Sunday, February 17, 2019

การขยายพันธุ์ต้นอโล ( Aloe ) ด้วยการแยกหน่อ – ชำหน่อ


                             นานแล้วที่ผมไม่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวการปลูกต้นอโล ( Aloe ) หรือต้นว่างหางจระเข้ แต่ไม้ชนิดนี้ก็ยังเป็นไม้ที่ผมยังชอบและยังปลูกมาจนถึงทุกวันนี้ ต้นเดิมๆ ที่เคยมีก็ยังคงเติบโตมาเรื่อยๆ มีการขยายพันธุ์เพิ่มเติมบ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งวันนี้ผมก็จะมานำเสนอเรื่องราวการขยายพันธุ์ต้นอโลด้วยการแยกหน่อกันครับ ซึ่งวิธีการนั้นก็ง่ายๆ ไปดูกันเลยนะครับ


                         สำหรับต้นอโลที่ผมจะมาแยกหน่อให้ได้ดูกันนั้นก็จะเป็น Aloe Donnie ต้นตามที่เห็นนี้เลยครับ กระถางนี้มีหลายหน่อก็เลยจะแยกออกมาบางส่วน และนอกจากกระถางนี้ที่เราจะแยกแล้วก็จะมีอโลกระถางอื่นๆ อีกด้วยแต่ไม่ได้ถ่ายภาพมาให้ได้ดูทั้งหมดนะครับ ถ่ายมาแค่บางส่วน


                           ซึ่งในการเลือกหน่อที่จะแยกเอามาชำนั้น ผมจะเลือกหน่อที่มันใหญ่ๆ สักหน่อย ดูลักษณะหน่อที่แข็งแรงก็น่าจะดี อย่าง 2 หน่อด้านหน้าในรูปนี้ ถือว่าหน่อใหญ่มากๆ แยกได้สบายๆ เลยล่ะครับ


                          ซึ่งวิธีการในการแยกนั้นก็ง่ายๆ แหวกต้นให้เห็นโคน ถ้าโคนต้นมันจมดินลึกก็คุ้ยดินออกสักหน่อยให้เห็นส่วนของโคนหน่อที่เราจะแยก เมื่อเรามองเห็นส่วนของโคนหน่อแล้วก็เอามีเล็กๆ แซะที่โคนหน่อ ตัดออกมาได้เลยครับ อย่าหนักมือมากนะครับ ผมเคยปาดแบบหนักมือไม่หน่อย ไม่กะให้ดี ปาดผิดจนใบขาด หรือทำหน่อที่อยู่ติดกันเป็นแผลมาแล้ว


                            เรียบร้อย แถมหน่อที่ผมแซะออกมานั้นมีรากมาแล้วด้วย แบบนี้ยิ่งสบายเลย เอาไปลงปลูกไม่นานก็น่าจะฟื้นตัวแล้วล่ะครับ


แงะหน่อเพิ่มอีกสักหน่อยก็แล้วกัน กำลังมันมือ


                             ซึ่งพอแยกหน่อได้เรียบร้อยแล้ว ผมจะเอาไปลงปลูกเลยทันทีนะครับ ไม่ได้มีการทาปูนแดง หรือวางผึ่งให้แผลแห้งแต่อย่างใด แต่จะลงปลูกเลย เพราะผมมองว่าอโลเป็นไม้ที่ทนทานแข็งแรง เพราะงั้นไม่น่าจะเน่าง่ายๆ หรอก ผมลงปลูกเลยแล้วกัน

สำหรับดินปลูกอโลที่ผมใช้นั้นมีส่วนผสมดังนี้


ดินใบก้ามปูหมัก 4 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับเล็ก 1 ส่วน หินภูเขาไฟก้อนเล็ก ( เบอร์ 00 ) 1 ส่วน

                                ดินสูตรนี้เป็นสูตรที่ผมใช้แล้วให้ผลที่ค่อนข้างน่าพอใจ ไม้เจริญเติบโตได้ดีเพราะดินใบก้ามปูหมักจะมีธาตุอาหารค่อนข้างสมบรูณ์ บวกกับปุ๋ยคอกไปด้วยก็จะช่วยเสริมการเจริญเติบโตให้ดียิ่งขึ้น ส่วนการผสมหินภูเขาไฟลงไปนั้นเป็นการช่วยเพิ่มความโปร่งให้กับดินช่วยให้การระบายน้ำและความชื้นระบายได้สะดวก เมื่อดินมีความโปร่งระบายน้ำได้ดีความชื้นก็จะไม่สะสมนานจนเกินไปจนก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับความชื้น สูตรดินสูตรนี้ผมมองว่ามันลงตัวสำหรับผมครับ

