Monday, October 10, 2016

การตัดลงตอแก้วมังกรแบบเหลาแกนตอ และการตัดลงตอแบบตัดไม่เหลือตอ และการล่อราก


                     เรื่องราวที่ผมหยิบมาเขียนในคราวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดลงตอ ซึ่งเราจะมาทำการตัดแคคตัสลงจากตอแก้วมังกรกันครับ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มบทความ ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับว่าผมเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการตัดลงตอหรือการล่อรากมากสักเท่าไรนัก นานๆ จะทำสักที

                    เพราะผมมีความรู้สึกว่า ถ้าจะเลี้ยงไม้กราฟ ผมอยากจะเลี้ยงแบบให้เค้าเจริญเติบโตไปให้มากที่สุด ถ้าเค้าอยู่บนตอแล้วอยู่ดี มีการเจริญเติบโตที่ดี ก็อยากจะให้อยู่ไปแบบนั้น ถ้าไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเค้า หรือปัญหาอย่างตอเน่า ตอหมดสภาพ ผมก็ไม่อยากจะไปตัดเค้าลงมาจากตอสักเท่าไร เพราะในการตัดลงตอนั้นมันมีความเสี่ยง บางทีตอนเราตัดเค้าลงมาจากตอแล้วเอามาล่อราก มันอาจจะล้มเหลว รากไม่ออก หรือติดเชื้อจนเน่าทำให้เราเสียแคคตัสต้นนั้นไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการตัดลงตอจึงเป็นเรื่องที่ถ้าไม่จำเป็น ผมจะไม่ทำ ผมจึงต้องบอกก่อนเลยว่าความเชี่ยวชาญหรือเทคนิคในการตัดลงตอของผมนั้น ผมรู้ไม่เยอะนะครับ


                    สำหรับเรื่องราวการตัดลงตอที่ผมจะเขียนในคราวนี้นั้น จะเป็นการตัดลงตอแก้วมังกรในสองแบบ แบบแรกคือการตัดลงตอเหลือแกนตอ ( เหลาแกนตอ ) ส่วนการตัดลงในแบบที่สองนั้นจะเป็นการตัดลงแบบไม่เหลือตอ หรือก็คือการตัดเอาตอออกไปจนหมดไม่ให้เหลือ และปิดท้ายด้วยการล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ ซึ่งเนื้อหารวมๆ ของบทความจะเยอะสักหน่อยนะครับ

                  สำหรับไม้กราฟที่ผมจะนำมาตัดลงในวันนี้นั้น ต้นแรกที่จะทำก็คือเจ้าแคคตัส แอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum ) ต้นตามรูปนี้เลยครับ


                      เจ้าแอสโตรต้นนี้เป็นไม้กราฟที่ผมซื้อมานาน 2-3 ปีน่าจะได้ ซึ่งจริงๆ ผมก็ยังไม่อยากจะจับเค้ามาตัดลงจากตอหรอกนะครับ แต่ด้วยความที่ช่วงหลังๆ เจ้าต้นนี้มีปัญหารากเสียบ่อย จนผมเริ่มเกิดความรู้สึกว่าคงต้องตัดลงแล้วล่ะมั้ง และเจ้าแคคตัสก็มีขนาดใหญ่มาแล้วด้วย ก็เลยตัดสินใจว่าตัดลงตอนนี้เลยก็แล้วกัน ตัดลงตอนที่ไม้ยังแข็งแรงเต่งตึงมันน่าจะโอเคกว่าไปตัดตอนที่ไม้เริ่มป่วยหรืออ่อนแอเหี่ยวแห้ง

**** ก่อนจะไปเริ่มการตัดลง ผมเตือนก่อนดีกว่า เผื่อบางท่านไม่ทราบ

                   สำคัญเลยนะครับ ในการตัดลงตอนั้น ถ้าเป็นพวกแคคตัสด่างเผือก เช่น พวกยิมโนหัวสี หรือพวกแคคตัสด่างที่ด่างหมดทั้งหัว หัวสีหมดทั้งหัว ผิวของแคคตัสไม่มีสีเขียวหรือสีโทนดำอยู่เลยสักนิดแบบนี้ ไม่ควรตัดลงจากตอนะครับ ตัดลงตอไม่ได้

