Friday, April 3, 2015

Gymnocalycium cactus แคคตัสยิมโนต้นเก่า เรื่องราวจากกระบองเพชรที่เคยถูกทอดทิ้งกลายมาเป็นแม่พันธุ์

gymnocalycium cactus ภาพดอกของปีนี้

               สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความแรกของบล็อกกระบองเพชร หรือ แคคตัส แห่งนี้ของผม ซึ่งก่อนที่ผมจะลงมือเขียนบทความในคราวนี้นั้น ผมคิดอยู่นานว่าจะหยิบเรื่องราวไหนมาเขียนดีเพราะมีหลายเรื่องเหลือเกินที่ผมอยากจะเล่าอยากจะลงให้ทุกท่านได้อ่านกัน ซึ่งกว่าจะตัดสินใจได้ผมก็ต้องนั่งพิจารณาอยู่หลายรอบจนมาลงที่เรื่องราวของเจ้ายิมโนแคคตัสต้นนี้ที่ผมว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเรื่องราวที่ใช้เปิดบล็อกของผม ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้ายิมโนแคคตัสต้นที่ทุกท่านได้เห็นรูปด้านบนนี้นั้นเป็นแคคตัสเก่าตนนึงซึ่งอยู่กับผมมานาน ผมถือว่าเค้าเป็นไม้อาจารย์ที่สอนผมให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในการปลูกแคคตัสเลยก็ว่าได้  เพราะงั้นหยิบเรื่องนี้มาเขียนน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมที่สุด งั้นผมว่าเราไปเริ่มเรื่องราวของยิมโนแคคตัสต้นนี้กันเลยดีกว่าครับ 

gymnocalycium cactus ภาพดอกของปีนี้อีกมุม

             ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ผมจำเวลาได้ไม่แน่นอนแต่น่าจะใกล้เคียงสิบปีมาแล้ว ตอนนั้นแม่ของผมซื้อแคคตัสชุดนึงมาให้ผมได้ลองเลี้ยงเล่นๆ เพราะเห็นว่าผมป็นคนชอบปลูกต้นไม้ โดยทุกต้นที่แม่ซื้อมาให้นั้นเป็นแคคตัสต้นเล็กๆ ขนาดประมาณเหรียญสิบได้ มีหลากหลายรูปแบบบางต้นหนามเยอะบ้างบางต้นก็หนามน้อยซึ่งผมขอพูดถึงเจ้าต้นที่เอารูปมาให้ดูกันในวันนี้แค่ต้นเดียวก่อนก็แล้วกันต้นอื่นไว้ค่อยเขียนถึงทีหลังดีกว่าครับ

gymnocalycium cactus ภาพดอกที่ออกในปีนี้อีกนั่นแหละ

             ต่อเรื่องราวเลยดีกว่า ในตอนที่ผมได้รับแคคตัสมานั้นผมไม่รู้หรอกว่าแต่ละต้นนั้นมีชื่อสายพันธุ์ว่าอะไร ไม่รู้ถึงวิธีการดูแลเลยด้วยว่าจะต้องจัดการกับเค้ายังไง ต้องวางไว้ตรงไหน ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยอะไรยังไงไม่ทราบเลยสักอย่าง เพราะผมในตอนนั้นยังไม่ได้มีความสนใจในเรื่องราวของการปลูกไม้พวกกระบองเพชร หรือพวกไม้ในแนวนี้สักเท่าไรนัก ผมในตอนนั้นชอบปลูกพวกกล้วยไม้เสียมากกว่า ตอนที่ผมได้เจ้าต้นนี้มาผมก็เลยต้องบอกว่าผมเลี้ยงเค้าแบบปล่อยๆ ไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากนัก ตั้งเค้าไว้บนโต๊ะวางต้นไม้หน้าบ้านซึ่งโดนแดดแค่ตอนเช้าถึงสายแค่เพียงเท่านั้น การรดน้ำนั้นก็รดบ้างไม่รดบ้างไม่แน่นอนแล้วแต่สะดวก กระถางก็นานๆ จะเปลี่ยนสักครั้ง เรียกได้ว่าหลายปีที่เลี้ยงเค้ามาผมดูแลเค้าได้ไม่ดีเลยครับ

