Sunday, March 13, 2016

ยิมโนหัวสี รวมเรื่องราวการปลูก การดูแล และวิธีการขยายพันธุ์แคคตัสยิมโนหัวสีอย่างง่ายๆ


                      ยิมโนหัวสี ( Gymnocalycium mihanovichii f. variegata ) แคคตัสสีสันสดใสมองแล้วสะดุดตาต้นนี้ เป็นกระบองเพชรสายพันธุ์นึงที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาจเพราะความที่เค้าเป็นไม้ที่มีสีสันที่หลากหลาย เช่น แดง เหลือง ส้ม ชมพู อื่นๆ และราคานั้นก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย เจ้ายิมโนหัวสีจึงเป็นไม้ที่โดนใจหลายๆ ท่านเข้าอย่างจัง โดยเฉพาะนักปลูกมือใหม่ที่อยากจะเริ่มหาแคคตัสสักต้นที่สวยงามและราคาไม่แพงมาปลูกแล้วล่ะก็ เจ้ายิมโนหัวสีนี่แหละครับที่เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายท่านซื้อมาลองหัดปลูก

แต่ในการปลูกแคคตัสนั้นไม่ง่าย และปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

                      ตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำบล็อกและเพจที่นำเสนอเกี่ยวกับการปลูกแคคตัสมาจนกระทั่งถึงวันนี้ แคคตัสที่มีคนส่งข้อความเข้ามาถามปัญหาผมมากที่สุดก็คือเจ้ายิมโนหัวสีนี่แหละครับ ซึ่งคำถามนั้นก็มีหลากหลาย ยกตัวอย่างคำถามที่ผมเจอบ่อยๆ ก็เช่น เจ้ายิมโนหัวสีนั้นเลี้ยงยังไง ต้องรดน้ำกี่วันครั้ง ใส่ปุ๋ยอะไร ดินปลูกควรจะใช้แบบไหน อยากให้ออกดอกต้องทำยังไง ทำไมยิมโนหัวสีถึงต้องต่อบนตอ แล้วตอนั้นคือต้นอะไร เลี้ยงแบบไม่ต่อตอได้มั้ย เด็ดหน่อมาปลูกลงดินเลยได้หรือไม่ และถ้าจะขยายพันธุ์เจ้ายิมโนหัวสีนั้นต้องทำยังไง รวมไปถึงการถามปัญหาที่เกิดขึ้นในการปลูกเช่น แบบนี้เน่ามั้ย เป็นโรคอะไรและแก้ไขยังไง โดนหนูแทะมาต้องทำยังไง แคคตัสไหม้แดดจะตายหรือไม่

                      ด้วยคำถามที่เข้ามามากมายทำให้ผมรู้สึกว่าน่าจะต้องมีการรวบรวมคำถามเหล่านั้นเอามาเรียบเรียงแล้วทำเป็นบทความที่เกี่ยวกับวิธีการปลูกและการดูแลรวมไปถึงข้อควรระวังในการปลูกไม้ชนิดนี้ ( ไม้กราฟ ) ไปเลยดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่กำลังอยากที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องราวในการปลูกแคคตัสกราฟบ้าง ไม่มากก็น้อย และนี่ก็เลยเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ

                      แต่ออกตัวก่อนเลยนะครับว่าบทความนี้ เนื้อหาอาจจะไม่ได้ครบถ้วนในทุกเรื่องของการปลูกไม้ชนิดนี้นะครับ เพราะบางเรื่องบางปัญหาผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญพอที่จะนำมาบอกต่อได้ เพราะฉะนั้นผมขอเขียนแต่เฉพาะเรื่องที่ผมรู้หรือว่าเคยได้ลองทำมาก่อนก็แล้วกันนะครับ เรื่องไหนที่ผมไม่ทราบหรือว่ายังไม่ค่อยแน่ใจผมขอไม่เขียนดีกว่า เดี๋ยวจะพาทุกท่านไปผิดทางเอาได้


