Sunday, November 20, 2016

การตัดลงตอลูกผสม


                       ผมมีแคคตัสแอสโตร มายริโอ ( astrophytum myriostigma ) อยู่ต้นนึง แต่เดิมเคยเป็นไม้ที่ผมกราฟต่อเอาไว้บนตอลูกผสม ซึ่งก็เลี้ยงมานานแล้วครัจำได้ว่าตอนที่กราฟนั้น เจ้าแคคตัสยังต้นเล็กๆ อยู่เลย จากนั้นก็เลี้ยงตอมาเรื่อยๆ จนเติบใหญ่

                          แต่แล้ววันดีคืนดี ตอของเค้าก็เกิดอาการตอเหี่ยว ประกอบกับช่วงนั้นผมไม่ค่อยอยู่บ้าน การดูแลรดนํ้าก็เลยตกหล่นไป สุดท้ายตอของเค้าก็เหี่ยวจนต้นล้มพับอย่างที่เห็นในภาพด้านล่าง


                         จริงๆ อาการตอเหี่ยวของตอลกผสมนั้น เมื่อเราเลี้ยงไปนานๆ มันมีโอกาสที่จะเกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้ เพราะตอลูกผสมนั้น เมื่อเราเลี้ยงไปสักระยะเวลานึง รากของเค้าอาจจะเกิดอาการรากทำปม อธิบายตามความเข้าใจองผม ซึ่งถ้าผิดก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ อันนี้คือเป็นความเข้าใจของผมที่คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น อาการรากของตอลูกผสมทำปมก็คืออาการที่ตอลดการส่งอาหารมาเลี้ยงลำต้น แต่สะสมอาหารเอาไว้ที่บริเวณรากแทน ซึ่งไม้ที่มีอาการแบบนี้นั้นเมื่อเราขุดขึ้นมาดูจะเห็นว่ารากบางส่วนจะโต ( รากเป็นปม ) ดูตัวอย่างอาการตอลูกผสมทำปมที่รากในภาพด้านล่างนะครับ


                        ซึ่งเมื่อเค้ามีอาการรากทำปมเกิดขึ้นล่ะก็ ไม้จะชะงัก ตอจะมีอาการเหี่ยวและฟีบลงไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามีปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ วิธีการแก้ก็คือจะต้องขุดต้นขึ้นมาแล้วตัดแต่งรากที่เป็นปมนั้นทิ้งไป จากนั้นก็ผึ่งให้แผลแห้งแล้วนำกลับไปลงปลูกอีกครั้ง ก็อาจที่จะสามารถฟื้นขึ้นมาเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งในกรณีที่ตอยังเหี่ยวไม่มาก เมื่อตัดแต่งรากที่เป็นปมทิ้งไปแล้วลงปลูกใหม่ มีโอกาสมากที่ตอจะกลับมาเต่งตึงสมบรูณ์ได้เป็นปรกติ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ตอเหี่ยวฟีบหนักมากๆ ก็อาจจะฟื้นได้แต่ตอก็จะไม่สมบรูณ์เต่งตึงเต็มร้อย จะซูบไปสักหน่อยแต่ก็ยังพอที่จะเลี้ยงแคคตัสให้เจริญเติบโตต่อไปได้อยู่ครับ

                        สำหรับเรื่องราววิธีการกราฟแคคตัสบนตอลูกผสม และปัญหาเรื่องตอลูกผสมทำปมจนตอเหี่ยวนั้น สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงก์ที่ลงไว้นี้เลยครับ การกราฟแคคตัสด้วยตอลูกผสม และปัญหาตอลูกผสมตอเหี่ยวเพราะรากทำปม เป็นบทความเก่าที่ผมเคยเขียนเอาไว้นานแล้ว ข้างในมีภาพให้ดูอยู่ครับ