gymnocalycium cactus ต้นเดิมนั่นแหละ

             แต่ถึงจะเลี้ยงเค้ามาแบบนั้นแต่เค้าก็ยังผ่านร้อนผ่านหนาวเอาตัวรอดมาได้เรื่อยๆ ถึงต้นจะไม่สวยงามสมบรูณ์สักเท่าไรแต่ก็แข็งแกร่งอดทนเจริญเติบโตมาได้โดยไม่มีทีท่าว่าจะจากกันไปเลยสักวัน แต่ในบางช่วงก็จะเห็นได้ชัดว่าต้นของเค้าจะเหี่ยวๆ ไม่ค่อยเต่งตึงกลมสวยนะครับ ซึ่งพอเห็นว่าต้นเริ่มจะเหี่ยวนั่นแหละผมจึงจะรดน้ำถ้าไม่เห็นเค้าโทรมแบบนั้นผมก็จะเดินผ่านเฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไรมากสักเท่าไรนัก

gymnocalycium cactus ส่วนเจ้าตัวที่นอนอยู่ด้านหลังนั้นคือ...

              คงเพราะผมเลี้ยงแคคตัสแบบนั้นล่ะมั้ง เค้าก็เลยไม่เคยมีดอกให้ได้ชมกันเลยสักครั้ง อาจจะเคยออกดอกก็เป็นได้ แต่ผมไม่เคยจำได้ว่าเคยเห็นดอกของเค้า ไม่รู้เลยด้วยว่าเจ้าต้นนี้ดอกสีอะไรหรือหน้าตาของดอกเค้าเป็นยังไงไม่เคยทราบเลยครับ

gymnocalycium cactus

              จนกระทั้งเมื่อตอนต้นปีที่แล้วผมเริ่มที่จะสนใจในเรื่องราวของการปลูกแคคตัสเพราะผมดันไปเห็นรูปในเน็ตของพวกแคคตัสสายพันธุ์ astrophytum แล้วเกิดรู้สึกถูกชะตาในความสวยงามของแคคตัสไม่มีหนามหลากหลายลวดลายของเหล่าแอสโตรทั้งหลายเข้า โดยเฉพาะแอสโตรลายวีที่ผมเห็นรูปจากในเน็ตแล้วโดนใจมากเพราะสวยจริงๆ ครับ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มที่จะหันมามองแคคตัสมากขึ้น และเริ่มที่จะซื้อหนังสือเกี่ยวกับแคคตัสมาอ่าน ในเวลาว่างๆ ก็จะเปิดเว็บต่างๆ เกี่ยวกับแคคตัสเพื่อดูรูปและอ่านเรื่องราวของเค้าไปเรื่อยๆ จนในที่สุดผมก็ตัดสินใจเริ่มคิดอยากที่จะปลูกแคคตัสขึ้นมาจนได้ และความตั้งใจนั้นก็เป็นตัวผลักดันให้ผมกลับมาสนใจเจ้าแคคตัสต้นเก่าที่ผมมีอยู่และเริ่มที่จะเรียนรู้ศึกษาถึงวิธีการปลูกและดูแลพวกเค้าอย่างจริงจังตั้งใจมากขึ้นตามไปด้วย จากนั้นความเป็นอยู่ของเจ้าต้นนี้ก็เริ่มจะเปลี่ยนไป