ด่างทั้งหัว หัวสี ตัดลงไม่ได้นะครับ

                         เพราะไม้ที่ด่างหัวสีหมดทั้งหัวจะไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงด้วยตัวเองได้เนื่องจากไม่มี คลอโรฟิลล์ ซึ่งถ้าเราไปตัดเค้าลงมาจากตอล่ะก็ เค้าจะไม่ค่อยออกราก การเจริญเติบโตจะนิ่งสนิทและจะค่อยๆ เหี่ยวตายลงไปนะครับ เพราะฉะนั้น ยิมโนหัวสีตัดลงไม่ได้นะ ต้องเลี้ยงเค้าบนตอเท่านั้นนะครับ แต่ถ้าเป็นพวกด่างครึ่ง เขียวครึ่ง ด่างกระจาย อะไรแบบนี้สามารถตัดลงตอได้ครับ

                        ที่ต้องพูดเรื่องนี้นั่นก็เพราะว่ามีคนถามมาเรื่อยๆ ว่าอยากจะตัดยิมโนหัวสีลงจากตอจะทำได้มั้ย จะรอดหรือไม่ และทำยังไง ผมก็เลยคิดว่าอาจจะมีคนไม่ทราบว่าพวกไม้ที่ด่างหมดทั้งหัวมันตัดลงแล้วจะไม่ค่อยออกราก เพราะมันเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ก็เลยต้องเขียนบอกเอาไว้ก่อน 

                       แต่ถ้าเกิดว่าเป็นในกรณีที่คุณเลี้ยงพวกไม้กราฟที่เป็นหัวสีหรือด่างหมดทั้งหัว แล้ววันดีคืนดีเกิดตอเน่า ตอเสีย แล้วจะทำยังไงในเมื่อเค้าตัดลงตอไม่ได้

                      เท่าที่ผมพอจะบอกได้ในตอนนี้ก็คือ ถ้าตอเน่าแค่บางส่วน ไม่ได้เน่าหมดทั้งตอล่ะก็ ให้ปาดเนื้อของตอส่วนที่เน่านั้นทิ้งไป พอแซะเนื้อที่เน่าออกแล้วจากนั้นก็ผึ่งให้แผลแห้ง ก็สามารถที่จะเอากลับมาลงปลูกใหม่ ซึ่งก็น่าจะพอไปต่อได้อยู่ แต่ถ้าเกิดปัญหาตอเน่าจนไม่เหลือแล้วล่ะก็ ต้องย้ายตอครับ ย้ายหัวแคคตัสเอาไปกราฟต่อบนตออันใหม่ ซึ่งผมขอไม่พูดเรื่องนี้ในตอนนี้ก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวจะยาว

***** เรากลับมาที่เรื่องราวการตัดลงตอของเรากันเลยดีกว่า ผมจะลงมือแล้วนะครับ


ขั้นแรกผมจะทำการตัดตอ ให้เหลือตออยู่ประมาณสัก 4 ซม. ตามรูปด้านล่างเลยครับ


จากนั้นผมจะค่อยๆ เอามีดปาดเนื้อของตอออกไป ให้เหลือแต่แกนตอ


เอาเนื้อตอออกให้หมดไม่ให้เหลือเลยนะครับ


ใช้มีดค่อยๆ ขูดเหลือให้เหลือแต่แกนตอเปลือยๆ แบบนี้เลยครับ


บางท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าแล้วการเหลาเหลือแกนตอเอาไว้นั้น เพื่ออะไร เก็บแกนตอเอาไว้ทำไม

                      การที่เราเหลาแกนตอเหลือเอาไว้นั้น นั่นก็เพราะว่าตอแก้วมังกรจะมีความพิเศษอย่างนึง ตรงที่แกนตอของเค้านั้นสามารถที่จะออกรากได้ เพราะงั้นการที่เราเหลือแกนตอของเค้าเอาไว้ก็เพื่อที่ว่าจะได้ให้แกนตอของเค้านั้นเป็นจุดที่ออกราก เพื่อเลี้ยงแคคตัสต่อไป ซึ่งเดี๋ยวพอเราเลี้ยงนานๆ แกนตอจะค่อยๆ สลายผุพังไปเองเหลือแต่รากล้วนๆ ครับ 