                       มาต่อกันเลยดีกว่า พอเจ้าต้นนี้เกิดปัญหาตอเหี่ยวขึ้นมาปุ๊บ ซึ่งคราวนี้มันเหี่ยวมากๆ จนตอพับลงไปเลยทีเดียว ผมก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าต้องมาตัดแต่งรากตอแล้วลงปลูกใหม่ เดี๋ยวเลี้ยงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตอมันก็ทำปมที่รากแล้วเดี๋ยวก็วนกลับมาเหมือนเดิมคือ ตอเหี่ยว ตัดแต่งราก ปลูกใหม่ ไม่รู้จบ จะว่าผมเริ่มเซ็งก็ว่าได้ ก็เลยตัดสินใจว่ตัดแคคตัสลงจากตอเลยก็แล้วกัน  

                       แต่ไม่ใช่ว่าถ้าไม้กราฟของเรามีอาการตอเหี่ยวขึ้นมาปุ๊บ เราต้องตัดลงหมดทุกครั้งเลยนะครับ อย่างที่บอกไปว่าใช้วิธีการขุดขึ้นมาล้างตัดแต่งรากหรือตัดส่วนที่เป็นปัญหาทิ้งไปและลงปลูกใหม่ก็ฟื้นได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาตัดลงแบบที่ผมทำก็ได้นะครับ พิจารณาให้ดีๆ ก่อนจะตัดสินใจนะครับ เพราะการตัดลงตอนั้นมีความเสี่ยง อาจจะตัดลงแล้วล้มเหลวจนทำให้แคคตัสตายก็ได้นะ

สำหรับวิธีการตัดลงตอลูกผสมที่ผมใช้นั้นก็ง่ายๆ


                         ผมจะตัดแบบไม่ให้เหลือตอ ก็ตามรูปเลยครับ ผมตัดที่จุดนี้ ตรงบริเวณแถวๆ รอยต่อ จะไม่ให้เหลือส่วนของตอเอาไว้ เราเอาแค่ส่วนของแคคตัสเท่านั้น


รอยตัดของเค้าครับ


                         ในกรณีของต้นนี้นั้นผมว่ามันไม่ยากเพราะเราเห็นว่ารอยต่อระหว่างแคคตัสกับตอนั้นชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงสามารถตัดได้แบบทีเดียวจบ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นในกรณีที่หัวแคคตัสนั้นอมตอ หรือรอยต่อมันลึกเข้าไปข้างในจนเรามองไม่เห็นล่ะก็ เวลาที่เราตัดลงตอ บางทีมันอาจจะมีเนื้อของตอหรือแกนตอหลงเหลือติดอยู่กับหัวแคคตัส ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราจะต้องมีการเอามีดแคะเอาเนื้อและแกนของตอออกให้หมดด้วยนะครับ ซึ่งมันจะต้องซับซ้อนกว่านี้นิดนึง ก็เอาเป็นว่าในการตัดลงตอแบบไม่เหลือตอนั้น หลักก็คือ เอาตอออกให้หมด ทั้งเนื้อตอและแกนตอ ขุดออกให้หมดไม่ให้เหลือเลยนะครับ ให้เหลือเฉพาะต้นแคคตัสเท่านั้น


                        หลังจากที่ตัดลงจากตอเรียบร้อย ถ้ามียาเร่งราก เราสามารถทายาเร่งรากเพื่อช่วยกระตุ้นการออกรากได้นะครับ แต่ถ้าไม่มียาเร่งรากก็ไม่ต้องทาก็ได้ แต่ผมว่าทายาเร่งรากก็น่าจะดีครับ

