Sunday, January 27, 2019

การขยายพันธุ์แมมขนนก ( Mammillaria plumosa ) ด้วยการแยกหน่อ ชำหน่อ


                            พอดีผมเห็นเจ้าแมมขนนก ( Mammillaria plumosa ) ต้นที่บ้านออกหน่อเก่งมาก ก็เลยลองจับเค้ามาแยกหน่อดู เผื่อว่าจะได้ต้นใหม่เพิ่มเติม ซึ่งพอลองแยกหน่อไปปลูกดูแล้วก็รู้สึกว่าแมมชนิดนี้นั้นชำขึ้นไม่ยากเท่าไร ก็เลยหยิบมาเขียนเป็นบทความ เผื่อว่าเพื่อนๆ ท่านใดกำลังสนใจอยากจะลองขยายพันธุ์แมมชนิดนี้ด้วยการชำหน่ออยู่พอดี รวมไปถึงการชำหน่อแคคตัสสายพันธุ์อื่นก็ใช้วิธีการเดียวกับที่ผมใช้ได้เช่นเดียวกันครับ


                         ในภาพนี้คือแมมขนนกต้นแม่ที่เราจะไปทำการแยกหน่อเค้ากัน ต้นนี้ผมเลี้ยงมานานมากๆ แล้ว ได้มาตั้งแต่ตอนเค้ายังเป็นต้นเล็กๆ มีหัวเดียวโดดๆ เลี้ยงมาเรื่อยๆ เค้าก็เจริญเติบโตแตกหน่อขึ้นมาเป็นลำดับจนตอนนี้หน่อเต็มต้นเลยล่ะครับ

เราจะแยกหน่อเค้าออกมาลองชำกันสัก 3 หน่อก็แล้วกันนะครับ


                          สำหรับการเลือกหน่อที่จะมาชำนั้นผมจะเลือกหน่อที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 ซม. ขึ้นไปครับ เลือกหน่อใหญ่ๆ ดูแล้วแข็งแรงสักหน่อยก็จะดีครับ 


                              มาลงมือเด็ดหน่อกันเลยนะครับ ด้วยความที่แมมชนิดนี้หนามเค้าเป็นขนนุ่มๆ ไม่ตำมือก็เลยจับได้สบายๆ ในการแยกหน่อก็เลยง่ายๆ เอามือจับที่ต้นแล้วก็ใช้นิ้วดันหน่อที่เราเลือกไว้ ดันออกด้านข้างเพื่อเปิดช่องให้เห็นโคนหน่อ จากนั้นก็ใช้มีดปลายแหลมหรือปากคีบ ( forceps ) แซะตรงโคนหน่อให้หน่อนั้นหลุดออกมา แต่จริงๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยแซะก็ได้ ใช้นิ้วจับแล้วบิดก็หลุดครับ อย่างตัวผมนั้นก็ไม่ได้ใช้มีดหรือปากคีบช่วยแซะแต่อย่างใด เอานิ้วบิดหักหน่อสดๆ เลย แต่คือที่ต้องพูดเรื่องอุปกรณ์เพราะหลายๆ ครั้งเลยที่มีคนส่งข้อความเข้ามาคุยเกี่ยวกับการเด็ดหน่อ หลายท่านไม่กล้าเอานิ้วเด็ด กลัวแผลฉีก กลัวเด็ดไปแล้วต้นแม่เกิดเป็นรอยแผลใหญ่แล้วเดี๋ยวจะเป็นรอยตำหนิใหญ่ไม่สวยงาม เพราะงั้นถ้าท่านกลัวแผลฉีกก็เอามีดปลายแหลมช่วยแซะก็ได้นะครับแผลจะเรียบเนียนกว่า แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากเรื่องแผลก็เด็ดได้เลยครับ


นี่คือหน่อที่เด็ดออกมาเรียบร้อย 

                            สำหรับต้นแม่หลังจากที่เราเด็ดหน่อไปแล้ว ตรงจุดที่เราเด็ดหน่อไปจะเกิดเป็นรอยแผล ซึ่งต้องระวังอย่าให้แผลนั้นโดนน้ำนะครับ เดี๋ยวแผลจะติดเชื้อจนทำให้ต้นแม่เน่าตายได้ เพราะงั้นภายใน 2 อาทิตย์หลังจากนี้ อย่าให้แผลโดนน้ำ รดน้ำได้ แต่อย่ารดให้โดนแผล ส่วนเรื่องแสงแดดสามารถให้เค้าได้รับแสงแดดได้ตามปรกติครับ เมื่อผ่าน 2 อาทิตย์ไปแผลจะแห้งก็เลี้ยงได้เหมือนเดิมครับ นี่คือการดูแลต้นแม่หลังจากที่เราเด็ดหน่อเค้าไปแล้วนะครับ

