Friday, June 12, 2015

เมื่อยิมโนด่างกราฟเกิดปัญหา วิธีการสังเกตและรักษาไม้กราฟที่กำลังป่วย อย่างง่ายๆ


                 ในการปลูกแคคตัสนั้น การสังเกตุการเจริญเติบโตของไม้เป็นสิ่งที่นักปลูกควรที่จะต้องทำบ้างเมื่อมีโอกาส ไม่เช่นนั้นท่านอาจจะพลาดและแก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีก็เป็นได้

                อย่างปัญหาในวันนี้ที่ผมจะนำมาเขียนถึงนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ cactus gymnocalycium variegata หรือเจ้ายิมโนด่างกราฟต้นนึงของผม ซึ่งก่อนหน้านี้เค้าเป็นไม้ที่ค่อนข้างจะมีการเจริญเติบโตค่อนข้างดี ตอที่ใช้ต่อดูอวบสมบรูณ์ ยอดของแคคตัสที่ต่อก็ดูสดใส แถมหน่อก็ออกค่อนข้างเก่ง เป็นไม้ที่ผมมักจะเด็ดหน่อมากราฟหรือไม่ก็เอามาปักชำอยู่เสมอ แต่ทว่าในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเค้าเกิดมีอาการต้นชะงัก การเจริญเติบโตค่อนข้างจะนิ่งไป ยอดเริ่มจะไม่เดิน หน่อรอบๆ ต้นก็ไม่ค่อยจะเจริญเติบโตขยายใหญ่ขึ้นสักเท่าไรนัก ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจเท่าไรว่าเค้าป่วยหรือยังปรกติดีหรือไม่ เพราะมันมีความเป็นไปได้ที่แคคตัสจะมีช่วงที่การเจริญเติบโตนั้นชะงักและหยุดนิ่งอยู่บ้าง ผมก็เลยได้แต่สังเกตุอาการอยู่ห่างๆ ไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้ลงไปจัดการอะไรมาก ลองให้เวลาเค้าไปสักพักก่อน ไม่แน่อาจจะกลับมาเจริญเติบโตปรกติเหมือนเดิมก็เป็นได้ โดยระหว่างนั้นก็มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบอาการไปเรื่อยๆ ว่าน่าจะมีความผิดปรกติในเรื่องไหนยังไงบ้าง


                 จุดที่ผมให้ผมสังเกตุและคิดว่ายิมโนกราฟต้นนี้การเจริญเติบโตหยุดชะงักและน่าจะมีปัญหานั้น ผมมองจากการที่ต้นของเค้าไม่มีหนามใหม่ๆ แตกออกมาเลย ยอดแคคตัสไม่ขยาย สีไม่สดใสเหมือนกับว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเลยสักนิด

ผมลองจับเค้าเทียบกันกับยิมโนด่างกราฟอีกต้นนึงที่อยู่ใกล้ๆ กัน ตามภาพด้านล่างเลยครับ


ต้นทางซ้ายคือต้นที่คิดว่ามีปัญหา ส่วนต้นทางขวานั้นเป็นต้นที่ปรกติที่เอามาเปรียบเทียบกัน

            จากที่ดูและคิดเอาเองในใจ ผมรู้สึกว่าต้นทางขวานั้นหนามตรงส่วนยอดจะสดใสกว่า เพราะยอดนั้นกำลังเดินการเจริญเติบโตค่อนข้างจะดี จึงมีหนามอ่อนที่พึ่งจะแตกขึ้นมาใหม่ ส่วนสีของต้นก็ค่อนข้างสดใส

            ส่วนต้นทางซ้ายที่คิดว่ากำลังมีปัญหานั้น ต้นจะดูไม่สดใส ตรงส่วนยอดก็ไม่ยอมออกหนามใหม่ๆ สังเกตุจากสีของหนามตรงบริเวณยอด ที่สีเข้มให้ความรู้สึกว่าเป็นหนามแก่ที่ออกมานานแล้วแสดงว่ายอดไม่เดินมาสักพักแล้ว อะไรประมาณนั้น อันนี้เป็นการวิเคราะห์เอาเองของผมนะครับ 

           ถ้าภาพไม่ชัดต้องขออภัยด้วยนะครับ ผมถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือเก่าๆ


                ลืมบอกไปนิดนึง คือทั้งสองต้นนี้นั้น เป็นแม่ลูกกันครับ ต้นทางขวาเกิดจากการที่เด็ดหน่อจากต้นทางซ้ายมากราฟเมื่อ 3-4 เดือนก่อน แต่ตอนนี้ต้นลูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนจะไล่ทันต้นแม่เสียแล้ว ส่วนต้นแม่นั้นนิ่งสนิทเลยครับ

