Tuesday, August 20, 2019

คุยกันเรื่องการปลูกและดูแลต้นแคคตัสในช่วงหน้าฝน


                          หน้าฝนเป็นช่วงฤดูกาลที่การปลูกแคคตัสนั้นไม่ง่าย เพราะฝนตกตลอด บางช่วงก็ฟ้าครึ้มมีเมฆมาก ไม่ค่อยมีแสงแดดสักเท่าไร ทำให้อากาศก็ค่อนข้างชื้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่มากับความชื้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรครา ราสนิม ราดำ ราน้ำค้าง หรือโรคเน่า โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย รวมไปถึงโรคแคงเกอร์ และโรคอื่นๆ ซึ่งถ้าท่านไม่ทันระวัง ไม่ป้องกันรับมือให้ดี ท่านอาจจะโดนโรคที่มากับความชื้นเข้าโจมตีจนทำให้ต้นแคคตัสต้องเกิดปัญหาอย่างไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้

                          ซึ่งถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว บอกเลยว่าการรักษานั้นค่อนข้างยาก เพราะโรคที่มากับความชื้นนั้นลุกลามได้รวดเร็วมาก อย่างถ้าแคคตัสของท่านนั้นเป็นโรคเน่า การรักษามีเพียงต้องผ่านส่วนที่เน่าทิ้งเพื่อกันไม่ให้ลุกลาม เน่าน้อยก็อาจจะผ่าออกน้อยช่วยได้ทัน แต่ถ้าเน่าเยอะลุกลามไปไกลก็ช่วยไม่ไหวเหมือนกันนะครับ

                          หรือถ้าเป็นพวกที่เกิดเชื้อรา อย่างโรคราสนิม ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อแพร่กระจายไปสู่ต้นอื่นได้ ถ้าท่านไม่เอาใจใส่ให้ดี เจอต้นที่เป็นโรคนี้แล้วไม่แยกออกมาจากต้นอื่นๆ แล้วทำการรักษา หรือทำลายเพื่อตัดวงจรของโรค ก็มีโอกาสสูงที่เชื้อราจะแพร่กระจายไปติดต่อสู่ต้นใกล้เคียง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างเลยก็เป็นได้นะครับ

                          จากที่ผ่านมาต้องบอกเลยว่าโดนกันเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นโรคเน่า โรครา ทุกๆ หน้าฝนจะมีคนที่เจอปัญหากันมากมายจริงๆ


                           แม้แต่ตัวผมเองก็เคยเจอปัญหามาไม่น้อยเหมือนกันครับ ไม่ว่าจะแคคตัสเน่าตายหรือเป็นโรคจนต้องทำลายทิ้งก่อนจะลุกลาม ซึ่งมันทำให้ผมค่อนข้างที่จะต้องระวังพอสมควรในช่วงหน้าฝน พยายามที่จะสังเกตอยู่เรื่อยๆ อย่างหน้าฝนปีนี้ผมก็มีเจอแคคตัสเน่าตายไปบ้างแล้ว 2-3 ต้น และก็ไม่รู้ว่ากว่าจะผ่านหน้าฝนไปได้ จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ก็ต้องระวังอยู่

                           อย่างที่บอกว่าการรักษานั้นค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเกิดปัญหา เราควรที่จะมาเน้นในเรื่องของการป้องกันจะดีกว่า ซึ่งวันนี้เราก็จะมาคุยกันว่าในหน้าฝนนี้นั้นเราจะป้องกันและรับมืออย่างไร เพื่อให้ผ่านปัญหาในหน้าฝนนี้ไปได้ด้วยดี


                           เริ่มจากเรื่องของสถานที่ปลูก ถ้าท่านมีโรงเรือนที่เป็นระบบล่ะก็ การดูแลและจัดการจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะโรงเรือนนั้นกันฝนได้ แดดแรงไปก็ติดสแลนกรองลดความแรงของแสงก็ทำได้ ทำให้ในการปลูกเราสามารถควบคุมได้ เพราะถึงฝนจะตกหรือแดดจะแรงก็ไม่มีปัญหาอยู่ในโรงเรือนป้องกันได้หมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการทำโรงเรือน ถ้าสามารถทำได้ก็จะดีเลย