                               แต่เรื่องสูตรดินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัวเท่าไร แต่ละท่านก็อาจจะมีสูตรที่แตกต่างกันออกไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและความเหมาะสมของวิธีการปลูกและสภาพอากาศของแต่ละบ้าน เพราะงั้นเรื่องดิน ผมอยากให้คุณลองหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยก็จะดีครับ อาจจะมีสูตรดินสูตรอื่นที่เหมาะกับการปลูกของคุณมากกว่าสูตรของผมก็เป็นได้ครับ

เราไปลงปลูกกันเลยครับ


                              ลงปลูกเรียบร้อยแล้วผมก็จะรดน้ำเลยทันที จากนั้นก็จะนำไม้ไปเก็บไว้ในที่ร่มรำไร มีแดดส่องอ่อนๆ เพื่อพักรอให้เค้าออกรากและฟื้นตัว ซึ่งการดูแลช่วงนี้ก็ไม่มีอะไรมาก รดน้ำเมื่อเห็นว่าดินเริ่มแห้ง ที่เหลือก็ดูความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะอีกสัก 2-3 อาทิตย์ เค้าก็น่าจะเริ่มออกรากใหม่และเริ่มฟื้นตัวแตกยอดแล้วล่ะครับ 


ซึ่งพอเค้าเริ่มฟื้นตัวแตกยอด ออกใบใหม่เมื่อไร เราก็สามารถเลี้ยงเค้าได้ตามปรกติเลยครับ


มาคุยในเรื่องของการเลี้ยงอโลอีกสักหน่อยก็แล้วกันนะครับ

                               อโลเป็นไม้ที่สามารถเลี้ยงกลางแจ้งได้เลยไม่มีปัญหา ถ้าต้นของเค้าสมบรูณ์แข็งแรงดี เราเลี้ยงกลางแจ้งปล่อยตากแดดตากฝนได้สบายครับ ซึ่งถ้าเค้าได้รับแดดจัดๆ แดดสม่ำเสมอ สีของใบจะเข้มจัดจ้านสวยงามมากๆ แต่ถ้าเราเลี้ยงแบบร่ม โดนแดดน้อย สีของใบจะไม่ค่อยจัด สีจะอ่อนกว่าครับ

                               สำหรับการเลี้ยงของผมนั้น สถานที่ปลูกของผมได้รับแสงแดดปานกลางครับ โดนแดดตั้งแต่เช้าจนถึงเกือบเที่ยง ซึ่งก็พอเพียงครับ ต้นอโลเติบโตดีครับ


                             ส่วนการให้น้ำ ด้วยความที่สถานที่ปลูกอโลของผมไม่มีหลังคากันฝน ถ้าฝนตกก็คือโดนฝนเต็มๆ เพราะงั้นถ้าช่วงไหนฝนตกบ่อยๆ ผมจะไม่รดน้ำ ปล่อยเค้ากินน้ำฝนไป แต่ถ้าเป็นช่วงที่ฝนไม่ค่อยตกล่ะก็ ผมจะรดน้ำ 2 วันครั้งครับ


เรื่องการใส่ปุ๋ยต้องบอกว่าผมไม่ค่อยได้ใส่ครับ ก็เลยไม่รู้จะแนะนำยังไงเหมือนกัน


                             ส่วนการเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง อันนี้ผมแล้วแต่ความแออัดของกระถาง ถ้าเค้าเติบโตแตกหน่อจนแน่นกระถางก็จะขยับขยายเปลี่ยนกระถางใหม่ให้ครับ


                             สำหรับเจ้าอโลที่เราได้แยกหน่อไว้นั้น ทุกต้นฟื้นตัวผ่านไปได้ด้วยดี เจริญเติบโตแข็งแรงดี ไม่มีต้นไหนตาย ถือว่าที่เราทำไปนั้นสำเร็จ ไม่มีปัญหาครับ


แต่ปัจจุบันไม้ชุดนี้ไม่อยู่แล้วนะครับ แยกย้ายไปอยู่กับเจ้าของใหม่เรียบร้อยแล้วล่ะครับ


                              ก็ไม่มีอะไรให้เขียนแล้วครับสำหรับเรื่องราวการชำหน่อต้นอโลก็ขอจบลงประมาณนี้แล้วกันนะครับ แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกต้นไม้เรื่องต่อไปของเรา

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.