Sunday, October 20, 2019

การเปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก ทำความสะอาดคราบความชื้นที่เกาะตามผิวต้นแคคตัส


                         เรื่องราวการปลูกแคคตัสของเราในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าแคคตัสต้นนึงที่มีคราบความชื้นเกาะตามต้น เกาะเป็นคราบจับผิวไม้หนามากเลยล่ะครับ เราก็เลยจะมาทำการเปลี่ยนดิน ล้างราก ทำความสะอาดคราบความชื้นที่เกาะตามผิวไม้กัน ซึ่งวิธีการนั้นไม่ยาก ผมว่าเราเริ่มกันเลยดีกว่า

สำหรับเจ้าแคคตัสต้นที่ว่านั้นก็คือเจ้า แอสโตรไฟตั้ม ( astrophytum asterias ) ต้นตามภาพนี้เลยครับ


                            เจ้าต้นนี้ไม่ได้เปลี่ยนดินมานานมาก เป็นปี จำได้ว่าเลี้ยงอยู่ในกระถางนี้ตั้งแต่ตอนที่ต้นยังเล็กกว่ากระถางมาก จนเค้าเติบโตจนเกือบจะคับกระถางแล้ว และถ้ามองดูด้านข้างลำต้นจะเห็นคราบความชื้นเกาะตามต้นเป็นจำนวนมาก ดูจากภาพต่อไปนะครับ


                           นี่คือภาพด้านข้าง จะเห็นคราบขาวเกาะด้านข้างของลำต้นแคคตัส รวมไปถึงเกาะตามกระถางเต็มไปหมดเลยนะครับ ซึ่งคราบแบบนี้ในความรู้สึกของผม ผมคิดเอาเองว่ามันเป็นคราบที่เกิดจากความชื้นที่สะสมมากเกินไป

พูดแบบนี้ท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นเพราะรดน้ำมากเกินไปใช่มั้ย

                           ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ามันมีโอกาสเกิดได้จากหลายสาเหตุเลยล่ะครับ อาจจะไม่ใช่เรื่องการรดน้ำเพียงอย่างเดียวก็ได้

                           อาจเกิดจากเจ้าต้นนี้ไม่ได้เปลี่ยนดินมานานเกินไปจนดินเสื่อมสภาพจับตัวกันเป็นปึกหรือต้นไม้ออกรากจนแน่นขดเต็มกระถางทำให้การระบายน้ำไม่ค่อยดีความชื้นเลยสะสมในกระถางเยอะ

                           หรืออาจเกิดจากดินปลูกนั้นมีส่วนผสมที่อมความชื้นมากเกินไป หรือส่วนผสมดินนั้นไม่โปร่งเท่าไร ทำให้พอปลูกต้นไม้ไปแล้วระบายน้ำได้ไม่ดี อมความชื้นจนดินชื้นเกินไปก็ได้

                           หรืออาจเกิดจากสถานที่ปลูกนั้นชื้นเกินไป อากาศถ่ายเทไม่ดี แสงแดดส่องถึงน้อยเกินไป ได้รับแสงแดดไม่สม่ำเสมอ หรือสถานที่ปลูกนั้นแออัดต้นไม้เบียดเสียดแน่นเกินไปจนอากาศถ่ายเทไม่ทั่วถึง รวมไปถึงอาจจะเกี่ยวกับฤดูกาลหน้าฝนที่แสงแดดน้อยฟ้าครึ้มฝนตกตลอดอากาศก็เลยชื้นเกินไปได้เช่นกัน 


                          ด้วยความที่สาเหตุนั้นมันอาจเกิดได้จากหลากหลายเหตุผลผมก็เลยไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่ามันมาจากเรื่องไหนกันแน่ เพราะมันอาจเป็นหลายสาเหตุมาประกอบกันก็ได้ แต่เอาเป็นว่าผมคิดว่ามันคือคราบที่เกิดจากความชื้น ซึ่งผมลองขูดคราบขาวๆ ที่เกาะตามผิวต้นไม้ดู พบว่าขูดหรือเช็ดคราบแบบนี้ออก เพราะฉะนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร เราเทกระถางออกมาล้างทำความสะอาดเค้าให้หมดจดก็น่าจะกลับมาผิวสวยได้อยู่ เพราะงั้นก็มาลงมือเทกระถางเลยแล้วกัน