                           แต่สำหรับท่านที่ไม่มีโรงเรือน ก็ไม่ใช่ว่าจะเลี้ยงไม่รอดหรอกนะครับ ถึงจะไม่มีโรงเรือนก็เลี้ยงได้ ปลูกบนระเบียง ปลูกหน้าบ้าน หลังบ้าน ก็สามารถเลี้ยงแคคตัสให้เติบโตสวยงาม ผ่านช่วงหน้าฝนได้เช่นกัน เพียงแต่ถ้ามีโรงเรือนที่เป็นระบบมันลดความเสี่ยงลงไปได้เยอะเลยครับ


                          อย่างตัวผมเองก็มีไม้บางส่วนที่ไม่ได้เลี้ยงในโรงเรือนเช่นเดียวกัน บางส่วนปลูกอยู่บนระเบียง โดนฝนสาดบ้าง โดนแดดแรงบ้าง ซึ่งก็รอดผ่านมาได้หลายปีเพียงแต่ก็ต้องเอาใจใส่กันเยอะหน่อย และถ้าเป็นไปได้ สถานที่ปลูกของท่าน ตรงระเบียงหรือตรงหน้าบ้านที่ท่านปลูกถ้ามีหลังคากันฝนจะดีมาก คือโดนละอองฝน โดนฝนสาดนิดหน่อยก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ถ้าไม่มีหลังคาป้องกันเลย ฝนตกทุกครั้ง ต้นแคคตัสเปียกเละเทะทุกครั้ง แบบนั้นก็อาจจะเสี่ยงสักหน่อย เพราะฉะนั้นควรมีที่กันฝนก็น่าจะดี 


                            และสิ่งต่อมาที่สำคัญเลยที่ต้องมี ยังไงก็ต้องมีเพราะมันสำคัญจริงๆ ต่อการปลูกแคคตัส ไม่ว่าท่านจะมีโรงเรือนหรือไม่ จะเลี้ยงตรงไหน บนระเบียง หรือหน้าบ้านก็ต้องมีสิ่งนี้ นั่นก็คือแสงแดด


                             แสงแดดคือสิ่งจำเป็นในการปลูกแคคตัส การที่แคคตัสได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอพอเพียง จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต และการออกดอก และแสงแดดยังช่วยไล่ความชื้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มากับความชื้นได้อีกด้วย อย่างถ้าท่านเลี้ยงแคคตัสแล้วโดนฝน หรือท่านรดน้ำต้นแคคตัสจนเปียกท่วมทั้งต้น ถ้าไม่มีแดดส่องเลยหรือได้รับแดดน้อย ต้นเปียกชื้นนานๆ ไม่ยอมแห้ง ดินก็ไม่แห้งหรือแห้งช้าทำให้อาจเกิดเชื้อราหรือโรคเน่าขึ้นได้ รวมไปถึงพวกแคคตัสที่เป็นกอใหญ่ๆ ถ้าตากฝนหรือโดนน้ำ แล้วน้ำเข้าไปขังเปียกชื้นด้านในของกอ ถ้าไม่มีแดดส่องช่วยไล่ความชื้น ภายในกออาจจะชื้นสะสมจนเน่าจนตายยกก็เลยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นแสงแดดสำคัญจริงๆ ควรให้แคคตัสได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป ในทุกๆ วัน 

                             แต่ถ้าสถานที่ปลูกของท่านนั้น มีแสงแดดส่องน้อย โดนแดดวันละไม่กี่ชั่วโมงล่ะก็ หรือเป็นช่วงหน้าฝนที่ฟ้าครึ้มไม่ค่อยมีแดดเลยตลอดทั้งวัน อย่างช่วงที่ผมเขียนบทความนี้อยู่นั้นเป็นช่วงที่ฝนตกแทบทุกวันฟ้าครึ้มเมฆมากแทบจะไม่มีแดดเลยมา 4-5 วันติดต่อกันแล้ว อากาศแบบนี้ไม่ค่อยเหมาะเท่าไร ผมว่าพยายามอย่าให้แคคตัสตากฝนดีกว่าครับ หรือไม่ก็อย่าพึ่งไปรดน้ำในช่วงที่ฝนตอหรือฟ้าครึ้มไม่มีแดด เว้นไปก่อน เพราะอย่างที่บอกไปว่าดินจะแห้งช้า เสี่ยงจะเกิดโรคได้ง่าย รอวันที่อากาศสดใส แดดดีๆ ก็ค่อยรดน้ำ 


