Wednesday, December 5, 2018

การกราฟแคคตัสแบบผ่าครึ่งหัว ( แคคตัสหนึ่งหน่อผ่าครึ่ง แบ่งกราฟได้เป็นสองต้น )


                         บทความในคราวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการกราฟแคคตัสอีกแล้วนะครับ ครั้งนี้เราจะมาลองกราฟหน่อแคคตัสแบบผ่าครึ่งหน่อกัน อธิบายขยายความก็คือ แคคตัส 1 หน่อ ผมจะผ่าครึ่งเป็น 2 ชิ้น และนำทั้งสองชิ้นนั้นแยกกันไปกราฟต่อตอคนละอัน ได้เป็นไม้กราฟต้นใหม่ 2 ต้น คุ้มกันไปเลยงานนี้

                         แต่ที่มาที่ไปจริงๆ แล้ว เรื่องราวมันก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผมเท่าไร คือผมได้หน่อแคคตัสแอสโตรกิ๊กโกะด่างมาหน่อนึง ( Astrophytum asterias cv. kikko variegata )  

หน่อแอสโตรโกะด่าง

                          ซึ่งตอนแรกก็จะเอาไปกราฟแบบปรกติทั่วไปนั่นแหละ แต่ว่าผมมองแล้วหน่อมันมีลักษณะแบนมากๆ ลองดูตามรูปด้านล่างนะครับ


                           จากในรูปเป็นมุมด้านข้างของหน่อ ผมมองว่าหน่อมันแบน เวลาตอนที่ผ่ากราฟ ผมกลัวจะผ่าพลาดแล้ว ถ้าเกิดว่าลงมีดพลาด ผ่าเบี้ยวขึ้นมา มันอาจต้องมีการผ่าแก้ กลัวจะผ่าลึกมากเกินไป และอีกอย่างนึงที่ผมไม่มั่นใจก็คือรอยที่เด็ดหน่อมานั้น แผลเด็ดหน่อมันบุ๋มกินลึกเข้าไปในตัวหน่อค่อนข้างเยอะ ลองดูรูปด้านล่าง


                          จะเห็นนะครับว่าหน่อแอสโตรหน่อนี้ มีแผลเด็ดหน่อบุ๋มกินเข้าไปข้างในตัวหน่อเยอะไป ซึ่งถ้าเรากราฟแบบปรกติ ตามแนวที่ผมเอามีดขีดไว้ในภาพด้านล่าง


                            ถ้าผ่ากราฟตามแนวนี้ ตามรูปแบบการกราฟแบบปรกติ จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นว่า หน่อมันแบน และแผลเด็ดหน่อนั้นมันลึกเข้าไปในหัวแคคตัสมาก ผมกลัวว่าผ่ากราฟแบบปรกติจะพลาดเสียของ เพราะจะนั้นผมก็เลยจะเปลี่ยนแนวการผ่าใหม่เป็นการผ่าครึ่งหน่อแทน 


                             ผมจะผ่าครึ่งตามแนวที่เอามีดวางขีดไว้นี้เลยครับ จะผ่าตรงรอยนี้แล้วแบ่งเป็น 2 ส่วน และ นำทั้ง 2 แยกไปกราฟโดยส่วนนึงจะเอาไปกราฟบนตอสามเหลี่ยม และอีกส่วนจะเอาไปกราฟบนตอหนามดำครับ

                            โดยตอที่เลือกมาใช้นั้น ผมจะใช้เป็นตอที่ต้นใหญ่หน้าตัดกว้าง เป็นตอที่ผมมองแล้วมีขนาดไม่เล็กกว่าขนาดของหน่อที่จะกราฟ และตอที่เลือกมาใช้นั้นผมเลือกเป็นตอที่ผ่านการปักชำจนออกรากและเลี้ยงมาจนต้นเติบโตเต่งตึงสมบรูณ์พร้อมใช้แล้ว

                            ที่ผมไม่อยากใช้ตอตัดสดมากราฟในครั้งนี้เพราะอยากให้หลังจากที่ต่อติดแล้วตอพร้อมส่งการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทันทีผมเลยเลือกตอที่เลี้ยงจนออกรากต้นเต่งตึงสมบรูณ์แล้วมาใช้ ไม่ใช่ว่าตอตัดสดจะใช้ไม่ได้นะครับ ก็อาจจะใช้ได้ ต่อติดได้ไม่มีปัญหาก็ได้ แต่ผมชอบตอที่เลี้ยงจนออกรากแล้วมากกว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัวครับ ที่เลือกแบบนี้

                            เริ่มกราฟกันเลยดีกว่า เริ่มจากสามเหลี่ยมหนามก่อนก็แล้วกัน โดยผมจะปาดที่ยอดของตอ จากนั้นก็ตัดแต่งขอบตอ ตามภาพ


