Sunday, September 30, 2018

เมื่อแคคตัสของฉันป่วย เรื่องราวเมื่อเจ้าไม้กราฟตอแก้วมังกรเกิดปัญหาตอบางส่วนเน่า


                            ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่หลายๆ ท่านที่ปลูกกระบองเพชรจะเจอกับปัญหาโรคที่มากับความชื้น อย่างเช่นโรครา โรคเน่า ซึ่งตัวผมเองนั้นก็เจอเช่นเดียวกัน หน้าฝนปีนี้มีแคคตัสหลายๆ ต้นของผมที่ต้องจากกันไปเพราะเน่าตาย และบางส่วนที่เน่าแต่ยังพอช่วยได้ทันก็มี อย่างเช่นเจ้าแคคตัสที่ผมนำมาเขียนถึงในวันนี้ เป็นแอสโตรด่างกราฟต่อบนตอแก้วมังกรที่เจอปัญหาตอมีอาการเน่าบางส่วน ทำให้ต้องเร่งรักษาก่อนที่จะลุกลามไปไกล ซึ่งแนวทางการรักษาที่ผมใช้นั้น มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ก็จะมาบอกเล่ากันอย่างละเอียด

                          แต่ก็ต้องขอออกตัวก่อนเลยนะครับว่าผมก็ไม่ได้ทราบทุกเรื่องเกี่ยวกับความผิดปรกติของต้นไม้ หรือรักษาได้หมดทุกต้นหรอกนะครับ หลายๆ อาการผมก็ไม่เคยเจอ ไม่สามารถรักษาได้เหมือนกัน บางครั้งที่มีคนส่งคำถามมาเกี่ยวกับไม้ป่วย ต้นนี้เป็นอะไร เกิดจากอะไร รักษายังไง บางเรื่องผมก็ตอบไม่ได้หรอกนะครับ ยิ่งถ้าเป็นการพูดคุยกันโดยที่ไม่ได้เห็นอาการนั้นอย่างชัดเจน ไม่ได้ทราบรายละเอียดการปลูกและการดูแล ผมก็ไม่กล้าตอบเหมือนกันครับ ก็ต้องขอโทษไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับที่หลายๆ ครั้งผมปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องไม้ป่วยไป

                          มาดูกันที่เรื่องราวของเรากันต่อดีกว่าครับ สำหรับเรื่องราวในวันนี้นั้น จุดเริ่มต้นคือ ผมเห็นเจ้าแอสโตรด่างไม้กราฟตอแก้วมังกรต้นนี้ จู่ๆ ก็มีอาการผิดปรกติที่บริเวณโคนตอ 


                             คือตอแก้วมังกรต้นนี้ เดิมทีเค้ามีสีเขียวทั้งตอลงไปจนถึงผิวหน้าดิน ตอส่วนที่เหนือพื้นดินขึ้นมาจะเป็นสีเขียว ประมาณนั้น แต่แล้วจู่ๆ บริเวณด้านล่างของตอเกิดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองช้ำๆ อย่างที่เห็น ผมก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว


                           แต่ผมจะยังไม่ตัดสินฟันธงเลยทันทีหรอกนะ ผมจะถอนเค้าขึ้นมาดูให้ชัดกว่านี้ก่อน ว่าในเมื่อบริเวณโคนตอนั้นมันอาการแบบนี้ แล้วรากของเค้ายังอยู่ดีหรือไม่ รากยังสมบรูณ์มั้ย

พอถอนขึ้นมา ปรากฏว่า


                            รากกุดแบบนี้ แสดงว่ารากเน่าหมดแล้ว ตอนนั้นที่ผมคิดก็คือ ที่สีของตอเปลี่ยนเป็นแบบนี้ น่าจะเพราะรากเน่าแล้วมันลามขึ้นมาเน่าที่ต้นด้วย อันนี้คือแค่คิดนะครับ แค่คิดแต่ยังไม่ตัดสิน

                            ซึ่งหลักในการจะพิจารณาว่าแคคตัสนั้นเน่าหรือไม่ ก็คือถ้าเราสงสัยว่าแคคตัสของเรานั้นเน่า ตรงส่วนไหนที่เราคิดว่ามันเน่า ให้เรากดลงไปแรงๆ ถ้าตรงส่วนที่เรากดลงไปนั้นมันนิ่มจนเละเป็นน้ำล่ะก็แสดงว่าเน่า แต่ถ้านิ่มแต่ไม่เละเป็นน้ำก็อาจจะยังไม่แน่ 

บอกอีกรอบนะครับว่า ถ้าตรงไหนเน่า เรากดลงไปแรงๆ ตรงนั้น มันจะนิ่มจนเละเป็นน้ำนะครับ