          ต้นลูกอีกภาพนึง อันนี้เป็นมุมที่เจาะลงไปใกล้ๆ กำลังสดใส ยอดเดินดี การเจริญเติบโตกำลังไปได้สวยเลยครับต้นนี้


มาดูภาพด้านข้างของต้นแม่ที่ผมคิดว่ากำลังมีปัญหากันบ้าง ดูหมองๆ ยังไงก็ไม่รู้

            หลังจากที่ผมตั้งข้อสังเกตุว่าเจ้าต้นนี้น่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และก็เฝ้าดูอาการอยู่นานหลายวันเหมือนกัน แต่เค้าก็ยังไม่มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเลยสักนิด ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเทกระถางออกมาดูให้รู้กันไปเลยว่าใช่อย่างที่คิดหรือไม่ และผลก็ปรากฏว่า.....

            จริงตามคิดนั่นแหละครับ ตอของยิมโนแคคตัสต้นนี้นั้น รากเน่าเสียจนกุดเลยทีเดียวครับ ตามรูปที่ถ่ายมาให้ดูนั้น ผมรูดดินกับรากที่เปื่อยๆ ทิ้งไปจนเหลือมาแค่นี้แหละครับ


                 รากกุดแบบนี้ผมคิดว่าดินน่าจะมีปัญหาในเรื่องความชื้นที่มากเกินไป ทำให้รากของตอเกิดอาการเน่า และเมื่อรากเน่าการส่งอาหารไปเลี้ยงต้นก็มีปัญหา นั่นจึงกลายเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเจ้ายิมโนกราฟต้นนี้ถึงได้นิ่ง การเจริญเติบโตหยุดชะงักลงแบบนี้


               ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาในกรณีแบบนี้นั้น ผมใช้วิธีการง่ายๆ นั่นก็คือ เมื่อส่วนไหนเน่า เราก็แค่ทำการตัดออกให้หมด ตัดไปจนกว่าจะถึงส่วนที่ดี ส่วนไหนไม่ดีหรือไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ดี ก็หั่นทิ้งไปให้หมดเลยครับ อย่างกรณีของผมนั้นก็ตัดรากส่วนที่เน่าออกให้เรียบไปเลยครับ ก็ตัดจนชิดโคนตอกันเลยทีเดียวงานนี้ ไม่ต้องไปเสียดายรากเค้าหรอก เพราะแก้วมังกรนั้นออกรากง่ายมาก ขอแค่ตอไม่เน่าเราสามารถล่อรากให้กลับมาเหมือนเดิมได้สบาย



               เมื่อตัดแต่งรากเสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อความสบายใจ ก็ทำการพ่นยากันรากันเน่าสักหน่อย อาจจะใช้เป็นพวกแคปเทน หรือคาเบนดาซิมก็น่าจะได้อยู่นะ เรื่องตัวยาผมไม่สันทัดเท่าไรปรกติเวลามีปัญหาเรื่องราเรื่องเน่าผมจะใช้สองตัวนี้แหละก็เลยขอแนะนำเป็นสองตัวนี้ก็แล้วกัน


          หลังจากจับพ่นยากันเน่าเรียบร้อยแล้ว ถ้าอยากให้ตอออกรากใหม่เร็วๆ ก็ทายาหรือจุ่มยาเร่งรากเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ตอออกรากง่ายขึ้นด้วยก็ได้ หรือจะไม่ต้องทายาเร่งรากก็ได้ อย่างของผมนั้นก็ไม่ได้มีการทายาเร่งรากแต่อย่างใด ผมตัดแต่งรากเสร็จแล้วก็แค่วางผึ่งทิ้งไว้ให้แผลที่ตัดแต่งแห้งสักสามสี่วัน หรืออาจจะอาทิตย์นึงเลยก็ได้ อึดอยู่แล้วแก้วมังกร วางทิ้งไว้ได้ไม่มีปัญหา ระหว่างนั้นก็ดูอยู่เรื่อยๆ ว่าอาการเน่านั้นหยุดมั้ยหรือยังมีเพิ่มเติมอยู่ ถ้าตัดแต่งส่วนที่คิดว่าเน่าออกไปแล้วแต่ก็ยังไม่หยุดเน่ายังมีอาการลามไปเรื่อยๆ ก็แสดงว่าเรายังตัดออกไม่หมด ก็ต้องตัดใหม่อีกรอบ ปาดให้ลึกขึ้นไปอีกจนกว่าจะหมดนั่นแหละ แต่อย่างกรณีของผมนั้น ไม่ต้องทำเพิ่มแล้ว แค่ที่ตัดไปรอบแรกนั้นมันโอเคแล้ว และหลังจากที่วางผึ่งเอาไว้ก็ไม่มีอะไรที่ผิดปรกติเกิดขึ้นเพิ่มเติม แผลแห้งสนิทดี พร้อมที่จะลงปลูกได้แล้วล่ะครับ

