Thursday, August 27, 2015

การผสมเกสรแคคตัส astrophytum


                     สวัสดีครับ วันนี้ก็จะมาว่ากันด้วยเรื่องของการผสมเกสรกระบองเพชรกันนะครับ เพราะพอดีมีคนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้มาว่าการผสมเกสรกระบองเพชรนั้นทำยังไง ผมก็เลยถ่ายภาพมาให้ดูกันว่าวิธีการผสมเกสรนั้นมันอะไรยังไงบ้าง ยากง่ายขนาดไหน โดยแคคตัสที่ผมใช้เป็นต้นสาธิตในวันนี้ก็จะเป็น แคคตัสสายพันธุ์ astrophytum นะครับ เพราะเป็นไม้ที่กำลังออกดอกช่วงนี้พอดีก็เลยไม่มีตัวเลือกต้องจับแคคตัสสายพันธุ์นี้มาเป็นตัวสาธิต ก็เอาเป็นว่าขอไม่เกริ่นอะไรให้มากมายดีว่า ไปดูวิธีการผสมเกสรแคคตัสในแบบที่ผมทำเลยก็แล้วกันนะครับ
                   
อันนี้เป็นแค่ภาพตัวอย่างนะครับ

                 วิธีการผมเกสรของผมนั้นก็ง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก นำแคคตัสสองต้นหรือหลายต้นที่กำลังออกดอกพร้อมกันมาเตรียมไว้ โดยจะต้องเป็นแคคตัสชนิดเดียวกันนะครับ อย่าง astrophytum ก็ต้องจับคู่กับ astrophytum ไม่สามารถที่จะนำแคคตัสคนละชนิดกันมาผสมกันได้นะครับ มันคนละสาย ผสมกันแล้วไม่ติด หรืออาจจะติดก็ไม่รู้นะครับผมไม่เคยเห็นเหมือนกัน ก็ตามนี้นะครับ เลือกแคคตัสที่เป็นชนิดเดียวกันสองต้นมาผสมกัน

                  แต่ก็อาจจะมีคนสงสัยถามต่อว่า แล้วทำไมต้องเลือกสองต้นมาผสมกันล่ะ ถ้าเกิดว่ามีแคคตัสที่ออกดอกอยู่แค่ต้นเดียวล่ะ เอามาผสมตัวเองไม่ได้เหรอ ?

ตำตอบนี้ ตอบเลยว่า ได้ครับ ถ้าเรามีแคคตัสที่กำลังออกดอกอยู่แค่ต้นเดียวไม่มีคู่ให้ผสมด้วยเลย เราสามารถผสมตัวเองได้ครับ แต่โอกาสที่จะผสมติด สำเร็จจนได้เป็นเมล็ดนั้นจะมีน้อยมากนะครับ เพราะงั้นถ้าไม่มีคู่ให้ผสมจะทดลองผสมตัวเองก็ได้ครับ มีโอกาสได้เมล็ดแต่โอกาสจะน้อยและจำนวนเมล็ดที่ได้ก็จะน้อยด้วยครับ แต่ถ้ามีคู่มาให้ผสมก็จะดีกว่าจะมีโอกาสมากกว่าครับ และการผสมกันหลายๆ ต้นก็จะทำให้มีโอกาสที่จะได้ลูกหลานที่มีลักษณะที่หลากหลายมากกว่า อย่างเราเอาต้นที่มีลายสวยมาผสมกับต้นที่มีทรงต้นสวย เราก็มีโอกาสที่จะได้ลูกที่ทั้งลายสวยและก็ทรงสวยในต้นเดียวกันอีกด้วยนะครับ เพราะงั้นการผสมข้ามต้นผมว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจว่าการผสมตัวเองเป็นอย่างมาก