( เฉพาะแก้วมังกรนะครับ การตัดลงตอแบบเหลาแกนตอนั้นผมพาดพิงไปที่ตอแก้วมังกรชนิดเดียวเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงตอชนิดอื่นนะครับ เพราะว่าตอชนิดอื่นๆ อย่างพวกตอลูกผสม ตอบลู รวมไปถึงตออีกหลายชนิดจะใช้วิธีการตัดลงแบบเหลาแกนตอแบบนี้ไม่ได้ เพราะแกนตอของตอบางชนิดนั้น มันจะไม่สามารถที่จะออกรากได้อย่างแก้วมังกร เพราะฉะนั้นในการตัดลงตอชนิดอื่นจึงอาจจะไม่สามารถเหลาเหลือแกนตอแบบนี้ได้นะครับ ต้องตัดและขุดตอออกไปให้หมดแล้วเท่านั้นในการตัดลงตอ หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการตัดให้เหลือตอสั้นๆ แล้วฝังตอเอาน่ะครับ ก็เอาเป็นว่าในบทความนี้ผมขอจำกัดเนื้อหาให้อยู่ในส่วนของตอแก้วมังกรนะครับ ส่วนการตัดลงตอชนิดอื่น ในอนาคตผมจะเขียนเป็นบทความแยกย่อยเป็นชนิดของแต่ละตอ ต่อไปครับ )


                    ว่ากันต่อเลยนะครับ หลังจากที่เราเหลาเนื้อตอออกไปจนหมด จนแหลือแต่แกนตอแบบนี้เรียบร้อย บางท่านที่มีพวกยาเร่งรากก็อาจจะมีการทายาเร่งรากเพื่อช่วยกระตุ้นการออกรากให้ดียิ่งขึ้นด้วยนะครับ ( แต่ผมไม่ได้ทาเพราะตอนนั้นยาเร่งรากหมด ) 


                        ซึ่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยขั้นตอนต่อมาก็คือการเอาเจ้าแคคตัสที่เราตัดลงเรียบร้อยแล้วต้นนี้ เอาไปวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลที่เราตัดลงนั้นแห้ง  ซึ่งการที่เราเอาไปผึ่งเพื่อรอให้แผลแห้งก็เพราะถ้าเอาไปลงปลูกเลยหรือเอาไปล่อรากทันทีเลย อาจจะเกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้ เพราะงั้นการเอาไปผึ่งเอาไว้ก็เพื่อที่จะให้แผลของเค้านั้นแห้งสนิทเสียก่อน แล้วพอแผลเค้าแห้งเมื่อไรเราค่อยเอาไปล่อรากหรือเอาไปปลูกต่อไปครับ

ซึ่งการเอาไปผึ่งเพื่อรอแผลแห้งนั้น ผมจะวางผึ่งเอาไว้ในที่ร่มรำไร อย่างน้อย 2 อาทิตย์ขึ้นไป


                       ไม่ต้องกลัวว่าวางผึ่งเอาไว้นานๆ เป็นอาทิตย์แล้วเค้าจะเหี่ยวตาย เค้าอยู่ได้สบายๆ ไม่ตายง่ายๆ เพราะอดน้ำหรอกครับ กระบองเพชรเป็นไม้ที่อดน้ำได้นานมาก ยิ่งถ้าเป็นต้นที่มีขนาดใหญ่ด้วยแล้วล่ะก็ อยู่ได้เป็นเดือนๆ ครับ

                      เพราะงั้นไม่ต้องไปคิดอะไรมาก วางผึ่งเอาไว้ยาวๆ เลยครับ อย่างเจ้าต้นนี้เนี่ย ผมบอกเลยตอนที่ผมทำ ในใจผมคิดเอาไว้ว่าจะวางผึ่งไปเรื่อยๆ ก็กะว่าจะทิ้งเอาไว้เป็นเดือนเลยล่ะครับ ผมไม่รีบ

                     ซึ่งถ้าโชคดี หลังจากที่เราวางผึ่งเอาไว้สักระยะ เค้าอาจจะแทงรากออกมาเองโดยที่เรายังไม่ได้เอาไปลงปลูกเลยด้วย


                         อย่างเจ้าต้นนี้ ผมวางทิ้งเอาไว้จนลืมไปเลยล่ะครับ มารู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปเดือนกว่าเลยทีเดียวครับ ที่ผมวางผึ่งเอาไว้ ( แต่ไม่ต้องผึ่งเอาไว้นานเปฺ็นเดือนอย่างผมก็ได้ครับ วางไว้สัก 2-3 อาทิตย์ แล้วเอาไปล่อรากก็ได้ครับ พอดีผมเป็นคนขี้เกียจเลยวางไว้นานไปหน่อย )


