Friday, May 15, 2015

Astrophytum graft แอสโตรไฟตัม ต้นแรกที่หัดกราฟ


            หลายๆ ท่านที่ชื่นชอบในการปลูกแคคตัส เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เราเลี้ยงเค้าไปเรื่อยๆ ก็คงมีความคิดที่อยากจะลองทำสิ่งต่างๆ กับแคคตัสที่ปลูกไว้ ในแบบที่เราได้เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ นักปลูกท่านอื่นๆ เค้าทดลองทำกัน อย่างเช่นการผสมเกสร การเพาะเมล็ด การกราฟแคคตัส หรือการทดลองอื่นๆ อีกมากมายหลายหลาก ซึ่งตัวผมเองก็เป็นแบบนั้นนั่นแหละ อยากลองทำนั่นทำนี่ไปหมด ยิ่งถ้าเกิดว่าได้ไปอ่านเจอเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจ ที่พี่ๆ นักปลูกท่านอื่นได้เขียนหรือว่าลงภาพเอาไว้ในเน็ต ก็อยากที่จะลองทำแบบเค้าบ้าง อย่างเช่นเรื่องราวที่จะนำมาเล่าในวันนี้นั้น จุดเริ่มของเรื่องราวก็มาจากการได้อ่าน และเกิดเป็นความคิดที่อยากจะลงมือทำแบบนั้นบ้าง สิ่งที่ผมกล่าวถึงนั้น คือการกราฟแคคตัสครับ


            ย้อนกลับไปตอนที่ผมเริ่มหัดปลูกแคคตัสใหม่ๆ ผมมีโอกาสได้ไปเห็นภาพและอ่านบทความที่เกี่ยวกับการกราฟแคคตัสหรือการต่อยอดแคคตัส ในเน็ตเข้า แล้วก็รู้สึกสนใจในวิธีการแบบนี้ เพราะสิ่งที่พี่ๆ เค้าเขียนไว้นั้น ผมจำเนื้อความที่แน่ชัดไม่ได้นะครับเพราะมันนานมาแล้ว และผมไม่ได้เซฟเว็บเก็บเอาไว้ด้วย แต่เนื้อหาที่อ่านมานั้นมีเนื้อความประมาณว่า การกราฟแคคตัสนั้นจะช่วยเร่งให้แคคตัสโตเร็วขึ้น โตเร็วกว่าปลูกแบบธรรมดาหลายเท่า ซึ่งพอได้ทราบที่เค้าบอกเล่าแบบนั้น มันก็เลยเกิดอาการอยากลองขึ้นมาบ้างน่าจะสนุกดี เพราะแคคตัสเป็นไม้ที่โตช้ามาก ถ้าเรานำมากราฟแล้วมันโตเร็วก็น่าจะดีแน่ๆ และความคิดนั้นก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการกราฟแคคตัสครั้งแรกของผมครับ


           เป็นความโชคดีตรงที่สิ่งต่างๆ ที่ต้องเตรียมสำหรับการกราฟแคคตัสนั้นผมมีพร้อมพอดี ทั้งต้นแคคตัสที่จะนำมากราฟ ผมก็มีเจ้าแคคตัสแอสโตไฟตัมต้นเล็กๆ ที่เพาะเมล็ดเอาไว้อยู่บ้าง ส่วนตอที่จะนำไปกราฟนั้นผมอ่านเจอว่าใช้ต้นแก้วมังกรเอามาทำตอได้ ซึ่งที่บ้านผมก็มีเจ้าแก้วมังกรต้นเก่าที่ปลูกเอาไว้นานแล้วอยู่หนึ่งกอพอที่จะให้ตัดส่วนยอดเอามาทำเป็นตอให้แคคตัสต่อได้พอดี เพราะงั้นก็เลยไม่ต้องไปหาอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก เอาคู่นี้นี่แหละมาลองกราฟเสียเลยก็แล้วกัน


              ในการกราฟแคคตัสครั้งแรกของผมนั้น ผมทำแบบง่ายๆ ไม่มีความพิถีพิถันอะไรมากมายนัก เริ่มจาก ก่อนที่จะกราฟ ผมตัดกิ่งแก้วมังกรส่วนยอดมาหนึ่งกิ่ง เอามาปักชำไว้ในกระถางสักสองอาทิตย์พอเห็นว่ารากเค้าเริ่มออกผมก็ลุยเลยทันที


             เริ่มต้นวิธีการกราฟที่การปาดแก้วมังกรตรงส่วนปลายยอดจากนั้นก็ดึงเจ้าแคคตัสแอสโตรไฟตัมในพอตที่เพาะเอาไว้มาหนึ่งต้น ต้นที่ผมเลือกมาตอนนั้นมีขนาดต้นประมาณสัก 1 เซนติเมตรได้ พอได้มาแล้วก็จัดการปาดทันที โดยตำแหน่งบนลำต้นแคคตัสที่ผมผ่าเพื่อนำไปต่อบนแก้วมังกรนั้น ผมจำไม่ได้นะครับว่าผ่าลึกขนาดไหน อาจจะครึ่งต้นหรือน้อยกว่านั้นแต่ไม่ได้ตัดเกินครึ่งต้นแน่นอนครับ 


