Thursday, August 30, 2018

ตอต่อตอ การขยายพันธุ์ตอหนามดำด้วยการกราฟ


                          ตอที่ใช้ในการกราฟแคคตัสนั้นมีหลายชนิด ตอบางชนิดเป็นตอที่โตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ง่าย อย่างเช่นตอแก้วมังกร ตอสามเหลี่ยมหนาม ตอเปเรสเกีย เหล่านี้เป็นตอที่โตเร็ว ตัดกิ่งมาชำไม่นานก็ออกราก เลี้ยงต่อไปอีกไม่นานเค้าจะแตกกิ่งให้ขยายพันธุ์ต่อได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีตอบางชนิดที่โตค่อนข้างช้า อย่างเช่นตอหนามดำ ตอบลู ถ้าเลี้ยงแบบปรกติ อย่างปักชำหน่อ หรือชำกิ่ง ต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกและดูแลค่อนข้างนานกว่าที่เค้าจะเติบโตสมบรูณ์ได้ขนาดที่พร้อมให้เราได้นำมาใช้ในการกราฟได้

                         แต่ถึงแม้ว่าตอหนามดำจะเป็นตอที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนาน แต่ด้วยความที่เค้าเป็นตอที่มีขนาดหน้าตัดกว้าง เหมาะต่อการกราฟแคคตัสที่มีขนาดใหญ่ รับนํ้าหนักหัวไม้ได้เยอะ และนอกจากนั้นเค้ายังเป็นตอที่มีความทนทานอายุการใช้งานสูง ถ้ากราฟติดสามารถเลี้ยงแคคตัสได้นานหลายปี เพราะเหตุนี้ ถึงแม้ว่าตอหนามดำจะเป็นตอที่โตช้าแต่ก็ยังเป็นตอที่คุ้มค่าในการใช้งาน อย่างตัวผมเองนั้นชอบใช้ตอหนามดำในการกราฟ ซึ่งก็จะมีบางช่วงที่เลี้ยงไม่ทัน ตัดกิ่งมาชำ กว่าจะออกราก กว่าจะต้นจะเติบโตสมบรูณ์พร้อมให้เอาไปกราฟ บางทีก็โตไม่ทันใช้ ทำให้ช่วงหลังๆ ผมเริ่มปรับวิธีการขยายพันธุ์จากเดิมชำกิ่งอย่างเดียว ก็เพิ่มมาใช้เป็นการกราฟ เอาตอหนามดำไปกราฟต่อบนตอที่เลี้ยงง่าย ส่งการเจริญเติบโตได้ดีอย่างตอแก้วมังกรหรือตอสามเหลี่ยมหนาม ซึ่งมันก็ให้ผลที่ดีเลยล่ะครับ การนำตอหนามดำไปกราฟต่อตอ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของตอหนามดำได้อย่างน่าพอใจ และวิธีการในการกราฟนั้นก็ไม่ยาก เอาเป็นว่าเราไปดูวิธีการกราฟกันเลยดีกว่าครับ

                          เริ่มจากเตรียมตอที่จะนำเจ้าหนามดำมากราฟกันเลยดีกว่า ผมเลือกใช้เป็นตอสามเหลี่ยมหนาม ถ้าท่านไม่มีตอสามเหลี่ยมหนามใช้เป็นตอแก้วมังกรก็ได้ครับ 


                          ซึ่งตอสามเหลี่ยมหนามที่ปรกติผมเลือกมาใช้ในการกราฟนั้น ผมเลือกเป็นส่วนยอดที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป และจะนำไปปักชำจนออกรากเรียบร้อย บำรุงต้นสมบรูณ์ดีแล้วถึงค่อยเอามาใช้ ผมชอบใช้ตอแบบนี้ ต่อติดแล้วส่งการเจริญเติบโตได้ทันที

ลงมือกราฟกันเลยนะครับ เริ่มจากปาดส่วนยอดของตอ แล้วตัดแต่งขอบ ตัวอย่างตามรูปเลยครับ


                          ต่อไปก็มาดูที่เจ้าหนามดำที่จะนำไปต่อบนตอกันบ้าง ผมเลือกกิ่งที่ไม่ใหญ่มากเท่าไร ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรอกนะครับ พอดีตอนนั้นผมมีแค่นี้ 


                          จากนั้นผมจะเอามีดผ่าที่เจ้าหนามดำ เป็นท่อนๆ ท่อนนึงยาวประมาณ 2 ซม.จากนั้นก็นำไปต่อบนตอที่เราปาดไว้ก่อนหน้า ประกบลงไปดูรอยต่อให้ทาบสนิทกันดี ให้แนวท่อนํ้าเลี้ยงของตอกับของเจ้าหนามดำที่นำไปต่อนั้นตรงกัน จากนั้นก็ติดสก๊อตเทปลงไป เป็นอันเสร็จ


ดูตัวอย่างกันอีกชุดนึงก็แล้วกันนะครับ พอดีผมกราฟไว้หลายชุด


ผมจะผ่าตอหนามดำเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 2 ซม. 