ส่วนภาพด้านล่างนี้คือหน่อที่เด็ดออกมาเรียบร้อย 3 หน่อ เราจะเอาไปชำหรือไปปลูกกันครับ


                              สำหรับวิธีการในการชำหน่อที่ผมใช้นั้นจะมี 2 วิธี วิธีแรกก็คือเอาหน่อที่เราเด็ดมาได้นั้นไปวางผึ่งไว้ 1-2 สัปดาห์เพื่อรอให้แผลที่เด็ดหน่อนั้นแห้งเสียก่อนแล้วค่อยเอากลับไปลงปลูกตามปรกติ ส่วนวิธีการที่ 2 ก็คือเอาหน่อที่เด็ดมาได้นั้นไปลงปลูกเลยทันที แต่จะยังไม่รดน้ำ ลงปลูกไปก่อน 1-2 สัปดาห์ วางไว้ในทีร่มรำไร เมื่อผ่าน 1-2 สัปดาห์ไปแล้วถึงค่อยรดน้ำ นี่คือ 2 วิธีที่ผมใช้บ่อยๆ ซึ่งในครั้งนี้ผมก็เลือกใช้วิธีการที่ 2 ครับ

                             ก็คือ ผมจะนำเจ้า 3 หน่อนี้ไปลงปลูกเลยทันที โดยวัสดุปลูกที่ใช้นั้นก็ใช้เป็นดินแคคตัส ที่ผมใช้ปลูกแคคตัสทั่วไปที่นั่นล่ะครับไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ คุณสามารถซื้อดินแคคตัสจากร้านขายกระบองเพชรแถวบ้านคุณมาใช้เลยก็ได้ครับ แต่มีข้อแม้ว่าดินที่ใช้นั้นต้องไม่แฉะนะครับ ถ้าดินมันแฉะเกินไปพอเราเอาหน่อที่พึ่งเด็ดมาสดๆ ลงไปปลูก ความชื้นที่สะสมในดินอาจจะเข้าแผลทำให้หน่อแคคตัสนั้นเน่าตายได้ เพราะฉะนั้นอย่าให้ดินแฉะนะครับ


ลงปลูกเรียบร้อยแล้วครับ


                              สำหรับการดูแลหน่อแคคตัสที่พึ่งลงปลูกใหม่ๆ นั้นก็ไม่มีอะไรมาก ให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ รำไร อย่าให้โดนแดดจัด ให้เค้าได้รับแดดอ่อนๆ ช่วงเช้า – สายก็ได้อยู่ครับ รอจนกว่าเค้าจะเริ่มออกรากต้นเริ่มมีการเจริญเติบโตเมื่อไรก็ค่อยเพิ่มแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้นไปทีละระดับจะดีกว่าครับ

                             ส่วนการรดน้ำนั้น 1-2 อาทิตย์หลังจากลงปลูกเราจะยังไม่รดน้ำเพราะแผลเด็ดหน่อยังไม่แห้ง รอให้ผ่าน 1-2 อาทิตย์ไปแล้วค่อยรดน้ำ ไอ้คำว่า 1-2 อาทิตย์นั้น คือ ถ้าเป็นผมจะเว้นไว้ 2 อาทิตย์เพื่อความชัวร์ แต่คือผมเข้าใจว่าบางท่านใจร้อนรอไม่ไหวก็เลยหยวนๆ ว่า เว้นไว้ 1 อาทิตย์ก็น่าจะพอได้ แผลน่าจะเริ่มแห้งแล้ว แต่ถ้าเป็นผมจะเว้น 2 อาทิตย์ครับ

บางท่านอาจจะสงสัยว่าไม่รดน้ำ 2 อาทิตย์หน่อจะไม่เหี่ยวจะไม่แห้งตายก่อนหรือ ?