             ซึ่งพอปาดทั้งแคคตัสทั้งตอปุ๊บผมก็จับทั้งสองมาติดเข้าด้วยกันทันที จากนั้นก็เอาสก็อตเทปแปะยึดลงไประหว่างหัวแอสโตไฟตั้มกับตอ เพื่อป้องกันไม่ให้เค้าหลุดออกจากกัน เสร็จสรรพก็นำไม้ที่เราต่อเอาไว้ไปวางไว้ในจุดที่รมรำไร ทิ้งไว้แบบนั้นประมาณสักสองอาทิตย์แล้วจึงแกะสก็อตเทปออก ซึ่งจริงๆ มันไม่ต้องวางไว้นานขนาดนั้นก็ได้ ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับกราฟของหลายๆ ท่าน ที่เขียนเอาไว้ พบว่าการกราฟต้นอ่อนแอสโตรไฟตัมหรือที่เรียกกันว่าการกราฟเมล็ดนั้น อาทิตย์เดียวรอยต่อก็เชื่อมกันติดแล้วครับ แต่ผมในตอนนั้นวางไว้สองอาทิตย์เพราะไม่มั่นใจ กลัวว่าแกะเร็วแล้วมันจะหลุดก็เลยวางทิ้งไว้ยาวๆ เลยตอนนั้น


             ซึ่งพอผมทำการแกะออกมาก็พบว่าการกราฟครั้งนี้สำเร็จเป็นอย่างดี รอยต่อติดสนิทไม่มีทีท่าว่าจะหลุดก็ยิ้มได้ทันที ถือได้ว่าการลองกราฟแคคตัสแอสโตไฟตัมครั้งแรกของผมที่ลองทำนั้น สำเร็จอย่างไร้ปัญหา


              หลังจากนั้นผมก็เลี้ยงเจ้าต้นนี้มาเรื่อยๆ ซึ่งการเจริญเติบโตของเค้านั้น ก็ต้องบอกเลยว่าโตเร็วจริงๆ ครับ ถ้าเทียบกับเพื่อนๆ ของเค้าในรุ่นเดียวกันที่เพาะมาด้วยกันนั้น เจ้าต้นที่นำมากราฟโตไวกว่าหลายเท่าเลยครับ ขนาดว่าตอแก้วมังกรที่ผมเลือกมาต่อนั้น เป็นกิ่งเล็กๆ และก็สั้นมากเลยด้วย เค้าก็ยังโตเร็วกว่าเพื่อนอย่างเห็นได้ชัดแบบนี้ ถ้าเป็นตอที่มีขนาดยาวกว่านี้สงสัยจะยิ่งโตเร็วมากไปกว่านี้อีกแน่ๆ
  


ตอส่งดีมากจนแคคตัสรับไม่ไหวหัวถึงกับแตกเลยทีเดียวครับตามภาพ

            หลังจากกราฟเค้ามาได้ไม่ถึงปี ในที่สุดก็ออกดอกมาให้ได้ชมกันแล้วล่ะครับ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันของเจ้าต้นนี้ บางต้นยังมีขนาดแค่ประมาณ 2 - 3 เซนติเมตรเองครับ เรื่องออกดอกนี่ไม่มีแววว่าจะได้เห็นดอกในปีนี้แน่นอนครับเพราะเล็กเกินไปสำหรับเจ้าพวกนั้น แต่ต้นที่นำมากราฟนี้ขนาดหัวของเค้าตอนนี้ผมว่าน่าจะเกิน  4 เซนติเมตรไปแล้วแน่ๆ และเริ่มออกดอกให้ได้ชมกันมาหลายดอกแล้วครับ


             ตอนที่เค้าออกดอกครั้งแรกนั้น อยู่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มกราฟไปจนกระทั่งเค้าออกดอกนั้น เป็นระยะเวลาประมาณสัก 9 – 10 เดือนน่าจะได้ เค้าก็เริ่มโตจนให้ดอกได้แล้วครับ ผมว่าเร็วมากเลยนะกับเวลาแค่นี้ ถ้าเทียบกับเลี้ยงแบบปรกติ ตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดจนงอก ไปจนกระทั้งโตจนสามารถออกดอกได้คงต้องใช้เวลา 2-3 ปีแน่ๆ แต่พอจับมากราฟปุ๊บ ไม่ถึงปีก็โตจนมีดอกได้แล้ว ก็ถือว่าโตเร็วกว่ากันเป็นเท่าตัวเลยทีเดียวครับ