                            นอกจากเรื่องของแสงแดดที่สำคัญแล้ว เรื่องของดินปลูกนั้นก็สำคัญไม่แพ้กันนะครับ เพราะหน้าฝนนั้นอากาศชื้น แสงแดดน้อย อาจทำให้ดินนั้นแห้งช้า ยิ่งแคคตัสของคุณนั้นตากฝนบ่อยๆ ดินชื้นติดต่อกันนานๆ ไม่ยอมแห้ง อาจทำให้เกิดปัญหารากเน่าขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ดินปลูกควรที่จะต้องสัมพันธ์กับสถานที่ปลูกและสภาพอากาศ อย่างเช่น ถ้าสถานที่ปลูกของคุณนั้นมีแสงแดดส่องน้อย โดนฝนสาด ควรปรับสตรดินปลูกให้มีความโปร่ง ระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าดินของคุณนั้นไม่โปร่ง ระบายน้ำได้ไม่ดี แล้วต้องมาตากฝนดินก็ชื้นต่อเนื่อง สถานที่ปลูกยังโดนแดดน้อย ดินก็ยิ่งแห้งช้าขึ้นไปอีก สุดท้ายต้นไม้ก็รากเน่าลุกลามไปจนต้นเน่าตาย หรือไม่ก็เป็นราสนิม หรือโรคอื่นๆ เอาได้

                             เพราะฉะนั้นคุณควรต้องรู้แหละ ว่าสถานที่ปลูกของคุณนั้น เป็นอย่างไร มีแดดส่องมากน้อยขนาดไหน ถ้าแดดน้อย โดนฝนสาด ให้ปรับสูตรดินให้โปร่งๆ เอาแบบง่ายๆ เลยก็ ใช้ดินแคคตัสทั่วไปที่ขายกันตามร้านขายแคคตัสนี่แหละ เอามาผสมกับหินภูเขาไฟก้อนเล็ก หรือเพอร์ไลท์ เพื่อเพิ่มความโปร่ง สองอย่างนี้จะช่วยให้การระบายน้ำนั้นดีขึ้น ดินโปร่งขึ้น ช่วยลดความชื้นสะสมได้ประมาณนึงครับ


                            และนอกจากเรื่องของส่วนผสมดินแล้ว เรื่องของระยะเวลาในการเปลี่ยนดินก็สำคัญนะครับ ต้นแคคตัสที่ไม่ได้เปลี่ยนดินเป็นระยะเวลานานหลายปี ดินจะเก่าอาจจะเป็นแหล่งสะสมโรคต่างๆ ก็เป็นได้ รวมไปถึงดินที่เก่ามากๆ วัสดุปลูกอาจจะผุพังทับถมทำให้ดินนั้นจับตัวกันเป็นปึกส่งผลให้การระบายน้ำนั้นไม่ดี ดินแห้งช้า จนแคคตัสรากเน่าเอาได้ เพราะฉะนั้นเราควรเปลี่ยนดินให้เจ้าต้นแคคตัส ปีละครั้ง เพื่อเอาดินเก่าออกไปให้เค้าได้รับดินใหม่ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนดินจะทำให้เราได้เช็คสภาพของไม้ด้วยว่าไม้ของเรานั้นสมบรูณ์ดีหรือไม่ มีปัญหาอะไรแอบแฝงที่เราไม่ทันสังเกตหรือเปล่า บางทีรากเสียรากเน่าถ้าเราไม่ขุดเค้าขึ้นมาเปลี่ยนดินเราอาจไม่ทันสังเกตเลยก็เป็นได้