                           บางท่านพอเห็นว่าแคคตัสเกิดต้นนิ่ม ก็ตัดสินไปว่ามันเน่าแน่ๆ บางทีแค่นิ่มอาจจะไม่ได้เน่าก็ได้นะครับ บางทีมันแค่นิ่มเพราะมันแค่ขาดน้ำก็ได้ครับ ต้นเลยนิ่ม ต้องดูรายละเอียดอย่างอื่นประกอบกันก่อนจะตัดสินด้วยนะครับ ต้องนิ่มกดลงไปแล้วเละเป็นน้ำ และตรงส่วนที่เน่านั้นสีจะช้ำๆ นึกถึงผลไม้เน่าก็ได้ครับ เวลาผลไม้เริ่มเน่า ตรงส่วนที่มันเน่าจะเป็นสีช้ำๆ พอกดลงไปจะเละเป็นน้ำ นั่นคือเน่าครับ

                          เช่นเดียวกัน บางท่านเห็นแคคตัสสีเปลี่ยนไป แล้วคิดว่ามันเน่า ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้เน่าก็ได้นะครับ แคคตัสบางชนิดสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงได้ตามสภาพอากาศ บางทีได้รับแดดที่จัดขึ้นสีก็อาจจะเปลี่ยนเป็นจัดขึ้นได้ครับ หรือบางท่านเห็นที่โคนต้นของแคคตัสตรงส่วนที่ติดดินหรืออยู่ใต้ดินนั้นเป็นสีนํ้าตาลก็เข้าใจไปว่า โคนต้นเป็นสีนํ้าตาลคือมันเน่าแน่ๆ เอามีดไปผ่าทิ้ง จริงๆ มันอาจจะไม่ได้เน่าแต่ที่เป็นสีนํ้าตาลตรงโคนต้นเพราะมันคือคราบความชื้นก็ได้นะครับ เป็นคราบความชื้นในดินที่เกิดจากตรงส่วนนั้นในอดีตถูกฝังในดินหรือถูกกลบด้วยดินและหินมานานโดนความชื้นในดินสะสมนานเข้าสีผิวก็เลยเปลี่ยนได้นะครับ ไม่ได้เน่านะ ถ้าแคคตัสคุณสีเปลี่ยนแล้วคุณสงสัยว่ามันเน่า สีของแคคตัสที่มีอาการเน่า จะเป็นสีช้ำๆ นึกถึงสีของผลไม้เน่า มะม่วงเน่า ชมพู่เน่า สีช้ำน้ำ และถ้าเรากดลงไปตรงจุดที่คิดว่ามันเน่า ถ้าเน่ามันจะนิ่มจนเละเป็นน้ำ โอเคนะครับ
  
                        จากที่ผมลองกดลงไปดูตรงบริเวณโคนตอที่คิดว่าน่าจะเน่า ผลปรากฏว่ามันนิ่มจนเป็นน้ำจริงๆ ครับ แสดงว่าเน่า ผมก็เลยผ่าเปิดดูข้างในเนื้อตอ อย่างที่เห็นเลยครับ
  

                           ข้างในเนื้อตอมันเริ่มเหลวเป็นน้ำแล้วอย่างที่เห็น แบบนี้คือเน่าแน่นอนครับ ถ้าคุณเจออาการแบบนี้ คุณลองดมดูก็ได้ครับ มันจะมีกลิ่นเหม็นแปลกๆ แต่เอาจริงไม่ต้องดมหรอก มันเละแล้ว ชัดแล้วว่าเน่า
 

เมื่อชัดเจนแล้วว่าตอแก้วมังกรต้นนี้เน่า ผมก็จะมาประเมินอาการแล้วรักษากัน

จากที่ดู ตอมันเน่าแค่บางส่วน ซึ่งส่วนที่ผมคิดว่าเน่านั้นมันถึงแค่แนวที่ผมเอามีดวางทาบไว้


                          คือมันยังเน่าถึงแค่ไม่เกินนั้น เหนือจากจุดที่ผมวางมีดทาบไว้นั้นยังดีอยู่ ซึ่งแบบนี้ไม่ยากครับ หลักในการรักษาแคคตัสที่มีอาการเน่าก็คือ เราแค่ปาดส่วนเนื้อที่เน่าทิ้งไป เน่าแค่ไหนเอาออกไปให้หมด ให้เหลือแค่ส่วนที่ดีเอาไว้ ซึ่งในกรณีของเจ้าไม้กราฟต้นนี้นั้นมันยังเน่าแค่บางส่วน ยังเหลือตอส่วนที่ดีอีกเยอะ เพราะงั้นผมคิดว่าน่าจะรอดแน่นอน สบายๆ ครับ

มาลงมือผ่าปาดเนื้อส่วนที่เน่าทิ้งกันเลยนะครับ  


                          ความพิเศษอย่างนึงของตอแก้วมังกรนั่นก็คือ เค้าออกรากจากแกนตอ นั่นหมายความว่า ถึงแม้ว่าเนื้อของตอจะเน่า แต่ถ้าแกนของตอนั้นยังไม่เน่า ถ้าแกนตอนั้นยังแข็งไม่เน่าตามไป เราไม่ต้องตัดแกนตอทิ้งก็ได้ เก็บแกนตอเอาไว้เพื่อให้เป็นจุดที่ออกรากได้ครับ


