Tuesday, April 28, 2015

Aloe christmas carol และเรื่องราวการปลูกอโล แบบมือใหม่หัดปลูก


        อโลเวร่า หรือ เจ้าว่านหางจระเข้สีสันสวยงามต้นนี้ ชื่อของเค้าตอนที่ได้มานั้นชื่อว่า Aloe christmas carol ครับ เค้าถือเป็นอโลต้นแรกที่ผมปลูกเลยก็ว่าได้ ซึ่งตอนที่ผมตัดสินใจซื้อเค้ามานั้นผมเรียนตามตรงเลยว่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าซื้อมาเพราะอะไร จำได้ว่าตอนนั้นผมเดินอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรแล้วเผอิญผ่านไปเห็นเค้าพอดี แล้วทุกอย่างก็รวดเร็วฉับไว ผมถามชื่อว่าต้นนี้ชื่อะไร ราคาเท่าไหร่ จ่ายเงินแล้วก็รับต้นไม้เสร็จสรรพ ตอนนั้นความมั่นใจในการปลูกยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ ความรู้ในการปลูกเลี้ยงไม้ชนิดนี้ก็เรียกได้ว่าไม่รู้เรื่องเลยสักนิด แต่ในเมื่อได้มาแล้วก็ต้องลองสู้ดูสักตั้ง และจุดเริ่มต้นในการปลูกอโลของผมก็เกิดขึ้น 


      แรกเริ่มตอนที่ได้มานั้นต้นของเค้าเล็กกว่าในภาพที่เอามาลงในตอนนี้มากและไม่ได้มีหน่อมากมายแบบตอนนี้นะครับเป็นต้นมาแบบเดี่ยวๆ โดดๆ มีใบประมาณสัก 6-7 ใบได้ ซึ่งพอกลับมาถึงผมก็ลองเทกระถางออกมาดูก่อนเลยว่าข้างในกระถางในเครื่องปลูกนั้นมีสภาพอะไรยังไงบ้าง เพราะเวลาที่ผมได้ต้นไม้มาใหม่ๆ ผมจะคิดก่อนเป็นอันดับแรกเลยว่าสถานที่ปลูกของผมนั้นไม่เหมือนที่อื่นและไม่เหมือนกับของคนขายแน่ๆ ในเมื่อสถานที่ปลูกไม่เหมือนกันอากาศและแสงแดดที่ได้รับก็ไม่เท่ากัน ผมก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมดให้การปลูกนั้นเข้ากับสถานที่ปลูกของผม ไม่เช่นนั้นปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะ ในสถานที่ปลูกที่ต่างกันมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกันนั้น ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ก็จะมีปัจจัยที่ส่งเสริมและทำลายที่ต่างกันด้วย เช่นสมมุติว่า ที่บ้านของผมนั้นเป็นสถานที่ซึ่งมีแสงแดดส่องน้อยมาก ความชื้นสูง ถ้าเกิดว่าต้นไม้ที่ผมซื้อมาจากร้านนั้นมีดินปลูกที่แน่นมีวัสดุปลูกที่เก็บความชื้นได้ดีอย่างเช่นขุยมะพร้าว หรือมีวัสดุปลูกอื่นๆ ที่อมนํ้ามากๆ ถ้าเกิดว่าพอผมนำมาปลูกทันทีโดยไม่มีการเปลี่ยนดินเสียก่อน ในสถานที่ปลูกของผมที่แสงแดดน้อยความชื้นสูง ต้นไม้ของผมจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเน่า เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นตัวอย่างที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องเทกระถางออกมาดูเวลาซื้อต้นไม้ใหม่ว่าในดินปลูกนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง และการทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการตรวจสอบสภาพดินแล้วยังได้ตรวจสอบสุขภาพของต้นไม้อีกด้วยว่ารากนั้นสมบรูณ์มั้ย มีรากเน่าหรือไม่ หรือมีพวกเพลี้ยมาแอบแฝงอยู่ในต้นไม้หรือไม่อะไรประมาณนั้น แต่ผมไม่ได้ทำแบบนี้กับไม้ทุกชนิดนะครับ ไม้บางชนิดที่บอบบางมากๆ ผมก็จะไม่ทำรุนแรงขนาดนี้จะค่อยๆ เอาไม้เขี่ยหรือจิ้มดูเท่านั้น แต่พวก อโล แคคตัส หรือไม้ประภาพที่ทนมือแบบนี้เนี่ยผมทำหมดเพราะผมคิดว่าเค้าทนทานพอที่จะสู้กับวิธีการผมได้