gymnocalycium cactus ดอกแรกหลังจากที่ตั้งใจดูแล

                ผมเริ่มขบวนการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูแคคตัสจากที่เลี้ยงปล่อยๆ ก็กลายมาเป็นการดูแลอย่างมีแบบแผนที่เป็นรูปร่างมากขึ้น เริ่มมีการนำแคคตัสต้นนี้รวมไปถึงต้นอื่นๆ ด้วยมาทำการเปลี่ยนกระถาง เปลี่ยนดิน ตัดแต่งราก ใส่ปุ๋ย เริ่มที่จะย้ายมุมไปเลี้ยงบนระเบียงที่มีแสงแดดส่องถึงมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ทำสิ่งเหล่านั้นได้ไม่นาน การเจริญเติบโตของเจ้าแคคตัสต้นเก่าของผมก็เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแบบเด่นชัด ต้นมีสภาพสมบรูณ์ขึ้นมีสีที่สดใสมากขึ้นยอดเริ่มเดิน และอีกไม่กี่เดือนต่อมาเค้าก็เริ่มที่จะออกดอกให้ผมได้ชมเค้าอย่างเต็มๆ ตาเป็นครั้งแรก ตามภาพด้านบนเลยครับ นั่นคือดอกแรกที่ออกมาหลังการเปลี่ยนแปลงการดูแลให้ดีขึ้น 

gymnocalycium cactus ดอกแรก ปีที่แล้ว

               ตอนที่ผมเห็นดอกของเค้าเบ่งบานสีชมพูสวยงามเป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกทั้งดีใจและแปลกใจเป็นอย่างมาก ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะเร็วขนาดนี้ เพราะเพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังจากที่ตั้งใจดูแลเค้าจะสามารถทำให้เค้าออกดอกได้ ในใจผมคาดการณ์เอาไว้ว่าคงจะอีกเป็นปีแน่ๆ กว่าที่จะไปได้ถึงขั้นนั้น เพราะผมเริ่มที่จะตั้งใจดูแลเค้าเมื่อตอนประมาณเดือนมกราคมเท่านั้นไม่น่าเชื่อว่าพอมีนาคมเค้าจะออกดอกให้ได้ชมกันเสียแล้ว และไม่ได้หมดเพียงแค่ดอกนั้นดอกเดียวซะด้วย ยังมีดอกตูมๆ ค่อยๆ โผล่ตามมาอีกอย่างต่อเนื่องเลยด้วยครับ ผมรู้สึกดีกับเจ้าแคคตัสยิมโนต้นนี้มากเลยในตอนนั้น

gymnocalycium cactus ดอกแรกดอกเดิม

               และความดีใจนั้นมันได้สร้างแรงกระตุ้นในการปลูกให้กับผมเป็นอย่างมาก ผมได้เรียนรู้แบบเต็มๆ ว่าในการปลูกแคคตัสนั้นถ้าเราเอาใจใส่เค้าอย่างดีแล้วเค้าจะตอบแทนความตั้งใจของเราแบบไหน และแรงกระตุ้นนั้นก็ได้นำผมไปสู่ขั้นตอนการศึกษาในเรื่องของการปลูกแคคตัสในขั้นต่อไป นั่นก็คือการผสมเกสร และเพาะเมล็ด เพราะตอนที่ผมเริ่มอ่านเรื่องราวการปลูกแคคตัสนั้นผมได้มีโอกาสอ่านและเห็นภาพของเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ลงภาพเกี่ยวกับการผสมเกสรและการเพาะเมล็ดแคคตัสเอาไว้ในหลายๆ เว็บ ซึ่งผมก็แอบคิดเอาไว้เหมือนกันว่าสักวันผมคงจะได้ลองทำแบบนั้นบ้าง ซึ่งพอเจ้าต้นนี้ออกดอกมาปุ๊บผมก็เลยคิดว่าได้เวลาที่ผมจะได้ลองทำอะไรสนุกๆ แบบนั้นบ้างแล้วล่ะ