เราไปเริ่มเรื่องราวการปลูกและการดูแลเจ้ากระบองเพชรชนิดนี้กันเลยดีกว่าครับ


                         แคคตัสยิมโนหัวสีหรือยิมโนด่างแบบในรูปนี้นั้นเป็นไม้ที่ถูกต่ออยู่บนตอแก้วมังกรหรือที่เรียกกันว่าไม้กราฟ  ซึ่งหลายท่านคงสงสัยว่าทำไมเค้าถึงต่อมาบนตอการเอาแคคตัสหัวสีมาต่อบนตอทำไปเพื่อประโยชน์อะไร ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้เค้าโตเร็วๆ ใช่หรือไม่

                        ซึ่งก็ใช่ตามนั้นนั่นล่ะครับ การที่นำแคคตัสมาต่อบนตอนั้นส่วนนึงก็เพื่อที่ว่าจะให้เจ้าแคคตัสนั้นโตเร็วขึ้น แต่ก็ยังมีอีกเหตุผลนึงที่ทำให้ต้องนำเจ้าหัวสีมาต่อบนตอ นั่นก็เพราะว่าเจ้าแคคตัสหัวสีอย่างที่เห็นนี้นั้นเค้าไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้ เพราะเค้าเป็นไม้ที่มีลักษณะด่างหมดทั้งหัวจึงไม่มีคลอโรฟิลล์ หรือสารสีเขียวบนต้นที่ช่วยในการสังเคราะห์แสงเพราะฉะนั้นเค้าจึงโตด้วยตัวเองไม่ได้ต้องให้ตอช่วยในการพยุงและส่งอาหารให้เค้าอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้นั่นเองครับ


                         แต่ถ้าเป็นแคคตัสหัวสีที่มีบางส่วนของลำต้นที่เป็นสีเขียวแล้วล่ะก็ แบบนี้จะสามารถที่จะเจริญเติบโตได้เองโดยที่ไม่ต้องต่อบนตอก็อยู่ได้โตได้นะครับ

                        โดยหลักที่ใช้วัดว่าแบบไหนจะโตได้เอง แบบไหนต้องตอบนตอเท่านั้นถึงจะโตได้นั้น ดูที่ผิวของแคคตัสนะครับ ถ้าแดงทั้งหัว เหลืองทั้งหัวไม่มีเขียวเลยแล้วล่ะก็ ต้อง (กราฟ) ต่อตอเท่านั้น แต่ถ้ามีบางส่วนที่เป็นสีเขียว หรือสีโทนเข้มๆ อย่างเช่นดำหรือม่วงแล้วล่ะก็ แบบนี้ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องต่อตอก็โตได้ครั

                        ลองพิจารณาและค่อยๆ ทำความเข้าใจนะครับผมอาจจะเขียนแล้วทำให้งงสักหน่อย ลองดูรูปด้านล่างนะครับ ต้นด้านซ้ายหัวสีชมพูกับสีเหลืองทั้งหัวไม่มีเขียวอันนี้คือต้องต่อตอเท่านั้นถึงจะรอดเพราะสังเคราะห์แสงเองไม่ได้ ส่วนทางขวานั้นมีสีเขียวหรือสีเข้มแซมๆ อยู่บ้างแบบนี้คือไม่ต้องต่อตอ เลี้ยงแบบธรรมดารากตัวเองก็สามารถเจริญเติบโตได้นะครับ ( ไม้รากตัวเอง )

ต้นด้านซ้าย ไม้กราฟต่อบนตอ - ต้นด้านขวา ไม้รากตัวเอง

                         โอเคนะครับ เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความที่มีเนื้อหาหลักเจาะลึกไปที่การปลูกเจ้ายิมโนหัวสี ( ไม้กราฟ ) เท่านั้น และจากที่กล่าวไปด้านบนแล้วว่าเจ้าหัวสีนั้นจำเป็นที่จะต้องต่อเลี้ยงบนตอถึงจะรอดได้ เพราะฉะนั้นส่วนที่สำคัญในการดูแลและเลี้ยงเจ้าหัวสีให้เจริญเติบโตได้นั้นก็คือตอ ตอแก้วมังกรนี่แหละที่เป็นตัวที่กำหนดว่าหัวแคคตัสสีสันสวยงามด้านบนนั้นจะโตได้ดีขนาดไหนถ้าตอแก้วมังกรนั้นสมบรูณ์แข็งแรง การส่งอาหารไปเลี้ยงหัวสีก็จะทำได้ดี การเจริญเติบโตของเจ้าหัวสีก็จะต่อเนื่อง แต่ถ้าตอเหี่ยว ตอเน่า เจ้าหัวสีก็จะหยุดโตและอาจจะตายตามกันไปด้วย เพราะฉะนั้นในการดูแลไม้ประเภทนี้จึงควรที่จะเน้นไปที่การดูแลและบำรุงตอเป็นหลักนะครับ ซึ่งไม่ยากเกินไปครับ เพราะแก้วมังกรรวมไปถึงตอชนิดอื่นๆ ทั้งหลายนั้นเป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย อดทนแข็งแรงพอสมควรเลยทีเดียวเพราะฉะนั้นในการปลูกไม่ซับซ้อนแน่นอนครับ