จากนั้นก็นำเจ้าหนามดำแต่ละท่อนไปต่อบนตอที่เราปาดเอาไว้


ดูรอยต่อให้ทาบกันสนิทดี ติดสก๊อตเทป เป็นอันเรียบร้อย


                           เมื่อเรากราฟเสร็จแล้ว ผมก็จะนำไม้กราฟที่ได้ไปวางเก็บไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อรอให้รอยต่อที่เรากราฟไปนั้นต่อติดเชื่อมกัน โดยที่วางเก็บไม้นั้น ผมจะเลือกว่างในที่ร่มรำไร ให้โดนแดดอ่อนๆ ได้ แต่ห้ามให้โดนแดดจัดๆ นะครับ ถ้าโดนแดดแรงเกินไปอาจจเกิดปัญหาตอหรือไม้ที่ต่อบนตอนั้นคายนํ้าจนต้นยุบทำให้ต่อไม่ติด หรือถ้าโดนแดดจัดมากๆ อาจจะเกิดอาการไหม้แดดจนเสียเลยก็เป็นได้เพราะงั้นให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ หรือแดดรำไรก็พอนะครับ และก็อย่าให้ตากฝนด้วยนะครับ ถ้าให้ตากฝนหรือให้น้ำเข้าไปในแผลระหว่างที่เค้ายังไม่ต่อกันสนิทดีมันมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนเน่าขึ้นมาไดเพราะงั้นอย่าให้ตากฝนนะครับ รดน้ำได้ รดลงดินไปอย่ารดให้โดนรอยต่อครับ

หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เราก็จะมาแกะสก๊อตเทปออก


                          ต่อจากนี้เราก็นำมาเลี้ยงได้ตามปรกติเหมือนไม้กราฟทั่วไป โดยในช่วงแรกของการเลี้ยงนั้น ก็อย่าพึ่งเอาไปโดนแดดจัดเลยทันทีนะครับ เดี่ยวจะไหม้แดดเอาได้ ให้เค้าค่อยๆ ปรับให้ชินกับแสงแดดเสียก่อน เริ่มจากให้เค้าได้รับแสงแดดที่ไม่จัดมากในช่วงอาทิตย์แรกๆ หลังจากนั้นค่อยเพิ่มระดับแสงแดดที่ได้รับให้มากขึ้นไปทีละนิด หรือที่เรียกกันว่าเทรนแดด ซึ่งเมื่อเค้าชินกับแสงแดดและสภาพอากาศที่ได้รับเมื่อไร ผมก็จะเลี้ยงแบบให้เค้าอยู่กลางแจ้งแบบแดดร้อยฝนร้อยไปเลย ไม่ได้พิถีพิถันอะไรมาก เพราะนี่มันคือตอกราฟตอ ไม้ตอเป็นไม้ที่ค่อนข้างทน เพราะงั้นไม่ต้องไปกังวล ถ้าตายก็ทำใหม่ก็ได้ ทำง่าย ผมเลี้ยงบนดาดฟ้าแบบปล่อยๆ เลยครับ

                         ส่วนการรดน้ำนั้น ด้วยความที่ผมเลี้ยงกลางแจ้ง ถ้าวันไหนฝนตกผมก็จะไม่รดนํ้า ถ้าวันไหนฝนไม่ตกก็จะรด หรือไม่ก็ดูที่ดินปลูก ถ้าเห็นว่าดินมันเริ่มแห้งผมก็จะรดนํ้า อะไรประมาณนั้น ไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่แน่ชัดว่ากี่วันครั้ง แล้วแต่วันครับ
  
                        สำหรับดินปลูกที่ผมใช้ในการเลี้ยงไม้กราฟนั้น ผมใช้เป็นดินใบก้ามปูผสมกับปุ๋ยคอกครับ ดินใบก้ามปู 4 ส่วน ( ดินใบก้ามปูที่ขายกันตามร้านขายดินนั่นล่ะครับ ) ผสมปุ๋ยคอก 1 ส่วน แค่นี้ก็พร้อมใช้ได้แล้วครับ หรือจะผสมกาบมะพร้าวสับเข้าไปอีกสัก 1 ส่วนก็ดีครับ อันนี้คือส่วนผสมดินปลูกตอที่ผมใช้

ส่วนการให้ปุ๋ย ผมใส่ปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ท 3 เดือนครั้ง จบเลยครับ 