         หลังจากทำการตรวจเช็คดูแล้วว่าวัสดุปลูกที่มากับต้นไม้ที่เราซื้อมานั้นมีอะไรบ้างและเหมาะสมกับสถานที่ปลูกของเรามั้ย ถ้าไม่เหมาะผมก็จะทำการเปลี่ยนดินใหม่เพื่อให้มันเหมาะสมที่สุด อย่างเจ้าต้นนี้ตอนที่ได้มานั้นดินปลูกของเค้าเป็นดินที่มีส่วนผสมของใบไม้ ใบก้ามปู ค่อนข้างเยอะดูโปร่งระบายน้ำได้เป็นอย่างดีและระบบรากของอโลต้นนี้ก็ดีมากรากสดมาก ซึ่งผมมองว่ามันโอเคสำหรับผมแล้วเพราะที่บ้านผมนั้นก็เน้นใช้ดินโปร่งๆ เน้นระบายน้ำได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกันผมก็เลยไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากมายคงสภาพเอาไว้แบบนั้น


       ผ่านจากเรื่องดินไปแล้วก็มาดูกันที่เรื่องอากาศกันดีกว่าครับ จริงๆ ผมไม่ทราบแน่ชัดนะครับว่าอากาศแบบไหนที่เหมาะสมกับไม้ประเภทนี้ที่สุด ตอนแรกที่ผมปลูกเนี่ยผมคิดว่าเค้าน่าจะชอบแดดจัด ผมก็เลยจับเค้าไปวางไปในตำแหน่งที่โดนแดดจัดตลอดทั้งวัน ซึ่งก็เต็มๆ ครับ แดดมาเต็มที่จนใบไหม้กันเลยทีเดียว ก็เลยต้องมีการขยับจุดปลูกให้ได้รับแดดน้อยลง ซึ่งในตอนนี้ตอนที่เขียนบทความนี้อยู่นั้น อโลที่ผมปลูกอยู่ในจุดที่ได้รับแสงแดดประมาณครึ่งวันช่วงเช้าถึงเที่ยงครับ ซึ่งมันก็ค่อนข้างจะโอเคสำหรับเจ้าต้นนี้ ไม่มีปัญหาใบไหม้เกิดขึ้นอีกเลยครับ


       จริงๆ เรื่องแสงแดดเนี่ย จากที่ผมได้ยินมาและก็จากที่เห็นกับตัวเองด้วยเนี่ย อโล ถ้าได้รับแสงแดดเยอะๆ สีของใบจะเข้มขึ้น จะสวยขึ้นมากกว่าเลี้ยงแบบร่มโดนแดดน้อย ยิ่งช่วงหน้าหนาวด้วยนะ ทั้งอากาศทั้งแสงแดดจะดีและเหมาะสมกับไม้ประเภทนี้เป็นอย่างมาก แสงแดดจะช่วยขับสีผิวใบอโลให้เข้มโดดเด่นสวยงามกว่าหน้าอื่นเยอะเลยครับ ผมลองเทียบดูแล้ว เวลาเลี้ยงแบบร่ม โดนแดดน้อย กับเลี้ยงแบบโดนแดดมาก สีของใบจะต่างกันมากอย่างที่เค้าว่าเลยครับ แบบแดดจะสวยกว่าเยอะครับ ผมกล้ายืนยันเรื่องนี้อีกเสียง


         ในส่วนของการให้น้ำ ผมสบายมากเลยเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพดินปลูกที่โปร่งที่ผมเขียนไปในตอนแรกนั้น ทำให้การรดน้ำอโลของผมนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะเลี้ยงแบบโดนแดดครึ่งวันก็เพียงพอที่จะทำมให้ดินเค้าแห้งได้ในระยะเวลาที่ไม่นานมากแล้วครับ เพราะฉะนั้นผมสามารถที่จะรดน้ำได้บ่อยอย่างไม่ต้องกลัวว่าจะเน่าตายเลยล่ะครับ ซึ่งการรดน้ำของผมนั้นปรกติผมจะรดน้ำต้นไม้ตอนเช้าเป็นหลักเพราะผมว่างตอนนั้น ซึ่งในการรดน้ำนั้นก็ มีหลักง่ายๆ ถ้าฝนตกผมไม่รดน้ำ ถ้าฝนไม่ตกมองแล้วเห็นว่าแดดออกดีผมก็รด เท่านี้เองครับ 