ต่อมาก็เป็นรื่องของการรดน้ำ

                            แคคตัสเป็นไม้ที่สามารถอดน้ำได้เป็นเดือนโดยที่ไม่ตาย แต่อดน้ำนานๆ ต้นจะเหี่ยว แต่พอเราอัดน้ำให้เค้า เค้าสามารถที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องการอดน้ำ แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือ การรดน้ำที่มากไป บ่อยไป โดยเฉพาะในหน้าฝน การรดน้ำต้นแคคตัสของผมในช่วงนี้ จะอ้างอิงกับสภาพอากาศเป็นหลัก อย่างถ้าผมเห็นว่าฝนตก อากาศชื้น เมฆมาก แดดไม่ค่อยมี ต่อให้ดินแห้งสนิทมาหลายวันแล้ว ผมก็ไม่รดน้ำ ผมจะรอจนกว่าที่จะเห็นว่าอากาศสดใส แดดดี ถึงค่อยรดน้ำ เพราะถ้าอากาศชื้น ฝนตก ฟ้าครึ้ม เวลาที่เรารดน้ำลงไป ดินจะชื้นไม่ยอมแห้ง ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ดินก็ยิ่งจะชื้นติดต่อกันนานหลายวันอาจจะเป็นอาทิตย์เลยก็ได้ที่ดินไม่ยอมแห้ง นั่นทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ เพราะฉะนั้น ช่วงหน้าฝน การรดน้ำผมจึงเลือกรดในวันที่อากาศสดใส โดยผมจะรดน้ำในตอนเช้าเพื่อให้เค้าได้รับแสงแดดทันทีหลังจากที่รดน้ำเสร็จจะได้ช่วยไล่ความชื้นดินจะได้แห้งเร็วขึ้น


                             สถานที่ปลูก สภาพอากาศ ดิน น้ำ ปัจจัยหลักๆ ที่ต้องระวังก็ประมาณนี้ ที่เหลือก็คือเรื่องของสายพันธุ์ของต้นไม้ที่ท่านเลี้ยง บางสายพันธุ์อาจจะชอบอากาศที่ต่างกัน บางพันธุ์ชอบแดดมาก บางพันธุ์ไม่ค่อยทนความชื้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กว้างมากเพราะไม้มีเป็นร้อยชนิดผมคงพูดอะไรไม่ได้มากเพราะผมก็ยังรู้จักสายพันธุ์แคคตัสไม่เยอะเท่าไรเหมือนกันครับ เพราะฉะนั้นก็ขอเขียนเรื่องหลักๆ ไว้แค่ประมาณนี้ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการสังเกตุความเปลี่ยนแปลงของต้นแคคตัส ถ้าเห็นต้นไหนที่มีความผิดปรกติให้รีบจัดการทันที

                            ต้นไหนเน่าให้รีบรักษา เพราะอาการเน่านั้นลามเร็วมาก ห้ามปล่อยไว้เด็ดขาด ต้องรีบตัดส่วนที่เน่าทิ้งไป ส่วนที่ยังดีอยู่นั้น ถ้าไม่เอาไปกราฟต่อบนตอให้ตอช่วยเลี้ยงต่อไป ก็เอาไปวางผึ่งให้แผลที่ตัดส่วนที่เน่านั้นออกไปแห้งสนิทสัก 1 อาทิตย์แล้วค่อยเอาไปล่อราก หรือลงปลูกอีกครั้ง 

                            แต่ถ้าต้นไหนที่มีปัญหาพวกโรครา อย่างราสนิม หรือโรคแคงเกอร์ล่ะก็ โรคเหล่านี้เป็นโรคติดต่อที่สามารถลุกลามไปติดต้นใกล้เคียงได้ ถ้าเจอให้รีบแยกต้นที่เป็นราสนิมออกจากต้นอื่นทันที อย่าปล่อยให้ลุกลามเด็ดขาด 