                        ซึ่งหลังจากที่การกราฟนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ต่อติดสนิทดี ไม้เริ่มตั้งตัวได้ เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ ก็จะเริ่มมีการเจริญเติบโตขึ้นมาครับ ยอดอาจจะเดิน หรือไม่ก็มีการแตกหน่อเพิ่มเติมขึ้นมาครับ


                        แต่ให้กำหนดเป็นระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้หรอกนะครับว่ากี่วัน กี่อาทิตย์เค้าถึงจะแตกยอด แต่ละต้นมันอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากันหรอกนะครับ แล้วแต่ต้น การปลูกต้นไม้ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวได้นะครับ 


                         เรื่องคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการปลูกต้นไม้นั้น มีถามกันเข้ามาเยอะ เพาะเมล็ดกี่วันงอก ต้นนี้เลี้ยงกี่เดือนออกดอก ชำหน่อกี่วันถึงจะออกราก ซึ่งมันตอบเป็นเวลาแบบเป๊ะๆ ไม่ได้หรอกนะครับ เพราะมันไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน อาจจะเร็วหรือช้าก็ต้องแล้วแต่ต้น แล้วแต่กรณีไปครับ

เราลองไปดูภาพพัฒนาการการเจริญเติบโตกันอีกสักหน่อยก็แล้วกัน


เมื่อเห็นว่าเค้าเติบโตจนได้ขนาดที่น่าพอใจเมื่อไร ก็ตัดเอาไปใช้ได้เลยครับ เป็นอันจบภารกิจ 


                           จริงๆ ผมว่าจะจบบทความแล้ว แต่ขอเพิ่มเติมหน่อยดีกว่า คือย้อนกลับไปตอนที่เราผ่าเจ้าหนามดำออกเป็นท่อนๆ นั้น จริงๆ แล้วเราสามารถผ่ากลางท่อนแล้วเอามากราฟก็ได้นะครับ อธิบายไม่ถูก เอาเป็นว่าดูตามรูปด้านล่าง 


                            อย่างที่เห็นนะครับว่า ตอนที่เราผ่าเจ้าหนามดำออกเป็นท่อนเพื่อจะเอาไปกราฟนั้น แต่ละท่อนเราสามารถผ่าครึ่งแต่ละท่อนเป็นสองส่วนแล้วนำไปกราฟต่อบนตอได้นะครับ


ต่อแบบนี้ก็ติดได้ครับ


วางลงไปดูให้แนวท่อนํ้าเลี้ยงนั้นทาบตรงกันแล้วก็ติดสก๊อตเทปเลยครับ


                            เมื่อเรากราฟเสร็จเรียบร้อยก็วางผึ่งเอาไว้ 2 สัปดาห์เช่นเดียวกันเพื่อรอให้รอยต่อที่เราต่อไปนั้นติดสนิทดี ครบ 2 สัปดาห์ก็ค่อยแกะสก๊อตเทปออกมาดูกันครับว่าติดหรือไม่


                            เมื่อเค้าต่อติดและตั้งตัวได้เมื่อไร เลี้ยงไปอีกสักระยะนึง อาจจสัก เดือนกว่าๆ หรือ สองเดือน เค้าก็จะเริ่มแตกหน่อออกมาครับ กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้หรอกนะครับว่าต้องนานขนาดไหน มันไม่ตายตัวครับ


                            วิธีการผ่าเป็นชิ้นแบบนี้ต้องบอกว่า ตอนแรกผมไม่ทราบหรอกว่าผ่าเป็นชิ้นแบบนี้ก็ต่อติดได้ แต่บังเอิญผมได้ไปเห็นตอนที่ไปเดินซื้อแคคตัส ในงานแคคตัสแฟร์ แล้วเห็นมีร้านที่เค้าขายไม้กราฟแบบนี้ พอเห็นปุ๊บก็เข้าใจได้ทันทีว่าผ่าเป็นชิ้นๆ แล้วต่อแบบนี้ก็ทำได้เหมือนกัน ผมก็เลยลองทำดู และมันก็ได้อย่างที่เห็นเลยครับ ซึ่งผมว่าแบบนี้ก็ดีนะ เป็นการเพิ่มจำนวนในการขยายพันธุ์ได้เยอะมากขึ้น ตอหนามดำท่อนนึงสามารถผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ ได้เป็นสิบชิ้นเลยทีเดียว ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางร้านนั้นที่นำไม้กราฟแบบนี้มาขายในงานแคคตัสด้วยนะครับ ผมไม่ทราบชื่อร้านเพราะไม่ได้เข้าไปคุยต้องขอโทษด้วยจริงๆ ครับ แค่เพียงหันไปเห็นแล้วจุดประกายถึงวิธีการขึ้นมาน่ะครับ