                         ถ้าดูจากในภาพ สังเกตดีๆ ตอของเค้าออกรากมาเส้นนึงด้วยล่ะครับ ซึ่งนี่อาจจะเป็นกลไกในการต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตต่อไปของเจ้าแคคตัส เค้าก็เลยกระตุ้นตัวเองด้วยการแทงรากออกมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ปลูกอยู่ในดินแบบนี้
                        ซึ่งการที่เค้าออกรากมาแบบนี้ ผมก็คงไม่ต้องไปล่อรากแล้วล่ะครับ ผมว่าเค้าพร้อมที่จะลงปลูกตามปรกติได้แล้วล่ะนะ เพราะงั้นผมจะเอากลับไปลงปลูกตามปรกติเลยก็แล้วกัน

******  สำหรับท่านที่อยากจะดูเกี่ยวกับการล่อราก เดี๋ยวท้ายบทความผมจะเขียนวิธีการล่อรากของผมแบบง่ายๆ ที่ผมใช้ เพิ่มเติมเอาไว้ให้นะครับ

                       สำหรับดินปลูกที่ผมใช้ ผมใช้ดินสูตรคล้ายๆ กับที่ใช้เลี้ยงแคคตัสทั่วไปของผมนั่นล่ะครับ ซึ่งสูตรดินของผมนั้นยึดหลักที่ว่าดินปลูกแคคตัสควรจะต้องเป็นดินที่มีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดี ไม่สะสมความชื้นมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นสูตรดินที่ผมใช้ ผมจึงเลือกใช้สูตรดินที่เน้นโปร่ง

ดินปลูกแคคตัสที่ผมผสมเอาไว้

                           ซึ่งส่วนผสมของดินปลูกของผมนั้น ก็จะเป็น ดินแคคตัส ผสมหินภูเขาไฟก้อนเล็ก ผสมเพอร์ไลท์ อัตราส่วนผสมก็พอๆ กันครับ พอดีตอนที่ผมผสมดินผมไม่ได้ใช้อะไรตวงน่ะครับ เลยไม่ได้เป๊ะเท่าไร ตอนผสมผมจะกะๆ เอาว่ามองแล้วมันน่าจะโปร่งระบายน้ำได้ดี เนื้อดินร่วนละเอียดไม่จับตัวเป็นก้อน ผมก็โอเคแล้วครับ

                          ซึ่งในการลงปลูกนั้น เรื่องดินปลูกไม้ตัดลง จะใช้ดินสูตรไหนมีส่วนผสมอะไรยังไงนั้น  เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว แต่ละคนก็จะมีส่วนผสมดินที่ต่างกันไปมากมาย อย่างสูตรดินที่ผมใช้นั้น อาจจะไม่เหมาะสมกับบางท่านก็เป็นได้นะครับ เพราะงั้นเรื่องนี้ผมอยากขอให้ทุกท่านอย่าพึ่งเชื่อผมนะครับ หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะดีกว่าครับ

ลงปลูกเรียบร้อย


                       ในการดูแลไม้ที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ นั้น ผมจะไม่ให้เค้าโดนแดดจัด ให้เค้าได้รับแดดอ่อนๆ ไปสักระยะ จนกว่าเค้าจะฟื้นตัวและกลับมาเจริญเติบโตเมื่อไรค่อยเพิ่มแสงที่ได้รับให้มากขึ้นทีละนิด ( เทรนแดด )

                       ส่วนการรดน้ำ ผมจะรดต่อเมื่อเห็นว่าดินปลูกแห้งแล้วเท่านั้น ผมจะดูความชื้นของดินเป็นหลัก ดินแห้งสนิทค่อยรด ถ้ามองแล้วเห็นว่าดินชื้นก็ผ่านไปก่อน

ผ่านไปอีกหลายเดือนหลังจากลงปลูก ในที่สุดก็ออกดอกแล้วล่ะครับ

                          สำหรับการออกรากและการฟื้นตัวของพวกไม้ที่ตัดลงตอนั้น ในความรู้สึกของผม มันไม่ค่อยแน่นอนเท่าไร บางต้นก็ออกรากช้า ฟื้นตัวช้า บางต้นก็ฟื้นตัวเร็วออกรากได้ดี บางต้นก็เกเรไม่ยอมออกรากเลยก็มี บอกตรงๆ เลยว่าการตัดลงตอนั้นเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงนะครับ ไม่ใช่ว่ามันจะสำเร็จไปเสียทุกครั้ง โอกาสล้มเหลวก็มี อย่างเจ้าต้นนี้ของผมนั้น ผมบอกเลยว่าผมโชคดีมากที่เค้าออกรากไม่ยาก ก็เลยฟื้นตัวขึ้นมาได้ในเวลาไม่นาน แต่ที่ผ่านๆ มาของผมนั้น มีเหมือนกันนะครับ ที่เจอกรณีแบบว่าตัดลงตอมาแล้วรากไม่ยอมออก ไม้นิ่งสนิทไม่ยอมโตเลยก็มีนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือการตัดลงตอนั้น ถ้าเราตัดสินใจที่จะทำ เราต้องเผื่อใจไว้ให้กับความล้มเหลวด้วยนะครับ ในการปลูกต้นไม้ไม่มีอะไรที่แน่นอน ปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ

