Wednesday, November 30, 2016

การขยายพันธุ์ต้นม้าเวียนด่างด้วยการชำใบ


                    ในการขยายพันธุ์ต้นม้าเวียน ( Haworthia limifolia ) นั้นมีหลายวิธี เช่นการแยกหน่อ การเพาะเมล็ด และการชำใบ ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยการชำใบเป็นวิธีการที่ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก ใบม้าเวียนหนึ่งใบ อาจก่อเกิดเป็นม้าเวียนต้นใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งต้นก็เป็นได้ คิดแล้วก็อยากรู้ว่จะเป็นยังไง ผมก็เลยตัดสินใจจับเจ้าม้าเวียนด่างต้นสวยประจำบ้าน มาเด็ดใบแล้วลองทำดูสักตั้ง จนกลายมาเป็นเรื่องราวที่เขียนในวันนี้นี่แหละครับ เอาเป็นว่าไม่ขอเกริ่นอะไรมาก เราไปเริ่มการชำใบม้าเวียนกันดีกว่าครับ


                    สำหรับต้นแม่พันธุ์ม้าเวียนที่ผมเลือกมาชำใบ ก็ต้นในรูปที่เห็นนี่แหละครับ เป็นม้าเวียนด่างต้นหลักของผมเลยต้นนี้

เริ่มเลยนะครับ


                     ขั้นแรกเราจะมาดึงใบของเค้าออกมาเพื่อจะเอามาชำกัน ซึ่งในการเด็ดใบออกมานั้นผมจะดึงจากใบด้านล่างก่อนนะครับ ค่อยๆ ไล่จากใบที่อยู่ด้านล่างสุดของต้นขึ้นไปข้างบนทีละใบ ทีละระดับ 

                     ในการเด็ดใบออกมานั้น ก็ต้องเบามือสักหน่อยนะครับ จับที่ใบแล้วโยกซ้าย ขวา พอรู้สึกว่าใบเริ่มจะหลุดจากต้นก็ดึงออกมา พยายามอย่าให้ใบขาด ใบฉีก ให้ใบที่หลุดออกมานั้นสมบรูณ์เต็มใบให้ได้มากที่สุด


                       ถ้าเราลองโยกใบแล้ว แต่ดึงไม่ออก อาจจะต้องใช้มีดปลายแหลมในการช่วยกรีดที่โคนใบเพื่อให้ใบหลุด แต่ตอนที่ผมทำนั้น ผมใช้มือค่อยๆ โยกแล้วดึงก็หลุดออกมาแล้วล่ะครับ ไม่ได้ใช้มีดช่วยแต่อย่างใด ซึ่งใบที่ผมดึงออกมา เท่าที่ดูผมว่าค่อนข้างสมบรูณ์อยู่ครับ ตามรูปที่เห็นเลย เพราะงั้นผมว่าถ้าเราค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ดึง มันก็น่าจะออกแหละครับ ไม่ยากนะครับ แค่ต้องไม่ใจร้อนรีบดึงรีบกระชากจนเกินไปก็น่าจะได้แน่

หลังจากที่เราได้ใบของต้นม้าเวียนมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาเราก็จะมาเตรียมวัสดุปลูกที่จะใช้ในการชำใบกันครับ 

                      สำหรับวัสดุปลูกหรือดินที่จะใช้ในการชำใบนั้น ควรเป็นดินที่มีส่วนผสมที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี เนื้อดินร่วนละเอียดสักหน่อยนะครับ เพราะถ้าใช้เป็นดินที่แน่นจับตัวเป็นปึกหรืออมความชื้นมากเกินไปมีการระบายความชื้นที่ไม่ดีล่ะก็ อาจจะทำให้ใบชำของเราหรือต้นอ่อนที่งอกออกมั่นเน่าก็ได้นะครับ

                      สำหรับตัวผมนั้น ด้วยความที่ผมปลูกต้นไม้หลายชนิด และปลูกในจำนวนค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นผมจึงมักที่จะผสมดินใช้เอง ซื้อวัสดุปลูกชนิดต่างๆ มาผสมในแบบที่ตัวเองชอบ อย่างการชำใบในคราวนี้ผมก็จะผสมดินเองครับ

ดินที่ผมผสมเอาไว้

                     ซึ่งส่วนผสมดินที่ผมใช้นั้น เป็นแบบรวมมิตรครับ ก็คือเอาวัสดุปลูกหลายๆ อย่างมาผสมกัน ซึ่งถ้าให้ไล่ส่วนผสมไปทีละชนิดล่ะก็มีดังต่อไปนี้