            และจากวันที่เค้าออกดอกครั้งแรกเป็นต้นมา หลังจากนั้นเค้าก็ออกดอกมาอีกเรื่อยๆ ทีละดอกสองดอกทุกเดือนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเห็นมีตาดอกใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาตลอดเลยครับ คงเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่อากาศเหมาะสมเป็นช่วงฤดูกาลออกดอกของแอสโตไฟตั้มพอดีด้วยล่ะนะ ดอกก็เลยมีมาให้ได้เห็นบ่อยแบบนี้  ซึ่งพอผ่านช่วงหน้าร้อนนี้ไปดอกก็คงจะออกน้อยลง คงมีมาให้ได้ชมกันนานๆ ครั้งแล้วล่ะนะ เอาไว้ว่ากันใหม่หน้าร้อนปีหน้านั่นเลยล่ะ ถึงจะกลับมาเริ่มออกดอกกันบ่อยๆ อีกครั้ง


          ถ้านับเวลามาถึงตอนนี้ ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่นั้น เค้าน่าจะโดนกราฟมาเป็นระยะเวลาประมาณสักปีนึงได้แล้วครับ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากที่กราฟติดเค้ามีปัญหาให้ได้เห็นเพียงเรื่องเดียวคือหัวเค้าแตกเพราะตอส่งดีเกินไป ส่วนปัญหาอื่นๆ นั้น ผมยังไม่เจอเลยครับ


              จากทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าการกราฟแคคตัสนั้นจะช่วยให้แคคตัสนั้นโตเร็วกว่าปรกติเป็นอย่างมาก เป็นการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างยิ่งเลยครับ
             และหลังจากวันที่ผมได้เริ่มหัดกราฟเจ้าต้นนี้และเริ่มรู้ว่ากราฟแล้วมันดียังไง มันโตเร็วขนาดไหน หลังจากนั้นการกราฟก็เป็นกิจกรรมนึงที่ผมชอบทำอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะกับพวกไม้เพาะเมล็ดที่เราอยากจะรู้ว่าถ้าโตขึ้นมาเค้าจะมีดอกสีอะไร มีหน้าตาแบบไหนแต่ไม่อยากรอนานๆ หลายปี ผมก็จะเอามากราฟขึ้นตอหมดเลยครับ


             ถ้าให้นับว่าตั้งแต่ตอนที่กราฟแคคตัสครั้งแรกมาจนถึงตอนนี้ผมกราฟแคคตัสไปแล้วกี่ต้น ผมคงนับไม่ถูกเหมือนกันว่าเคยผ่าไปแล้วมากเท่าไร เพราะผมทำบ่อยมาก ถ้าวันไหนผมว่างล่ะก็ผมมักจะเอาตอกับพวกไม้เมล็ดต้นเล็กๆ ที่เพาะเอาไว้มาลองกราฟเล่นๆ อยู่เสมอ ผมว่ามันสนุกดี ตอนนี้ที่บ้านผมก็เลยทำโซนสำหรับปลูกและชำตอโดยเฉพาะเอาไว้มุมนึง เวลาจะกราฟจะได้มีตอไว้รองรับทันทีไม่ต้องไปวิ่งหาให้เหนื่อย หรือว่าต้องไปคอยหาซื้อให้สิ้นเปลืองสตางค์


            แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่กราฟแล้วจะสำเร็จทั้งหมดนะครับ หลายๆ ต้นที่ผมกราฟก็มีเหมือนกันที่ไม่ติด หรือติดแต่ก็ไม่ค่อยโตเพราะรอยต่อนั้นต่อไม่สนิท หรือเน่าตายก็มีบ้างในบางครั้ง เพราะฉะนั้นในการกราฟนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียไม้ไปฟรีๆ เหมือนกันนะครับอันนี้ก็ต้องเผื่อใจเอาไว้ด้วยนะครับ


             บทความเกี่ยวกับการกราฟในครั้งนี้นั้น ผมเขียนขั้นตอนวิธีการในการกราฟเอาไว้แบบไม่ละเอียดมากเท่าไร เพราะผมไม่ได้ถ่ายภาพตอนระหว่างที่กำลังกราฟไม้ต้นนี้เก็บเอาไว้เลยครับ เพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมาเขียนบทความแบบนี้ เอาไว้ในอนาคตผมจะมาเขียนถึงเรื่องราวการกราฟแคคตัสอย่างละเอียดทุกขั้นตอนอีกครั้งก็แล้วกัน ซึ่งตอนนั้นผมจะถ่ายภาพการกราฟและวิวัฒนาการการเจริญเติบโตของไม้กราฟ ตั้งแต่กราฟติดไปจนโต เอาแบบละเอียดชัดเจนมากกว่านี้มาให้ได้ดูกันครับ

วันนี้ผมก็คงจะต้องจบบทความนี้ลงแต่เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่กับเรื่องราวต่อไปนะครับ

ฝากเพจของบล็อกของเราด้วยแล้วกันนะครับ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.