เริ่มจากดินปลูกก่อนเลยนะครับ 

                          อย่างที่บอกไปว่าแก้วมังกรเป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย แข็งแรง และค่อนข้างที่จะทนทานพอสมควร เพราะฉะนั้นในเรื่องของดินปลูกไม้กราฟสามารถใช้ได้หลากหลาย บางท่านถามมาว่าใช้ดินปลูกแบบเดียวกับดินปลูกแคคตัสเลยได้มั้ย ขอตอบว่าใช้ได้ครับ แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบใช้ดินแคคตัสเอามาปลูกไม้กราฟสักเท่าไรนะครับ แต่จะใช้เป็นดินใบก้ามปูที่เค้ากันตามร้านขายดินปลูกต้นไม้ทั่วๆ ไปเป็นหลัก เพราะหาซื้อง่าย ราคาถูก และเจ้าดินใบก้ามปูก็มีธาตุอาหารสูง ใช้ปลูกต้นไม้ได้หลากหลายมากเลยล่ะครับ เมื่อก่อนตอนผมปลูกชวนชม หรือโป๊ยเซียน รวมไปถึงพวกบัวดิน และว่างสี่ทิศก็ใช้ดินตัวนี้นี่แหละครับ ซึ่งผลที่ได้มันก็น่าพอใจสำหรับผมมาตลอด

                         และจากที่ผมลองใช้ดินใบก้ามปูเลี้ยงไม้กราฟมาพอสมควร ผมว่ามันก็ให้ผลที่ค่อนข้างดีเลยล่ะครับ เพราะงั้นเรื่องดินปลูกแคคตัสกราฟหรือดินปลูกตอผมจึงเสนอเป็นดินใบก้ามปูให้ท่านลองพิจารณาดู แต่ก็แล้วแต่ท่านก็แล้วกันนะครับ ไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ เรื่องดินปลูกผมว่าท่านต้องค่อยๆ ลองดูเองน่ะครับ สูตรดินที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและการปลูกเลี้ยงของแต่ละบ้านอาจจะไม่เหมือนกัน ท่านต้องทดลองและปรับไปเรื่อยๆ หาสูตรที่มันใช่สำหรับท่าน แต่ถ้าจะให้ดี ในความคิดของผมดินสำหรับปลูกไม้กราฟควรที่จะต้องเป็นดินที่มีความร่วนสักหน่อย และมีธาตุอาหารสูง ก็จะช่วยส่งให้การเจริญเติบโตของไม้กราฟนั้นดีเป็นอย่างยิ่งเลยล่ะครับ


มากันที่เรื่องของการรดน้ำไม้กราฟกันบ้าง 

                          ในเรื่องของการรดน้ำนั้น ถ้าเป็นแคคตัสทั่วๆ ไป เจ้าแคคตัสทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ต่ออยู่บนตอ ในการรดน้ำเราควรที่จะต้องระวังในเรื่องของความชื้นสะสมเป็นอย่างมาก เราไม่ควรที่จะรดน้ำบ่อยจนเกินไปเพราะมีโอกาสที่จะรากเน่าได้ง่าย เพราะฉะนั้นในการรดน้ำแคคตัสทั่วๆ ไปจึงมีข้อแนะนำที่ว่าเราควรรดน้ำประมาณอาทิตย์ละครั้ง หรือรดน้ำก็ต่อเมื่อเห็นว่าดินปลูกนั้นแห้งสนิทแล้วเท่านั้น อันนี้คือการรดน้ำแคคตัสที่ไม่ได้ต่อตอนะครับ 