            ว่าแล้วก็ลงดินได้ทันที จากนั้นก็เอาไว้ในที่ร่มรำไรสักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ ให้เค้าเริ่มฟื้นและออกรากก่อน แล้วค่อยขยับออกแดด ในอนาคตต่อไป


             วิธีการดูว่าไม้ของเรานั้นเริ่มฟื้นแล้วหรือยัง ก็ดูจากยอดนะครับ ถ้ายอดเริ่มเดิน เริ่มมีการขยายตัวแตกหนามใหม่ออกมาเมื่อไร ก็แสดงว่าไม้ของเรานั้นเริ่มกลับมาเป็นปรกติพร้อมที่จะเจริญเติบโตอีกครั้งแล้วล่ะครับ 

             ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพตอนที่ผมเอาไม้ที่รักษาเสร็จแล้วมาลงปลูกใหม่ วันที่ปลูกคือวันที่ 26/5/2558 ยังดูหมองๆ อยู่เลยนะครับตอนนี้

           
              ส่วนภาพต่อมาด้านล่างนี้คือภาพที่ถ่ายในวันที่ 8/6/2558 ประมาณสองอาทิตย์ต่อมานั่นเองครับ จะเห็นว่าไม้เริ่มฟื้น ยอดกลับมาเดิน การเจริญเติบโตเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นแล้วนะครับ ลองดูจากตรงยอดของแคคตัสเทียบกันกับภาพบนนะครับ จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรเลยทีเดียว ยอดใหม่กำลังขยายเริ่มเผยให้เห็นความสดใสแล้วล่ะครับ


                หรือไม่ถ้าไม่ดูจากยอดของแคคตัส ก็สังเกตุที่ตอก็ได้ครับ เวลาที่เราตัดแต่งรากตอแล้วลงปลูกใหม่ๆ ตออาจจะมีอาการฟีบลงเนื่องจากการขาดนํ้าได้เนื่องจากไม่มีรากคอยดูดนํ้าและอาหารมาเลี้ยง แต่เวลาผ่านไปถ้าตอจากที่ฟีบลงในตอนแรกเริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงกลับมาอวบอ้วนสมบรูณ์ก็แสดงว่าตอเริ่มจะออกรากใหม่ นั่นหมายความว่าเค้าเริ่มฟื้นตัวแล้วล่ะครับ และนั่นก็เท่ากับว่าการรักษาของเรานั้นเสร็จสมบรูณ์ผ่านไปได้ด้วยดีแล้วครับ

ลืมถ่ายภาพตอมาให้ดูว่าเป็นยังไง ลงเป็นภาพนี้แทนและกัน

               วันนี้ก็มีวิธีการสังเกตุอาการของแคคตัสกราฟที่กำลังป่วยและการรักษาเบื้องต้นมาบอกกัน ประมาณนี้ก่อนก็แล้วกัน เอาไว้ในอนาคตต่อไปถ้ามีโอกาส ผมจะมาเขียนถึงอาการป่วยของแคคตัสในแบบอื่นๆ โรคอื่นๆ เพิ่มเติมก็แล้วกันนะครับ


                 ผมเองนั้นยังไม่เก่งเท่าไร ยังเป็นมือใหม่อยู่ เลยยังอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องโรคของแคคตัส หรือปัญหาและการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรักษาโรคของกระบองเพชรที่มากสักเท่าไรนัก ถ้าสิ่งใดที่ผมเขียนแล้วให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง สามารถติชมเสนอแนะได้อย่างเต็มที่เลยนะครับ ผมยินดีนำกลับไปแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ข้อมูลที่เขียนนั้น ถูกต้องและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ขอบคุณทุกท่านที่ผ่านเข้ามาอ่านในบล็อกของผมด้วยนะครับ


สามารถติดตามเรื่องราวต่างๆ ของบล็อกของเราเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ


No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.