                          เทกระถางออกมาปุ๊บ ก็อย่างที่เห็นเลยครับว่า เค้าไม่ได้เปลี่ยนดินมานานจนรากแน่นขดเต็มกระถาง ออกมาเป็นก้อนเลยล่ะครับ


                           ซึ่งเราก็จะมาทำการตัดแต่งรากและดินที่จับตัวเป็นก้อนออกให้หมด โดยจะตัดให้เหลือรากเอาไว้แค่ประมาณ 2-3 ซม. ก็พอครับ ที่ไม่ได้เก็บรากเอาไว้เยอะเพราะรากของเค้านั้นมันแก่แล้ว ประสิทธิภาพในการหาอาหารไม่ค่อยดีแล้ว เพราตัดออกไปให้หมดแล้วให้เค้าออกรากใหม่ๆ สดๆ ดีกว่า รากใหม่ๆ สดๆ จะมีประสิทธิภาพในการหาอาหารได้ดีกว่ารากแก่ๆ แห้งๆ ผมคิดแบบนั้นครับ


ตัดออกเรียบร้อย ต่อไปเราก็จะมาล้างทำความสะอาดพวกคราบความชื้นกัน


                          โดยผมจะใช้แปรงสีฟันเอามาช่วยขัดทำความสะอาดคราบอีกแรง ใช้แปลงสีฟันที่ขนนุ่มสักหน่อยก็น่าจะดีครับ เวลาที่ขัดก็ไม่ต้องถูแรงเกินไปนะครับ ค่อยๆ ถูเบาๆ จะได้ไม่ช้ำครับ


                           หรือบางท่านก็อาจจะใช้ตัวช่วยเพิ่มเติมด้วยการ ผสมน้ำยาล้างจานลงในน้ำ ผสมแบบเจือจาง สัก 1 ช่อนผสมน้ำ 1 แก้วก็ได้ แล้วเราก็เอาแปลงสีฟันนั้นจุ่มลงไปในน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานจากนั้นก็เอามาขัดตามผิวที่มีคราบ ก็จะช่วยทำความสะอาดได้ครับ


หลังจากขัดเสร็จก็ล้างต้นด้วยน้ำเปล่าให้สะอาดด้วยนะครับ

อันนี้คือผมขัดเสร็จเรียบร้อย ล้างน้ำจนสะอาดแล้วล่ะครับ


                            จะเห็นว่าพวกคราบความชื้นที่เกาะตามผิวไม้โดนทำความสะอาดออกไปจนเกือบหมด อาจจะมีเหลืออยู่บ้างด้วยความที่ผมไม่ได้ขัดละเอียด แต่โดยรวมผมพอใจแล้วครับเท่านี้


                           ในภาพท่านจะเห็นว่าใต้โคนต้นตรงบริเวณโคนรากของแคคตัสจะเป็นสีน้ำตาล และมีแผลมรอยต่างๆ อยู่ บางท่านสงสัยว่าเป็นโรครึเปล่า

                           อันนี้ต้องตอบเลยนะครับว่าไม่ได้เป็นโรค แต่ไอ้คราบสีน้ำตาลใต้โคนต้นแบบนี้นั้น มันเกิดจากการที่ตรงส่วนบริเวณนี้ตอนที่เราปลูกนี่คือส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งพอเค้าโดนฝังใต้ดินใต้หินเป็นระยะเวลานานๆ สีผิวก็เลยเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ได้อันตรายเพียงแต่สีผิวมันเปลี่ยนไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้แล้วก็เท่านั้น

                          รวมถึงริ้วรอยแผลต่างๆ ที่เกิดนั้นก็อาจเกิดจากในการปลูกอาจจะโดนหินบาดหรือตำทำให้เป็นรอยแผลเป็น ซึ่งเกิดแล้วกลับไปหายไม่ได้แล้ว เพราะงั้นก็ต้องเลยตามเลยครับ