                         แต่ถ้าเป็นแคคตัสกราฟที่ต่อบนตอแก้วมังกรอย่างเช่นเจ้ายิมโนหัวสีแบบในภาพนี้แล้วล่ะก็ ในการรดน้ำนั้นจะสบายกว่าการรดน้ำแคคตัสทั่วๆ ไปครับ
                         นั่นก็เพราะว่าแก้วมังกรนั้นทนความชื้นได้ดีประมาณนึงเลยล่ะครับ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะรดน้ำไม้กราฟได้บ่อยกว่าการรดน้ำแคคตัสโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าเค้าจะเน่าตาย เพราะแก้วมังกรนั้นผมว่าเน่ายากอยู่ครับ ถ้าดินปลูกไม่ได้มีปัญหา ไม่มีเชื้อราหรือโรคสะสมอยู่ในดิน หรือสถานที่ปลูกไม่มีแดดส่องถึงเลยสักนิดซํ้าร้ายยังไม่มีหลังคาต้องตากฝนมันทุกวัน หรือคนปลูกรดน้ำมันซะทุกวันแต่ไม่เคยเอาออกมาตากแดดเลยสักนิดแล้วล่ะก็ ผมว่าแก้วมังกรทนต่อความชื้นเล็กๆ น้อยๆ ได้สบายครับ 

                        เพราะฉะนั้นในการรดน้ำไม้กราฟนั้น โดยส่วนตัวที่ผมทำ ผมจะรดน้ำเมื่อเห็นว่าดินเค้าเริ่มจะแห้ง คือถ้าผมมองดินแล้วเห็นว่าผิวดินนั้นเริ่มแห้งแล้วผมก็จะรดน้ำครับ ซึ่งมันไม่ตายตัวนะครับผมไม่เคยกำหนดว่าผมจะต้องรดน้ำไม้กราฟกี่วันครั้ง บางทีอากาศร้อนๆ แดดดีๆ มองเห็นว่าดินปลูกเริ่มแห้งผมก็รดเลยครับ แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝน อากาศชื้น ฝนตกบ่อย ดินแห้งช้า ก็อาจจะเว้นไปมากกว่านั้น ขึ้นอยูกับดินครับว่าจะแห้งวันไหนเห็นว่าแห้งเมื่อไรก็ค่อยรด


ต่อกันด้วยเรื่องของแสงแดดและสภาพอากาศในการปลูกยิมโนหัวสีกันเลยนะครับ 

                          แคคตัสนั้นเป็นไม้ที่ชอบแสงแดด เพราะฉะนั้นในการปลูกแคคตัส ถ้าเป็นไปได้ควรที่จะให้เค้าได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอนะครับ อย่างเจ้าหัวสีเนี่ย ถ้าเลี้ยงแบบให้โดนแดดดีๆ สีสันจะเข้มและสดใสเป็นอย่างมากเลยล่ะครับ แต่ถ้าเลี้ยงแบบแดดร่มๆ ไม่ค่อยได้รับแสงแดดแล้วล่ะก็ สีจะไม่จัดเท่าไรครับ ก็ยังสวยอยู่นะ แต่เลี้ยงแบบโดนแดดสักหน่อยผมว่าสีจะสดใสกว่า และการเลี้ยงแคคตัสแบบให้ได้รับแสงแดดมากๆ นั้นทำให้แคคตัสมีโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ น้อยกว่าเลี้ยงแบบร่มๆ ไม่โดนแดด นั่นก็เพราะแสงแดดจะช่วยไล่ความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และช่วยลดโอกาสที่จะทำให้เกิดพวกเชื้อราได้อีกด้วยนะครับ จากที่ผมสังเกตุมาพอสมควร แคคตัสที่ถูกปลูกในที่ๆ ไม่ค่อยมีแดดส่อง จะมีโอกาสที่จะเน่าตายได้บ่อยกว่าที่เลี้ยงแบบโดนแดดมากๆ รวมไปถึงพวกโรค ราสนิม แคงเกอร์ และพวกโรคอื่นๆ ก็ด้วย แคคตัสที่เลี้ยงแบบร่มๆ จะมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้ได้บ่อยกว่าที่เลี้ยงแบบโดนแดดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเจ้าราสนิมนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับไม้ที่ปลูกในสถานที่ปลูกซึ่งแดดน้อยความชื้นสูง ยิ่งดินแห้งช้าๆ รดน้ำไปแล้ว 4-5 วันดินก็ยังไม่แห้งเพราะไม่มีแดดส่องเนี่ยผมบอกเลยว่า โอกาสเกิดราสนิมหรือว่าเน่าตายนั้นสูงมาก