จะได้ออกมาเป็นแบบนี้ครับ


พอตัดแต่งขอบตอเรียบร้อยแล้วแบบนี้ ต่อไปเราก็จะไปผ่าหน่อแคคตัสกัน


                            จากนั้นก็นำเจ้าแคคตัสที่เราผ่าไปต่อบนตอที่เตรียมไว้ได้เลยครับ โดยในการต่อนั้นดูให้แนวท่อน้ำเลี้ยงของเจ้าแคคตัสและท่อน้ำเลี้ยงขอตอนั้นตรงกันจากนั้นก็ประกบลงไปได้เลยครับ

บางท่านอาจจะสงสัยหรืออาจจะไม่ทราบว่าแนวท่อน้ำเลี้ยงนั้นมันอยู่ตรงไหน มันเป็นอย่างไร ดูที่ภาพด้านล่างนะครับ


                           แนวท่อน้ำเลี้ยงของเจ้าแคคตัสกับของตอนั้น ก็คือแนวตามเส้นประจุดดำตรงกลางที่ผมขีดไว้นั่นล่ะครับ นี่คือแนวท่อน้ำเลี้ยง  คือมันจะมีแนวเส้นให้เราได้เห็นอยู่ ตอนกราฟคุณต้องลองสังเกตุดูน่าจะพอมองออกครับ โดยในการต่อกันนั้น เราจะประกบเจ้าแคคตัสลงไปบนตอโดยให้แนวขอท่อน้ำเลี้ยงนั้นทาบตรงกัน อาจจะไม่ต้องตรงกันทั้งหมดก็ได้ เพราะท่อน้ำเลี้ยงของตอกับของแคคตัสนั้นมันยาวไม่เท่ากันแนวเส้นนั้นต่างกัน ขอแค่มีส่วนของแนวบางส่วนที่ตรงกันก็น่าจะต่อกันติดได้ครับ ( ผมเขียนอธิบายไม่ถนัดเท่าไร มันบอกเป็นคำพูดได้ยาก ยังไงดูตามรูปนะครับ ต้องขอโทษด้วยครับ )


ต่อลงไปเรียบร้อยแล้วครับ


จากนั้นก็ติดสก๊อตเทป เป็นอันเสร็จ


                            กราฟหน่อแคคตัสไปแล้วครึ่งนึง เหลืออีกครึ่ง เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมจะเอาตออันต่อไปมาปาดยอดเลยแล้วกัน อันนี้ใช้เป็นตอหนามดำกันบ้าง โดยวิธีการนั้นก็เหมือนเดิมครับ ปาดและตัดแต่งขอบ


จากนั้นก็นำเจ้าแคคตัสอีกครึ่งนึงที่เหลืออยู่มาต่อลงไปเลยทันที 


ติดสก๊อตเทป 


เรียบร้อยครับ


                             เมื่อเรากราฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะนำไม้กราฟของเราไปเก็บเอาไว้ เพื่อรอเวลาให้เนื้อของตอกับเนื้อของเจ้าแคคตัสนั้นสมานต่อติดกัน โดยสถานที่เก็บนั้น ผมจะวางเค้าไว้ในจุดที่มีแสงส่องรำไร อย่าให้โดนแดดจัด อย่าให้ตากฝนอย่างเด็ดขาด โดยระยะเวลาในการเก็บนั้น เจ้าไม้กราฟตอสามเหลี่ยมหนามผมจะวางเก็บไว้ 1 สัปดาห์ ก็น่าจะต่อกันติดดีแกะสก๊อตเทปออกได้แล้ว

                             ส่วนเจ้าไม้กราฟตอหนามดำ อาจต้องให้เวลาในการต่อกันกันมากกว่าสักหน่อย โดยผมจะเก็บเอาไว้ 2 สัปดาห์ ถึงเค้าเอามาออกมาแกะสก๊อตเทปครับ


                             และด้วยความที่ในการกราฟตอหนามดำนั้น กว่าที่เค้าจะต่อติดกันมันใช้เวลานาน ผมจะนำถุงพลาสติกใส ( ถุงใส่แกงนั่นแหละ ) มาครอบไว้เพื่อรักษาความชื้น ไม่ให้แผลมันแห้งเกินไป เดี๋ยวแผลจะหดทำให้ต่อไม่ติด ซึ่งอันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวนะครับ ไม่ได้มีอะไรมาการันตีนะว่าต้องทำแบบนี้ถึงจะถูก บางท่านที่กราฟก็ไม่ได้ทำแบบนี้เลย ต่อเสร็จก็วางเก็บเลยไม่ได้ครอบถุงซึ่งก็ต่อติดดีไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ผมทำเพราะผมอยากทำ เพราะงั้นยังไม่ต้องทำตามผมก็ได้นะครับ แล้วแต่คุณจะพิจารณา 

                             ตัดภาพมาอีกที 1 สัปดาห์ผ่านไป เจ้าตอสามเหลี่ยมน่าจะติดแล้ว เพราะฉะนั้นผมจะเอาออกมาแกะสก๊อตเทปให้ได้ดูกันเลยดีกว่าว่าติดมั้ย