                          บางท่านเห็นโคนต้นเป็นสีแบบนี้แล้วกังวลใจ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ ไม่ได้เป็นอะไร เพียงแต่มันจะเป็นสีแบบนี้ไปตลอดก็เท่านั้นเองครับ แต่มันคือส่วนที่โดนฝังอยู่ใต้ดิน เวลาที่คุณเอากลับไปปลูก มันก็ไม่ได้บดบังความสวยงามแต่อย่างใดครับ ถ้ากลัวไม่สวยก็เอาหินมาโรยหน้ากลบไว้ก็ได้ครับ


                            หลังจากที่ล้างต้น ล้างราก ตัดแต่งราก ทำความสะอาดเจ้าแคคตัสของเราเรียบร้อยแล้ว จากนั้นผมก็จะเอาไปวางผึ่งเอาไว้ในที่ร่มรำไร อากาศถ่ายเทดี เพื่อรอให้แผลที่ตัดแต่งรากไปนั้นแห้งสนิทเสียก่อน แล้วถึงค่อยเอากลับไปลงปลูก ซึ่งผมจะวางผึ่งเอาไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ครับ คือหลักในการวางผึ่งเพื่อรอให้แผลแห้งนั้น ถ้าต้นเล็กกว่า 3 ซม. ผมจะวาง 1 สัปดาห์ แต่ถ้า 3 ซม.หรือใหญ่กว่านั้น จะวางไว้ 2 สัปดาห์ ไม่ต้องห่วงนะครับว่าวางผึ่งไว้เปล่าๆ แบบนี้แล้วแคคตัสจะเหี่ยวหรือแห้งตาย เค้าทนได้สบายครับ เดือนนึงก็อยู่ได้ครับ

เพราะฉะนั้นเจ้าต้นนี้ที่มีขนาดต้นใหญ่ ผมจะวางไว้ 2 สัปดาห์ แล้วค่อยมาลงปลูกกันครับ 

2 สัปดาห์ผ่านไป กลับมาดูอีกครั้ง เค้าก็ยังอยู่ดี ต้นแทบไม่เหี่ยวไม่ยุบเลยด้วยครับ


มีเพื่อนด้วยอีกต้นนึง รอปลูกเหมือนกันเจ้าต้นนั้น


สำหรับการลงปลูกนั้นก็ง่ายๆ 

                           สำหรับดินปลูก สูตรดินที่ผมใช้นั้นก็เหมือนเดิมกับทุกครั้งที่เคยเขียนไป ส่วนผสมของดินแคคตัสของผมจะมี ดินใบก้ามปูหมักล่อนเอาแต่เนื้อดินละเอียด ผสมกับ หินภูเขาไฟก้อนเล็ก ( เบอร์00 ) และ เพอร์ไลท์ อัตราส่วนผสมนั้นก็พอๆ กัน


                           แต่ถ้าท่านไม่อยากผสมดินเองก็สามารถเลือกซื้อดินแคคตัสที่ขายกันตามร้านขายกระบองเพชรทั่วไปก็พอใช้ได้อยู่ครับ ดูร้านที่เค้าผสมดินที่มีส่วนผสมโปร่งๆ สักหน่อย ลองจับๆ ดูว่าเนื้อดินนั้นละเอียดมั้ย ถ้าดินแน่นเป็นก้อนเป็นปึกก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เลือกดินที่เนื้อดินละเอียดสักหน่อย มีส่วนผสมของหินภูเขาไฟ หรือเพอร์ไลท์ก็น่าจะดีครับ วัสดุปลูก 2 อย่างนี้ช่วยในเรื่องของการเพิ่มความโปร่งทำให้การระบายน้ำดียิ่งขึ้นครับ

ลงปลูกเลยนะครับ


                          วิธีการลงปลูกก็เริ่มจากรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟ หรือจะใช้เป็นอย่างอื่นก็ได้ บางท่านใช้เป็นกาบมะพร้าวสับ บางท่านก็ใช้เป็นแผ่นโฟมที่หักเป็นชิ้นเล็กๆ เพราะจุดประสงค์ในการรองก้นกระถางนั้นก็เพื่อกันไม่ให้ดินมันไหลออกทางก้นกระถางเวลารดน้ำ เพราะงั้นแล้วแต่สะดวกครับ