                            แต่ถึงแสงแดดจะดีและมีประโยชน์ต่อการปลูกแคคตัส แต่แดดเมืองไทยนั้นโหดมากโดยเฉพาะแดดช่วงเที่ยงตรง ผมบอกได้เลยว่า รุนแรง ร้อนจัดมาก ซึ่งต้องระวังนะครับ ยิมโนหัวสีถ้าโดนแดดจัดๆ ช่วงเที่ยงตรงแล้วล่ะก็ อาจจะทนไม่ไหวแล้วเกิดอาการไหม้แดดจนอาจทำให้เป็นแผลหรือสุกตายเอาได้นะครับ เพราะฉะนั้นในการปลูกเลี้ยงพยายามเลี่ยงแดดช่วงเที่ยงตรงหรือบ่ายโมงด้วยนะครับ ให้เค้าโดนแดดช่วงเช้าถึงสายหรือบ่ายแก่จะปลอดภัยกว่านะครับ แต่ถ้าเลียงไม่ได้ที่จะต้องให้เค้าโดนแดดแรงๆ แดดเที่ยงๆ แล้วล่ะก็ ควรมีการขึงสแลนช่วยกรองแสงด้วยนะครับ ะช่วยได้เยอะเลยล่ะครับ แดดไม่ว่าจะแรงขนาดไหน ใช้สแลนขึงกรองไว้เราสามารถเลี้ยงแบบโดนแดดตลอดวันได้ครับ


ารใส่ปุ๋ย

                      สำหรับเรื่องการให้ปุ๋ยนั้น ก็ต้องเรียนตามตรงเลยว่า ในการปลูกแคคตัสที่ผ่านมาของผมนั้น ผมไม่ค่อยได้ใส่ปุ๋ยสักเท่าไรนะครับ นานๆ จะใส่สักครั้ง เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถที่จะแนะนำอะไรได้มากนัก สำหรับปุ๋ยที่ผมเคยใส่นั้นจะเป็นปุ๋ยละลายช้า ออสโมโค้ท ใส่ 3 เดือนครั้งครับ คงบอกเรื่องปุ๋ยได้เพียงเท่านี้


ปัญหาในการปลูกไม้กราฟ

                         ในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับการปลูกไม้กราฟนั้นรวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับการปลูกกระบองเพชรทั้งหลาย เนื่องจากว่ามันมีขอบเขตของปัญหาที่กว้างมาก จากที่ผมเคยได้เจอด้วยตัวเอง และมีเพื่อนๆ ส่งคำถามมาถามทางเฟสบุ๊ก ทางเพจ ต้องบอกเลยว่าปัญหาเกี่ยวกับการปลูกแคคตัสนั้นมันไม่สามารถที่จะนำมาเขียนรวมกันทั้งหมดในบทความเดียวได้จริงๆ ครับ เพราะมันมีเป็นสิบๆ เรื่อง ตอเน่าบ้าง แคคตัสไหม้แดดบ้าง โรคต่างๆ ก็มีมาสารพัด ราสนิม แคงเกอร์ บางท่านก็ส่งภาพมาให้ดูบอกว่าโดนหนูแทะ หนอนกิน นกจิก หอยทากกัด ซึ่งรวมๆ แล้วปัญหามันมีเยอะจริงๆ ครับ เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถที่จะเขียนได้หมดในบทความนี้แน่ ขออนุญาตที่จะแปะลิงก์หน้ารวมบทความสำคัญๆ ของผมเอาไว้ก็แล้วกันนะครับ ถ้าท่านกำลังสงสัยหรืออยากทราบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องไหน ลองเข้าไปเลือกอ่านดูนะครับ ผมเคยเขียนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เคยเจอในการปลูกแคคตัสพร้อมทั้งการแก้ไขรักษาเอาไว้หลายเรื่องเลยทีเดียว น่าจะพอเป็นแนวทางได้บ้าง ตามลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ

รวมบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการปลูกแคคตัส by Chow Cactus