                  เมื่อเราเลือกคู่ผสมของเรามาได้แล้วก็เริ่มลงมือกันเลยครับ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการผสมนั้น ผมเลือกใช้เป็น ฟอร์เซป ( Forceps ) นะครับ โดยผมจะใช้วิธีการคีบเกสรมาผสมกัน แต่บางท่านอาจจะใช้เป็นพู่กันแล้วป้ายเกสรเอาก็ได้นะครับ อันนี้แล้วแต่ถนัดเลย แต่ช่วงแรกนี้ผมขอสาธิตด้วยเจ้า ฟอร์เซป นี่ก่อน แล้วครึ่งหลังของบทความจะสาธิตวิธีการใช้พู่กันด้วยก็แล้วกัน


โดยวิธีการก็ เอาเจ้า ฟอร์เซป เนี่ยจัดการคีบเกสรตัวผู้ ของต้นที่เราจะให้เป็นพ่อ แล้วดึงออกมา แบบนี้


จากนั้นก็เอาเกสรตัวผู้ที่ได้ ไปผสมกับเกสรตัวเมียของต้นแม่ที่เราต้องการจะให้เค้าออกฝัก แบบนี้


                   ถ้าเกสรตัวเมียของต้นที่เราจะใช้เป็นแม่นั้นหุบ ไม่ยอมกางออกมาให้เราผสม เราอาจจะต้องใช้ตัวช่วยสักหน่อยนะครับ โดยการใช้ ฟอร์เซป อีกอันนึงมาช่วยถ่างเกสรให้กางออกแล้วค่อยผสม หรืออาจจะใช้พู่กันมาช่วยป้ายอีกแรงก็ได้


                 ก็เรียบร้อยแล้วครับ ง่ายมากๆ เลยใช่มั้ยล่ะ หลังจากที่เราผสมเกสรเสร็จเราก็รอดูนะครับ สักสองสามวัน ถ้าที่เราผสมไปนั้นติด ตรงบริเวณก้านดอกจะโป่งออกมาแบบนี้ ( อันนี้เป็นภาพตัวอย่างที่เอามาจากต้นอื่นนะครับ ไม่ใช่ต้นที่ใช้ทดลองในบทความนี้ เพราะบทความนี้พึ่งสดๆ ร้อนๆ ยังไม่รู้ผลเลยไม่มีภาพครับ เอาภาพเก่ามาให้ดูแทน )


                 นั้นคือสำเร็จนะครับติดเมล็ดแล้ว ที่เหลือก็รอให้ฝักแก่แล้วเราก็เก็บมาเพาะได้ ซึ่งระยะเวลาในการแก่ของฝักแคคตัสนั้น แต่ละสายพันธุ์อาจจะมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากันนะครับ แล้วแต่ชนิดแล้วแต่สายพันธุ์ แต่อย่างของเจ้า cactus astrophytum นั้น ระยะเวลาตั้งแต่เราผสมติดไปจนฝักแก่จะมีระยะเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ครับ ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ก็ผมไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ตอบไม่ได้เพราะเคยลองผสมแค่ไม่กี่ชนิดเองครับ

                สำหรับฝักแคคตัส  astrophytum  ที่แก่จัดนั้น จะหน้าตาแบบนี้ครับ นี่คือพร้อมที่จะให้เก็บไปเพาะได้แล้วล่ะครับ

                   
                  ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับการผสมเกสรแคคตัส แต่บทความนี้ยังไม่จบ เพราะยังมีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยอีกเรื่องนึงที่น่าสนใจ นั่นก็คือว่า เกสรตัวผู้ของแคคตัสนั้น เราสามารถที่จะเก็บเอามาใช้ทีหลังได้นะครับ

                 อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าสมมุติว่า วันนี้เรามีแคคตัสที่ออกดอกอยู่แค่ต้นเดียวไม่มีคู่ให้ผสมเลย เราสามารถตัดเกสรตัวผู้ออกมาแล้วเอาใส่ถุงซิปล็อคเก็บแช่ตู้เย็นเอาไว้ใช้ในอนาคตได้นะครับ โดนเมื่อเราตัดเกสรออกมาใส่ถุงแบบนี้แล้ว เราก็เอาไปเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งสำหรับผมนั้นผมใส่ใว้ในตู้เย็นช่วงธรรมดาที่ใช้แช่ผักนั่นล่ะครับ