                            แต่ถ้าให้เทียบกันระหว่างการผ่าแบบนี้กับการผ่าในแบบแรก ผมชอบการผ่าแบบแรกที่เป็นท่อนกลมๆ มากกว่า คือจากที่ผมลองกราฟแบบผ่าเป็นชิ้นแบบนี้มาพอสมควรปรากฏว่าการผ่าเป็นชิ้นแบบนี้ ผมต่อไม่ติดค่อนข้างเยอะ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ท่านอื่นต่ออาจจะเปอร์เซ็นต์การกราฟติดสูง แต่ผมกราฟแบบนี้แล้วมีเปอร์เซ็นต์การติดไม่สูงเท่าไร ต่อ 10 อัน ติด 5 อันบ้าง 4 อันบ้าง แต่กับการต่อแบบแรกที่ตัดเป็นท่อนกลมๆ นั้น ผมต่อติดค่อนข้างดี แทบจะไม่มีที่ต่อไม่สำเร็จเลยด้วย 10 อัน ติด 9 หรือไม่ก็ติดหมด ผมก็เลยชอบผ่าแบบแรกมากกว่าครับ มันให้ผลที่น่าพอใจกับผมมากกว่า

                             แต่ก็แล้วแต่คนนะครับ อย่างที่บอกไปว่า บางท่านที่ผ่าครึ่งเป็นชิ้นๆ แล้วสำเร็จ ต่อติดให้ผลที่น่าพอใจก็มีนะครับ เพราะฉะนั้นคุณยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ลองทำดูทั้งสองแบบ แล้วดูว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แบบนั้นมันจะดีกว่าเชื่อสิ่งที่ผมเขียนเลยทันที ลองให้ได้รู้ แล้วตัดสินเองเลยจะถูกต้องกับใจคุณมากที่สุดครับ

                             สุดท้ายก่อนที่จะจบบทความนี้ไป คุยกันเรื่องงานต้นไม้กันดีกว่า ผมเป็นคนที่ชอบไปเดินงานต้นไม้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกงานเกษตรแฟร์ งานบ้านและสวน งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. 9 ผมและครอบครัวไปกันทุกปีไม่มีขาด ส่วนถ้าเป็นงานแคคตัสแฟร์ และงานกระบองเพชรและไม้อวบนํ้าอื่นๆ นั้น ผมอาจจะไม่ได้ไปทุกงาน แต่ถ้ามีโอกาสผมก็จะไปแน่ ผมว่าการไปงานต้นไม้นั้น เราไปแล้วไม่ใช่แค่ไปแล้วได้ซื้อต้นไม้เท่านั้น แค่ไปเดินดู เราก็จะได้รู้จักต้นไม้ที่มากขึ้น ได้เห็นต้นไม้ที่หลากหลาย ได้เห็นการประกวดต้นไม้ ได้เห็นถึงการขับเคลื่อนไปของวงการต้นไม้ การพัฒนาในด้านสายพันธุ์ ซึ่งถ้าคุณอยากจะจริงจังกับการปลูกต้นไม้ล่ะก็ ผมว่ามันเป็นประโยชน์มากๆ และถ้าคุณไม่เขินจนเกินไป คุณสนใจไม้ชนิดไหน อยากรู้เรื่องอะไร ลองเข้าไปถามไปพูดคุยกับร้านนั้นๆ ที่คุณสนใจ คุณจะได้ความรู้ในเรื่องของการปลูกไม้ชนิดนั้นๆ พี่ๆ หลายๆ ท่านในวงการ หลายๆ สวนที่มาออกร้านตามงานต้นไม้ต่างๆ นั้น ใจดีมากๆ ยินดีตอบคำถามและแนะนำในการปลูกต้นไม้ให้กับทุกท่านที่สนใจอย่างเป็นกันเอง สมัยผมเป็นละอ่อนหัดปลูกต้นไม้ ก็ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ หลายท่านเวลาที่ไปดูต้นไม้ที่ร้านเค้านี่แหละ ซึ่งคำแนะนำเหล่านั้นมันเป็นประโยชน์กับผมเป็นอย่างมาก เวลาที่ผมไปงานต้นไม้ทุกงาน ทุกครั้ง ผมรู้สึกเหมือนได้ว่าผมได้ความรู้และมุมมองใหม่ๆ กลับมาเสมอ ถึงแม้บางครั้งผมไม่ค่อยมีเงิน ก็เลยไม่ได้ซื้ออะไรกลับมาเลยก็เถอะ แต่แค่ไปดู ไปเห็น ก็คุ้มแล้วครั

แล้วพบกันใหม่นะครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

2 comments:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนะคะ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณผู้เขียน ที่แบ่งปันความรู้ ประสพการณ์ เยี่ยมเลยครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.