                       เรื่องราวการตัดลงตอแก้วมังกรแบบเหลาแกนตอก็เอาค่ประมาณนี้ก่อนนะครับ ขอจบเรื่องนี้ลงตรงนี้ แลขึ้นเรื่องต่อไปของเรากันต่อเลยดีกว่านั่นก็คือการล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ และการตัดลงตอแก้วมังกรแบบตัดไม่เหลือตอ ซึ่งสองเรื่องนี้จะรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน

การล่อรากคืออะไร ?

                      การล่อรากก็คือการเอาแคคตัสที่ไม่มีรากหรือรากน้อยไปชำให้ออกราก พอเค้าออกรากเมื่อไร เราค่อยย้ายเอาไปลงปลูกในดิน ความหมายของการล่อรากในความรู้สึกของผมก็น่าจะประมาณนี้

ซึ่งในการล่อรากนั้นก็มีหลายแบบนะครับ แต่แบบที่ผมเคยทำมีแค่แบบเดียวนั่นก็คือการล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ

หินภูเขาไฟ ก้อนเล็ก

ผมว่าเรามาลองทำกันเลยดีกว่าครับ

สำหรับแคคตัสที่ผมจะใช้ในการล่อรากครั้งนี้นั้นนั่นก็คือเจ้ามายริโอต้นนี้เลยครับ


                         มายริโอต้นนี้เป็นไม้กราฟบนตอแก้วมังกรเช่นเดียวกัน แต่การเอาลงจากตอของผมนั้น ผมไม่ตัดลงแบบเหลาเหลือแกนตอ แต่ทว่าผมใช้วิธีการตัดลงแบบหักลง ไม่เหลือตอเอาไว้


หักลงในความความหมายก็ตามตัวเลยครับ ผมเอามือจับที่หัวแคคตัส แล้วบิดหักลงมาจากตอครับ


                         เมื่อหักลงมาแล้ว ผมก็จะเช็คดูตรงรอยแผลว่ามีเนื้อของตอติดมาด้วยหรือไม่ ถ้ายังมีเนื้อของตอติดมาด้วยล่ะก็ ผมจะเอามีดแซะออกให้หมด ไม่ให้เหลือเนื้อตอเลยนะครับ

                        จากนั้นก็ทำเช่นเดียวกันกับเจ้าต้นแรกนั่นก็คือการเอาไปวางผึ่งเอาไว้ให้แผลแห้ง อย่างน้อย 2 อาทิตย์ขึ้นไปครับ ( ท่านที่มียาเร่งรากก็ทายาเร่งรากร่วมด้วยก็ดีนะครับ )


                         2-3 อาทิตย์ผ่านไป คิดว่าแผลน่าจะแห้งสนิทเรียบร้อยแล้ว ผมก็จะนำเค้าไปล่อรากต่อเลย ซึ่งวิธีการล่อรากนั้นก็ง่ายๆ ผมจะเอาหินภูเขาไฟก้อนเล็กมาใส่ในกระถาง จากนั้นก็นำเจ้าแคคตัสต้นนี้ลงไปปักชำในกระถางใส่หินภูเขาไฟที่เตรียมไว้

ล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ แล้วลุ้นกันไปยาวๆ

                           จากนั้นก็เอาไปวางเก็บไว้ในที่ๆ มีแสงแดดส่องอ่อนๆ อย่าให้โดนแดดจัด อย่าให้ตากฝน ให้โดนแดดอ่อนๆ ไปก่อน รอการฟื้นตัวออกรากใหม ส่วนการรดน้ำผมก็จะใช้หลักเดิมเลยนั่นก็คือ รดเมื่อเห็นว่าดินปลูกแห้ง ถ้าดินยังชื้นผมก็จะยังไม่รดจะผ่านไปก่อน