ตัวอย่างแคคตัสที่เป็นราสนิม ควรแยกออกมาเพื่อกันไม่ให้ติดต่อสู่ต้นอื่น

                            เมื่อแยกต้นที่เป็นราสนิมออกมาจากพวกแล้ว ในส่วนของการรักษา ถ้าเค้าเป็นเยอะขึ้นเป็นราสนิมทั้งต้น ผมแนะนำให้โยนทิ้งหรือเผาทำลายไปดีกว่า แต่ถ้าเป็นไม่เยอะ หรือคุณเสียดายไม่กล้าทิ้ง อยากจะยื้อไว้ล่ะก็ต้องแยกเลี้ยง อย่าไปเลี้ยงปนกับต้นอื่น โดยสถานที่เลี้ยงต้องได้รับแสงแดดเยอะๆ เลยนะครับ และต้องไม่อับชื้น ไม่ตากฝน เพราะเชื้อรานั้นเติบโตได้ดีในสภาพความชื้น ถ้าสถานที่ปลูกนั้นชื้น ตากฝน แดดน้อย  การจะทำให้เชื้อราหยุดเจริญเติบโตคงเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นต้องให้เค้าได้รับแสงแดดเยอะๆ ให้อยู่ในจุดที่ไม่อับชื้นเกินไป จากนั้นก็พ่นยาเป็นระยะ ประมาณ อาทิตย์ละครั้ง เป็นระยะเวลาสัก 4 อาทิตย์ แล้วคอยสังเกตอาการ ว่าหลังจากที่พ่นยาไปสักระยะแล้ว เชื้อรานั้นหยุดเจริญเติบโตขยายวงกว้างหรือไม่ ถ้าเชื้อราหยุดโตไม่ลุกลามก็โอเค เลี้ยงตามปรกติได้ แต่ไม่ควรเอากลับไปเลี้ยงกับต้นที่ไม่ได้เป็นโรคนะครับ แยกเลี้ยงไปเลย แล้วหลังจากนั้นให้พ่นยาป้องกันเชื้อรา เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรค อันนี้คือพ่นทั้งหมดทุกต้นเลยนะครับ ทั้งต้นที่เป็นโรคแล้วก็ไม่เป็นโรค พ่นเพื่อป้องกันไว้ก่อน

                           แต่ถ้าพ่นยาแล้ว ให้เค้าอยู่ในจุดที่ไม่อับชื้น ไม่ตากฝน โดนแดดเยอะๆ ก็แล้ว แต่เชื้อราสนิมก็ยังไม่ยอมหยุด อันนี้ผมก็ไม่ทราบแล้วล่ะครับ 

ภาพตัวอย่างโรคแคงเกอร์ เจอแบบนี้ควรแยกออกมารักษา

                           สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาพวกโรครา โรคเน่า โรคแคงเกอร์นั้น ต้องบอกว่าผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้นะครับว่ายาชนิดไหนนั้นดีที่สุด ผมเคยใช้แต่ยาชนิดตามภาพนี้น่ะครับ ก็แนะนำประมาณนี้แล้วกันครับ


                            คือเรื่องของการรักษาโรคที่เกิดกับการปลูกแคคตัสนั้น ต้องเรียนตามตรงว่า ผมมีความรู้น้อยมากๆ เวลาที่มีคนส่งข้อความมาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโรคแคคตัส ผมมักจะไม่ค่อยตอบ เพราะผมรู้น้อยมากจริงๆ ครับ คือจะพูดยังไงดี แบบว่าหลักในการปลูกแคคตัสของผมนั้น ผมจะไม่ยื้อปัญหาเอาไว้ ถ้าต้นไหนที่ผมเลี้ยงแล้วเป็นโรค ซึ่งถ้าผมมองแล้วว่าเป็นเยอะ ต้นไหนอาการไม่ดีมากๆ ผมจะโยนทิ้งทันที ผมจะไม่ยื้อให้เสียเวลา ไม่ใช่ว่าผมไม่เสียดายนะครับ เสียดายครับที่ต้องทิ้ง แต่ผมจะเสียดายมากกว่าถ้ายื้อไว้แล้วมันไปติดต้นอื่น ผมจึงเลือกที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลม เพราะฉะนั้นผมบอกเลยว่าผมไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการรักษาแคคตัสที่อาการหนักๆ อย่างอาการราสนิมที่เป็นหนักๆ ถ้าผมเจอ ผมจะทิ้งเลย แพงก็ทิ้ง 

เพราะฉะนั้นท่านที่จะมาถามผมเกี่ยวกับการรักษาโรคแคคตัส ผมช่วยอะไรไม่ได้มากจริงๆ ครับ


                           ก็ประมาณนี้แล้วกันนะครับ สำหรับเรื่องราวการป้องกัน รับมือหน้าฝนในการปลูกแคคตัส จริงๆ มีเรื่องที่อยากจะเขียนมากกว่านี้อีกเยอะ แต่ผมนั่งดูที่เขียนไปจนถึงตอนนี้ เราเขียนไปเยอะมากๆ เกรงว่าถ้าเขียนต่อไปอีกจะอ่านกันไม่ไหว บทความจะยาวเกินไป เพราะงั้นเอาเท่านี้ก่อนดีกว่า แล้วค่อยว่ากันใหม่ในบทความต่อๆ ไป แล้วกันนะครับ


ขอให้ทุกท่านที่ปลูกแคคตัส ผ่านหน้าฝนนี้ไปได้ด้วยดี สู้ไปด้วยดันนะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.