                             ไม่ตายครับ ถ้าหน่อที่เราเลือกมานั้นสมบรูณ์และมีขนาดใหญ่ อย่างในบทความนี้เราก็ได้คัดไว้แล้วว่าเราจะเอาหน่อที่มีขนาด 2 ซม. ขึ้นไป ซึ่งไซส์นี้ผมถือว่าโตแล้ว ๆ ไม่แห้งตายง่ายๆ แน่ ถ้าไม่ติดเชื้อราหรือแบคทีเรียที่เกิดจากความชื้นล่ะก็ วางไว้แบบแห้งๆ เค้าสามารถอยู่ได้ 2 อาทิตย์สบายๆ แต่ถ้าใจร้อนรดน้ำโดยที่แผลยังไม่แห้ง เผลอๆ แผลจะติดเชื้อจนเน่าตายใน 4-5 วันต่อมาเอาด้วย เพราะงั้นเว้นการรดน้ำไปก่อนดีกว่าครับ รอผ่าน 1-2 อาทิตย์ค่อยรดน้ำดีกว่าครับ

                            และหลังจากที่เราเริ่มรดน้ำครั้งแรกปุ๊บ ครั้งต่อไปในการจัดตารางการรดน้ำนั้นก็ไม่มีอะไรมาก รดเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ถ้าดินยังชื้นก็ยังไม่ต้องรด แค่นี้เองครับ


                             สำหรับเรื่องของการออกรากของแคคตัสนั้น มันกำหนดเป็นระยะเวลาที่แน่ชัดไม่ได้หรอกนะครับว่า กี่วันเค้าจะออกราก อาจจะตั้งแต่ 2 อาทิตย์ ไปจนถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้นก็ได้ หรืออาจจะไม่ออกรากเลยก็ได้ มันแล้วแต่ต้นแล้วแต่หน่อ เรื่องราวแบบนี้กำหนดตายตัวไม่ได้เลยครับ

                             แต่ถ้าท่านอยากทราบว่าแคคตัสที่ท่านชำไว้นั้นออกรากแล้วหรือยัง วิธีการในการเช็คนั้นไม่ต้องถึงกับถอนขึ้นมาดูหรอกนะครับ ใช้แค่นิ้วดันที่ข้างลำต้นเพื่อเช็คดูก็ได้ ถ้าเอานิ้วดันด้านข้างต้นดูแล้วต้นคลอน โอนเอนไม่ยึดติดแน่นกับดิน ก็แสดงว่ารากยังไม่ออกหรือรากอาจจะพึ่งออกแต่รากยังไม่เยอะ แต่ถ้าเอานิ้วดันดูแล้วต้นแน่นไม่คลอน ไม่โอนเอน แสดงว่ารากออกเยอะแล้วอะไรประมาณนี้ครับ ง่ายๆ ไม่ต้องถอนขึ้นมาดูให้รากเค้าชํ้าหรอกครับ

ใช้นิ้วลองดันข้างลำต้น ถ้าแน่นไม่โยกแสดงว่ารากน่าจะออกแล้ว

ซึ่งเมื่อเค้าออกรากเยอะแล้ว ต้นเริ่มมีการเจริญเติบโตแล้ว เราก็สามารถเลี้ยงได้ตามปรกติ 

                            แมมขนนกเป็นไม้ที่ชอบแสงแดด เมื่อหน่อที่เราชำไว้ฟื้นตัวเติบโตดีแล้วล่ะก็ สามารถให้เค้าได้รับแสงแดดได้อย่างเต็มที่เลยครับ ยิ่งแดดดี แดดสม่ำเสมอต้นจะเจริญเติบโตได้ดีมากๆ เลยล่ะครับ


                           ภาพนี้คือผ่านมาประมาณ 4-5 เดือน หลังจากที่เราชำหน่อไป ตอนนี้เค้าเจริญเติบโตไปพอสมควรแล้วล่ะครับ เริ่มแตกหน่อขยายกอแล้วตอนนี้


                              ส่วนภาพด้านล่างเป็นไม้ชำหน่อรุ่นพี่ ที่ผมทำเอาไว้ก่อนหน้า บางต้นก็โตแล้วครับ กำลังเค้าออกดอกอยู่ไม่รู้ว่าเมื่อไรเหมือนกันนะ


                            ก็ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องราวการชำหน่อแมมขนนก ไม่ยากเลยครับสำหรับวิธีการ ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการชำหน่อแคคตัสสายพันธุ์อื่นๆ ก็ได้นะครับ เวลาผมชำหน่อแคคตัสต้นอื่นๆ ก็ใช้วิธีการประมาณนี้แหละครับ


ขอให้สนุกกับการปลูกต้นไม้ แล้วพบกันใหม่ครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.