ย่างแรกเลยคือ ดินใบก้ามปูร่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียดๆ พวกดินที่เป็นก้อน ดินเหนียว หรือเศษที่เป็นชิ้นใหญ่ไม่เอา เอาแต่เนื้อดินหรือใบที่ละเอียดเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีดินใบก้ามปูก็ใช้เป็นดินแคคตัสก็ได้ครับ 1 ส่วน

ผสมกับ

หินภูเขาไฟเบอร์ 00 ( ก้อนเล็กสุด ) 1 ส่วน

เพอร์ไลท์ 1 ส่วน

เวอร์มิคูไลท์ 1 ส่วน

พีทมอส ครึ่งส่วน (  ½  )

                       สูตรดินที่ผมเขียนบอกไปด้านบนนี้เนี่ย เป็นสูตรที่ผมผสมเอาไว้เพื่อใช้ในสถานการปลูกที่ต้องการเน้นในเรื่องของความโปร่งระบายนํ้าได้ดี ไม่แฉะไม่สะสมความชื้นเกินไป อย่างเช่นใช้ในการล่อราก หรือในการชำหน่อแคคตัสหรือชำหน่อฮาโวเทียผมก็จะใช้สูตรดินประมาณนี้ อาจจะมีเพิ่มลดส่วนผสมไปบ้างในบางครั้ง แต่หลักๆ จะแบบนี้แหละครับ ซึ่งคราวนี้เป็นการชำใบเพราะฉะนั้นผมเลือกเอาสูตรดินอันนี้นี่แหละมาใช้ในการชำใ

                      จริงๆ สูตรดินสูตรนี้สามารถนำไปใช้ในการปลูกฮาโวเทีย หรือปลูกแคคตัสก็ได้นะครับ อย่างพวกฮาโวเทียใบใสทั้งหลาย เช่นหยดนํ้า หรือพวกม้าตัด หรือแคคตัสบางชนิดผมก็ใช้ดินสูตรประมาณนี้นี่แหละครับ 

************    แต่ก็ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าเรื่องของสูตรผสมดินนั้น มันเป็นเรื่องที่หลากหลาย มีสูตรในการผสมดินที่มากมายไม่ตายตัว แต่ละท่านก็จะมีส่วนผสมในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมต้องออกตัวว่า สูตรของผมนั้นมันเป็นแค่สูตรนึงเท่านั้น เป็นแค่มุมมองนึงซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกต้องเหมาะสมก็ได้ เพียงแต่มันเป็นสูตรที่ผมชอบและคิดว่าดีผมก็เลยทำ ซึ่งถ้าท่านเอาสูตรดินนี้ไปใช้ มันจะให้ผลที่ดีหรือไม่ดีผมก็การันตีไม่ได้นะครับ เพราะงั้นเอาเป็นว่าผมอยากให้ดูเป็นแนวทางนึงไปก่อนนะครับ แล้วลองชั่งใจดูว่าสูตรนี้มันโอเคกับท่านหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยนะครับ

ภาพตัวอย่างตอนผมผสมดิน

                     บางท่านอ่านเรื่องเกี่ยวกับการผสมดินแล้วอาจเกิดความรู้สึกว่า ถ้าเราไม่อยากผสมดินเองล่ะ ถ้าแถวบ้านไม่มีพีทมอสขาย ไม่มีเพอร์ไลท์ ไม่มีเวอร์มิคูไลท์ หรือท่านอาจจะรู้สึกว่าปลูกต้นไม้แค่ไม่กี่ต้นเท่านั้น ำไมจะต้องมาซื้อวัสดุปลูกหลายๆ อย่างมาผสมกันให้ยุ่งยากก็คงไม่ใช่ เพราะราคาของพีทมอส เพอร์ไลท์ก็ไม่ใช่จะถูก ถุงนึงก็หลายบาท แล้วแบบนี้จะใช้ดินแคคตัสที่เค้าขายกันตามร้านขายกระบองเพชรอย่างเดียวเลยได้มั้ย ?