       ส่วนเรื่องปุ๋ยเรื่องยาฆ่าแมลง ยากันรา พวกสารเคมีต่างๆ นั้นผมขอผ่านไม่เขียนอธิบายละเอียดแล้วกันนะครับ เรื่องพวกนี้ผมไม่ถนัดที่จะเขียนเท่าไร เพราะส่วนตัวผมนั้น ปุ๋ยผมก็ใส่แค่ ออสโมโค้ท สามเดือนครั้งเป็นหลัก ส่วนปุ๋ยอื่นๆ ก็แล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะแน่นำยังไงเหมือนกัน ส่วนยากันรา ยากันโรคเน่า ยาฆ่าแมลง สำหรับไม้ประเภทว่านหางจระเข้นั้น เรียนตามตรงว่าจากการที่ผมเริ่มต้นเลี้ยงไม้พวกนี้มาได้ประมาณปีกว่าแล้วเนี่ยผมแทบไม่เจอปัญหาพวกนี้เลยสักนิดก็เลยยังไม่เคยได้ใช้เลยครับ 


      ในส่วนอื่นๆ ของการปลูกอโลนั้น ก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้วล่ะครับสำหรับผม ผมก็เลี้ยงดูเค้ามาประมาณนี้แหละครับไม่ได้ทำอะไรมากมาย ซึ่งเค้าก็เจริญเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่องจนตอนนี้ก็อย่างที่เห็นคือโตจนแน่นเต็มกระถางแล้วครับ แถมยังแตกหน่อออกมาอีกเพียบ ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะมีการขยายกระถางให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อรองรับขนาดกอที่จะขยายขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็อาจจะมีการแยกหน่อไปชำเพื่อเพิ่มจำนวนอันนี้ก็ต้องไปว่ากันในอนาคตแล้วล่ะครับ 


          ก็บทความนี้ก็ไม่มีอะไรแล้วล่ะนะ ผมคงจะขอเขียนถึงแค่ประมาณนี้ก็แล้วกัน แต่ถ้าเกิดว่าในอนาคตผมได้รับความรู้อะไรใหม่ๆ ในเรื่องของการปลูกอโล ผมจะนำมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้อ่านกันในโอกาสต่อๆ ไปครับแน่นอนครับ จริงๆ นอกจาก aloe christmas carol ต้นนี้แล้วนั้นผมยังมี อโลสายพันธุ์อื่นๆ อยู่อีกหลายต้นเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นพวก aloe hybrid  ทั้งนั้นเลยครับ ก็เอาไว้เดี๋ยวโอกาสต่อไปในอนาคตอีกนั่นแหละก็คงจะได้มีการหยิบยกมาเขียนถึงกันใหม่อีกครั้ง


         ตั้งแต่ผมปลูกอโลมาเป็นระยะเวลาปีกว่า ถ้าให้ผมบอกว่าผมรู้สึกเช่นไรกับไม้ชนิดนี้นั้น ชอบหรือไม่ ชอบที่ตรงไหนเพราะอะไรถึงได้ชอบ ผมก็คงจะตอบเหมือนเดิมกับตอนแรกที่ผมได้เค้ามาว่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้ผมรู้สึกยังไง ชอบหรือไม่ ประทับใจที่ตรงไหน เสนห์ของเค้าคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจในความรู้สึกของตัวเองเหมือนกัน ผมรู้แค่ว่าปลูกเค้าแล้วสนุกดีก็เท่านั้น แต่ในสักวันถ้าผมยังปลูกเค้าต่อไปเรื่อยๆ ผมอาจจะหาเจอก็เป็นได้ว่าจริงๆ แล้วผมรู้สึกยังไง ชอบที่ตรงไหนและเพราะอะไรถึงได้ชอบ แต่บางทีคำตอบนั้นผมอาจจะหามันไม่เจอเลยก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องบางเรื่องนั้นมันก็ไม่มีเหตุผลจริงๆ ครับ




          ขอบคุณทุกท่านจริงๆ ครับที่อ่านบทความที่ผมเขียนมาจนจบ สุดท้ายก่อนที่จะปิดบทความนี้ลง ผมขออนุญาตฝากเพจของบล็อกนี้ไว้ด้วยแล้วกันนะครับ ตามลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ
 สามารถเข้าไปติดตามเรื่องราวในการปลูกกระบองเพชรของผมหรือจะทักทายพูดคุยกันในเรื่องราวต่างๆ ก็ยินดีครับ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.