                    โดยอายุการใช้งานสำหรับเกสรที่เราเอาไปแช่เย็นนั้น ยิ่งแช่นานยิ่งจะคุณภาพลดลงนะครับ เพราะฉะนั้นควรจะรีบใช้นะครับ ถ้าเก็บไปนานเกินไปเอามามาใช้อาจจะไม่ได้ผลเอาได้ เพราะเกสรฝ่อหมดแล้ว อย่างนานสุดที่ผมเคยเก็บแล้วเอามาใช้แล้วยังได้ผลอยู่ก็คือประมาณเกือบเดือนนึงครับ เต็มที่ นานกว่านั้นเอามาผสมไม่ติดแล้วครับ

                   อย่างตัวอย่างเกสรแช่เย็นที่ผมเอาออกมาสาธิตให้ได้ดูกันในวันนี้นั้น เป็นเกสร astrophytum ที่ผมแช่เย็นเอาไว้ประมาณ สองอาทิตย์ได้ ซึ่งหลังที่เราเอาออกมาจากตู้เย็นปุ๊บ ผมจะยังไม่เอาไปผสมเลยนะครับ ผมจะวางผึ่งไว้ในอุณภูมิปรกติเสียก่อนสักประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วค่อยเอาไปผสม

วิธีการผสมนั้นก็ง่าย ใช้พู่กันป้ายเกสรเลยครับ


จากนั้นก็เอาไปผสมกับเกสรตัวเมียของต้นที่เราต้องการจะให้เป็นแม่ ป้ายให้ทั่วๆ แบบนี้


                   เรียบร้อยครับ ที่เหลือก็รอลุ้นว่าจะติดมั้ย ซึ่งผมคิดว่า 50 – 50 นะครับ คราวนี้ เพราะเกสรชุดนี้ผมเก็บไว้สองอาทิตย์แล้วด้วย มันนานมากจนน่าจะเสียคุณภาพไปเยอะแล้วล่ะครับ แต่ถ้าติดก็ถือว่าโชคดีไป ถ้าไม่ติดก็ต้องเข้าใจล่ะครับว่ามันโอกาสน้อยจริงๆ


                สำหรับแคคตัสที่ติดฝักแล้วนั้น ในขั้นตอนของการเลี้ยงดู ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นพอสมควรเลยนะครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้แคคตัสที่กำลังติดฝักนั้นตากฝน ตากลมแรงๆ ฝักอาจจะเน่าหรือปลิวหายตามลมไปได้

                พวกแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ก็ต้องระวังนะครับ โดยเฉพาะหนู ชอบแทะฝักแคคตัสมากๆ เลยครับ บ้านผมโดนบ่อย พวกมดแล้วก็นกก็ด้วย ชอบมายุ่มย่ามกับฝักแคคตัสป็นอย่างมาก เพราะงั้นก็ต้องระวังหน่อยนะครับช่วงนี้ ประคองกันไปดูแลกันให้ดีๆ ไปจนกว่าฝักเค้าจะแก่นะครับ


                ก็ประมาณนี้นะครับ สำหรับบทความเกี่ยวกับการผสมเกสรแคคตัสในคราวนี้ ผมก็ขอจบบทความนี้เอาไว้แค่นี้เลยก็แล้วกัน แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไปนะครับ

ฝากเพจของเราด้วยนะครับ https://www.facebook.com/chowcactus

4 comments:

  1. ขอบคุณมากครับ ผมก็ว่าอยู่ ผมเอามาผสมตนเดียวกันเองไม่ติดที

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เยอะเลย

    ReplyDelete
  3. เกสรตัวผู้จากดอกที่หุบไปไม่กี่วันสามารถนำมาผสมได้ไหมครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. คิดว่าผสมได้ครับ แต่เปอร์เซ็นต์การผสมติดอาจไม่เยอะเท่าไร

      Delete

Note: Only a member of this blog may post a comment.