ผ่านเรื่องปัญหาไปที่เรื่องอื่นต่อเลยนะครับ


การออกดอกของยิมโนหัวสี

                          มีคนเคยถามว่า เจ้ายิมโนหัวสีนั้นมีดอกมั้ย ออกดอกได้หรือไม่ ผมขอตอบว่าออกดอกได้นะครับ แต่ต้องแยกเป็นสองแบบแบบแรกคือเจ้ายิมโนหัวสีที่มีสีแดงทั้งหัว หรือเหลือง ชมพู ส้มทั้งหัว หัวสีแบบด่างทั้งหัวแบบนี้จะเป็นไม้ที่ดอกยากสักหน่อย เท่าที่ผมเลี้ยงมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรผมแทบไม่เคยเห็นเค้าออกดอกเลยครับ เคยเห็นแต่ภาพที่คนอื่นเค้าเลี้ยงแล้วออกดอก เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าการออกดอกของเจ้ายิมโนหัวสีแบบ แดงทั้งหัว หรือว่าเหลืองทั้งหัวเนี่ย ถ้าจะเลี้ยงเพื่อหวังที่จะดูเค้าออกดอกบ่อยๆ ล่ะก็ บอกเลยว่ายากมากครับ

                        แต่ถ้าเป็นอีกแบบนึงนั่นก็คือยิมโนหัวสีที่ไม่ได้ด่างทั้งหัว เป็นด่างที่มีสีเขียว หรือสีม่วง ดำเข้มๆ ปนอยู่แล้วล่ะก็ ยิมโนด่างแบบนี้ถ้าอายุถึงแล้วล่ะก็สามารถออกดอกได้ไม่ยากเท่าไรครับ ถ้าได้รับแสงแดดที่เหมาะสม แดดดี อากาศป็นใจ ก็สามารถที่จะมีดอกออกมาให้ได้เห็นครับ แต่ส่วนใหญ่จะออกดอกบ่อยๆ ตอนช่วงหน้าร้อนนะครับ ส่วนหน้าอื่นนั้นก็ดออกดอกได้แต่ดอกจะมาไม่บ่อยเท่าไรครับ 


อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่มีคนถามมาเยอะมากๆ นั่นก็คือเรื่องของการขยายพันธุ์ยิมโนหัวสีว่ามีวิธีการขยายพันธุ์ไม้ชนิดนี้ด้วยวิธีไหน

ในส่วนของการขยายพันธุ์ยิมโนหัวสีนั้น 

                          อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ายิมโนหัวสีแบบที่เป็นสีแดง หรือเหลืองทั้งหัวนั้น เค้าไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นในการขยายพันธุ์แคคตัสที่มีลักษณะหัวสีทั้งหัวแบบนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการเด็ดหน่อเอาไปกราฟต่อบนตอเท่านั้น ซึ่งวิธีการกราฟเพื่อขยายพันธุ์ยิมโนหัวสีนั้น ผมขอลงวิธีการแบบรวบรัดเลยก็แล้วกันนะครับ ไม่งั้นบทความนี้จะยาวจนเกินไป แต่ถ้าท่านอยากอ่านเรื่องราวการกราฟต่อแคคตัสบนตอแบบละเอียดแล้วล่ะก็ เดี๋ยวผมจะแปะลิงก์เอาไว้ด้านล่าง ของเข้าไปอ่านเพิ่มเติมดูก็แล้วกันนะครับ

                          สำหรับการกราฟหน่อยิมโนหัวสีนั้น เริ่มแรกก็เด็ดหน่อที่เราอยากจะกราฟออกมาก่อนเลยครับ ถ้าเป็นไปได้หน่อที่จะใช้ควรมีขนาดมากกว่า 1 ซม. ขึ้นไปนะครับ น่าจะเป็นขนาดที่กำลังดีไม่เล็กจนเกินไป


อย่างหน่อที่ผมนำมาสาธิตในคราวนี้ก็ขนาดประมาณนี้เลยครับ ตามรูป หน่อสีส้มทางซ้าย



                          อย่างที่สองเลยนั่นก็คือตอที่เราจะเอาแคคตัสไปต่อ ผมใช้เป็นตอแก้วมังกรครับ ซึ่งเวลาเลือกตอก็เลือกตอส่วนยอดที่ไม่อ่อน ไม่แก่จนเกินไป แล้วก็ดูอวบๆ สมบรูณ์ สักหน่อยนะครับ ได้แบบนี้จะดีมากๆ