แกะเรียบร้อยแล้ว เท่าที่ดูก็ติดดีไม่มีปัญหาอะไรครับ


                             จากนี้ผมก็จะนำเจ้าต้นนี้ออกมาเลี้ยง โดยจะให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ( อย่าพึ่งให้โดนแดดจัด ) และให้น้ำเมื่อเห็นว่าดินเริ่มแห้ง และรอดูความเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตว่าเป็นยังไง ถ้าเค้าต่อกันติดสนิทดีไม่มีปัญหาอะไรมาแทรกซ้อน สัก ไม่กี่วันต่อมา หรืออาจจะอาทิตย์ต่อมา เค้าจะเริ่มมีพัฒนาการการเจริญเติบโตให้ได้เห็นครับ ซึ่งเมื่อเค้าเริ่มเติบโตอย่างชัดเจน แคคตัสยอดเริ่มเดินเมื่อไร ก็ค่อยเพิ่มแสงแดดที่เค้าได้รับให้มากขึ้นไปทีละระดับต่อไปครับ จนเค้าตั้งตัวได้ มั่นใจแล้วว่าเติบโตอย่างไม่มีปัญหาก็เลี้ยงตามปรกติครับ

                            ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์ ครบกำหนด 2 สัปดาห์หลังจากการกราฟ ได้เวลาที่เราจะเอาไม้กราฟตอหนามดำออกมาแกะสก๊อตเทปกันแล้วล่ะครับ 


แกะเรียบร้อยแล้ว ต่อติดดีไม่มีปัญหา 

                              สำหรับตอหนามดำนั้นอาจจะมีคราบสีดำเกิดขึ้นที่บริเวณรอยปาดได้บ้าง นั่นคือยางของเค้าที่ไหลออกมาครับ เพราะตอนกราฟผมไม่ได้เช็ดยางออก แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรครับ ไม้ที่กราฟไปก็ยังปรกติดียางสีดำไม่ได้ส่งผลอะไรกับเจ้าต้นนี้ที่เราได้กราฟไปครับ


                            ในการดูแลก็เหมือนกันเลยครับ ช่วงแรกๆ หลังจากที่เค้าพึ่งต่อติด เราจะเลี้ยงแบบให้เค้าได้รับแดดอ่อนๆ รดน้ำเมื่อเห็นว่าดินเริ่มแห้ง รอดูพัฒนาการการเจริญเติบโต เมื่อเห็นว่าเค้ามีการเติบโตตั้งตัวได้เมื่อไรก็เลียงตามปรกติเหมือนเลี้ยงไม้กราฟทั่วไปเลยครับ


                           เลี้ยงปรกติแบบเลี้ยงไม้กราฟทั่วไปของผมนั้นก็ให้เค้าได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน ซึ่งผมเลี้ยงในโรงเรือน ที่มีแดดส่องตลอดทั้งวัน ก็เลยจะมีการขึงพลางแสงเพื่อลดความแรงของแสงไม่ให้แรงจนเกินไป เพราะแดดช่วงเที่ยงจะแรงมากๆ แต่ถ้าท่านไม่มีโรงเรือน ปลูกต้นไม้อยู่หน้าบ้าน หรือบนระเบียง ผมคดว่าแสงแดดที่เหมาะสมคือแดดในช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยง 7-11.30 ผมว่าให้เค้าได้รับแสงแดดช่วงนี้จะกำลังดีครับ

ส่วนการรดน้ำ สำหรับไม้กราฟ ผมจะดูที่ดิน พอเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็จะรดเลยทันที รดแบบเต็มที่เลยครับ 

สำหรับการให้ปุ๋ยนั้นก็ไม่มีอะไรมาก ผมใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) 3 เดือนครั้ง

                            ก็ประมานนี้ครับ ที่เหลือก็ดูๆ กันไป มีปัญหาตรงไหนก็ค่อยๆ ปรับกันไปไม่ตายตัว เพราะการปลูกต้นไม้มันไม่แน่ไม่นอนอยู่แล้ว ปัญหาอาจเกิดได้ทุกเวลา เจอปัญหาก็แก้ไป ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ


                            สำหรับการกราฟแบบผ่าครึ่งหัวในครั้งนี้ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจเลยล่ะครับ ทั้งสองส่วนที่แบ่งกันไปกราฟ ต่างเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่เจอปัญหาอะไร กำลังสดใสเลยครับ



                            ถือว่าคุ้มมากเลยนะครับ จากแอสโตรโกะด่างหนึ่งหน่อที่ผ่าไป ตอนนี้ผมได้แอสโตรโกะด่าง ไม้กราฟสวยๆ กลับมาถึง 2 ต้นเลยทีเดียว

.

                            ก็ประมาณนี้แล้วกันนะครับสำหรับเรื่องราวการกราฟแคคตัสในครั้งนี้ แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวการปลูกแคคตัสเรื่องต่อไปของเรา

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.