                          ประมาณนี้ครับสำหรับวิธีการล่อรากของผม ที่เหลือผมก็จะปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา ถ้าโชคดี เค้าก็ออกรากไว ถ้าโชคไม่เป็นใจก็ออกรากช้า หรือแย่ที่สุดก็คือไม่ออกรากเลยก็ได้

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเค้าออกรากแล้วหรือยัง ต้องถอนออกมาดูหรือไม่

                         ไม่ถอนนะครับ ผมว่าการถอนออกมาดูบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไร ไม้มันจะชะงักเสียเปล่าๆ ใช้วิธีการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นของเค้าดีกว่าครับ อย่างเช่นดูที่ยอดว่ามีการเจริญเติบโตขึ้นหรือไม่ ยอดเดินหรือไม่ ต้นอวบเต่งตึงขึ้นหรือไม่ อะไรแบบนี้ดีกว่าครับ

                        การล่อรากต้องใจเย็นๆ นะครับ เรากำหนดไม่ได้ว่ากี่วันรากถึงจะมา บางทีอาจจะต้องใช้เวลาในการรอคอยนานเป็นเดือนเลยก็ได้ ยังไงก็อย่าพึ่งใจร้อนนะครับ ให้เวลากับเค้าสักหน่อย ค่อยเป็นค่อยไปนะครับ

เวลาผ่านนานจนลืมไปเหมือนกัน พอมาดูอีกครั้ง ต้นโตขึ้นพอสมควรเลยครับ

                       อย่างเจ้าต้นนี้ผมล่อรากทิ้งเอาไว้ยาวๆ เป็นเดือนๆ เลยล่ะครับ จนผมมั่นใจว่าเค้าออกรากแล้วแน่ๆ เพราะยอดเริ่มเดิน ต้นมีความสมบรูณ์อ้วนตึง เริ่มมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน จนผมเชื่อว่าเค้ามีรากแล้วแน่นอน ทีนี้ก็จะมาทำการย้ายต้นไปปลูกตามปรกติได้เลยครับ

เรามาดูระบบรากของเจ้ามายริโอที่ล่อรากเอาไว้นี้กันเลยดีกว่าครับ


                     รากเยอะใช้ได้ อาจเป็นเพราะสายพันธุ์ของเค้าด้วยล่ะนะ เพราะมายริโอเป็นไม้ที่ออกรากได้ง่าย เพราะงั้นในการล่อรากก็เลยให้ผลที่ดี ซึ่งในแคคตัสบางสายพันธุ์มันก็อาจจะไม่ได้ออกรากเยอะขนาดนี้นะครับ ยิ่งถ้าเป็นพวกไม้ด่างด้วยล่ะก็ บางทีรากมายากและมาน้อยมากเลยล่ะครับ ผมว่าเรื่องแบบนี้ก็ต้องค่อยๆ ดูกันเป็นต้นๆ ไปล่ะนะ


หลังจากนี้ผมก็จะเอาไปลงปลูกตามปรกติครับ รูปแบบการปลูกก็เหมือนเดิม แบบเดียวกันกับเจ้าต้นแรกนั่นแหละครับ

ภาพล่าสุดของเจ้าต้นนี้ ( 8 ตุลาคม 59 ) สดใส ยอดเดินดี ไม่มีปัญหา

                        บทความนี้ก็ขอจบลงตรงนี้ก็แล้วกันนะครับ ผมว่าน่าจะครบถ้วนแล้วล่ะนะ สำหรับเรื่องราวการตัดลงตอแก้วมังกร แบบเหลาแกนตอ และแบบหักลงไม่เหลือตอ รวมไปถึงเรื่องของการล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ ซึ่งสุดท้ายผมก็ต้องขอพูดอีกครั้งนะครับว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอนในการปลูกต้นไม้ บทความนี้อาจจะนำเสนอในมุมของการตัดลงที่สำเร็จ แต่นอกบทความนั้น ที่ผมล้มเหลวมันก็มีนะครับ เพียงแค่ไม่ได้เอามาให้ดูเท่านั้น ยังไงก็เผื่อใจเอาไว้ด้วยนะครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

5 comments:

  1. เป็นประโยชน์ที่สุด ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete
  2. เป็นข้อมูลและการแนะนำที่ยอดเยี่ยมสำหรับมือใหม่แบบดิฉันค่ะชอบมากๆขอบคุณมากนะคะ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณค่ะเป็นประโยชน์มากๆค่ะ

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.