ลงมือเลยดีกว่าครับ


ปาดตอเลยแล้วกัน ประมาณนี้


ตัดแต่งขอบตอ


จากนั้นก็มาปาดที่หน่อยิมโนด่างที่เราเตรียมไว้ ประมาณนี้


ปาดเสร็จก็นำไปต่อประกบกันเลยครับ


จากนั้นก็ทำการหมุนไล่อากาศแล้วก็เอาสก็อตเทปติดเพื่อกันหน่อหลุด


                         เสร็จแล้วครับการกราฟ ที่เหลือเราก็นำแคคตัสที่เราต่อไว้เนี่ย เอาไปวางไว้ในที่ร่มแสงแดดส่องรำไร อย่าให้โดนน้ำโดนฝนสาด ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ รอยต่อจะเริ่มสมานกันก็เป็นอันเรียบร้อยได้ไม้กราฟต้นใหม่เพิ่มขึ้นมาแล้วล่ะครับ

1 อาทิตย์ผ่านไป เรามาแกะสก็อตเทปเพื่อดูผลของการกราฟกันเลยดีกว่าครับว่าติดมั้ย


                         ผลก็ปรากฏว่าติดดีไม่มีปัญหาอะไรนะครับ เรียบร้อยแล้วครับกับการขยายพันธุ์ยิมโนหัวสีด้วยการกราฟ นำไปเลี้ยงต่อได้เลยครับ แต่ช่วงแรกๆ ของการเลี้ยงไม้ที่พึ่งกราฟติดใหม่ๆ อย่าพึ่งให้แผลที่เราต่อไว้โดนนํ้า อย่าให้ตากฝนนะครับ เดี๋ยวรอยต่อจะติดเชื้อแล้วหัวแคคตัสจะเน่าตายเอาได้ และก็อย่าเอาออกไปโดนแดดแรงจัดๆ นะครับ เดี๋ยวจะไหม้แดด ค่อยๆ ปรับปริมาณแสงที่ให้เค้าได้รับไปทีละนิด แดดจัดๆ ช่วงเที่ยงวันก็พยายามเลี่ยงอย่าให้เค้าโดนเต็มๆ นะครับ เดี๋ยวพอเค้าปรับตัวได้ การเจริญเติบโตพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไร ก็สบายสามารถเลี้ยงในแบบปรกติได้เลยครับ

                        อันนี้เป็นภาพตอนที่เค้าเริ่มจะเจริญเติบโตตั้งตัวได้แล้ว จะเห็นว่าเจ้าหัวสีที่เราต่อไว้นั้นเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น สดใส สวยงามขึ้นเยอะเลยล่ะครับ
 

ถ้าท่านอยากอ่านเรื่องราวการกราฟอย่างละเอียดเพิ่มเติมแล้วล่ะก็ เข้าไปอ่านได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ

 การกราฟแคคตัสด้วยตอแก้วมังกร by Chow Cactus

                         ผมเพิ่มเติมอีกนิดนึงในเรื่องของการขยายพันธุ์แคคตัสยิมโนด่าง ถ้าสมมุติว่าหน่อของยิมโนหัวสีนั้นไม่ได้แดงหรือเหลืองทั้งหัว ยํ้านะครับว่าเป็นยิมโนหัวสีที่ไม่ได้เป็นสีแดง ชมพู ส้ม หรือหัวสีหมดทั้งหัว !!!  แต่เป็นหน่อที่มีสีเขียวหรือสีม่วงหรือโทนเข้มๆ ปนอยู่แล้วล่ะก็ หน่อลักษณะแบบนี้สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเด็ดมาชำได้นะครับ ไม่ต้องกราฟก็สามารถออกรากและเจริญเติบโตได้ด้วยตัวเองครับ เพราะเค้ามีสารสีเขียวที่ช่วงสังเคราะห์แสงนั่นเองครับ