                    จริงๆ มันก็ได้นะครับ ซื้อดินแคคตัสที่ขายกันสำเร็จมาเลยก็ได้ เพราะดินแคคตัสที่ขายในบางร้านนั้น ทางร้านก็ได้ใช้ส่วนผสมที่ดีและลงตัวพร้อมใช้อยู่แล้ว ผมเคยซื้อดินแคคตัสของบางร้าน ก็ต้องบอกเลยว่า ผสมดินได้น่าปลูกมาก โปร่ง ระบายน้ำได้ดี เนื้อดินละเอียด ส่วนผสมมองแล้วลงตัว เพราะงั้นถึงไม่ได้เอามาผสมอะไรเพิ่ม ก็ใช้ได้ดีไม่มีปัญหา แต่อย่างที่บอกไปว่าแต่ละร้านก็อาจจะมีสูตรที่ต่างกันไป บางร้านอาจจะผสมมาแล้วไม่ตรงใจผมก็มี

                 ซึ่งถ้าคุณไม่แน่ใจว่าดินแคคตัสที่ซื้อมาจากร้านนั้นมันโอเคแล้วหรือไม่ ไม่มั่นใจว่าดินของร้านนั้นโปร่งดีแล้วรึเปล่าล่ะก็ ผมขอแนะนำให้คุณซื้อหินภูเขาไฟเบอร์ 00 ( ก้อนเล็กสุด ) มาด้วย แล้วจากนั้นก็นำดินแคคตัสกับหินภูเขาไฟมาผสมกัน อัตราส่วนผสมก็แล้วแต่เลยครับ จะ 1-1 ก็ได้ หรืออะไรมากกว่าอะไรก็แล้วแต่จะกะเลยครับ ซึ่งการผสมดินแคคตัสกับหินภูเขาไฟนั้น หินภูเขาไฟจะช่วยเพิ่มความโปร่งช่วยในการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น ผมใช้สูตรนี้ในการปลูกแคคตัสอยู่บ้างเหมือนกันครับ 

ผ่านจากเรื่องดิน เราไปเริ่มต้นการชำใบกันเลยดีกว่าครับ

นำดินที่เราเตรียมไว้ใส่กระถาง


จากนั้นก็นำใบม้าเวียนที่เราเด็ดเอาไว้ในตอนแรกนั้นมาปักชำลงไป


แล้วตอนที่ปักใบม้าเวียนลงไปในดินนั้น จะต้องปักลงไปลึกขนาดไหน ?

                    สำหรับผมจะปักลงไปไม่ลึกมาก ดูจากในรูปด้านล่างก็ได้ครับ ผมขีดเส้นสีดำเอาไว้ในรูป นั่นคือเส้นระดับความลึกเวลาที่ผมปักชำลงไป ผมจะปึกลงไปลึกประมาณเส้นนี้แหละครับ


                    หลังจากที่เราปักชำใบลงไปเรียบร้อย มันมีเรื่องนึงที่ผมไม่มั่นใจเท่าไรนั่นก็คือ ควรจะรดน้ำต่อทันทีเลยดีมั้ย ในใจผมลังเลเพราะรู้สึกว่าใบที่เราเอามาชำนั้น เป็นใบที่พึ่งจะเด็ดมาสดๆ อาจจะมีแผล ซึ่งถ้าเราลดน้ำลงไปเลยทันทีจะมีโอกาสหรือไม่ที่แผลจะติดเชื้อจนทำให้ใบเน่า เพราะงั้นผมก็เลยไม่กล้ารดในทันที และตัดสินใจที่จะเก็บเอาไว้ทั้งแห้งๆ แบบนี้สัก 2-3 วัน เพื่อรอให้ใบที่เราเด็ดมาชำนั้นแผลแห้งสนิทแล้วจึงค่อยรดน้ำ นี่คือที่ผมทำ

                   สำหรับสถานที่วางกระถางชำใบของผมนั้น ผมเลือกสถานที่วางที่อยู่ในตำแหน่งที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องถึงเป็นแดดอ่อนๆ จะไม่ให้โดนแดดจัดอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงจะไม่ให้โดนฝนสาดด้วย เพราะผมคิดว่าถ้าโดนแดดแรงเกินไปใบอาจจะเหี่ยวเอาไว้ และถ้าตากฝนบ่อยๆ ก็อาจจะเน่า เพราะงั้นเลยให้เค้าได้รับแสงแดดออ่นๆ น่าจะดีกว่า

                  ส่วนการรดน้ำ ผมจะรดเมื่อเห็นว่าดินนั้นแห้ง ถ้ามองแล้วดินยังแฉะก็จะยังไม่รด ส่วนปริมาณน้ำที่รดนั้นเยอะแค่ไหน ผมบอกไม่ถูกเหมือนกันครับ เอาเป็นว่าเวลาที่ผมรดน้ำ ผมจะรดลงไปจนรู้สึกว่าดินชื้นจนทั่วทั้งกระถางก็จะพอ

                 ประมาณนี้ครับสำหรับการดูแล ที่เหลือก็คือลุ้นว่าใบที่เราชำไปนั้นจะงอกหรือจะตาย จะสำเร็จมากน้อยขนาดไหน อันนี้ต้องให้เวลาอีกสักระยะใหญ่ๆ เลยล่ะครับ

