคตัสด้วยตอลูกผสม


                บทความในคราวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการกราฟแคคตัสบนตอลูกผสม ( graft cactus ) ซึ่งวิธีการนั้นก็ไม่ยาก เอาเป็นว่าเราไปเริ่มกันเลยก็แล้วกันนะครับ