ดูตัวอย่างตามภาพด้านล่างได้ครับ หน่อสีประมาณนี้ สามารถชำได้ งอกได้ไม่มีปัญหา


วิธีชำหน่อของผมนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรครับ 

                         โดยผมจะเด็ดหน่อออกมา (หน่อที่ผมใช้ผมจะเลือกหน่อใหญ่ๆ ที่มีขนาดมากกว่า 1-1.5 ซม ขึ้นไป ) จากนั้นก็เอาไปชำกับดินที่ผมใช้ปลูกแคคตัสทั่วๆ ไปนี่แหละครับ โดยหลังจากที่ชำไปแล้ว ช่วงแรกๆ ระหว่างที่เค้ายังไม่ออกรากผมจะวางไว้ ในจุดที่โดนแดดไม่จัดมาก และจะรดนํ้าก็ต่อเมื่อเห็นว่าวัสดุปลูกนั้นแห้งสนิทแล้วเท่านั้น พอเค้าเริ่มออกรากและเจริญเติบโตตั้งตัวได้เมื่อไรก็เลี้ยงตามปรกติเหมือน เลี้ยงแคคตัสทั่วๆ ไป ครับ

ดินที่ผมใช้ชำหน่อ สูตรเดียวกันกับที่ผมใช้ปลูกแคคตัสทั่วไปนั่นล่ะ


                       ถ้าหน่อไหนที่ด่างมากๆ มีสีเขียวหรือสีดำน้อยๆ จะโตช้ามาก และออกรากค่อนข้างจะยากสักหน่อยนะครับ แต่ถ้าเขียวเยอะจะโตเร็วออกรากดีกว่าครับ


                         ก็ประมาณนี้ก่อนก็แล้วกันนะครับสำหรับเรื่องราวของแคคตัสยิมโนหัวสี บทความนี้เป็นบทความที่ผมใช้เวลาเขียนนานมากๆ ตอนเรียบเรียงนี่เหนื่อยจริงๆ ครับ เพราะเนื้อหามันเกี่ยวพันในหลายเรื่องเหลือเกิน ซึ่งมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกเลยว่าบทความนี้ยังไม่สมบรูณ์ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนเท่าไรแต่ก็น่าจะนำเสนอในเรื่องราวสำคัญๆ เกี่ยวกับยิมโนหัวสีที่พอจะทำให้ทุกท่านได้เข้าใจและสามารถที่จะปลูก ดูแลและขยายพันธุ์ไม้ชนิดนี้ได้ด้วยตนเองอย่างไม่เป็นปัญหาแล้วล่ะนะ ส่วนเรื่องราวเพิ่มเติมค่อยว่ากันใหม่ต่อไปในอนาคตก็แล้วกันนะครับ เพราะฉะนั้นผมขอตัดจบตรงนี้เลยนะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนจบถึงตรงนี้ ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้นะครับ 

เพจของเรา เข้าไปทักทายกันได้นะครับ https://www.facebook.com/chowcactus

13 comments:

  1. ขอบคุณมากครับ

    ReplyDelete
  2. เจ๋งสุดๆเลยค่า

    ReplyDelete
  3. นางแบบน่ารักค่ะ ด่างด้วย 555

    ReplyDelete
  4. เข้าใจเยอะมากขึ้นเลยคะ (จากที่ไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับพันธุ์นี้เลย) อย่างน้อยก็แยกประเภทออก และรู้วิธีการปลูกและการเลี้ยงดู ขอบคุณที่แบ่งปันคะ

    ReplyDelete
  5. ไม่เคยผิดหวังกับความรู้ของเจ้าของท่านนี้เลยค่ะ เห็นนำมาแบ่งปันตลอดๆ ขอบคุณมากนะคะ ^^

    ReplyDelete
  6. ดีมากๆครับแต่ก่อนคิดว่าต้นตอคือกระบองเพชรแท้ๆซะอีก

    ReplyDelete
  7. ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบคุณมากๆ

    ReplyDelete
  8. แล้วตอแก้วมังกร ต้องมีรากมั้ยค๊ะ

    ReplyDelete
  9. ขอบคุณมากนะคะ ได้ความรู้มากเลยคะ

    ReplyDelete
  10. ขอบคุณมากครับ ว่าแต่น้องแมวชื่ออะไรครับ

    ReplyDelete
  11. หัวสีนี่เอามาจากไหนคะ มันขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อมันผิดปกติเหรอคะ

    ReplyDelete
  12. ขอบคุณมากค่ะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.