gymnocalycium cactus ดอกชุดสองของปีที่แล้ว

                แต่จากที่ผมทราบมา การจะผสมเกสรแคคตัสนั้น ในแคคตัสสายพันธุ์ยิมโนอย่างเจ้าต้นนี้เค้าไม่สามารถผสมกับตัวเค้าเองได้ ผสมตัวเองแล้วจะไม่ติดเมล็ด ต้องผสมกับยิมโนต้นอื่นเท่านั้นถึงจะติดเมล็ดได้ ซึ่งคู่ของเค้านั้นผมไม่มีเพราะในตอนนั้นผมมีแคคตัสยิมโนในบ้านแค่ไม่กี่ต้นและก็ยังไม่มีต้นไหนที่พร้อมจะออกดอกได้เลยสักต้นก็เลยไม่มีคู่มาผสมกับเค้า เมื่อเป็นแบบนั้นผมก็เลยต้องรีบเร่งออกจากบ้านในทันทีเพื่อที่จะไปตามหายิมโนราคาไม่แพงแต่กำลังมีดอกมาให้ได้สักต้นเพื่อเอามาทำเป็นคู่ผสมให้กับเค้าให้ได้ โดยที่แรกที่ผมเลือกที่จะไปหายิมโนแคคตัสนั้นก็ต้องแน่นอนว่าเป็นสถานที่ประจำที่ผมไปเดินดูเดินซื้อกล้วยไม้บ่อยๆ นั่นก็คือที่สวนจตุจักร เพราะผมเห็นมาตลอดว่าที่ตลาดนัทสวนจตุจักรนั้นมีร้านขายกระบองเพชร แคคตัส ไม้อวบน้ำต่างๆ อยู่มากมายหลายร้าน ผมว่าที่นั่นแหละไปแล้วต้องได้แน่ๆ 

gymnocalycium cactus ภาพดอกปีที่แล้ว

               ซึ่งมันก็ประจวบเหมาะพอดีเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าเริ่มเข้าหน้าร้อนซึ่งเป็นฤดูกาลออกดอกของยิมโนแคคตัสพอดี ที่ตลาดนัทสวนจตุจักรก็เลยมีเจ้ายิมโนที่กำลังออกดอกสวยๆ มาขายอยู่พอสมควร หลายหลายแบบหลายราคา ซึ่งผมก็ไปเลือกต้นที่ถูกๆ ไม่กี่สิบบาทที่กำลังลังออกดอกมาสามสี่ต้นเพื่อเอามาทดลองผสมเกสรกับเจ้าต้นนี้

gymnocalycium cactus ติดฝักแล้วครับ

                   และหลังจากที่จับพวกเค้ามาผสมเกสรกันก็สำเร็จผ่านไปได้เป็นอย่างดี ทั้งเจ้ายิมโนต้นนี้ และยิมโนสามสี่ต้นที่ผมซื้อมานั้นพร้อมใจกันติดฝักอย่างสมบรูณ์ทุกดอก ผมไม่มีภาพตอนขณะที่ผสมเกสรเจ้าต้นนี้นะครับ ไม่ได้ถ่ายไว้เพราะไม่คิดว่าจะได้มีวันนำเรื่องราวของเค้ามาเขียนแบบนี้ ภาพด้านบนนั้นเป็นภาพที่ผสมเกสรแคคตัสจนติดฝักเรียบร้อยแล้ว ฝักแรกของยิมโนต้นนี้เลยครับ

เมล็ด gymnocalycium cactus เพาะในพีทมอส

               พอผมผ่านกับเรื่องราวการผสมเกสรแล้วนั้นก็ก้าวไปสู่ขั้นต่อไปนั่นก็คือการเพาะเมล็ดแคคตัสนั่นเองครับ ซึ่งในการเพาะเมล็ดแคคตัสนั้น ผมก็ใช้วิธีการเพาะเมล็ดแคคตัสตามแบบที่เคยได้อ่านเจอตามในเน็ตนี่แหละครับ ผมขอลงรูปการเพาะเมล็ดโดยใช้รูปที่ผมถ่ายเอาไว้ตอนหลังที่ผมเพาะเมล็ดยิมโนต้นอื่นแล้วกันนะครับ เพราะตอนที่ผมเพาะเมล็ดเจ้าต้นนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้เช่นเดียวกัน เพราะงั้นรูปการเพาะเมล็ดแคคตัสเป็นรูปจากคนละช่วงเวลากันนะครับ