มีคนเคยถามผมว่ายาเร่งรากนั้นใช้ยังไง ผสมเท่าไหร่

                       เรื่องนี้เนี่ยผมบอกตรงๆ ว่าผมไม่เชี่ยวชาญ เพราะผมก็ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง และคือยาเร่งรากนั้นมันมีหลายยี่ห้อมากๆ เลยครับ เราอาจจะใช้กันคนละยี่ห้อก็ได้ เอาเป็นว่าถ้าคุณมียาเร่งรากยี่ห้อไหนอยู่ในมือ ลองดูวิธีการใช้ที่เค้าเขียนอธิบายเอาไว้ข้างขวดยา ยาแต่ละชนิดจะมีการเขียนบอกวิธีการอยู่ครับว่า ใช้ยังไง ผสมในอัตราส่วนเท่าไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ผมว่าอ้างอิงตามที่ฉลากระบุไว้ดีกว่าครับ


                         หลังจากที่ตัดแต่งและจัดการอะไรต่างๆ เรียบร้อย จนได้หัวแคคตัสมาแล้ว จากนั้นผมก็จะนำเค้าไปวางผึ่งเอาไว้ในที่ร่มมีแสงสำไร เพื่อรอให้แผลแห้ง ซึ่งระยะเวลาในการวางผึ่งเอาไว้ เพื่อรอแผงแห้งนั้น ก็อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไปครับ

                         ไม่ต้องกลัวนะครับว่าวางผึ่งเอาไว้นานๆ หลายอาทิตย์แล้วเค้าจะเหี่ยวหรือจะตาย ถ้าแคคตัสที่เราตัดลงนั้นเป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ต้นมีความสมบรูณ์แข็งแรงแล้วล่ะก็ เราสามารถวางผึ่งเอาไว้เป็นเดือนได้อย่างสบายๆ เลยล่ะครับ อย่างเจ้ามายริโอต้นนี้ ด้วยความที่ผมขี้เกียจ ไม่อยากจะรีบปลูกสักเท่าไร ผมก็เลยวางผึ่งเอาไว้เดือนนึงเลยล่ะครับ วางไว้จนเกือบลืมเลยทีเดียว

ซึ่งหลังจากที่วางผึ่งเอาไว้จนพอใจ จนคิดว่าน่าจะได้เวลาเอากลับไปลงปลูกได้แล้ว เราก็จะนำเค้าไปล่อรากกันต่อไปครับ

                         การล่อรากอธิบายง่ายๆ ก็คือ เอาไปชำให้เค้าออกราก เมื่อเค้าอกรากเมื่อไร ก็ค่อยย้ายไปลงปลูกตามปรกติ ความหมายน่าจะประมาณนี้

                         สำหรับวิธีการล่อรากของผมนั้นผมใช้การล่อรากด้วยหินภูเขาไฟ ซึ่งวิธีการนั้นก็ง่ายๆ นำหินภูเขาไฟล้วนๆ มาใส่กระถาง ผมใช้เป็นหินภูเขาไปก้อนเล็กสุด เบอร์ 00

หินภูเขาไฟ

จากนั้นก็จะนำเจ้าแคคตัสของเราไปปักชำลงในหินภูเขาไฟ


                         รดน้ำให้พอชื้นๆ จากนั้นก็เอาเค้าไปวางไว้ในที่ๆ มีแดดไม่แรงมาก อย่าให้โดนแดดจัดนะครับ ถ้าโดนแดดจัดเกินไป ไม้จะปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดปัญหาไหม้แดด หรือต้นคายน้ำจนเหี่ยวขึ้นได้ เพราะงั้นวางไว้ในที่ๆ มีแดดอ่อนๆ ไปก่อนนะครับ จนกว่าเค้าจะออกรากและฟื้นตัวค่อยๆ ก่อนดีกว่าครับ ค่อยๆ ปรับไปทีละนิด

                          ส่วนการรดน้ำนั้น ผมจะรดก็ต่อเมื่อเห็นว่าวัสดุปลูกนั้นแห้งสนิท แห้งก็รด ถ้าเห็นว่ายังชื้นๆ ก็ผ่านไป แลก็จะไม่ให้เค้าอยู่ในจุดที่โดนฝนสาด เพราะถ้าให้เค้าตากฝนบ่อยๆ เดี๋ยวจะเน่าเอาได้ ก็ประมาณนี้ครับ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการรอคอย


                         ในการตัดลงตอและการล่อรากนั้น การที่จะบอกว่ากี่วันถึงจะออกราก ผมว่ามันกำหนดได้ไม่แน่ชัด แคคตัสบางต้นออกรากได้ง่าย สัก 2 อาทิตย์หลังจากล่อราก รากก็เริ่มจะงอกแล้ว แต่ในแคคตัสบางต้นก็อาจที่จะต้องรอกันเป็นเดือนเลยก็ได้กว่าที่รากจะงอก และก็มีในบางกรณี ในแคคตัสบางต้น บางสายพันธุ์ ก็อาจที่จะออกรากได้ยากมากหรือเกเรไม่ยอมออกรากเลยก็มีนะครับ อย่างเช่นแคคตัสด่างที่ต้นมีลักษณะด่างมากๆ ด่างเกินครึ่งหัว ในความรู้สึกผม ผมว่าออกรากค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นต้องเผื่อใจให้กับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยนะครับ ในการตัดลงตอนั้น ต้องบอกเลยว่า มีความเสี่ยงครับ


                       วันเวลาผ่านไป ผมไม่รีบร้อนเท่าไรก็เลยปล่อยล่อรากเจ้าต้นนี้ทิ้งเอาไว้นานเป็นเดือนเลยล่ะครับ จนเห็นว่าต้นของเค้ามีการเจริญเติบโต ยอดเดิน ต้นเริ่มจะโตขึ้นจนแน่ใจแล้วว่ารากน่าจะมาเยอะแล้ว ก็ตัดสินใจขุดขึ้นมาเพื่อจะนำไปปลูกต่อไป


นี่เป็นภาพระบบรากของเค้าครับ


                       อาจจะเห็นรากไม่ชัดเป็นเส้นๆ เพราะมันติดหินภูเขาไฟมาด้วย ผมไม่ได้ล้างออก เพราะจะเอาไปปลูกต่อทั้งอย่างงี้เลย ก็เลยไม่ได้เห็นรากแบบละเอียดว่ามันเยอะขนาดไหน แต่ก็น่าจะพอให้ได้ทราบได้ว่าการล่อรากของเราในครั้งนี้นั้นผ่านไปได้ด้วยดีนะครับ

จากนี้ไปผมก็จะเอาเจ้าต้นนี้ไปลงปลูกในดินปลูกแคคตัสแล้วล่ะครับ


                        หลังจากที่ลงปลูกไปแล้วผมก็จะเลี้ยงไปตามปรกติแบบเดียวกับที่เลี้ยงแคคตัสทั่วๆ ไปเลยครับ แต่ว่าในช่วงการลงปลูกใหม่ๆ นั้น ก็จะใช้หลักเดิมเลยครับ นั่นก็คือในการเอาไม้ลงปลูกใหม่ๆ นั้น ผมจะให้เค้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ไปสักระยะ จะไม่ให้โดนแดดจัดๆ รอจนเค้าเริ่มจะฟื้นตัวและมีการเจริญเติบโตตั้งตัวได้เมื่อไร ก็จะค่อยๆ เพิ่มแสงแดดให้มากขึ้นเป็นลำดับขั้นต่อไป ( เทรนแดด ) ส่วนการให้น้ำนั้นก็จะรดต่อเมื่อเห็นว่าดินแห้ง ถ้าดินยังชื้นก็จะไม่รด และจะไม่ให้เค้าตากฝน ก็ประมาณนี้ครับ


ภาพนี้เป็นภาพปัจจุบันของเจ้าต้นนี้ ก็ไม่มีอะไรแล้วครับ ปรกติดี เจริญเติบโตดีไม่มีปัญหาอะไรครับ

แล้วพบกันใหม่กับบทความต่อไปครับ

เพจของเรา https://www.facebook.com/chowcactus

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.