                 คือผมก็ตอบแบบชัดๆ ไม่ได้หรอกนะครับว่าชำใบกี่วันแล้วมันจะงอกต้นใหม่เกิดขึ้นมา แต่มันไม่ใช่ในเวลาแค่ไม่กี่วันอย่างแน่นอนครับ อย่างใบชุดนี้ที่ผมชำนานมากครับ กว่าเค้าจะเริ่มงอกต้นใหม่ขึ้นมาให้ได้เห็น น่าจะ 3-4 เดือนเลยด้วยครับ


                 ซึ่งในช่วงระยะแรกๆ ใบที่เราชำไว้จะนิ่งไปสักหน่อยนะครับ จะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร แต่คือถ้าใบม้าเวียนที่เราชำเอาไว้ยังสด ยังไม่เหี่ยวแห้งยุบลงไปล่ะก็ นั่นหมายความว่าเค้ายังมีชีวิต แต่จะต้องรอเวลาให้เค้าค่อยๆ งอกหน่อขึ้นมาอีกสักระยะ เพราะงั้นต้องใจเย็นๆ นะครับ ถ้าเราปักลงไปแล้วแต่ยังไม่เห็นเค้างอกสักที ผ่านไปเป็นอาทิตย์แล้วก็ยังนิ่งก็อย่าพึ่งใจร้อนไปถอนขึ้นมาดูบ่อยๆ นะครับ ปล่อยเอาไว้แบบนั้นดีกว่าครับ เป็นเดือนครับกว่าเค้าจะงอก ทำใจให้สบายแล้วปล่อยเค้าไปตามธรรมชาตินะครับ
---------------------------------------------------------------------

                  หลายเดือนผ่านไป ใบม้าเวียนที่ผมชำเอาไว้ บางส่วนก็แห้งตายไป แต่ก็มีที่ผ่านพ้นมาจนเริ่มงอกต้นอ่อนขึ้นมาได้อยู่หลายใบเหมือนกันครับ


                  ตอนที่ผมเห็นต้นอ่อนของม้าเวียนเริ่มงอกขึ้นมาข้างๆ ใบชำ มันรู้สึกโล่งใจขึ้นมาเลยครับ ถือว่าที่ได้ทำลงไปนั้นสำเร็จในระดับนึงแล้ว ที่เหลือก็คือการดูแลกันต่อไปให้ต้นอ่อนน้อยๆ เหล่านี้เติบโตแข็งแรง


รูปแบบการเลี้ยงก็ยังเหมือนเดิมครับ แสงแดดอ่อนๆ รดน้ำเมื่อเห็นว่าดินเริ่มแห้ง


                  ต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาอาจจะโตไม่เร็วสักเท่าไร ก็ต้องให้เวลากับเค้าน่อยนะครับ ปลูกต้นไม้ต้องใจเย็นๆ เดี๋ยวเค้าก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเองนั่นล่ะครับ


ได้ของแถมมาด้วยครับ 


                 มีเจ้าต้นมะพร้าวทะเลทรายต้นน้อยๆ งอกแถมขึ้นมาในกระถาง ซึ่งเจ้ามะพร้าวทะเลทรายต้นนี้ ผมไม่ได้เอาเมล็ดมาเพาะแต่อย่างใด มันมางอกของมันเอง อาจเพราะแถวๆ ตรงจุดนั้นผมวางกระถางมะพร้าวทะเลทรายเอาไว้ด้วย เมล็ดคงจะปลิวมาตกแล้วงอก ก็เหมือนได้ของแถมละนะแบบนี้ ชำม้าเวียนได้พ่วงมะพร้าวทะเลทราย


วันเวลาก็ผ่านพ้นไปอีก 1 เดือน 


                  เหล่าม้าเวียนเริ่มโตขึ้นมาอีกนิด เริ่มมีใบที่ 3-4 แล้วครับ ส่วนต้นมะพร้าวทะเลทรายนั้นโตไวมากๆ ขุดขึ้นใส่กระถางแยกเดี่ยวได้แล้วตอนนี้


อีก 1 เดือนผ่านไป


                  ตอนนี้เจ้าต้นม้าเวียนบางส่วนเริ่มจะมีใบที่ 5-6 แล้ว ต้นเริ่มจะโตขึ้นมาพอสมควร อยู่ในระดับที่ผมมองว่าน่าจะแยกมาปลูกได้แล้ว เพราะงั้นผมก็เลยตัดสินใจที่จะขุดต้นม้าเวียนที่ต้นเริ่มใหญ่ ออกมาแยกปลูกเดี่ยวเลยก็แล้วกัน