                อธิบายเกี่ยวกับวิธีการเพาะเมล็ดคร่าวๆ ที่ผมได้ลองทำในครั้งแรกนั้นก็ เริ่มด้วยการเตรียมวัสดุปลูกสำหรับใช้เพาะเมล็ดซึ่งผมใช้พีทมอสครับ 


                เหตุผลที่ผมเลือกใช้พีทมอสในตอนนั้นเพราะผมอ่านเจอมาว่าหลายๆ ท่านนิยมใช้กันเนื่องจากเก็บความชื้นได้ดีและเป็นวัสดุที่สะอาด ประจวบเหมาะกับเจ้าพีทมอสนั้นเป็นวัสดุที่ผมมีอยู่แล้วที่บ้านเพราะผมใช้เป็นส่วนผสมในการปลูกกล้วยไม้รองเท้านารีอยู่แล้วก็เลยไม่ต้องไปหาซื้ออะไรเอาที่มีนี่แหละมาใช้ 

เพาะเมล็ดยิมโน ใส่ถุงไว้เพื่อรักษาความชื้น
     
                โดยวิธีการที่ผมเอาพีสมอสมาใช้เพาะนั้นก็เริ่มที่ เอาพีทมอสมาใส่กระถางเพาะ จากนั้นก็เอาไปรดน้ำให้ชุ่มผมใช้วิธีจุ่มลงไปในกะละมังโดยที่น้ำในกะละมังนั้นผมผสมยากันเชื้อราเอาไว้อ่อนๆ ด้วยครับเพาะกลัวตอนเพาะแล้วเผื่อเมล็ดขึ้นราเลยกันเอาไว้ก่อนสักหน่อย หลังจากที่เห็นว่าพีสมอสชื้นและอุ้มน้ำเอาไว้เต็มที่แล้วผมก็เริ่มทำการโรยเมล็ดลงไป ซึ่งผมในตอนนั้นไม่ได้กะเลยครับว่ากระถางนึงต้องใส่เมล็ดแคคตัสมากน้อยขนาดไหน ผมใส่ไปแบบว่าเอาจนพอใจแล้วจากนั้นก็ยกขึ้นมาแล้วจับกระถางเค้าใส่ลงในถุงเพื่อรักษาความชื้น ซึ่งถุงที่ใช้ผมใช้ถุงใส่แกงนี่แหละครับ พอใส่ถุงแล้วก็จัดการมัดหนังยางแล้วเอาไปตั้งไว้ในที่ร่มรำไร แค่นั้นก็คือจบสำเร็จกับวิชาการเพาะเมล็ดแคคตัดแล้วครับ ที่เหลือคือรอคอยเวลาไปเรื่อยๆ ว่าเค้าจะโตขึ้นมาแบบไหนหรือว่าจะตายก็ค่อยว่ากันอีกที 

gymnocalycium cactus ต้นอ่อนเมล็ดที่พึ่งจะงอกได้ไม่นาน
      
               ซึ่งในที่สุดเมล็ดเหล่านี้ก็งอกงามผ่านกาลเวลาที่ผันไปจุดสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปประมาณสามเดือนผมก็ยกพวกเค้าออกมาจากถุงแล้วก็เลี้ยงเค้ามาเรื่อยๆ พอต้นโตเบียดกันจนเต็มกระถางก็แยกออกมาใส่กระถางใหม่ แล้วเลี้ยงดูกันต่อไปเรื่อย จนมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งถ้านับเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดเค้ามาจนถึงตอนที่ผมเขียนเรื่องราวของเค้าในวันนี้ก็ 9-10เดือนแล้วล่ะมั้ง
ยิมโนแคคตัส ต้นลูกเพาะเมล็ด เริ่มโตแล้ว
ยิมโนแคคตัส ต้นลูก โตจนแน่นกระถาง