หลังจากรองก้นกระถางแล้วเราก็จะเติมดินลงไปจนถึงครึ่งกระถาง

จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) สักประมาณ 10 ก็น่าจะพอ แต่ในรูปมือผมลั่น เลยใส่ไปเยอะอยู่

เสร็จแล้วเราก็เติมดินแคคตัสลงไปจนเกือบเต็มกระถาง

แล้วก็เอาเจ้าแคคตัสของเรานั้นมาลงปลูกได้เลยครับ
  

ปลูกเสร็จเรียบร้อยก็รดน้ำ ผมจะรดจนเห็นว่าน้ำไหลออกถางก้นกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย


                           ในช่วงที่ลงปลูกใหม่ๆ นั้น อย่าพึ่งให้เค้าโดนแดดจัดๆ นะครับ เพราะเค้ายังไม่ออกราก ยังไม่ฟื้นตัว ยังปรับตัวเข้ากับแดดแรงๆ ไม่ไหว ถ้าโดนแดดจัดไปต้นจะเหี่ยว และอาจจะมีอาการไหม้แดดจนตายเอาได้ ควรให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปก่อนจนกว่าเค้าจะฟื้นตัวและออกราก ต้นเริ่มมีการเจริญเติบโตถึงค่อยเพิ่มแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้นไปทีละระดับ


ก็น่าจะสักประมาณ 2-3 อาทิตย์ ต้นก็น่าจะเริ่มฟื้นตัวออกรากเริ่มเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่


                           ในส่วนของการรดน้ำนั้น ผมจะรดเมื่อเห็นว่าดินแห้งสนิทแล้วเท่านั้น ถ้าดินยังชื้นจะยังไม่รด รวมไปถึงถ้าเป็นช่วงที่อากาศชื้นมากๆ ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ฟ้าครึ้มไม่ค่อยมีแดด ช่วงนั้นผมก็จะเว้นการรดน้ำเช่นเดียวกัน จะเลือกรดในวันที่อากาศสดใส ประมาณนี้ครับสำหรับการรดน้ำ


                          ตัดภาพอาอีกที ผ่านไปประมาณ เดือนนึงหลังจากลงปลูก ตอนนี้เค้ากลับมาเติบโตปรกติดีแล้วล่ะครับ ยอดเดิน ทำท่าว่าจะออกดอกแล้วแบบนี้ ตอนนี้ผมก็เลี้ยงตามปรกติ ให้เค้าได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวันในทุก วัน 

หลังจากนั้นเค้าก็ออกดอก แต่ผมถ่ายรูปตอนที่ดอกเค้าบานไม่ทัน มาดูอีกทีดอกของเจ้าแอสโตรก็ได้โรยราลงไปแล้ว


                           ก็ประมาณนี้ครับสำหรับการเปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก ทำความสะอาดคราบความชื้นที่เกาะตามผิวของต้นแคคตัส ก่อนจะจากกันไปสิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ ถ้าสถานที่ปลูกและในการดูแลของเรานั้นพร้อม สถานที่ปลูกมีอากาศถ่ายเทดี มีแสงแดดส่องอย่างสม่ำเสมอ ไม่อับชื้นจนเกินไป ในการดูแลเรามีการเปลี่ยนดินอย่างสม่ำเสมอสักปีละครั้ง ผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดคราบความชื้นเกาะผิวไม้ก็น่าจะมีโอกาสเกิดน้อยลงหรือมีโอกาสเกิดได้ยาก แล้วเราก็จะไม่ต้องมานั่งขัดกันแบบในบทความนี้ อันนี้ต้องยอมรับจากใจเลยว่า บทความนี้มันเกิดขึ้นเพราะผมเองที่ดูแลแคคตัสได้ไม่ทั่วถึงทุกต้น มีบางส่วนที่ผมดูแลได้ไม่ดีพอจนทำให้เกิดบทความนี้ขึ้นมา ผมเขียนก็เลยเขียนเพื่อเตือนใจตัวเองไปด้วยว่าต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้นกว่านี้นะ

ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อย

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.