ชุดขึ้นมาแล้วครับ 


ตอนที่ขุดก็ต้องเบามือหน่อยนะครับ ถอนแรงเดี๋ยวรากขาดเสียหาย ค่อยๆ ถอนดีกว่าครับ


                   จากที่ดู ต้นค่อนข้างสมบรูณ์ แข็งแรงดี ผมค่อนข้างมั่นใจว่าต้นที่โตถึงระดับนี้ น่าจะ สบายแล้วล่ะนะ จากนี้ก็จะแยกไปปลูกเดี่ยวๆ แล้วล่ะครับ

ลงปลูกแล้วครับ


                   อาจทำให้สงสัยว่าคราวนี้ผมใช้สูตรดินอะไร ทำไมเนื้อดินดูแตกต่างจากดินที่ใช้ตอนชำใบ อันนี้ต้องบอกว่าสูตรดินที่ใช้ในการชำใบกับสูตรดินที่ใช้ในการปลูกต้นนั้นผมใช้คนละสูตรกันครับ คือตอนชำใบก็สูตรนึงตามที่เขียนบอกส่วนผสมไปด้านบน ส่วนในการปลูกต้นม้าเวียนที่เป็นต้นๆ แล้วเนี่ย ผมจะใช้สูตรดินเป็นสูตรที่มีส่วนผสมที่ง่ายๆ นั่นก็คือดินใบก้ามปูผสมกับหินภูเขาไฟ แค่สองอย่างนี้เท่านั้นผสมกันไม่ได้มีส่วนผสมที่ซับซ้อนเหมือนตอนชำใบ


                    สูตรดินนี้ผมว่าก็ใช้ดีนะ ผมลองใช้ในการปลูกไม้หลายๆ ชนิดแล้วก็ให้ผลที่ดีเลยครับ อย่างเจ้าม้าเวียนด่างต้นใหญ่ ต้นแม่ของเจ้าต้นนี้ ตอนนี้ผมก็ใช้เป็นดินสูตรนี้นี่แหละ มันก็โอเคเลยนะ

                   หลังจากที่ย้ายไม้มาลงปลูกใหม่ๆ ไม่ควรให้โดนแดดจัด เพราะไม้จะยังปรับตัวไม่ได้ ควรที่จะค่อยๆ ปรับการให้เค้าได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้นทีละนิด ( เทรนแดด ) เมื่อเค้าเริ่มที่จะตั้งตัวได้เมื่อไร ต้นเริ่มฟื้นเริ่มมีการเจริญเติบโตที่มากขึ้น ทีนี้ก็สามารถเลี้ยงได้ตามปรกติแล้วล่ะครับ


                    สำหรับท่านที่อยากอ่านเรื่องราวการปลูกและการดูแลต้นม้าเวียนเพิ่มเติมล่ะก็ ผมมีบทความเก่าที่เคยเขียนเอาไว้เมื่อตอนปีที่แล้ว ไปลองอ่านได้นะครับ เป็นเรื่องราวการปลูกและการดูแลม้าเวียนต้นแม่ของเจ้าพวกนี้นี่แหละครับ ไปดูกันได้ว่าต้นแม่ของเค้านั้นเป็นมายังไง ผมเลี้ยงมาแบบไหน


                   เรื่องราวการขยายพันธุ์ต้นม้าเวียนด่างด้วยการชำใบก็จบแล้วล่ะครับ สำหรับท่านที่สนใจอยากจะลองทำแต่ไม่กล้า กลัวว่าทำไปแล้วจะไม่สำเร็จ ผมอยากบอกว่า ลงมือเลยครับ ในการชำใบ ถ้ามันล้มเหลวเราก็เสียแค่ใบ แค่นั้นเอง ใบของต้นม้าเวียนเดี๋ยวมันก็ออกมาอีกเรื่อยๆ นั่นล่ะครับ แต่ถ้าสำเร็จขึ้นมาล่ะก็ เราอาจจะได้ต้นใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้ เสียใบกับได้ต้นใหม่ คุ้มจะตายครับ เพราะงั้นลุยเลยครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

2 comments:

  1. ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ ที่บ้านมีม้าเวียนหลายต้น แต่ใบไม่ด่างอ่ะ (ชอบแมวเหมียวมากคร่า)

    ReplyDelete
  2. มีแบ่งขายบ้างไหมคะ ม้าเวียนด่าง อยากได้คะ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.