                              ซึ่งจากที่ผมลองปาดเนื้อส่วนที่เน่าออกจนถึงแกนตอ ขูดแกนตอดูแล้ว ยังดีอยู่ครับ แกนตอยังไม่เน่าเพราะงั้นผมก็เลยจะเหลาแค่เนื้อตอส่วนที่เน่าออกไปก็พอ อย่างที่เห็น


                          ปาดเนื้อที่เน่าออกให้หมด เอาจนเราแน่ใจว่าปาดออกหมดแล้วนะครับ ถ้าปาดไม่หมดมันจะไม่หยุดเน่า จะลุกลามต่อ เท่ากับว่าที่เราทำไปนั้นมันจะเสียเปล่า เน่าไม่จบ เพราะฉะนั้นต้องเอาออกให้หมดให้แน่ใจนะครับว่าปาดออกไปหมดแล้วถึงพอ


                           เรียบร้อยครับ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเอาส่วนที่เน่าออกหมดแล้ว จากนั้นก็จะเอาเจ้าต้นนี้ไปวางผึ่งเอาไว้เพื่อรอให้แผลแห้ง โดนวางผึ่งเอาไว้ 7 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้น

                          โดยจุดที่วางผึ่งไม้ของผมนั้น ผมวางไว้ตรงจุดที่ไม่อับ อากาศถ่ายเทดี ผมก็วางไว้ในบ้านนั่นแหละครับ บนโต๊ะริมหน้าต่าง ลมระบายดี ไม้ที่วางผึ่งก็แห้งไวไม่อับชื้น 

                         ในระหว่างที่เราวางผึ่งเอาไว้ ให้สังเกตด้วยนะครับว่า เค้ามีอาการเน่าลุกลามหรือไม่ ถ้าเค้ามีอาการเน่าเพิ่ม ให้เราผ่าส่วนที่เน่าทิ้งไปอีกรอบ เอาให้หมด แล้วนับเวลาใหม่ วางเอาไว้ต่ออีก 7 วันให้แผลแห้ง แต่ถ้าไม่มีอาการเน่าเพิ่มเติม ก็ไม่มีปัญหาครับ

1 อาทิตย์ผ่านไป


                           เจ้าไม้กราฟที่เราวางผึ่งเอาไว้ ก็ยังอยู่ดี อาจจะมีอาการขาดน้ำจนต้นเหี่ยวได้บ้าง เพราะไม้ถูกถอนขึ้นมา เสียรากไป ทำให้ไม่มีน้ำกิน ต้นก็เลยซูบลงจนเหี่ยวได้ แต่เดี๋ยวพอเราเอากลับไปลงปลูก เมื่อเค้าออกรากใหม่ เดี๋ยวก็กลับมาเจริญเติบโตต้นตึงครับ


                          ดูที่ตรงรอยที่เราผ่าเนื้อส่วนที่เน่าออกแล้วเหลาเหลือแกนตอ จะเห็นว่าแข็งแรงดีนะครับ แผลแห้ง ไม่มีติดเชื้อหรือเน่าลาม แบบนี้โอเคพร้อมลงปลูกได้แล้วล่ะครับ


                          การลงปลูกไม้กราฟของผมนั้นก็ง่ายมาก ดินปลูกใช้เป็นดินใบก้ามปู ส่วนการดูแลนั้น ช่วงแรกๆ หลังจากลงปลูกก็อย่าพึ่งให้โดนแดดจัด เดี๋ยวจะไหม้แดดเอา ให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปก่อนจนกว่าจะเริ่มออกรากและมีพัฒนาการการเจริญเติบโต ค่อยเพิ่มแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้น หรือเทรนแดดนั่นเองครับ

                          ส่วนการรดน้ำนั้น ผมเอาแบบง่ายๆ เลย ถ้าเห็นมันเริ่มแห้ง ผมก็จะรดน้ำเลยทันที ไม่ได้นับนะครับว่ากี่วันครั้ง เดินผ่านเห็นดินเริ่มแห้ง ผมก็รดน้ำเลย

ส่วนการให้ปุ๋ยก็ ผมใส่ปุ๋ยละลายช้า ( ออสโมโค้ท ) 3 เดือนใส่ครั้งนึงครับ

เจ้าต้นนี้หลังจากที่ลงปลูกไปก็ไม่มีปัญหาอะไร เค้ากลับมาเจริญเติบโตตามปรกติเลยครับ


1 เดือนต่อมาหลังจากที่ลงปลูกเค้าก็มีดอกจนได้


ก็ไม่มีอะไรแล้วล่ะครับ เค้ากลับมาแข็งแรงเติบโตสดใสอีกครั้ง เท่ากับว่าการรักษาในครั้งนี้ของผมนั้น สำเร็จผ่านไปได้ด้วยดี


                           ก็ขอจบเรื่องราวเมื่อเจ้าไม้กราฟตอแก้วมังกรเกิดปัญหาตอเน่าบางส่วนแต่เพียงเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวต่อไปของเรา


เพจของเรา  https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.