               ทุกวันนี้เวลาที่ผมเดินผ่านเจ้ายิมโนแคคตัสแม่ลูกชุดนี้ ผมจะมองดูเค้าอย่างละเอียดว่าเค้าป่วยมั้ยมีอาการอะไรที่ผิดปรกติรึเปล่ามีเพลี้ยหรือหนอนมารบกวนหรือไม่ ถ้ามีจะรีบจัดการในทันทีไม่มีอิดออดอย่างเด็ดขาด ไม่น่าเชื่อนะครับ จากที่เมื่อก่อนเค้าจะเป็นยังไงก็ได้ตายไปก็ไม่เป็นไรแต่ตอนนี้ผมยอมให้เค้าตายไม่ได้เสียแล้วล่ะ เพราะเค้าคือส่วนสำคัญในการก้าวเดินไปในเส้นทางของการปลูกแคคตัสของผม ถึงแม้ว่าในตอนนี้ผมจะมีแคคตัสที่มีราคาแพงกว่าเค้ามากมายอยู่ในมือ แต่ไม่มีต้นไหนเลยที่มีคุณค่าทางใจต่อผมได้เทียบเท่าเจ้าต้นนี้แล้วล่ะครับ
gymnocalycium cactus ต้นลูกที่ถูกจับย้ายพอตมาใส่กล่อง
gymnocalycium cactus อายุประมาณ 10 เดือน เริ่มแน่นต้องย้ายอีกแล้ว
gymnocalycium cactus ต้นแม่

               เรื่องราวของบทความนี้ก็คงจะต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้แล้วล่ะครับ ขอบคุณทุกท่านมากๆ ที่อ่านเรื่องราวที่สุดแสนจะยาวนี้มาได้จนจบ แล้วก็ขอฝากเนื้อฝากตัวในฐานะบล็อกเกอร์มือใหม่หัดปลูกแคคตัสด้วยก็แล้วกันนะครับ ในอนาคตจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกแคคตัสของผมนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกันในบล็อกแห่งนี้อีกเรื่อยๆ ทั้งเรื่องราวที่มีสาระและไม่มีสาระก็ว่ากันไป วันนี้ก็ขอลากันไปแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

ทางบล็อกของเรามีเพจด้วยนะครับ สามารถเข้าไปทักทายกันได้ที่
https://www.facebook.com/chowcactus 

8 comments:

  1. ไม่เคยโดนแดดเลยหรอคะ

    ReplyDelete
  2. อ่านแล้วประทับใจ มือใหม่กำลังหัดเลี้ยงอยู่เหมือนกันค่ะ

    ReplyDelete
  3. อ่านเพลินดีครับ

    ReplyDelete
  4. ดี๊ดี อ่านแล้วสนุกดีค่ะ
    กำลังฝึกเลี้ยงอยู่เช่นกัน

    ReplyDelete
  5. อ่านจนจบทุกบรรทัดเลยครับ ได้ความรู้และแรงบันดาลใจในการปลูกขึ้นมาเลยครับ

    ReplyDelete
  6. ที่บ้านก็มีต้นแม่เลี้ยงมาน่าจะเป็นสิบปี เคยออกดอกอยุ่นับครั้งได้ ให้หน่อมาก้อเยอะ แต่ดอกไม่ค่อยออก หน่อเขาที่เลี้ยงจนโตก้อไม่เคยออกดอกเลย ต้องทำยังไงดีคะ ถามตอนนี้จะมีคนตอบมั้ยน้อ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.